fbpx

อาร์ม กรกันต์ เส้นทาง 8 ปีของมนุษย์เป็ด สู่พิธีกรเดี่ยวแห่ง “ร้องล่าเหรียญ The Gang”

เรามักได้ยินคนพูดบ่อยๆ ว่า “อย่าเป็นเป็ด” ทำอะไรให้มันสุดไปสักอย่างสิไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ แต่การเป็นมนุษย์เป็ดก็ไม่ได้แย่เสมอไป บางครั้งอาจจะโชคดีกว่าคนอื่นด้วยซ้ำในยุคที่โลกต้องการคนที่ทำได้หลายอย่างแบบนี้

วันนี้เราเดินทางมายัง Workpoint Studios ณ ทุ่งรังสิต เพื่อพูดคุยกับบุคคลที่เรียกตัวเองว่าเป็นมนุษย์เป็ด นั่นก็คือ อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ ผู้ที่เป็นทั้งนักร้อง นักแสดง ผู้ประกาศข่าว นักพากย์ ดีเจ และพิธีกร จนทำให้เราคิดว่ายังมีอาชีพไหนในวงการบันเทิงอีกไหมที่เขาคนนี้้ยังไม่เคยทำ

จากเด็กมัธยมที่เดินสายประกวดร้องเพลงตามเวทีต่างๆ และชอบดูละครนิเทศจุฬาฯ ทำให้เขาตัดสินใจสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อไปเป็นหนึ่งในนักแสดงของคณะ พอเรียนจบมาก็ได้เล่นประกบคู่กับซุปตาร์แนวหน้าของประเทศไทยทันที หลังจากนั้นก็เริ่มใช้ชีวิตกับ Workpoint ในฐานะผู้ประกาศข่าว ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่นี่ Workpoint ทำให้อาร์มได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมาและได้พิสูจน์ให้คนเห็นว่าเขาทำได้แทบจะทุกอย่างจริงๆ

จนมาถึงงานล่าสุดที่เขาครองไมค์ในฐานะพิธีกรเดี่ยวอย่างร้องล่าเหรียญ The Gang รายการประกวดร้องเพลงที่คราวนี้อาร์มขอฉายแสงทำหน้าที่ดำเนินรายการด้วยตัวเองซึ่งสนุกและชวนลุ้นไปกับการล่าเหรียญของผู้แข่งขันอีกด้วย!

Modernist จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ อาร์ม-กรกันต์ ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์นี้

แล้วคุณจะรู้ว่ามนุษย์เป็ดก็มีข้อดีเหมือนกัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

Act 1
Scene 1
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณเรียนจบนิเทศศาสตร์มา ทำไมถึงสนใจเรียนทางด้านนี้

อาร์มเข้ามหาลัยตอนปี 2550 แล้วตอนมัธยมเรียนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์ดอมินิก เป็นเด็กสายศิลป์ จริงๆ ตอนม. 4 เลือกสายวิทย์ด้วยแต่เรียนไป 1 เทอมแล้วเรารู้สึกว่าหมอก็ไม่อยากเป็น วิศวะก็ไม่อยากเป็นเพราะงั้นก็เลยเรียนสายศิลป์ดีกว่า แล้วช่วงม. ปลายหนังที่ดังมากคือเรื่อง “แฟนฉัน” ก็เลยรู้สึกว่าเท่จังเลยอะ อยากไปเท่เหมือนพี่ๆ 6 ผู้กำกับแฟนฉันบ้าง แล้วอีกมุมนึงเราก็เป็นเด็กกิจกรรมที่ทำกีฬาสี เล่นดนตรีไทย เราก็ชอบละครเวที เพื่อนชวนไปดูละครนิเทศจุฬาฯ ตอนนั้นไปดูเรื่อง “The LUCIANOs” (2005) ผมก็แบบโหยชอบมากเลย เห็นพี่พีท OverMe (ปิติพงษ์ ผาสุขยืด) เล่น ปีต่อไปไปดูเห็นพี่ลูกกอล์ฟ (คณาธิป สุนทรรักษ์) เห็นพี่มาดามมด เรารู้สึกว่าแต่ละคนเท่ อยากจะทำแบบเข้าบ้าง ก็นี่แหละฮะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากเอ็น (Entrance) เข้าคณะนี้ แล้วก็เราเป็นเด็กเนิร์ดนะตอนเด็กๆ จริงๆ สายตาสั้น 1000 กว่าๆ ใส่แว่นหนาเตอะ กระเป๋านักเรียนหนาปึก แล้วก็นั่งรถเมล์ไปที่หน้าคณะนิเทศศาสตร์แล้วเราก็เอา Nokia ของเราถ่ายรูปแล้วก็เซฟภาพหน้าคณะเป็นวอลเปเปอร์มือถือของเรา ว่าฉันจะต้องเข้าคณะนี้ให้ได้ ตอนยุคผมมันเลือกได้ 4 อันดับ ผมก็เลือกอันดับ 1-3 เป็นนิเทศจุฬาฯ หมดเลย อันดับ 4 เป็นวารสารฯ ธรรมศาสตร์ แล้วสุดท้ายก็ติดนิเทศจุฬาฯ จริงๆ 

