fbpx

เปิด “9 คอนเสิร์ตปาฏิหาริย์” เปลี่ยนคน-เปลี่ยนโลก

สำหรับผู้ที่รักเสียงเพลง การชมคอนเสิร์ตถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่คนฟังเพลงถือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพราะไม่ใช่แค่ความบันเทิงจากการฟังเพลงเท่านั้น แต่การฟังเพลงที่ร้องและบรรเลงสดๆ พร้อมแสงสีเสียงตื่นตา ช่วยปลุกเร้าอารมณ์ และพาเราดื่มด่ำไปกับบรรยากาศโดยรอบ การร้องเพลง ตะโกนส่งเสียง หรือกระโดดโลดเต้นในคอนเสิร์ต ทำให้เราได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากจบคอนเสิร์ต ผู้คนมักจะเดินออกจากฮอลล์ด้วยหัวใจที่อิ่มเอมไปด้วยความสุข

อย่างไรก็ตาม คอนเสิร์ตไม่ได้เป็นพื้นที่เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ในหลายโอกาส คอนเสิร์ตเป็นพื้นที่สื่อสารประเด็นทางการเมืองและสังคม สร้างความตระหนัก และสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีคอนเสิร์ตจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าที่นี้ โดยจากความเห็นของ The Modernist นี่คือ 9 คอนเสิร์ตที่สร้างปาฏิหาริย์ให้กับโลก และกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่น่าสนใจ

คอนเสิร์ต James Brown (1968)

4 เมษายน 1968 Martin Luther King Jr. ศาสนาจารย์และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ถูกลอบสังหารที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ในสหรัฐอเมริกา นำไปสู่การจลาจลครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นกรุงวอชิงตัน ดี.ซี., บัลติมอร์, ชิคาโก, แคนซัสซิตี้, มิสซูรี และอื่นๆ ส่วนในบอสตัน ผู้นำของเมืองหลายคนคาดการณ์ว่าจะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก

ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดนี้ James Brown นักดนตรีผิวดำชื่อดังในยุคนั้น ได้สร้างปาฏิหาริย์ขึ้น โดยวงของเขาได้จองสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่ Boston Garden ในวันที่ 5 เมษายน ทว่าทางเมืองพิจารณาให้ยกเลิกคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์ทั้งหมดในคืนวันนั้น เนื่องจากเกรงว่าคอนเสิร์ตจะยิ่งปลุกระดมให้ประชาชนก่อความรุนแรงมากขึ้น และสิ่งที่ทำให้ Brown รู้สึกไม่พอใจยิ่งกว่า คือการที่ทางการให้เขาแสดงคอนเสิร์ตและแพร่ภาพทางโทรทัศน์ ซึ่งคล้ายกับเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ชมมารวมตัวกันริมถนน และทำให้รายได้จากการขายบัตรคอนเสิร์ตลดลงด้วย

แม้ Fred Wesley มือทรอมโบนของวง จะกล่าวว่า โชว์ของพวกเขาก็เป็นเหมือนโชว์ธรรมดาทั่วไป แต่สำหรับปี 1968 คำว่าโชว์ธรรมดาหมายถึง การแสดงออกถึงพลังอันดิบเถื่อนและอำนาจอันมีพลวัต บราวน์ในชุดสูทสีดำและผมทรงปอมปาดูร์ เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ เสียงตะโกนของเขาสั่นสะเทือน ขณะที่พาวงเข้าสู่เพลงฮิตอย่าง “I Got You (I Feel Good)” และ “Cold Sweat”

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดในขณะนั้น Wesley กล่าวว่า เขาสัมผัสได้ถึงความกลัวของสมาชิกในวง และความตึงเครียดในพื้นที่จัดคอนเสิร์ต “เราไม่รู้ว่าจะมีสงครามต่อต้านคนผิวดำ หรือสงครามระหว่างเชื้อชาติหรือไม่ ขณะที่ขึ้นเวที เรายังคงกังวลกับสิ่งที่อาจจะขึ้นด้วย” 

