fbpx

มอง AI กับการสอนศิลปะ เมื่อเทคโนโลยีกำลังจะ Disrupt งานสร้างสรรค์

      คำกล่าวที่ว่า เทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) จะเข้ามาทำลายหน้าที่การงานและแทนที่มนุษย์ อาจไม่เกินจริงนัก เมื่อเราได้เห็นภาพวาดสีสันสดใส ลายเส้นน่ารักที่ปรากฏอยู่เต็มไทม์ไลน์ พร้อมกับแคปชัน “generated with AI” ตั้งแต่ใบหน้าเพื่อนเรา โฆษณาแบรนด์ต่าง ๆ รวมไปถึงสถาบันการศึกษา

      ซึ่งในกรณีหลังสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ด้วยสถาบันการศึกษาที่ว่า คือคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่โพสต์ภาพจาก AI เพื่อโปรโมตสถานศึกษา ทั้ง ๆ ที่กระบวนการคัดนักเรียนสายศิลปะตั้งอยู่บนการฟาดฟันกันอย่างหนักทั้งด้านเทคนิคและไอเดียเพื่อเข้ามาศึกษาในสิ่งที่รัก จนท้ายที่สุดก็ได้ยอดฝีมือมาเจียระไนในสถาบัน

      แม้ล่าสุด คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จะออกมาชี้แจงถึงกรณีโพสต์ประชาสัมพันธ์คณะที่ใช้ภาพจาก AI พร้อมให้ความเห็นว่าสิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ เราจะเรียนรู้ AI พร้อมกับเทคนิคอื่น ๆ ทางศิลปะไปอย่างไร จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้ามาของ AI อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าการสอนศิลปะในระดับโลกไปเลยก็ได้ แล้ววงการการศึกษาศิลปะจะต้องปรับตัวอย่างไร

      ความกังวลที่มนุษย์มีต่อ AI เกิดขึ้นแทบจะพร้อมกับการเผยโฉมของ AI สู่สายตาคนทั้งโลก ด้วยความสามารถที่ล้ำเลิศ สามารถทำตามคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และพัฒนาตัวเองเรื่อย ๆ ทำให้เรากังวลว่า AI จะเข้ามาดิสรัปต์โลกทั้งใบ ตั้งแต่การคำนวณ การเรียนหนังสือ การเขียนบทความ และแม้กระทั่งงานที่เชื่อว่าไม่มีสิ่งใดแทนที่ได้อย่าง “ศิลปะ” ซึ่งมีการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูง และเข้มข้นมากไม่แพ้วงการสายวิทย์

      หากพูดให้เห็นภาพ การเรียนการสอนศิลปะในระดับอุดมศึกษาหนีไม่พ้นการสอนทฤษฎีการสร้างงานศิลป์ เช่น องค์ประกอบศิลป์ กายวิภาคมนุษย์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ แบบที่เราเรียนในห้องเรียนพร้อม ๆ กับการปลุกให้นักเรียนศิลปะใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนในการสร้างงานให้หลากหลาย เล่นล้อไปกับเทรนด์และแนวคิดของสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์จากมนุษย์ และเราอาจมอง AI เป็นตัวดิสรัปต์วงการที่ทำให้คนศิลปะไม่มีที่ยืน

      แต่ Lance Weiler อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ยอมรับว่า AI เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงทั้งวงการสร้างสรรค์ และการเรียนการสอนศิลปะไป โดยเขาได้ออกแบบการสอนให้นักศึกษาพร้อมโอบรับเทคโนโลยีที่ท้าทายพวกเขาในอนาคตข้างหน้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเข้ามาทลายวัฒนธรรมการสร้างงานศิลปะรวมถึงการเรียนการสอนทุก ๆ ด้านทีละนิด ๆ ซึ่งเขาได้ติดตามพัฒนาการของ AI สำหรับสร้างงานศิลปะอย่าง Midjourney หรือแม้กระทั่ง ChatGPT AI ยอดฮิตของเหล่านักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาช่วยทำการบ้านและหาข้อมูลมากมาย

      Weiler ย้ำกับนักศึกษาด้วยคำกล่าวของ Richard Buckminster Fuller สถาปนิกผู้คิดค้นการสร้างโดมทรงกลมว่า “พวกเราเป็นผู้ออกแบบอนาคต มิใช่เหยื่อของอนาคต” ซึ่งเขาเองก็ใช้คำกล่าวนี้เตือนตนว่า ตัวเขาเองก็ต้องตามอนาคตให้ทันเช่นกัน ซึ่งเสียงตอบรับจากนักศึกษาที่เรียนกับเขาว่า การเรียนกับ Weiler ทำให้เขาเห็นทัศนคติที่เปิดกว้าง โอบรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และนิยามตนเองว่าเป็นศิลปินแห่งอนาคตได้