คุณเล่นละครเวทีของนิเทศจุฬาฯ ถึง 3 เรื่องเลย แสดงว่าคุณต้องหลงรักละครเวทีแน่ๆ

มันเป็นสิ่งที่ผมปักธงมาตั้งแต่แรกเลยเนอะว่าอยากมาเข้าคณะนี้เพราะอยากเล่นละครเวที ทำมาหากินเรายังไม่คิดเลยนะ (หัวเราะ) ตอนปี 1 ระบบคณะนิเทศฯ คือต้องมาสมัครแล้วให้รุ่นพี่เป็นคนตัดสินว่าคนนี้เหมาะกับบทไหน ผ่านรอบ 1 รอบ 2 แล้วก็ประกาศผลฮะ ปี 1 ตอนที่ผมเข้ามาเนี่ยผมได้บทนึงที่เขาให้ลองไปออดิชัน แต่ไม่ได้เพราะคนที่แข่งด้วยคือพี่ลูกกอล์ฟ และดาราอื่นๆ อีกหลายคน เท่ากับว่าปี 1 ไม่ได้เล่นเลย ฝันที่เราอยากอยู่บนเวทีก็อยู่ใกล้ๆ แหละแต่เฉียงมานิดนึงคือไปอยู่ด้านหลัง เปิด Follow จากนักแสดงแทน อยู่ฝ่ายแสงซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก สนุกมาก เพื่อนๆ ในแผนกก็เฮฮาปาร์ตี้ ผมได้ไปใช้ชีวิตสไปเดอร์แมน ปืนป่ายบนห้องใต้หลังคาหอประชุมจุฬาฯ ซึ่งก็สนุกไปอีกแบบนึง แล้วพอปี 2-4 ก็มาออดิชันละครเวที คราวนี้ติด ถึงมาได้เริ่มแสดงละครเวที บรรยายกาศมันไม่เหมือนงานอื่นๆ เนอะ ด้วยความที่ละครเวทีมันขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน การมาซ้อมด้วยกันทุกวันมันเหมือนมาเล่นอะ เล่นเกม เข้าบท พอเข้าบทเสร็จก็นั่งล้อมวงเปิดใจ ใครเป็นยังไง พ่อแม่เป็นยังไง มันก็เลยสนิทกันมากขึ้น เป็นอะไรที่ดีมากเลยครับ

ตอนที่เรียนจบตั้งเป้าไว้เลยมั้ยว่าจะต้องเป็นนักแสดงละครเวที

ไม่เลย จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยตั้งเป้าชีวิตเท่าไหร่เลย ดูเป็นคนล่องลอย (หัวเราะ) ตอนเรียนเรารู้สึกว่าเราชอบทำอะไรก็ทำ แล้วก็โชคดีที่พ่อแม่สนุบสนุน ตอนเด็กอยากเล่นเปียโน พ่อแม่ก็ส่งไปเรียน พอเล่นได้ไม่ดีก็ขอเปลี่ยนไปเล่นไวโอลิน พ่อแม่ก็ให้เรียน เล่นไม่ดีอีกก็ขอเปลี่ยนมาเรียนร้องเพลง พ่อแม่ก็คือสนับสนุนทุกอย่างชอบอะไรก็ส่งไปเรียน จะไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนบัญชี ต้องเรียนกฏหมายสิ อยากเรียนอะไรก็เรียน แต่บ้านผมก็ไม่ได้รวยนะพ่อแม่ทำงานออฟฟิศธรรมดาเนี่ยแหละ เพียงแต่ว่าหัวสมัยใหม่ลูกชอบอะไรก็เอาเลย ตอนเรียนจบก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเป็นนักแสดง ตอนที่เล่นละครในมหาลัยแค่รู้สึกว่ามันสนุกก็เลยอยากทำ พอจบแล้วก็ไม่ได้สมัครงานออฟฟิศเหมือนกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวครับ คือผมประกวด KPN Awards ปี 3-4 มันก็เหมือนกับเข้าวงการกลายๆ เริ่มไปร้องเพลงตามอีเวนต์ก็เริ่มได้ตังค์บ้าง รู้สึกว่าอันนี้เหมือนเป็นงานของเราละคือทำมาหากินได้ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเคว้ง พอเล่นละครเวทีจบปุ๊ปก็มีช่วงว่าง ไม่ได้ซ้อม เหมือนตกงานไม่ได้ทำอะไรเลย อีเวนต์มันก็มาๆ ไปๆ ก็เลยเป็นที่มาในการหางานประจำซึ่งก็คือการอ่านข่าว

อะไรคือความต่างของการเล่นละครเวทีคณะกับเล่นละครเวทีเป็นอาชีพ

มีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่ต่าง ตอนอยู่มหาลัยมันเหมือนเล่นมากกว่าเป็นอาชีพ ความทุ่มเทเท่ากันนะ ดีไม่ดีในมหาลัยทุ่มเทมากกว่าด้วยเพราะเรายังไฟแรง แต่พอออกมาข้างนอกแล้วเนี่ยไอพวกกิจกรรมเล่น Dodge Ball เล่นแปะแข็งกันในห้องก็ไม่ได้มีอย่างงั้นทุกวันหรอก มันคือการซ้อมการเจาะฉาก มันเป็นอาชีพอะเนอะเขาก็ไม่ได้ให้เรามาเล่นแปะแข็งกันทุกวัน แต่มหาลัยมันเป็นอย่างนั้น มีกิจกรรมมีการละลายพฤติกรรม พอได้มาทำละครเวทีเป็นอาชีพมันหล่อหลอมเราแหละครับ มันทำให้เรารักละครเวที ทำให้เรารักอาชีพนี้ และทำให้เราได้ทักษะความเป็นStage Performer เข้ามาด้วย เช่น การไม่ปิดตัว เรื่อง Golden Point เรื่องทฤษฏีต่างๆ มันก็อยู่ในสายเลือดเราเนี่ยแหละ เพราะฉะนั้นมันก้ช่วยในการทำอาชีพนักแสดงละครเวทีเหมือนกัน

เริ่มเล่นละครเวทีหลังเรียนจบก็ได้เล่นกับชมพู่ อารยาเลย ยังจำความรู้สึกตอนนั้นได้ไหม เป็นยังไงบ้าง

โห มันเหมือนฝันเลยอะ นึกถึงนิสิตจบใหม่มาแล้วเราถ่ายโปสเตอร์ครั้งแรกก็ถ่ายกับพี่ชมพู่ (อารยา เอ ฮาร์เก็ต) ซึ่งเขาดังมากๆ อะ มันเหมือนฝันเนอะได้อยู่ใน Production นั้น ได้รู้ว่าการเป็นซูปเปอร์สตาร์มันดังขนาดไหน ความนักข่าวรุมเป็นยังไง พลังของพี่ชมพู่ที่เปิดแสดง 20 รอบ บัตรเต็มทุกรอบอย่างงี้ เราก็ไม่รู้ว่าพลังของพี่เขาเยอะขนาดนั้น อีกมุมนึงที่เรียนรู้ก็คือการเป็นซูปเปอร์สตาร์มันไมได้จำเป็นที่จะต้องหยิ่ง ต้องเรื่องเยอะเหมือนภาพที่เราเข้าใจ เพราะพี่ชมพู่น่ารักมาก (เสียงสูง) น่ารักชนิดที่ว่าแบบเอาส้มตำมาแบ่งน้องๆ ในกองกินทุกวัน แกก็ไม่แต่งหน้าไม่อะไรเลยมาซ้อมสภาพแบบมนุษย์ทั่วๆ ไป เราก็รักในความเป็นพี่ชมพู่แล้วก็มองวงการบันเทิงเปลี่ยนไป ว่าแบบเออเนอะ พี่เขาก็คือคนที่น่ารักคนนึงอะ ไม่ได้แบบซุปตาร์จับต้องไมได้ มันก็หล่อหลอมผมเหมือนกันนะว่าดาราที่ดี ที่น่ารักมันเป็นยังไง อันนั้นคือส่วนที่ได้จากพี่ชมเลยจริงๆ มืออาชีพจริงๆ