แต่ทุกอย่างก็จบลงด้วยความประทับใจ โดยเฉพาะความสามารถของบราวน์ในการควบคุมและสั่งการผู้ชม โดยในช่วงไคลแม็กซ์ ผู้ชมที่เป็นวัยรุ่นพากันวิ่งขึ้นไปบนเวที จนเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ นำไปสู่ความโกลาหลในที่สุด

ทว่าบราวน์ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยอย่างรวดเร็ว โดยกล่าวกับผู้ชมว่า “คุณไม่ให้ความเป็นธรรมทั้งกับตัวคุณเอง กับผม และเผ่าพันธุ์ของคุณ” จากนั้นก็หันไปสั่ง Clyde Stubblefield มือกลองของวงว่าให้เล่น “เพลงนั้น” จากนั้น Stubblefield ได้เล่นเพลง “I Can’t Stand Myself (When You Touch Me).” ในเวอร์ชั่นที่เกรี้ยวกราด 

ก่อนจบคอนเสิร์ต บราวน์ขึ้นไปจับมือกับทุกคนบนเวที และอำลาเวทีนั้นไปราวกับเป็นนักการเมืองพอๆ กับเป็นศิลปินเพลงโซล

หลายสัปดาห์ต่อมา บราวน์ถูกเชิญให้ไปปราศรัยกับผู้ชุมนุม โดยในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน เขาได้กล่าวปราศรัยครั้งใหญ่ โดยมีประโยคสำคัญคือ “เปล่งเสียงออกมาดังๆ – ฉันเป็นคนผิวดำและฉันภูมิใจ” เขากล่าวในภายหลังว่า เขาสามารถพูดกับประเทศนี้ในยามวิกฤตได้ “และนั่นเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีความหมายมากที่สุดสำหรับผม” บราวน์กล่าว

Folk Guerrilla Concerts (1969)

Folk Guerrilla Concerts เป็นคอนเสิร์ตโฟล์กที่จัดขึ้นที่สถานีชินจูกุ ในกรุงโตเกียว โดยกลุ่ม Beheiren นักกิจกรรมฝ่ายซ้ายที่เคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม ในปี 1969 และผู้ที่เข้าชมคอนเสิร์ตจะถูกเรียกว่า folk guerrillas หรือผู้ก่อการโฟล์ก

การก่อการโฟล์กของกลุ่ม Beheiren ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Joan Baez ศิลปินโฟล์กและนักกิจกรรมทางสังคม ชาวอเมริกัน ที่เดินทางมาพบกับกลุ่ม Beheiren เมื่อปี 1967 และร้องเพลง “We Shall Overcome” เพื่อเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองอย่างสันติ ก่อนจะนำไปสู่ Folk Guerrilla Concerts ในอีก 2 ปีต่อมา

ดนตรีโฟล์กมีบทบาทสำคัญเฉพาะในการประท้วงในปี 1968 ของญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากในสหรัฐฯ ที่ดนตรีโฟล์กมีบทบาทที่โดดเด่นอย่างมากในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง และสำหรับฝ่ายซ้ายใหม่ของญี่ปุ่น ดนตรีร็อกเป็นดนตรีของคนชั้นสูงและเป็นเพลงเพื่อการพาณิชย์ เมื่อเทียบกับดนตรีโฟล์ก ขณะที่กีตาร์ในญี่ปุ่นมีราคาแพง ทำให้วัยรุ่นญี่ปุ่นตื่นเต้นกับกีตาร์และดนตรีโฟล์กมากเป็นพิเศษ

