fbpx

A Taxi Driver : เมื่อคน “อยู่เป็น – Gen X” ตาสว่างด้วยความจริง

ไม่แน่ใจว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ ที่เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวันแรงงานสากล ที่กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ระลึกถึงความสำคัญของแรงงาน หรือในประเทศไทยเองก็มีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อ พ.ศ. 2535 และการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่ราชประสงค์ ใน พ.ศ. 2553

ข้ามไปที่เกาหลีใต้ เดือนพฤษภาคมก็เกิดเหตุการณ์ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศเช่นกัน นั่นคือเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ควังจู ซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2523 (1980) และเหตุโศกนาฏกรรมที่ก่อโดยรัฐนี้ ก็ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ A Taxi Driver ว่าด้วยเรื่องราวของคนขับแท็กซี่ที่ขับรถพาผู้สื่อข่าวชาวเยอรมันเข้าไปยังควังจู และนำภาพเหตุการณ์อันเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์นี้ออกมาเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงความเหี้ยมโหดของรัฐบาลเผด็จการในขณะนั้น

เมื่อชาวควังจูลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตย

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ควังจู เกาหลีใต้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 หลังจากการยึดอำนาจในช่วงสุญญากาศทางการเมืองของนายพลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชอนดูฮวาน โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน กลุ่มนายทหารที่ก่อการกบฏและยึดอำนาจ ได้ประกาศกฎอัยการศึก มีการเคอร์ฟิว ปิดมหาวิทยาลัย และสั่งห้ามนัดหยุดงาน ทว่าประชาชนชาวควังจูไม่เห็นด้วยกับการก่อกบฏครั้งนี้ และลุกขึ้นประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย นำไปสู่จุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน

เหตุการณ์ความรุนแรงที่ควังจูกินเวลานานถึง 10 วัน พลเรือนอย่างน้อย 150 คน ถูกสังหารในจุดปะทะ มีผู้บาดเจ็บนับพันคน กว่า 100 คน เสียชีวิตจากบาดแผลที่เกิดขึ้นระหว่างการปะทะ และ มีผู้สูญหายกว่า 80 คน อย่างไรก็ตาม บาดแผลทางประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้สิ้นสุดลงทันทีหลังจากเหตุการณ์จบลง ชาวควังจูยังคงถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์และผู้ก่อจลาจลอยู่นานหลายปี กว่าจะได้รับความยุติธรรมและคืนศักดิ์ศรีในฐานะผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“คิม” พลเมืองดีของสังคมเกาหลียุค 80s

A Taxi Driver ดำเนินเรื่องผ่านสายตาของ “คิม” พ่อเลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่กับลูกสาวในกรุงโซล ยึดอาชีพขับรถแท็กซี่เอกชนเป็นอาชีพหลัก แม้จะไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามจริงๆ ของเขา แต่วิถีชีวิตและทัศนคติของคิมก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาเป็น “คนดี” ของสังคมเกาหลีในยุคนั้น ที่ทั้งทำงานหนัก รักครอบครัว และแม้จะยากจน เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เขาก็ยังคงมีความสุขกับชีวิตอยู่เสมอ โดยถือคติอันจำนนต่อฟ้าดินว่า “รู้จักอดทนไว้ ชีวิตไม่มีวันยุติธรรมกับเราหรอก”

มีเพียงสิ่งเดียวที่จะทำให้เขาหงุดหงิดใจได้ คือการที่รถแท็กซี่คู่ใจเสียหาย และการชุมนุมประท้วงที่จะทำให้รายได้ของเขาลดลง เช่นเดียวกับคนหาเช้ากินค่ำที่อยู่รอบตัวของคิม และมักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อแนวทางของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา

เมื่อพิจารณาผ่านสายตาของคนยุคใหม่ อาจเรียกได้ว่าคิมนั้นเป็นพวก “อยู่เป็น” หรือ “อิกนอร์แรนต์” (ignorant) ที่ไม่ต้องการมีส่วนร่วมใดๆ กับการเมือง ขอเพียงตัวเองสามารถทำมาหากินและอยู่รอดได้ก็เพียงพอ จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้รับ “เยือร์เกน ฮินซ์ปีเตอร์” ผู้โดยสารชาวต่างชาติขึ้นรถ และพาไปยังเมืองควังจู ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรรออยู่ตรงหน้า

เมื่อความจริงกระแทกหน้า คนอยู่เป็น – Gen X ก็ตาสว่าง

ภาพโปรโมตและตัวอย่างภาพยนตร์ รวมถึงเนื้อเรื่องในช่วงแรก หลอกล่อให้ผู้ชมเข้าใจว่านี่คือภาพยนตร์ coming of age เบาๆ แต่เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเรื่อง จะพบว่ามีการสร้าง “กำแพง” อยู่ในแทบทุกฉาก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการ “ปิดหูปิดตา” ทั้งจากฝีมือของรัฐ และฝีมือของประชาชนด้วยกันเอง