ตอนนั้นคุณชมพู่สอนอะไรบ้าง

ในทางตรงกันข้ามครับ พี่ชมให้เกียรติผู้กำกับ ผมรู้ตัวเลยนะในวันนี้ถ้ามองย้อนกลับไปอะ เราแสดงไม่ได้เรื่องเลยจริงๆ เรามีความรู้เฉพาะในมหาลัย ก็อารมณ์ครูพักลักจำ มีเอกการแสดงก็จริงแต่ไม่ใช่ว่าคนที่มาสอนจะเป็นครูสอนการแสดง มันคือรุ่นพี่มาสอนรุ่นน้อง มันก็ระดับนึงไม่ได้แย่ไม่ได้ดี แต่พอพี่ชมมาเขาก็เห็นอยู่แล้ว เขาเป็นมืออาชีพเขารู้ว่าอันนี้แอคติ้งดีหรือไม่ดี แต่พี่ชมแทบจะไม่ก้าวก่ายเลย อย่างมากพี่ชมอาจจะไปกระซิบผู้กำกับให้แก้น้อง Direction นี้ คือจะไม่ Cross the line มาพูดกับผมตรงๆ แล้วก็จะรู้สึกไม่อึดอัดด้วย

พอเล่นละครเวทีไปสักพักก็มีงานละครเข้ามา สำหรับคนที่เล่นละครเวทีมาตลอด ต้องปรับตัวยังไงบ้าง

มันต่างมากเลยครับ เพราะว่าเล่นละครเวทีมันคือการเล่นสด พอมันสดมันเทคไม่ได้ อีกอย่างคือเราเล่นให้คนดู เราต้องเล่นให้คนที่ซื้อบัตรมาดูแม้กระทั่งแถวหลังสุดได้เห็น ในขณะที่ TV คนดูอยู่หน้าจอห่างกันไม่กี่ฟุตเราเล่นนิดเดียวคนดูก็เห็น ซึ่งผมติดการเล่นแบบละครเวทีเพราะเราเล่นมาตั้งแต่ปี 2 มาเล่นข้างนอกอีกตั้งหลายปี ก็ติดเล่นใหญ่ครับผม โอ้โหย (เสียงยาว) เล่นครั้งแรกก็หันหลังให้กล้องเลยอะ ผู้กำกับบอกเอาใหม่ๆ มันเปลี่ยนคนละโลกเลย เราก็เลยได้รู้ว่าอ๋อ การอยู่บนเวที การอยู่บนจอ มันมีทฤษฏีมันมีไวยากรณ์ที่ต่างกัน เล่นใหญ่ 100 อาจจะเหลือแค่ 10-20 ในการเล่นของละครโทรทัศน์

Act 1
Scene 2
ห้องชมรมดนตรีไทย

แล้วอะไรคือจุดเริ่มต้นในการร้องเพลงของคุณ

เริ่มมาตั้งแต่ประถมเลย ตอนผมอยู่ป. 4 เริ่มเข้าชมรมดนตรีไทยก่อน เราอยากเล่นดนตรีไทยอะ พูดแล้วดูดีไหม (หัวเราะ) ความจริงคือเราอยากโดดเรียนวิชาคอมพิวเตอร์เพราะครูบอกใครเรียนดนตรีไทยไม่ต้องเรียนคอมพิวเตอร์ผมก็ยกมือเลย (หัวเราะ) แต่วิชาดนตรีไทยเนี่ยแหละทำให้เราหลงรักในการร้องเพลง มันจะมีการสอนเอื้อนไทยอะเนอะ ครูสอนเพื่อนแล้วเราก็ไปแอบฟังแล้วร้องตามว่าทำยังไง พอวิชาภาษาไทยมันต้องอ่านทำนองสเนาะ เฮ้ยเราชอบที่จะอัดเสียงตัวเองแล้วก็ฟังในซาวด์อะเบาท์ยุคนั้น มีความสุขมากเลยแต่ไม่ให้คนอื่นฟังนะ เพราะร้องไม่ดี (หัวเราะ) ก็เลยรู้สึกว่าเราชอบร้องเพลง แล้วพ่อแม่ก็อนุญาตให้เราไปเรียนร้องเพลง ครูคนแรกที่สอนก็นั่งอยู่ในนี้แหละ (Workpoint) ครูอ้วน (มณีนุช เสมรสุต) แต่ว่าก็ไปเรียนรวมนะเพราะเราไม่ได้มีตังค์ เขาก็เป็นครูซุปตาร์ถูกมั้ยล่ะ ก็ได้ความรู้พื้นฐานมาเยอะมาก แล้วก็เริ่มสายล่าถ้วย ไปประกวดตามเวที เมื่อก่อนมันจะมีตามห้างอะก็เป็นประสบการณ์นะ จำได้เลยเวทีนึงมันจะอยู่กลางแผนกชุดชั้นในสตรี ร้องไปก็บราเต็มไปหมด ฉันมาทำอะไรที่นี่วะ (หัวเราะ) มันก็เป็นความทรงจะที่ตลกดีอะ แต่ส่วนใหญ่แพ้มาโดยตลอดนะ แต่สนุกดีแล้วก็กดดันด้วย จนมาเจอครูเอก (จิระชัย กุลละวณิชย์) ที่สอนอยู่ที่สยามกลการยุคนั้น ครูเขาอ่านผมออกว่าเด็กคนนี้น่าจะร้องเพลงอะไร ก็เลยเริ่มได้ถ้วยรางวัลกับเขาบ้าง ก็เป็นที่มาของการร้องเพลงครับ

มีศิลปินคนไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหมในช่วงนั้น

ผมอะจะไม่เหมือนเด็กในยุคนั้น ปกติเด็กยุค 90 มันต้องมีไปตามกรี๊ดไปดูคอนเสิร์ตอะไรอย่างงั้นใช่ปะ แต่ผมร้องเพลงเหมือนทำงาน เพราะฉะนั้นการร้องเพลงคือการประกวดสำหรับผม ไอดอลที่เราดูก็อยู่ใกล้ตัวก็คือพี่ฟอร์ด (สบชัย ไกรยูรเสน) พี่ฟอร์ดก็เป็นลูกศิษย์ของครูเอกเหมือนกัน แล้วเขาจะชอบมาหาเป็นอารมณ์แบบรุ่นพี่มาหารุ่นน้อง มาบอกทิปในการร้องเพลง ผมก็รู้สึกว่าเขาเจ๋งอะ พลังเสียงสุดยอดมากเลยก็เลยชื่นชมในผลงานเพลงของพี่ฟอร์ด

จากเวทีหน้ากากนักร้อง ชอบเพลงไหนที่ตัวเองร้องไว้มากที่สุด เพราะอะไร

อาร์มประกวด 2 รอบ คือ หน้ากากเบญจรงค์ กับหน้ากากระฆัง ตอนหน้ากากระฆังร้อง “ไม่ขีดไฟกับดอกทานตะวัน” (วิยะดา โกมารกุล ณ นคร)All of Me” (John Legend) ส่วนตอนหน้ากากเบญจรงค์ร้อง “ไม่มีเธอ ไม่ตาย” (วิชญาณี เปียกลิ่น) ถ้าให้เลือกก็ชอบ “ไม่ขีดไฟกับดอกทานตะวัน” ครับ เพราะว่ามันเป็นเพลงยุค 90 อะ เพลงของพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) แต่งไว้ ได้ฟีลความประกวดในยุคนั้น ความสยามกลการในยุคที่เราเติบโตมา เพลงดีมากเปรียบเปรยว่าเรารักใครสักคนนึงถึงขนาดที่เรายอมเผาตัวเองให้เขาหันมามอง โห่ ชอบเพลงนี้มาก รักเพลงนี้เลยรู้สึกว่าประทับใจกับเพลงนี้ที่สุด แล้วร้องยากมาก ร้องสูงสุดเท่าไหนก็ใส่เต็มเท่านั้นเลย เทคนิคยากมาก

ตอนนั้นอึดอัดไหมที่ไม่มีใครเดาถูกว่าเป็นคุณ

ตอนรายการผมถือว่าเป็นมือใหม่ที่สุดแล้วมั้งที่มาประกวด เพราะคนอื่นเขามีชื่อเสียง ผมไม่ค่อยมีคนรู้จัก สิ่งที่ผมกังวลคือเขาไม่มีทางรู้จักเราอะ เดายังไงก็ไม่ถูกเพราะเราไม่ได้ดังขนาดนั้น แต่ต้องขอขอบคุณในความใส่ใจของแฟนๆ ชาวไทยทุกคน ที่สามารถจะพูดชื่อ กรกันต์ ขึ้นมาได้เขารู้ได้ยังไงไม่รู้ ด้วยความที่รายการสนุกมาก มันทำให้เขาได้ออกไปหาจนทำให้รู้จักอาร์ม กรกันต์ขึ้นมาได้ ซึ่งผมก็ต้องขอขอบคุณพี่โตโน่ (ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) ในตอนนั้นด้วย ที่ทำให้ผมเป็นที่พูดถึงเพราะเขาคิดว่าผมเป็นพี่โตโน่ (หัวเราะ) ก็อึดอัดครับอยู่ใต้หน้ากาก เราก็อึดอัดว่าคนจะรู้จักเราหรือเปล่า แต่ในทางกลับกันมันก็ฟรีนะ คือเราเลอะเทอะอะไรก็ได้เพราะทุกคนรู้ว่านี่เป็นการโกหกได้ ก็ทั้งอึดอัดทั้งฟรีย้อนแย้งกัน ไม่ได้แพลนว่าจะเป็นพี่โตโน่นะ คือตอนก่อนขึ้นเวที พี่หอย (เกียรติศักดิ์ อุดมนาค) เดินเข้ามาแล้วพูดชื่อพี่โตโน่เลยเอาคนนี้แหละ ก็เป็นการฉกสดอีกแล้ว

หลังจากได้ร้องเพลงประกอบละครอยู่บ่อยๆ ในที่สุดก็มีซิงเกิลแรกเป็นของตัวเองคือเห็นใจกันพอประมาณ ความรู้สึกตอนได้ปล่อยเพลงในฐานะนักร้องเป็นยังไงบ้าง

จริงๆ ถ้าซิงเกิลแรกมันจะมีอีกเพลงนึงซึ่งนานมากแล้วครับ ตั้งแต่ตอนม. 4 ชื่อฉันไม่ใช่ เพลงนั้นมาจากการประกวด พอดี Producer เขาแต่งเพลงให้ผู้ประกวดอันนั้นเป็นซิงเกิลแรกเลย ตื่นเต้นมากโทรอวดเพื่อนทั้งวันจนเพื่อนรำคาญ แต่เห็นใจกันพอประมาณ”ก็ยังถือว่าเป็นซิงเกิ้ลแรกได้เหมือนกัน เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราขลุกลงไปในการทำเพลงเอง เราวิ่งไปหาพี่โอม Cocktail (ปัณฑพล ประสารราชกิจ) ให้พี่โอมช่วย พี่โอมถามกลับมาว่าอาร์มเป็นคนยังไง มีมุมมองชีวิตยังไง ถามละเอียดมากเหมือนสัมภาษณ์งานเลยอะ ชอบเพลงอะไร มุมมองในเรื่องครอบครัวเป็นยังไง แล้วก็หายไปประมาณเกือบปี แล้วผมก็ยังไงนะผมโดนทิ้งหรือเปล่า (หัวเราะ) คือพี่เขางานยุ่ง สุดท้ายก็ได้เป็นเพลงมา เราก็ได้เข้าไปทำทุกขั้นตอนเลยครับ ทำ MV มีส่วนในการคอด ในการเลือกทีมงาน ก็เป็นเพลงที่เราภูมิใจนะ เป็นการเปลี่ยนอีกครั้งนึงเพราะปกติเราร้องละครเวที ร้องประกอบละครมันต้องมีความชัดมากๆ พอไปอัดเพลงตัวเอง พี่โอมฟังแล้วบอกว่า “อาร์มขอร้องใหม่ โจทย์คือร้องยังไงก็ได้ให้พี่ฟังไม่รู้เรื่อง คือขอให้ไม่ชัดที่สุดในโลก พี่ไม่อยากได้ยินผู้ประกาศข่าวร้องเพลง” คือเราฟังแล้วแบบเฮ้ย เราร้องชัดขนาดนั้นเลยหรอ ในใจผมนะผมคิดว่าผมร้องงึมงำแล้วนะ แต่พอออกมาหน้าห้องมาฟังแล้วมันยังชัดอยู่เลยอะทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันไม่ชัดแล้ว เพราะว่าเราโดนปลูกฝังเรื่องการออกเสียงมาเป็นสิบๆ ปี พี่โอมก็มากระเทาะให้เรา เปิดโลกว่าอ๋อ การร้องเพลงป๊อปมันเป็นแบบนี้ ก็ได้เรียนรู้ไประหว่างการทำเพลง