      ไม่เพียงเท่านั้น สถาบันศิลปะแห่งแคลิฟอร์เนีย และสถาบันศิลปะแห่งเกาะ Rhode ได้ทดลองให้นักศึกษานำ AI มาใช้เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการคิดงานสร้างสรรค์ หรือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถาบัน Pratt ในนิวยอร์กได้จัดการสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับ AI กับงานศิลปะ โดย Jane South หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนาให้ความเห็นว่า AI จะเป็นเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ก่อนหน้าที่คาดว่าจะเข้ามาทำลายการสร้างงานศิลปะ เช่น รูปถ่ายหรือเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีเหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ใช้สร้างงานศิลปะอยู่นี้

      นอกจากนี้ งานวิจัยของ Kong Fanwen จากมหาวิทยาลัยซานตง กล่าวถึงการประยุกต์ใช้ AI กับการสอนศิลปะร่วมสมัย โดยเขาได้นำเสนอว่า ผู้สอนสามารถนำ AI มาช่วยสอนศิลปะได้ผ่านการขยายการใช้กลวิธีการสอนโดยประยุกต์ใช้ AI เป็นพื้นฐาน โดยเพิ่มความสามารถในการสอนศิลปะ รวมถึงสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรกับการเรียนการสอนที่มี AI เป็นเครื่องมือช่วยอีกด้วย

      นอกเหนือจากการเรียนการสอนศิลปะแล้ว อีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการสอนให้นักเรียนตระหนักถึงลิขสิทธิ์ผลงานของตน รวมถึง AI ด้วย ซึ่งในประเทศไทยและประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก กฎหมายลิขสิทธิ์ครอบคลุมเฉพาะงานสร้างสรรค์ที่ทำโดยมนุษย์เท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางประเทศที่เริ่มตรากฎหมายเพื่อรองรับการเข้ามาของ AI ด้วยเช่นกัน และเป็นไปได้ว่าจะมีการถกเถียงเรื่องกฎหมายให้ครอบคลุมปัญญาประดิษฐ์ให้ชัดเจนในอนาคตข้างหน้า

      ส่วนกรณีที่ AI ละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้น ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลได้สร้างโปรแกรม “Glaze” ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ของภาพวาด AI โดยโปรแกรมนี้จะเก็บข้อมูลงานศิลปะนับพันชิ้นเพื่อให้สามารถวิเคราะห์ภาพได้อย่างแม่นยำ ซึ่งพบว่าสามารถตรวจจับการลอกเลียนงานได้เป็นอย่างดี และเริ่มมีการนำมาใช้แล้ว รวมถึงผู้พัฒนา AI สร้างสรรค์ภาพก็เปิดโอกาสให้ศิลปินร้องเรียนการละเมิดลิขสิทธิ์จนนำไปสู่การถอดภาพออกจากลิสต์ของ AI อีกด้วย

      แม้ขีดความสามารถของ AI ที่มีแนวโน้มว่าจะเก่งได้อีก ทดแทนมนุษย์ได้อีก และคิดเองได้มากกว่านี้อีกจะเป็นที่น่าตกใจ แต่อีกแง่หนึ่ง อาวุธที่สำคัญที่สุดของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ “ความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งหากเราสามารถปลูกฝังเด็ก ๆ ให้เกิดความตระหนักรู้ และพลิกแพลงไอเดียบรรเจิดมาใช้กับเทคโนโลยีแสนฉลาดนี้ได้ ในอนาคตข้างหน้า ระบบนิเวศระหว่างคนกับเทคโนโลยีอาจน่าอยู่กว่าที่คิด และเราอาจได้เห็นมนุษย์ต่อยอดงานสร้างสรรค์ที่ซับซ้อนจาก AI สร้างสรรค์งานศิลป์ก็เป็นไปได้

ป.ล. คอนเทนต์นี้เรียบเรียงและออกแบบกราฟิกโดยมนุษย์ มิได้นำ AI มาใช้ในการเขียนทั้งสิ้น

แหล่งอ้างอิง : nytimes 2 / journals / FineArtsSilpakorn

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า