Folk Guerrilla Concerts จัดขึ้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 1969 โดยจัดทุกวันเสาร์ บริเวณทางออกฝั่งตะวันตกของสถานีรถไฟใต้ดินชินจูกุ โดยมีอุดมการณ์คือการต่อต้านสงครามและสนับสนุนระบอบสังคมนิยม มีการปราศรัยในระหว่างเล่นดนตรี และผู้ชุมนุมคนอื่นๆ เช่น กลุ่มที่สนับสนุนสิทธิของคนกลุ่มน้อยในสังคม ก็เข้าร่วมในการชุมนุมด้วย กิจกรรมในคอนเสิร์ตมีทั้งการร้องเพลงต่อต้านสงคราม เช่น Tomo yo (My Friend), We Shall Overcome และ The Internationale รวมทั้งการเต้นที่เรียกว่า jiguzagu (zig-zag) หรือเต้นท่างู ซึ่งเป็นท่าเต้นแบบสวนกระแสวัฒนธรรมในช่วงทศวรรษ 1960 

คอนเสิร์ตดังกล่าวได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงกลางปี 1969 จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าแทรกแซงในคอนเสิร์ต ทำให้คอนเสิร์ตต้องย้ายไปจัดที่ฝั่งตะวันออกของสถานีแทน หลังจากนั้น เกิดการปะทะกันอีกครั้ง ในเดือนมิถุนายน และมีการใช้ความรุนแรงเล็กน้อยกับผู้ชมคอนเสิร์ตจำนวนหนึ่ง จนกระทั่ง ในเดือนกรกฎาคม มีผู้ชมเข้าร่วมในคอนเสิร์ตมากขึ้นถึง 7,000 คน ยึดพื้นที่ทางออกฝั่งตะวันออกของสถานีชินจูกุ และในการปะทะกันครั้งสุดท้าย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปฏิบัติการถึง 2,000 คน โดยสั่งหยุดคอนเสิร์ต และจับกุมนักดนตรีจำนวนมาก

แม้ท้ายที่สุดแล้ว การชุมนุมในคอนเสิร์ต Folk Guerrilla Concerts จะถูกมองว่าส่งผลกระทบต่อประจำวันของประชาชนทั่วไป เนื่องจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ได้กระจายออกสู่ท้องถนนในชินจูกุ จนมีกลุ่มต่อต้าน Folk Guerrilla ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสู้กับนักกิจกรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Folk Guerrilla Concerts เป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนกลยุทธ์การชุมนุมประท้วง จากที่เคยอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย ก็ออกมาแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่เปิด รวมทั้งยังส่งอิทธิพลไปยังนักเคลื่อนไหวกลุ่มอื่นๆ ในยุคใหม่ด้วย

Live Aid (1985)

หากจะกล่าวถึงคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เชื่อว่าชื่อแรกที่ทุกคนต้องนึกถึง คือคอนเสิร์ต Live Aid ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 1985 พร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก โดยเป็นคอนเสิร์ตการกุศล ที่ระดมทุนช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับภาวะอดอยากในเอธิโอเปีย

Live Aid มีที่มาจากความสำเร็จของซิงเกิล “Do They Know It’s Christmas?” ของ Bob Geldolf และ Midge Ure ที่เปิดตัวเมื่อปี 1984 และสามารถระดมทุนช่วยเหลือผู้คนในเอธิโอเปียได้เป็นจำนวนมาก และยังสร้างความตระหนักถึงภาวะอดอยากในประเทศทุรกันดารอีกด้วย ดังนั้น Geldolf จึงตัดสินใจจัดคอนเสิร์ต Live Aid ที่รวมเอาศิลปินดาวเด่นหลายชีวิตมาขึ้นคอนเสิร์ตด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น David Bowie, Queen, U2, Elton John, Paul McCartney, Black Sabbath, Madonna และการรียูเนียนของวงร็อก Led Zeppelin อย่างไรก็ตาม โชว์หนึ่งที่น่าประทับใจ และได้รับการยกย่องให้เป็นการแสดงสดที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของโลก คือการโชว์อะแคปเปลลาของ Freddie Mercury แห่งวง Queen ซึ่งเป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์ Bohemian Rhapsody ที่ออกฉายเมื่อปี 2018 นั่นเอง