ในอนาคตมีโอกาสที่จะออกซิงเกิลอีกไหม

ก็คงไม่ปิดกั้นครับ แต่ซิงเกิลที่แล้วก็คือในรอบ 10 ปีครับ ไม่รู้ว่าต่อไปจะในรอบศตวรรษเลยหรือยังไง (หัวเราะ) มันใช้แรงเนอะ มันใช้หลายแรง แรงตัวเอง แรงทรัพย์อะไรทุกๆ อย่าง

หลายคนรู้จักคุณจากการพากย์เสียง Olaf ใน Frozen ตอนที่รู้ว่าจะได้ร่วมงานกับดิสนีย์รู้สึกยังไงบ้าง

ตอนนั้นเล่นละครของพี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) แล้วก็ Vocal Coach เป็นพี่แหม่ม (สุกานดา บุณยธรรมิก) ในละครเวทีเรื่องนั้น แล้วเขาเห็นว่าเด็กคนนี้น่าจะทำได้ น่าจะพอมีของ ผมเลยไปแคสแล้วดันได้ แต่บทโอลาฟต้องบอกก่อนว่าผมพากย์เฉพาะเสียงร้องนะ เสียงพูดจะเป็นนักพากย์มืออาชีพ เพราะว่ามันเป็นตัวละครที่เป็นสีสันมันจะพากย์ยากกว่าตัวละครอื่น แล้วผมเป็นก้าวแรกก็เลยเป็นการพากย์ร้อง แต่ก็โชคดีที่โอลาฟเป็นตัวละครที่คนรักเยอะมาก (ลากเสียงยาว) เนอะ เจออะไรมันก็มองเป็นดีไปหมดเลย ตื่นเต้นมากครับ แล้วก็รู้สึกว่าเป็นโชคดีของผมครับ ยิ่งเราดูการ์ตูนแล้วเรายิ่งรักมันอะ มันเหมือนเป็นตัวที่เอามาสอนเราว่าเฮ้ย เราต้องเป็นแบบนี้สิ เวลามันเจอเหตุการณ์ไม่ดีมันยังบ้าบอ สนุกสนานได้เลย มันก็สอนผมนะ

ความยากของการพากย์เสียงร้อง Olaf คืออะไร

มันเล่นโทนเสียงเยอะมาก (เสียงสูง) เพลงในภาพยนตร์มันแค่ 1-2 นาทีเท่านั้นเอง แต่ผมอัดเกือบ 4 ชั่วโมง แค่ 1 นาทีเนี้ยโอ้โห หูย ครูแหม่มเจาะไม่ปล่อยเลยอะ ขึ้นเสียงลงเสียงเหมือนสึนามิ เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง มีความไบโพลาร์ในเสียงเบาๆ แต่ก็ผ่านมาได้ แล้วก็ได้ความรู้อีกจากตรงนั้นว่าการเล่นเสียงของนักพากย์มันไม่ง่ายเลยนะ ต้องรักจริง ต้องมีความสามารถ ความเชี่ยวชาญจริงๆ ถึงจะทำได้

ไปฝึกวิธีการใช้เสียงมาจากไหน

เอาจริงๆ ผมดับเครื่องชน ก็คือเจอเอาหน้างานเลย เรามีทักษะการร้องเพลงจากการประกวดของเรามาอยู่แล้ว แต่ว่าการพากย์เนี่ยไม่ได้เทรนมาก่อน เจอครูหน้าห้องอัดเลย ครูก็สอนไปทำไปอะ มันคือการเรียนหน้างานจริงๆ ทำได้ทำไม่ได้เอาก่อนละวะ ออกมาเสียงแหบเลยอะ

คิดว่าเสน่ห์ของอาชีพนักพากย์เสียงคืออะไร

มันไม่ใช่การเลียนเสียง มันคือการที่คนพากย์จะต้องสวมอินเนอร์เหมือนนักแสดงเพื่อเป็นตัวละครตัวนั้น มันมีอะไรมากกว่าการใช้เสียง มันทำให้เรามองว่าเราต้องเข้าไปสวมวิญญาณการเป็นคนหรือเป็นตัวละครตัวนั้นให้ได้ แล้วมันจะมีอะไรที่ Improvise หรือด้นสดได้แล้วมันจะไม่ขัด ผมได้เรียนรู้ตรงนี้ครับ

ในอนาคตอยากลองพากย์เสียงจริงๆ บ้างไหม ที่ไม่ใช่แค่การพากย์ร้อง

ก็ดีนะ น่าจะสนุกดีแต่ยังไม่มีโอกาสทำเลย ก็เลยยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นนักพากย์เต็มตัว ถึงแม้ในวิกิพีเดียจะบอกมาอย่างงั้น (หัวเราะ)

