fbpx

‘ศิลปะ’ พื้นที่แห่งใหม่ที่ฮีลใจคน Gen Z

วงการศิลปะไทยกลายเป็นพื้นที่ฮีลใจของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ศิลปินมากหน้าหลายตาเข้ามาเป็นคลื่นลูกใหม่ในแวดวงศิลปะมากขึ้น พร้อมถ่ายทอดผลงานที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป จากการสังเกตพบว่า จุดร่วมสำคัญของศิลปินรุ่นใหม่ที่เห็นได้ชัดคือ การสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนผ่านผลงานศิลปะในแบบของตัวเอง นอกจากนี้ เรายังพบว่า ศิลปินไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิตของคนมากขึ้น งานศิลปะหลากหลายชิ้นถูกออกแบบมาให้เชื่อมโยงกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนเป็นหลัก นั่นอาจเป็นเพราะสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้คนต่างต้องเผชิญกับความท้าทายของปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

Mintel บริษัทวิจัยด้านการตลาดระดับโลก เผยว่า ในช่วงปี 2564-2565 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวไทยต่างประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ความเครียด (46%) นอนไม่หลับ (32%) วิตกกังวล (28%) และความเหงา (27%) ซึ่งกลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่รู้สึกโดดเดี่ยวที่สุด (38%) เมื่อเทียบกับคนกลุ่ม Millennials (26%) และกลุ่ม Gen X (15%) นอกจากนั้นยังมีสภาวะทางจิตอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การขาดความมั่นใจในตัวเอง การนับถือตัวเองต่ำ ฯลฯ

ข้อมูลจาก Thaihealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2566 พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้คนทำงานเกิดสภาวะหมดไฟ (Burnout) เนื่องจากการทำงานแบบผสม (Hybrid) ทำให้เสียสมดุลในการใช้ชีวิตและขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กลายเป็นความเครียดสะสมและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า นอกจากนั้น ยังได้รวบรวมข้อความที่พูดถึงปัญหาการลาออกของผู้คนบนโซเชียลมีเดียในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามีมากถึง 18,088 ข้อความ ที่แสดงความรู้สึกอยากลาออกจากงานที่ทำอยู่ จากพฤติกรรมดังกล่าว สะท้อนให้เห็นสังคมการทำงานในไทย แม้จะอยู่ในยุคที่มีความยืดหยุ่นแต่ก็แฝงไปด้วยความเครียดและความกดดันเช่นกัน

ทั้งนี้หลังจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มทุเลาลง เป็นสัญญาณที่ดีที่วงการศิลปะไทยได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ทำให้ศิลปินรุ่นใหม่เริ่มมีพื้นที่ในการแสดงผลงาน ผ่านการจัดนิทรรศการในแกลเลอรีต่างๆ มากขึ้น จากการศึกษาพบว่า แนวคิดหลักของการจัดงาน ศิลปินหลายคนมีความเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ผ่านมา โดยมีความตั้งใจที่จะให้งานศิลปะของตัวเองเป็นพื้นที่ปลอดภัยและสามารถฮีลใจผู้คนได้ ทั้งนี้ The Modernist ขอยกตัวอย่าง 5 นิทรรศการที่นำเสนอผลงานผ่านการฮีลใจในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1. A Heart To Be Heard 

ขอบคุณภาพจาก HiSoParty

เริ่มด้วยนิทรรศการฮีลใจด้านความรักที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ที่ผ่านมา จากศิลปินรุ่นใหม่ที่หลายคนอาจคุ้นตา กับลายมือเขียนของ Teayii หรือ เตยยี่-ประภัสสร กาญจนสูตร ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานผ่านข้อความฮีลใจผู้คนบนช่องทางอินสตาแกรม ที่ชื่อว่า teayiiartsworks ซึ่งผลงานในนิทรรศการนี้ เป็นการจิกกัดความรัก เปิดแผลในใจที่เคยเจ็บปวดผ่านฤดูกาลที่หมุนเวียน เพื่อฮีลใจให้กับคนที่กำลังเผชิญกับเรื่องราวแย่ๆ ในความรัก พาทุกคนมาโอบกอดหัวใจของตัวเอง พร้อมเตือนใจว่าความทุกข์และความเสียใจนั้นเป็นเรื่องธรรมดา