Live Aid จัดขึ้นพร้อมกันบนเวทีใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ Wembley Stadium ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีผู้เข้าชม 72,000 คน และ John F. Kennedy Stadium ในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้เข้าชมมากถึง 89,484 คน นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Live Aid และจัดคอนเสิร์ตในวันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสหภาพโซเวียต, แคนาดา, ญี่ปุ่น, ยูโกสลาเวีย, ออสเตรีย, ออสเตรเลีย และเยอรมนีตะวันตก

คอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีผู้ชมประมาณ 1.9 พันล้านคน จาก 150 ประเทศ คิดเป็นเกือบ 40% ของประชากรโลกในขณะนั้น โดยระดมทุนได้ถึง 127 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และยังดึงดูดให้ชาติตะวันตกร่วมบริจาคเมล็ดพันธุ์ส่วนเกิน เพื่อแก้ปัญหาความอดอยาก 

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ใหญ่กว่าเงินบริจาคสำหรับแก้ปัญหาความอดอยากในเอธิโอเปีย คือการที่ข้อกังวลด้านมนุษยธรรมกลายเป็นศูนย์กลางของนโยบายต่างประเทศของชาติตะวันตกทั้งหลายในที่สุด

YUTEL for Peace (1991)

YUTEL for Peace หรือ YUTEL za Mir เป็นคอนเสิร์ตต่อต้านสงครามที่จัดโดยองค์การสื่อสารมวลชนแห่งชาติยูโกสลาฟ หรือ YUTEL ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1991 เพื่อเป็นการประท้วงต่อต้านสงครามในยูโกสลาเวีย 

แต่เดิม YUTEL for Peace วางแผนจะจัดคอนเสิร์ตกลางแจ้งในที่โล่งกว้างหน้าโรงแรม Holiday Inn ในกรุงซาราเยโว ทว่าด้วยสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ ทำให้ต้องย้ายสถานที่จัดงานมายัง Zetra Arena โดยมีผู้เข้าชมด้านในฮอลล์ราว 30,000 คน และผู้ชมด้านนอกอีกราว 50,000 คน

คอนเสิร์ตดังกล่าวเป็นผลมาจากการประท้วงโดยสันติในยูโกสลาเวีย ที่รวมเอานักเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามทั่วประเทศ เข้ากับวงร็อกชื่อดังของยูโกสลาเวีย โดยมีความพยายามเพื่อป้องกันยูโกสลาเวียจากสงครามและการสลายตัว

การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านสงครามในยูโกสลาเวียเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ จากความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักกิจกรรม อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนี้กลับถูกทำให้เป็นชายขอบ และพ่ายแพ้ต่อคู่ปฏิปักษ์อย่างนักการเมืองฝ่ายชาตินิยม เพราะแม้กระทั่งในการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต ช่องโทรทัศน์ทั้ง 4 ช่องของระบบสื่อสารมวลชนแห่งชาติยูโกสลาฟ หรือ JRT ยังปฏิเสธที่จะถ่ายทอดสด มีเพียง SR Bosnia-Herzegovina และ SR Macedonia เท่านั้น ที่มีการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตครั้งนี้

The Freddie Mercury Tribute Concert For AIDS Awareness (1992)

The Freddie Mercury Tribute Concert For AIDS Awareness เป็นคอนเสิร์ตการกุศลที่จัดขึ้นโดยสมาชิกวง Queen เพื่อระลึกถึง Freddie Mercury ฟรอนต์แมนแห่งวง Queen ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1991 และระดมทุนเพื่อการวิจัยโรคเอดส์ โดยในงานประกาศรางวัล Brit Awards ประจำปี 1992 สมาชิกที่เหลือของ Queen ได้ประกาศขายบัตรคอนเสิร์ตจำนวน 72,000 ใบ และบัตรก็ขายหมดทันที