Act 1
Scene 3
Workpoint Entertainment

ก่อนจะมานั่งอ่านข่าว มีภาพตัวเองในการเป็นผู้ประกาศข่าวมาก่อนมั้ย

ไม่มีเลย เชื่อไหมตั้งแต่เด็ก เอางี้ผมเรียนนิเทศศาสตร์มันมีตั้งหลายสาขา วิชาที่ผมไม่ตั้งใจเรียนหนึ่งในนั้นคือข่าว (หัวเราะ) ดูดิ ตัดภาพมาเรามาอ่านข่าว ขำตัวเองอะเป็นวิชาที่เราหนีแต่เราดันได้ทำ ก็เลยรู้สึกว่าเออ มันไม่มีความแน่นอนในชีวิตอะ อย่างตอนที่เราสมัครอ่านข่าวที่นี่ เราก็มาออดิชันที่ Workpoint ตอนนั้นมีเพื่อนเป็นพนักงานประจำแล้วเขาบอกว่าที่นี่เปิดรับสมัครผู้ประกาศ เราก็เอ้า เราเคยพูดหน้าเสาธงโรงเรียนมา นั่นคืออดีตที่เคยทำประสบการณืมีเท่านั้นเลยจริงๆ ก้มาสมัครปรากฏว่าได้ ก็โชคดีที่เขาเห็นว่าเรามีความสามารถที่น่าจะพัฒนาต่อได้ แต่ความเครียดต่อมาก็คือพอได้ปุ๊ป 15 วันหลังจากนั้นออกอากาศเลยนะ “สวัสดีครับ ผมอาร์ม กรกันต์ พบกับข่าวต้นชั่วโมง” เลย ซึ่งแปลว่ายังไม่ได้ Training ใดๆ ทั้งสิ้นเลย พูดชื่อตัวเองยังผิดอะตื่นเต้นอย่างงั้นเลย จำได้เลยอ่านข่าวพี่เสก โลโซ (เสกสรรค์ ศุขพิมาย) ตื่นเต้นมากมือสั่นสคริปต์ตกพื้น แต่เรามีความเป็นนักแสดงละครเวทีที่ทุกอย่างมันสด มันอยู่ในสายเลือด The show must goes on เราก็เอาสีข้างเข้าถูไป ทุกอย่างต้องรอด แล้วด้วยความโชคดีเริ่มต้นเป็นผู้ประกาศข่าว อาร์มทำข่าวต้นชั่วโมง เพราะผู้ใหญ่เห็นแล้วว่าไอนี่ประสบการณ์น้อยเอาไปฝึกช่วงนั้นก่อน เพราะคนดูก็ยังไม่เยอะเนอะช่วงบ่ายๆ ขั้นระหว่าง Home Shopping กับรายการรีรัน เป็นเวทีฝึกที่ดีมากสำหรับเรา เป็นการดับเครื่องชนเรียนรู้หน้างานกันอีกครั้ง มันก็ผ่านมาได้แล้วมันก็ค่อยๆ ฝึกเราจนเป็นวันนี้ได้ ก็งงเหมือนกัน

ตอนฝึกอ่านข่าวมีความยากหรือง่ายยังไงบ้าง

ตอนแรกจับแค่ว่าผู้ประกาศข่าวต้องพูดชัด ต้องน้ำเสียงน่าฟังซึ่งเราก็พอทำได้แหละ แต่พอมาเจอพี่ๆ มืออาชีพเนี่ยเรารู้สึกว่ามันไม่พอ เหมือนข้าวผัดกะเพราที่มันมีแค่ข้าวแล้วก็กะเพราอะ แต่ความอูมามิมันยังไม่มี อ๋อ มันต้องตามข่าวตลอดเวลานี่หว่า ก็ต้องมานั่งเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่แค่การพูดชัดถ้อยชัดคำเหมือนที่เรามี ก็ไปเรียนรู้อีกเพิ่มเติม

เคยคิดไหมว่าจะทำงานผู้ประกาศได้นานขนาดนี้ 

ก็ไม่คิดนะครับ มันก็เป็นอะไรที่เกินความคาดหมายนะมาถึงช่วงที่ผู้ใหญ่อยากจะปรับให้เรามีความบันเทิงขึ้นอะ มาอ่านข่าวบันเทิง มาทำรายการ ก็เป็นลมเปลี่ยนทิศอีกครั้งนึงเนอะ เนี่ยชีวิตมันคือความเปลี่ยนแปลง เราเป็นเป็ดอยู่แล้ว ความเด็กนิเทศฯ อะเนอะมันต้องทำให้ได้ The show must goes on นี่เป็น Motto ประจำชีวิต ก็เลยรู้สึกว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราต้องทำให้ได้เพราะเขาให้โอกาสมาแล้ว

พูดถึงรายการร้องล่าเหรียญ The Gang ที่กำลังเป็นพิธีกรอยู่ตอนนี้หน่อย ว่ารายการนี้เกี่ยวกับอะไร

เป็นรายการประกวดร้องเพลงที่เชิญดารามาประกวดกัน 5 คนต่อสัปดาห์ แล้วก็สุ่มมา 1 เพลง 5 คนจะต้องร้องเพลงเดียวกัน แล้วก็เปลี่ยนโจทย์เพลงใหม่คัดออกเรื่อยๆ จนเหลือ 1 คนสุดท้ายที่ได้เงินรางวัลกลับบ้านไป ซึ่งมันทำให้ผมนึกถึงตัวเองสมัยประกวดร้องเพลงยุค 90 มากเลย มันก็จะเป็นฟีลนี้ คัดคนออกเพียงแต่ไม่โหดเท่ารายการนี้ รายการนี้โหดมาก (หัวเราะ)

ผมดีใจที่เป็นพิธีกรไม่ได้เป็นคนแข่ง ถือว่าเป็นการพลิกบทบาทครั้งแรกและครั้งสำคัญของผมที่มาทำพิธีกรรายการ เพราะปกติจะทำพิธีกรอีเวนต์เป็นส่วนใหญ่ พอเปลี่ยนมาทำพิธีกรรายการมันก็สนุกไปอีกแบบนึง มันท้าทาย เพราะว่าจุดแข็งของผมคือเรื่องของ Sequence เพราะอย่างพอไปอีเวนต์เราจะจำได้หมดว่าต้นงานถึงปลายงานเป็นยังไง ต้นงานผู้บริหารกล่าวเสร็จมี VTR เชิญผู้บริหารขึ้นมาใหม่มามอบรางวัล พวกนี้จะอยู่ในหัวหมดเลย แต่พอมาถ่ายรายการ กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องแม่นก็ได้ ถ้าเรามีเทคเราเทคได้เลย กลายเป็นว่าเราต้องฉกสด เหมือนงูอะ ฉก แล้วเอามาขยี้เลยหน้างาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผมมาก สนุกไปกับการเรียนรู้ใหม่ๆ เหมือนกับเวลาเราทำซิงเกิล พากย์เสียง เราก็ดับเครื่องชนมาหลายครั้งแล้วเนอะ อยู่บนเวทีรายการก็เหมือนกันเราก็เรียนรู้จากหน้างานเอา สนุกดีครับได้รู้อะไรเยอะมากเลย