2. Take Your Time

ขอบคุณภาพจาก Time Out

นิทรรศการฮีลใจต่อมาเป็นการถ่ายทอดมุมมองจากนาฬิกาชีวิตตลอด 33 ปี ของ SUNTUR หรือ ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล ศิลปินวาดภาพสไตล์มินิมอลที่มีแนวคิดในการทำงานคือ “หยิบออกจนคงเหลือเพียงสิ่งสำคัญ” แรงบันดาลใจในการจัดนิทรรศการนี้มาจากการใช้เวลาอยู่กับตัวเองในช่วง COVID-19 ทำให้ตกตะกอนความคิด ดึงความทรงจำทุกโมเมนต์ในชีวิตทั้งความสุข ความทุกข์ และความตาย มาบอกเล่าผ่านการจัดนิทรรศการที่ให้ทุกคนได้ฮีลใจไปกับทุกช่วงเวลาในชีวิตของตัวเอง

3. Bedtime Journey

ขอบคุณภาพจาก Thairath Plus

นิทรรศการฮีลใจก่อนนอนที่พาทุกคนตกตะกอนความคิดของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ก่อนที่จะเดินทางสู่ความฝันในค่ำคืนแสนพิเศษ ผ่านทุกโสตสัมผัส ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ผู้ที่เข้าร่วมไม่เพียงแค่ได้ชมผลงานเท่านั้น แต่ยังสามารถมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้อีกด้วย นิทรรศการนี้ถูกจัดขึ้นโดยชมรม Coach By ChAMP จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความตั้งใจให้งานศิลปะเป็นพื้นที่ฮีลใจทุกคนก่อนนอน เพื่อที่ว่าทุกเช้าจะได้ตื่นมาแล้วใจดีกับตัวเองในวันใหม่

4. Home Coming

ขอบคุณภาพจาก สสส.

หนึ่งในนิทรรศการฮีลใจที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา กับแนวคิด “พาใจกลับบ้าน” ให้ทุกคนได้เข้ามาสำรวจใจตัวเอง โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง สสส. กับ Eyedropper Fill กับการจัดนิทรรศการเชิงประสบการณ์ที่มีหลากหลายกิจกรรมให้คนได้เข้าร่วม ทั้งการสำรวจอารมณ์ ปลดปล่อยความคิด นอนผ่อนคลาย รับฟัง และโอบกอดหัวใจของตัวเอง อีกทั้งยังมีแบบฟอร์มให้ทุกคนได้ประเมินสุขภาพใจและมีช่องทางสำหรับปรึกษานักจิตแพทย์ได้

5. To the moon and (never) back

ขอบคุณภาพจาก BLT Bangkok

ปิดท้ายกันด้วยนิทรรศการฮีลใจจากหลากหลายศิลปินกับผลงานที่นิยามความรักเปรียบเหมือนระยะทางไปกลับจากโลกสู่ดวงจันทร์ ภายใต้แนวคิด To the moon and (never) back ที่อาจแปลได้ว่า ‘รักมากจนล้นหัวใจ’ หรืออีกความหมายคือ ‘ความรักที่ไม่มีวันกลับมา’ ศิลปินแต่ละคนถ่ายทอดอารมณ์ความรักที่แตกต่างกันทั้ง ความหวัง ความฝัน ความสุข ความสมหวัง ความเคว้งคว้าง และความเจ็บปวด เป็นหนึ่งนิทรรศการฮีลใจผู้คนผ่านวงโคจรของความรักระหว่างโลกและดวงจันทร์

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นภาพว่า งานศิลปะยุคใหม่กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางของการเยียวยาจิตใจให้กับทั้งศิลปินและผู้ชม โดยเป็นการแสดงผลงานที่ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้มากกว่าแค่การยืนมองภาพวาด นี่อาจจะเป็นการ disrupt ความคิดและความเชื่อของผู้คนจากการที่ว่า เมื่อไรที่รู้สึกไม่สบายใจจะมีสองทางเลือกคือ 1.ไปหาหมอ 2.เข้าวัด ทว่าวันนี้นิทรรศการศิลปะอาจกลายเป็นทางเลือกที่ 3 ที่ช่วยเติมเต็มจิตใจผู้คนจากการใช้เวลากับตัวเองและสุนทรีย์ไปกับศาสตร์และศิลป์ 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงหนึ่งมุมมองที่เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของวงการศิลปะไทยในยุคใหม่ ที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในชีวิตผู้คน จากผลงานที่ถ่ายทอดผ่านศาสตร์และศิลป์ของเหล่าศิลปินคนไทยควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนความเป็นอยู่ด้านสุขภาวะทางจิตใจของคนรุ่นใหม่ และอาจนิยามศิลปะเหล่านี้ได้ว่า “พื้นที่ฮีลใจของคน Gen Z” ก็เป็นได้

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า