The Freddie Mercury Tribute Concert For AIDS Awareness จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1992 ที่ Wembley Stadium ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีศิลปินชื่อดังระดับโลกร่วมแสดงบนเวที ไม่ว่าจะเป็นศิลปินที่ได้รับอิทธิพลจาก Queen อย่าง  Metallica, Extreme, Def Leppard และ Guns N’ Roses สลับกับคลิปวิดีโอภาพของ Freddie Mercury ตามด้วยการแสดงหลักจาก David Bowie, Robert Plant, Elton John, Annie Lennox, U2 และ Axl Rose รวมทั้ง George Michael ที่ร้องเพลง “Somebody To Love”

คอนเสิร์ตนี้ได้รับการเผยแพร่ ใน 76 ประเทศ มีผู้ชมกว่าพันล้านคนทั่วโลก รวมทั้งมีเงินบริจาคหลั่งไหลมาเพื่อจัดตั้งองค์กรการกุศลเกี่ยวกับโรคเอดส์ ในชื่อว่า Mercury Phoenix Trust

Concert For New York City (2001)

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่อย่างเหตุการณ์ตึก World Trade Center ถล่ม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ส่งผลกระทบต่อจิตใจของชาวอเมริกันอย่างมาก ดังนั้น เพื่อกอบกู้ความภาคภูมิใจของชาวอเมริกัน รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกู้ภัยและการรักษาพยาบาล จึงมีการจัดคอนเสิร์ตการกุศล ที่มีชื่อว่า Concert For New York City เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2001 ที่ Madison Square Garden ในนิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา

Paul McCartney หัวเรือใหญ่ของคอนเสิร์ตครั้งนี้ ออกแบบโชว์ที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปินคลาสสิกร็อก ไม่ว่าจะเป็น Mick Jagger และ Keith Richards, David Bowie, Elton John และ James Taylor และศิลปินป็อปร่วมสมัยของสหรัฐฯ อย่าง Destiny’s Child, Backstreet Boys, Five for Fighting, Goo Goo Dolls, John Mellencamp, Kid Rock และ Jay-Z โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การแสดงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก จาก The Who รวมทั้งนักแสดงตลก Adam Sandler รับบทเป็น “Operaman”

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอภาพยนตร์สั้นฝีมือการกำกับของยอดฝีมืออย่าง Woody Allen, Martin Scorsese, Spike Lee, และ Kevin Smith รวมทั้งยังมีการประมูลของที่ระลึกพร้อมลายเซ็นคนดังกว่า 60 คน เพื่อนำรายได้สนับสนุน Robin Hood Foundation ด้วย

One Love Manchester (2017)

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2017 เกิดเหตุระเบิดใน Manchester Arena เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ หลังจากการแสดงคอนเสิร์ต Dangerous Woman Tour ของศิลปินสาว Ariana Grande จบลง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 คน ซึ่งเป็นผู้ชม และเป็นผู้ปกครองที่มารอรับบุตรหลานหลังคอนเสิร์ตจบ และมีผู้บาดเจ็บกว่า 800 คน ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 116 คน

จากเหตุการณ์อันน่าสลดใจนั้น Grande ทวีตแสดงความเสียใจ พร้อมระงับการทัวร์ของเธอ ก่อนจะประกาศจัดคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุระเบิด ซึ่งจัดขึ้นใน 2 สัปดาห์ถัดมา หลังจากเหตุระเบิด ในชื่อว่า One Love Manchester

One Love Manchester จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2017 ที่ Old Trafford Cricket Ground โดยได้รับการสนับสนุนจากศิลปินป็อปและศิลปินร็อกแถวหน้าของวงการ ไม่ว่าจะเป็น Justin Bieber, Black Eyed Peas, Coldplay, Miley Cyrus, Mac Miller, Marcus Mumford, Niall Horan, Little Mix, Katy Perry, Take That, Imogen Heap, Pharrell Williams, Robbie Williams และ Liam Gallagher และมีไฮไลต์อย่างการโชว์เพลง “Don’t Look Back in Anger” โดย Coldplay และ Grande เอง