แล้วทำไมถึงได้มาเป็นพิธีกรเต็มตัวครั้งแรก

มันเป็นจังหวะที่ดีอะเนอะ คือพิธีกรรายการนี้เขาต้องการคนที่ร้องเพลงได้ด้วยแล้วก็ทำพิธีกรได้ด้วย แล้วเผอิญใน Workpoint ก็น่าจะเป็นผมคนเดียว (หัวเราะ) ก็เป็นโอกาสที่ดีนะ ผู้ใหญ่เขาอาจจะเห็นว่าเราร้องเพลง ทำอีเวนต์มาเยอะ ผู้ประกาศข่าวก็สด อีเวนต์ก็สด น่าจะทำได้แหละก็เลยได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่

คำว่า “พิธีกร” มันใกล้หรือไกลตัวยังไง เพราะนี่ก็เป็นอีกงานที่ไม่เคยคิดจะทำ

ถูก (หัวเราะ) เพราะตอนประกวดร้องเพลงเรามีความจำฝังใจ เรารู้สึกว่าตอนเป็นนักร้องเราพูดไม่เก่ง ไม่อยากพูดเลย ฉันท่องมาแค่เนื้อเพลงเธออย่าถามมากว่านั้น เวลาสัมภาษณ์กับพิธีกรจะกลัวมาก พูดผิดพูดถูกตลอดเวลา แล้วก็ตอนที่เรียนกับครูอ้วนก็ได้ทำพิธีกร ผมพูดชื่อผู้ใหญ่ที่จะขึ้นมามอบรางวัลผิด เขาชื่อ “โสภี” ผมเรียกเขาว่า “โสผี” (หัวเราะ) แล้วเป็นเด็กทั้งหอประชุมหัวเราะกันเต็ม กลับบ้านไข้ขึ้นอะ เนี่ยเป็นความทรงจำฝังใจพิธีกรครั้งแรกในชีวิต เพราะงั้นเราเลยหนีอาชีพนี้ จนสุดท้ายก็ได้มาทำเราก็เออ ก็ได้วะ The show must goes on อะ มันเป็นเพื่อนบ้านกันเนอะ นักร้อง ผู้ประกาศข่าว นักแสดงละครเวที พิธีกร คือเดิมไม่เคยตั้งเป้าว่าจะเป็นอะไร แต่ตอนนี้เริ่มจะปักหลักแล้วว่าอยากทำพิธีกรมากกว่า เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราสนุกที่จะได้ทำไปเรื่อยๆ

การแบกรายการทั้งรายการยากยังไงสำหรับพิธีกรมือใหม่

แล้วคนเดียวด้วย ถ้าเปิดหลังมานี่กระดูกงอกแล้วนะแบกจนอย่างงี้เลย ผมขอพิธีกรคู่เลยแหละตอนแรก แล้วผู้ใหญ่ก็ไว้ใจว่าเราทำได้ไม่จำเป็นต้องมีใครมา ก็ถ้าผู้ใหญ่ไว้ใจเราก็ต้องไว้ใจตัวเองเหมือนกัน ก็ทำการบ้านหนักขึ้น ไปดูโชว์ ไปดูรายการว่าเขาเล่นกันยังไง กดดันนะแต่ก็ต้องทำให้ได้ ผมรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรจะเสีย มันเป็นครั้งแรกก็โดดลงไปให้เต็มที่ ที่ผ่านมาในชีวิตก็เป็นอย่างงั้นมาตลอดอยู่แล้วก็ทำไปเถอะ อยู่บนเวทีเราก็ประกวดร้องเพลง เล่นละครเวที อ่านข่าว มันคงอยู่ในสายเลือดด้วยความที่มันเป็นงานสดนะฮะ ก็ยังพอมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ได้ (หัวเราะ)

จำวันถ่ายเทป Pilot (ตัวอย่าง) ได้ไหม

จำได้ๆ สั่นไปทั้งตัวเลย มือสั่น ขาสั่น แล้วก็คิดตลอดเลยว่าไม่เกิดหรอก ไม่เชื่อตัวเอง คือส่วนหนึ่งคิดแบบนี้แล้วมันทำให้เราสบายใจขึ้น มันทำให้เรา Calm Down ได้ เราก็ทำของเราไปเดี๋ยวเขาก็เห็นเองแหละ แต่คงไม่ได้ทำหรอก ก็คิดอย่างงี้นะ ในใจส่วนหนึ่งก็มั่นใจว่ามือตัดต่อของ Workpoint ก็มือหนึ่งในประเทศไทย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเรามีคนที่เก่งกว่าเราอยู่ข้างหลังเราก็ทำเต็มที่

ทุกวันนี้ยังปรับตัวอยู่ไหมในการเป็นพิธีกรเดี่ยว

ก็ยังปรับเรื่อยๆ ครับ แล้วก็เรียนรู้ไม่จบไม่สิ้นเลย แม้กระทั่งถ่ายมาจนถึงกี่เทปแล้วเนี่ย เทปครั้งล่าสุดผู้ใหญ่ก็ยังเดินมาที่สตูฯ แล้วก็สอนกันหน้างานอีก มันคือความไว้ใจกันเนอะ ผมเพิ่งเข้าใจ เพราะว่าก่อนหน้านี้ที่เห็นพี่กันต์ (กันต์ กันตถาวร) โพสต์ว่าเขารักทีมงานของเขา เออมันสำคัญจริงๆ มันต้องเป็นเจ้าของบ้าน เป็นผู้ใหญ่บ้านที่โอบอุ้มทีมงานไว้ การทำรายการโทรทัศน์เนี่ยดีไม่ดีไอเรื่องนี้สำคัญกว่าการทำคอนเทนต์อีก การที่สนิทกัน รักกัน แฮปปี้ไปด้วยกัน นี่ก็เป็นสิ่งใหม่ที่ผมเพิ่งเรียนรู้ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเอง ต้องเรียนรู้ใหม่ตลอด พอนับ 5 4 3 2 1 ก็เอาใหม่ เริ่มใหม่ทุกวัน

ได้ขอคำแนะนำจากใครใน Workpoint บ้างไหม

มีๆ พี่ลิง (สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์) ให้คำแนะนำเยอะมากเลย ยืนคุยกันเป็น 10 นาทีเลยอะ แล้วก็พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ก็เมตตาอาร์มมากเลยนะ ส่ง Message มาว่าอาร์มลองทำแบบนี้ดู ผมก็ดีใจ