คิมและชาวเกาหลีใต้ที่อยู่นอกควังจูไม่ได้เป็นอิกนอร์แรนต์จากการปิดหูปิดตาของรัฐ ผ่านการถ่ายทอดความกลัว การเซ็นเซอร์สื่อ และตัดช่องทางการสื่อสารเท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ยังไม่ก้าวหน้า บวกกับสื่อที่ยังไม่มีช่องทางที่หลากหลาย วิถีคนจนที่ต้องก้มหน้าทำงานตำข้าวสารกรอกหม้อ หรือแม้กระทั่ง “กำแพงภาษา” ที่ฮินซ์ปีเตอร์พยายามสื่อสารถึงสถานการณ์ที่ตึงเครียดในควังจู แต่คิมผู้รู้ภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ ก็ไม่เข้าใจ และยังคง “ชิลล์” ต่อไป ในระหว่างเดินทางไปยังควังจู

และแล้ว คิมผู้ไม่เคยเชื่อว่าทหารจะทำร้ายประชาชน ก็ถูกความจริงกระแทกหน้าเข้าอย่างจัง เมื่อได้เห็นภาพความรุนแรงกับตาตัวเอง และได้พบกับ “แท็กซี่ควังจู” ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากแท็กซี่กรุงโซลอย่างเขาโดยสิ้นเชิง

จากที่เคยเชื่อว่าแท็กซี่เลือกผู้โดยสารไม่ได้ ใครขึ้นรถมาก็ต้องขับไปส่งตามคำสั่ง แท็กซี่ควังจูทำให้เขา “ตาสว่าง” ได้ว่า ผู้โดยสารที่คู่ควรกับแท็กซี่อย่างพวกเขา คือสื่อที่ยืนบนหลักการเสรีภาพ และประชาชนที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเองนั่นเอง

หลังจากนั้น นิยามความเป็น “คนดี” ของคิมก็เปลี่ยนแปลงไป โดยการประทับตรารับรองของสื่อตงฉินอย่างฮินซ์ปีเตอร์

“อยู่เป็น – Gen X” ในกระแสการเมืองไทย

A Taxi Driver เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมชาวไทยนึกถึงสังคมไทยได้จากแทบทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นบริบททางประวัติศาสตร์ ลักษณะของตัวละครทั้งฝ่ายที่อยู่เป็นและฝ่ายที่อยู่ไม่เป็น และบทพูดในหลายๆ โอกาส ที่ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ในบ้านเราเอง ที่มีทั้งคนรุ่นเก่าที่หมดศรัทธากับการเมือง และมองว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ชีวิตของพวกเขาก็ไม่เปลี่ยนแปลง เราเคยมีคนหาเช้ากินค่ำ ที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐ อย่างนวมทอง ไพรวัลย์ ที่ตัดสินใจขับแท็กซี่พุ่งชนรถถัง เพื่อประท้วงการรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 ก่อนจะทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อลบคำสบประมาทของนายทหารคนหนึ่ง ที่บอกว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” และเราก็มีคน Gen X อีกมากมายที่มองเห็นความหวังและอนาคตของลูกหลาน จนออกมาลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อคนรุ่นใหม่อย่างพรรคก้าวไกล ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นอกจากความหลากหลายของคน Gen X ที่ปรากฏในเรื่องนี้แล้ว เหตุการณ์ที่ควังจูและการผจญภัยของคิมกับฮินซ์ปีเตอร์ ยังสะท้อนให้เห็นว่า “ความจริงจะทำให้คนตาสว่าง” ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็ล้วนต้องการความจริง ซึ่งเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพที่ประชาชนจะใช้ในการพิจารณา ตรวจสอบผู้นำของตัวเอง และเลือกชีวิตของตัวเองได้ตามสิทธิและเสรีภาพ

ขณะเดียวกัน ตัวละคร Gen X ที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันในช่วงแรก รวมทั้งยังมีความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติและภาษา ไม่แม้กระทั่งรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของกันและกัน แต่กลับอยู่ร่วมกันได้ และร่วมต่อสู้กับอำนาจเมื่อความจริงปรากฏ ก็แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ความรักและความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นภาษาสากลที่ทำให้ทุกคนเข้าใจกันได้ และคู่ต่อสู้ที่แท้จริงของพวกเขาไม่ใช่คนที่เห็นต่างทางการเมือง

“คุณจะขอโทษทำไม ไอ้พวกสารเลวนั่นต่างหากที่ต้องขอโทษ” คนขับแท็กซี่ชาวควังจูพูดกับคิม เมื่อคิมต้องรีบกลับบ้าน และไม่ได้อยู่ร่วมต่อสู้กับชาวควังจู คิมไม่ผิดที่เป็นห่วงตัวเองและครอบครัว แต่คนที่ผิดคือรัฐบาลเผด็จการที่กำลังละเมิดสิทธิเสรีภาพของทุกคนอยู่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า