คอนเสิร์ตครั้งนี้มีผู้ชมเข้าร่วมถึง 55,000 คน โดยแฟนเพลงที่ไปชมคอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม จำนวนประมาณ 14,000 คน สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังมีการถ่ายทอดสดอย่างน้อย 50 ประเทศ พร้อมไลฟ์สตรีมผ่าน Twitter, Facebook, และ YouTube

เว็บไซต์ Vulture.com ยกย่องให้เป็นคอนเสิร์ตอันดับ 1 ประจำปี 2017 ส่วนจำนวนผู้ชมบนช่อง BBC One เฉลี่ย 10.9 ล้านคน กลายเป็นรายการที่มีผู้ชมสูงสุดในสหราชอาณาจักร ประจำปี 2017

One Love Manchester มอบรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตให้กับกองทุนฉุกเฉิน We Love Manchester ที่ก่อตั้งโดยสภาเมืองแมนเชสเตอร์ และสภากาชาดสหราชอาณาจักร เพื่อช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุการณ์และครอบครัว นอกจากนี้ สภากาชาดสหราชอาณาจักร ยังได้รับเงินบริจาคกว่า 10 ล้านปอนด์ ภายใน 12 ชม. หลังจากคอนเสิร์ตจบลง ยอดบริจาคทั้งหมดอยู่ที่กว่า 17 ล้านปอนด์

Foo Fighters (2021)

COVID-19 เป็นปรากฏการณ์ใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนทั่วโลก ไม่เพียงแต่จะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักเท่านั้น แต่ยังทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนเปลี่ยนไป ไม่เคยมีใครรู้ว่าวันหนึ่งทั่วโลกจะต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน หรือไม่สามารถออกจากบ้านได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโลก

คอนเสิร์ตก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งมาตรการควบคุมโรค ไปจนถึงการยกเลิกและงดจัดคอนเสิร์ต จนกระทั่งในปี 2021 วงร็อกอย่าง Foo Fighters กลายเป็นวงดนตรีวงแรกของสหรัฐฯ ที่ได้จัดคอนเสิร์ตอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีเพียงการแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ไม่มีการบังคับสวมหน้ากาก และแน่นอนว่าทุกคนสามารถยืนเบียดเสียดกัน และเปล่งเสียงร้องเพลงได้อย่างที่คอนเสิร์ตควรจะเป็น

คอนเสิร์ตของ Foo Fighters ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทัวร์คอนเสิร์ตครบรอบ 25 ปี ของวง ที่เลื่อนออกมา เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด โดยนับเป็นคอนเสิร์ตครั้งแรกในรอบ 460 ของ Madison Square Garden สถานที่จัดงาน 

คอนเสิร์ตครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ชาวอเมริกันได้รับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา และมียอดผู้เสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการระดมทุน หรือสื่อสารประเด็นทางการเมืองใดๆ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึง “ความมั่นคงทางสาธารณสุข” ที่จะช่วยให้แต่ละประเทศอยู่รอดได้ในโลกปัจจุบัน ดังที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นไว้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2021 ว่า

“เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว ที่ เดฟ โกรห์ล ตีคอร์ด D เพลง Everlong เพลงแรก ที่ Madison Square Garden อันนั้นแหละคือแสนยานุภาพที่แท้จริงของประเทศในอนาคต ไม่ใช่เสียงของปืนใหญ่ ไม่ใช่เสียงของเครื่องบินเจ็ต ไม่ใช่เสียงของเรือดำน้ำ ที่จะบอกว่าประเทศไหนที่มีความก้าวหน้า หรือพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก”

“ความมั่นคงเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ใช่ความมั่นคงทางการทหารอีกต่อไปแล้ว มันแทบจะไม่ใช่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มันคือความมั่นคงทางสาธารณสุขโดยการที่ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวนำ”