Act 1
Scene 4
To Be Announced

มีอาชีพไหนอีกไหมที่อยากลองทำแต่ยังไม่มีโอกาสได้ลองทำ

อยากเป็นวิทยากรไปสอนครับ ตามองค์กร ตามมหาลัยอะไรอย่างงี้ครับ เป็นสิ่งที่อยากทำเพราะคิดว่าน่าจะสนุกดี เคยมีคนชวนไปลองพูดลองอะไรประมาณนี้ ไม่เชิงว่าต้องทำเป็นอาชีพนะไปชิมลางเฉยๆ แล้วเรารู้สึกว่าสนุกดี แล้วมันเกิดประโยชน์กับคนฟัง เขาจะได้รู้ว่าอ๋อ บนเวทีมันต้องยืนอย่างงี้นะแต่ละที่มันมีไวยากรณ์ที่ต่างกัน ซึ่งโอเคแหละ พนักงานออฟฟิศไม่ได้จำเป็นจะต้องมาจับไมค์ร้องเพลง หรือเล่นละครเวที แต่มันก็อาจเป็นประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้จากเราได้ ก็เป็นอาชีพที่อยากทำอนาคตครับถ้ามีโอกาส

หลายคนบอกว่าเด็กนิเทศฯ เป็นเป็ด การเป็นเป็ดมันดียังไง

เป็นเป็ดเนี่ย ถ้าไม่นับว่าถูกฆ่าแล้วไปเป็นเป็ดปักกิ่งมันก็ขายได้แพงนะ (หัวเราะ) การเป็นเป็ดถ้าย้อนกลับไปสัก 10 ปีก่อนหน้าอะไม่ดี แต่พอตอนนี้ สังเกตไหมในออฟฟิศเขาเขียนคอนเทนต์เชิดชูคนที่เป็นเป็ดนะ พนักงานในออฟฟิศที่สามารถทำได้หลายตำแหน่งภายในคนเดียวกลายเป็นที่ต้องการของบริษัท กลายเป็นคนที่ Survive (อยู่รอด) ในยุค Covid-19 เพราะฉะนั้นเราทำได้หลายๆ อย่างก็ดีกว่าทำได้อย่างเดียวในยุคนี้ แล้วพอถึงเวลาก็ไป Specialise (ศึกษาให้เชี่ยวชาญ) ว่าเราจะลงรากในจุดไหนน่าจะดีกว่า ผมว่านี่คือข้อดีของมนุษย์เป็ด

Workpoint เปลี่ยนให้คุณเป็นคนยังไง

ผมมองว่า Workpoint คือ King of Variety (เจ้าแห่งรายการวาไรตี้) ผมก็ถูกสอนให้เป็น Variety Person เหมือนกัน Variety แปลว่าหลากหลายเนอะ ผมก้าวมาที่นี่ในฐานะผู้ประกาศ แต่ผมได้ทำละครเวทีโหมโรง ได้ใช้ความสามารถที่เราคิดว่าไม่มีทางได้ใช้ การตีระนาดอะ จะไปใช้ยังไงให้คนเห็นก็ได้ชัด ไลลลลก็กลายเป็นได้กลับมาประกวดร้องเพลงที่เราชอบ หรือได้ทำพิธีกรรายการอย่างงี้ฮะ มันทำให้เราเป็นคนที่ต้องได้ อะไรไม่ได้เราต้องทำได้

มีคำสอนจากผู้ใหญ่ใน Workpoint ที่มีผลกับตัวเองบ้างไหม

พี่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล) ครับ อาร์มจะทำเหมือนพี่ตาคือสคริปต์ มันจะเป็นกระดาษมาใช่ไหม พี่ตาจะเอามาวง Wording เอามาขีดเส้นใต้ ซึ่งอาร์มก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน แล้วเรามารู้ทีหลังตอนพี่ๆ ทีมงานเขาบอกว่าทำเหมือนพี่ตาเลย เราก็เพิ่งรู้ว่ามันเขาขีดแบบนี้ เพราะว่าผมเป็นคนที่ต้องขีดไม่งั้นผมอ่านไม่รู้เรื่อง แต่คำสอนที่ได้จากพี่ตาคือ เราเนี่ยต้องเป็นนายสคริปต์อย่าให้สคริปต์เป็นนายเรา ฟังดูง่ายๆ เนอะแต่รุ่นระดับ CEO เขาเฉียบคมอยู่แล้ว สคริปต์มันเป็นแค่ตัวอักษร มันเป็นเพียงการขัดเกลาของน้องๆ Creative แต่เราต้องเป็นนายสคริปต์อีกที ต้องต่อยอดมันให้ได้ ต้องแตกมันออกมา อันนี้สำคัญมากๆ เลยใช้ได้กับทุกบทบาทในเวทีของผมเลย

เรียนรู้อะไรจากการใช้ชีวิตมา 33 ปี

33 ปีแล้วเนอะ นานจัง (หัวเราะ) เรียนรู้ว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงครับ บางทีเราตั้งเป้าหมายที่เราจะเดินไปเชียงใหม่ แต่รู้สึกตัวอีกทีเราอยู่ที่ชลบุรี แต่มันก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่ดี เพราะชลบุรีก็มีหาดทรายสวยๆ เหมือนกัน ระหว่างทางเราก็มีความสุขได้นี่นามันไม่จำเป็นต้องมีความสุขเมื่อเราไปถึงจุดมุ่งหมาย เราอาจจะเดินอ้อมไปบ้าง ถอยหลังไปบ้าง หรือเฉียงไปบ้างแต่ระหว่างทางก็คือประสบการณ์ที่ดีในชีวิต ก็มองว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ บอกตัวเองด้วยนะก็ยังสอนตัวเองอยู่กับทุกก้าวที่ตัวเองเดินไปไม่ว่าจะไปซ้ายหรือไปขวา

มองเป้าหมายตัวเองในอนาคตไว้อย่างไร

จริงๆ ทุกวันนี้ที่ทำก็มีความสุขแล้ว ผมคิดว่าผมโชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ก็คือการร้องเพลง การพูด การเล่นละคร คิดว่าแค่ได้อยู่วงการแล้วทำในสิ่งที่เรารักในมุมที่คนอื่นเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์ แค่ทำอย่างงี้ไปเรื่อยๆ ผมว่าผมแฮปปี้แล้ว

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า