fbpx

ภาษาพาทีต้องหลบไป กับ 5 แบบเรียนสไตล์ The Modernist

แต่ไหนแต่ไรมา “หนังสือแบบเรียน” น่าจะไม่ใช่หนังสือที่หลายคนโปรดปรานในฐานะหนังสือที่ให้ความรู้ แต่ทำหน้าที่เป็นยานอนหลับ ที่ครูบอกให้เปิดหนังสือทีไร ตาก็พานจะปิดทุกที แต่เมื่อไม่นานนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่คนไทยพากันอ่านหนังสือแบบเรียนกันอย่างล้นหลาม ทุบสถิติคนไทยอ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัดต่อปีไปเลย

เพราะหนังสือแบบเรียนปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยเหรอ? เปล่า… เพราะมันถอยหลังไปหลายสิบปีต่างหาก!

จากช่วงก่อนสงกรานต์ที่ใครๆ ก็พูดถึงอีกี้ ตอนนี้ดาวอินเตอร์เน็ตคนใหม่กลายเป็นน้องใยบัว เด็กหญิงผู้ซาบซึ้งในรสชาติแห่งความพอเพียง ด้วยไข่ต้มครึ่งฟองกับน้ำผัดผักบุ้ง ตามมาด้วยข้าวมันไก่สูตรใหม่คลุกน้ำปลา และข้อคิดเตือนใจอย่าง “คนโง่ใช้เวลาว่างด้วยการนอนหลับ” ซึ่งนอกจากชาวเน็ตหลายคนจะตามหาเรื่องราวดึงดาวสไตล์เหล่านี้อ่านเพื่อความบันเทิงแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็คงอึ้ง เพราะหนังสือเรียนที่ควรจะมีความน่าเชื่อถือตามหลักวิชาการ กลับกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ล้าสมัย ไร้ตรรกะได้เบอร์นี้

ที่พีคกว่านั้น หน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยังแถลงเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า “ผู้อ่านต้องมีวิจารณญาณในการแยกแยะ ระหว่างเรื่องที่แต่งขึ้น กับเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน…” ซึ่งต่อจากนั้น นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้ใช้วิจารณญาณของตัวเอง พาลูกชายมาทำคอนเทนต์กินไข่ต้มในห้องครัวสุดหรู พร้อมแคปชั่น “ไข่ต้มเป็นอาหารที่ไม่มีชนชั้น” พีคซ้ำพีคซ้อนไปอีก

The Modernist เองก็เพลียใจกับเรื่องแต่งในหนังสือแบบเรียนภาษาพาทีเช่นกัน ดังนั้น เราจึงขอเลือกแบบเรียนในสไตล์ของเราเอง 5 เล่ม 5 วิชา ดังต่อไปนี้

  1. วิชาประวัติศาสตร์: ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร)

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงวิชาประวัติศาสตร์ว่าเป็น “วิชาว่าด้วยการศึกษาเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง” เพราะฉะนั้น หนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย จึงไม่ใช่การไล่เรียงปีที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านท่องจำ แต่ร้อยเรียงบริบทของยุคสมัย เหตุปัจจัยของเหตุการณ์ต่างๆ และผลของเหตุการณ์นั้นๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในภาพรวมแล้ว ยังเปลี่ยนความคิดของเราที่มีต่อวิชาประวัติศาสตร์ เพราะทั้งมีความละเอียด เข้าใจง่าย และสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ

  1. วิชาหน้าที่พลเมือง: 1984 (จอร์จ ออร์เวลล์)

ถ้าเด็กดีต้องมีหน้าที่เชื่องๆ 10 อย่าง วินสตันแห่ง 1984 น่าจะสอบตก เพราะเขาดูจะไม่ใช่พลเมืองที่ดีในสายตาของบิ๊กบราเธอร์เท่าไร แต่กลับตั้งคำถามต่ออำนาจของรัฐในการละเมิดสิทธิของประชาชน คอยจับผิดโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐเผยแพร่เพื่อกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อทุกสิ่งโดยไม่คิดวิเคราะห์ และกล้ายืนหยัดในความเป็นมนุษย์ของตัวเอง แม้สุดท้ายจะต้องพ่ายแพ้ก็ตาม

  1. วิชาภาษาไทย: พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ (วีรพร นิติประภา)

ไหนๆ ก็ต้องแยกแยะเรื่องแต่งในหนังสือเรียนภาษาพาทีกับชีวิตจริงแล้ว ก็เรียนเรื่องจริงที่เอามาทำเป็นเรื่องแต่งไปเลยสิคะ ในนวนิยายชื่อยาวอย่าง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ที่มัดรวมเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ที่ส่งผลต่อมนุษย์ตัวเล็กๆ ในเรื่อง ด้วยภาษาที่สละสลวยงดงาม การบรรยายที่เห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น การันตีคุณภาพด้วยรางวัลซีไรต์ เหมาะแก่การอ่านและวิเคราะห์ตีความในวิชาภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง

  1. วิชาเพศศึกษา: Sex Education for Parents (มามิ ฟุคุจิ และยูคิฮิโระ มุคาเสะ)

ขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาหวาดกลัวเหลือเกินว่าถ้าสอนเพศศึกษาแล้วเด็กๆ จะพากันไปมีเพศสัมพันธ์ หนังสือ “Sex Education for Parents” เล่มนี้ กลับสอนเรื่องเพศกันอย่างตรงไปตรงมา เริ่มตั้งแต่แนวคิดที่ว่า การสอนเพศศึกษาคือการศึกษาเพื่อปกป้องความสุขของเด็กๆ เพราะฉะนั้น เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จึงโฟกัสที่สุขภาวะทางเพศที่ดี ไม่ใช่เรื่องสกปรก ไม่ใช่เรื่องศีลธรรมหรือการตีกรอบให้รักนวลสงวนตัวแต่อย่างใด เรียกว่าเด็กๆ อ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านก็ยิ่งดีเลย

  1. วิชาเกษตร: Animal Farm (จอร์จ ออร์เวลล์)

เรื่องราวในฟาร์มแห่งหนึ่งที่เหล่าหมูลุกขึ้นมายึดอำนาจจากเจ้าของฟาร์ม โดยชูนโยบายเรื่องความเท่าเทียมที่ว่า “สัตว์ทุกตัวล้วนเท่าเทียมกัน” ทว่าเหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อสัตว์ทุกตัวที่เท่าเทียมกัน ดันมีบางตัวที่ “เท่าเทียมกว่า” และใช้อำนาจที่ยึดมาได้ กอบโกยเอาอาหารที่ควรจะเป็นของสัตว์ทุกตัวไปเป็นของสัตว์เพียงไม่กี่ตัว เกมแห่งการแย่งชิงอำนาจจึงเริ่มขึ้น และจบลงแบบคนดูอึ้ง กรรมการอึ้ง และหัวเราะหึหึ เพราะเป็นตอนจบที่มันคุ้นๆ ยังไงไม่รู้

และนี่ก็คือ 5 แบบเรียนไทยสไตล์ The Modernist ที่ไม่เน้นการกล่อมเกลาให้เชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม แต่เป็นตัวจุดประกายให้เกิดการพูดคุย ถกเถียง ซึ่งจะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ รักษาสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง และอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายในสังคมได้ในที่สุด

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า