Taylor Swift’s Eras Tour (2023 – 2024)

สำหรับปีนี้ คงไม่มีปรากฏการณ์คอนเสิร์ตใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่า Taylor Swift’s Eras Tour ทัวร์คอนเสิร์ตครั้งที่ 6 ของศิลปินสาว Taylor Swift ซึ่งถือว่าเป็นทัวร์ที่ใหญ่ที่สุดของเธอ โดยประกอบด้วย 151 โชว์ ใน 5 ทวีป เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2023 ที่เกลนเดล สหรัฐฯ และสิ้นสุดวันที่ 8 ธันวาคม 2024 ที่แวนคูเวอร์ แคนาดา

ในเดือนสิงหาคม 2023 ทัวร์ของ Swift เป็นทัวร์ของศิลปินหญิงที่ทำรายได้สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และทำรายได้โดยรวมเป็นอันดับสอง จากโชว์ในอเมริกาเหนือทั้งหมด 56 อันดับแรก การครอบครองพื้นที่สื่อในข่าวและโซเชียลมีเดีย รวมทั้งการที่ถูกพูดถึงโดยรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ทำให้ความมั่งคั่งสุทธิของสวิฟต์อยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากขึ้นคอนเสิร์ต 57 ครั้งในทัวร์นี้ นับเป็นเศรษฐีนีคนแรกที่มีดนตรีเป็นแหล่งรายได้หลัก (เพิ่มขึ้นจาก 740 ล้านเหรียญสหรัฐ
ช่วงครึ่งแรกของ Taylor Swift’s Eras Tour)

การออกทัวร์ของ Swift ในปีนี้ สร้างรายได้ให้กับหลายฝ่าย โดยเธอได้บริจาคเงินให้กับหน่วยธนาคารอาหารในทุกพื้นที่ที่จัด Eras Tour และจ้างธุรกิจท้องถิ่นเพื่อทำงานร่วมกับทีมจัดคอนเสิร์ต และในเดือนตุลาคม 2023 Swift บริจาคบัตรคอนเสิร์ตให้กับกองทุน Rare Impact Fund องค์กรการกุศลและโครงการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสุขภาพจิต ที่ก่อตั้งโดยนักร้องชื่อดัง Selena Gomez บัตรคอนเสิร์ตดังกล่าวได้รับการประมูลไปเป็นจำนวนเงิน 15,000 เหรียญสหรัฐ และเป็นบัตรที่ใหญ่ที่สุดในอีเวนต์นี้ นอกจากนี้ ยังมอบโบนัสกว่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับทีมงาน และมอบเงิน 100,000 เหรียญสหรัฐ ให้กับคนขับรถบรรทุกที่ขนส่งอุปกรณ์เวทีและอุปกรณ์โปรดักชั่น

Taylor Swift’s Eras Tour ส่งผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากความต้องการบัตรคอนเสิร์ต ยอดขายบัตร สถิติการเข้าชมคอนเสิร์ตในแต่ละสถานที่ ปัญหาการกว้านซื้อบัตรคอนเสิร์ตเพื่อนำกลับมาขายในราคาสูงเกินกว่าเหตุ หลังจากช่วงพรีเซลส์ ส่งผลให้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายต่อต้านการกระทำเช่นนี้

การทัวร์คอนเสิร์ตของ Swift ทำให้ธุรกิจและการท่องเที่ยวในท้องถิ่นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จากการสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน โดย QuestionPro ผู้ชมคอนเสิร์ต Eras Tour ใช้จ่ายเงินราว 1,300 เหรียญสหรัฐต่อ 1 โชว์ ทำให้ Eras Tour อาจสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจเฉพาะในสหรัฐฯ ได้ราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่า GDP ในประเทศต่างๆ ถึง 50 ประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจในท้องถิ่นยังได้ประโยชน์ ตั้งแต่บริการพื้นฐานอย่างโรงแรม ไปจนถึงไอเท็มพิเศษอย่างโดนัท Taylor Swift Eras Tour Party Pack ราคา 62.95 เหรียญสหรัฐ ที่จำหน่ายโดย Glam Doll Donuts ในมินนิอาโพลิส

นอกจากนี้ Taylor Swift’s Eras Tour ยังสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของสวิฟต์ที่มีต่อวัฒนธรรมป็อป โดยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุดของศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีระดับความนิยมเทียบเท่ากับกระแส Beatlemania ในทศวรรษ 1960

ในเพลง You’re on Your Own, Kid ในอัลบั้ม Midnights มีการกล่าวถึง “friendship bracelets” หรือสร้อยข้อมือมิตรภาพ ในทุกคอนเสิร์ตจึงมีแฟนเพลงหลายหมื่นคนสวมสร้อยข้อมือที่เป็นชื่อเพลงของ Swift ความนิยมของสร้อยข้อมือนี้สร้างรายได้ให้กับธุรกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะธุรกิจลูกปัด ที่ถึงกับขาดตลาดเลยทีเดียว

ยิ่งกว่านั้น ทุกเมืองที่ Swift ไปเยือนในช่วงทัวร์คอนเสิร์ตยังมีการเปลี่ยนชื่อ เช่น มินนิอาโพลิส เปลี่ยนชื่อเป็น “สวิฟตีอาโพลิส”, ซานตา คลารา แคลิฟอร์เนีย แต่งตั้งให้เธอเป็นนายกเทศมนตรีเฉพาะกิจ ส่วนนิว เจอร์ซีย์ ตั้งชื่อเมนูแซนด์วิชประจำเมืองตามชื่อของสวิฟต์ แม้กระทั่งผู้นำโลกอย่างประธานาธิบดีชิลี นายกเทศมนตรีของบูดาเปสต์ และนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด หรือแม้กระทั่งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต่างทวีตเชิญชวนให้สวิฟต์มาทัวร์คอนเสิร์ตที่ประเทศของตน

เหตุผลเบื้องหลังความสำเร็จนั้นมีหลากหลาย โดย Nora Princiotti นักเขียนของ The Ringer และผู้จัดรายการพอดแคสต์ Every Single Album: Taylor Swift กล่าวว่า ส่วนหนึ่งมาจากความความนิยมอย่างลึกซึ้งในเพลงของ Swift ของเหล่าแฟนคลับ รวมทั้งจังหวะเวลาในยุคหลังโควิด-19 และทัวร์นี้กลายเป็นกิจกรรมนอกบ้านที่ดีของเหล่าผู้ชมคอนเสิร์ต ที่ต้องการประสบการณ์ดื่มด่ำกับดนตรีสดๆ นอกจากนี้ แฟนเพลงยังรู้สึกว่าผลงานของ Swift มีความเชื่อมโยงกับผู้ฟัง ซึ่งมีศิลปินเพียงไม่กี่คนที่ทำได้ เธอเขียนเพลงเอง ปกป้องผลงานตัวเองในยุคที่สตรีมมิงบูม และขณะนี้ก็ได้ปล่อยผลงานที่อัดเสียงใหม่ เพื่ออ้างสิทธิในชุดมาสเตอร์ เป็นการเพิ่มคุณค่าของอุตสาหกรรมดนตรีอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน

จากเรื่องราวของคอนเสิร์ตในประวัติศาสตร์ดนตรีของโลก คอนเสิร์ตไม่ได้ให้แค่ความสนุกสนานบันเทิงเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งอิทธิพลและแรงกระเพื่อมมากมายให้สังคม และเหนือสิ่งอื่นใด ความตั้งใจที่ดี ที่มาพร้อมกับความบันเทิงในคอนเสิร์ต ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรักและความปรารถนาดีของมวลมนุษยชาติ และนั่นก็ทำให้คนเรามีความหวังได้เสมอ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า