fbpx

ชวนดู 5 รายการ “เกมโชว์เซอร์ไววัล” หักเหลี่ยมเฉือนคมสุดมันส์จากแดนกิมจิ

ทุกวันนี้เราในฐานะคนดูสนุกกับความบันเทิงรูปแบบไหนบ้าง ถ้าเป็นเมื่อก่อน ความบันเทิงของผู้คนส่วนใหญ่คงจะเป็นความบันเทิงที่ได้รับผ่านการแสดงบทบาทสมมติ ความน้ำเน่าของเนื้อหาบนฉากละครหรือภาพยนตร์ หรือไม่ก็สนุกไปกับการจินตนาการเรื่องราวในนวนิยายหรือวรรณกรรมขายดี

หากกลับมามองยังปัจจุบัน ความบันเทิงส่วนใหญ่ที่อยู่บนโลกใบนี้ดันวนเวียนอยู่กับ ‘ด้านมืดของมนุษย์’ ที่บางครั้งเราก็แสดงออกกันไม่ได้ในชีวิตริงมากเท่าไหร่ แต่มันก็แฝงเร้นอยู่ในลักษณะนิสัยของผู้คนมากมายโดยทั่วไป ทั้งการโกหก หลอกลวง ความเจ้าเล่ห์ การหักหลัง การเชือดเฉือนอารมณ์ของคนสองฝ่าย การปกปิด ทั้งหมดหลอมรวมเข้ากับความบันเทิง จนกลายเป็นท่าไม้ตายของการนำเสนอความบันเทิงในหลายประเทศ

รูปแบบหนึ่งที่นำเสนอ ‘ความเป็นมนุษย์’ แบบนี้ได้อย่างเป็นจริง และซื่อตรงที่สุดสำหรับเราเลยคือ ‘Survival Game Show’ หรือรายการที่เอาคนมากหน้าหลายตามาฟาดฟันกันใน ‘เกม’ เพื่อ ‘โชว์’ ธาตุแท้ของมนุษย์ สัตว์โลกที่เอาตัวรอดได้อย่างแยบยลและน่าสนใจ

วันนี้ The Modernist เลยอยากมาแนะนำ (และป้ายยา) 5 รายการเกมโชว์เซอร์ไววัลหักเหลี่ยมเฉือนคมจากเกาหลีใต้ ที่นำเสนอธาตุแท้แห่งมนุษย์ได้สุดขั้ว และชวนให้เราในฐานะผู้ชมทบทวนตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเราเผยความเป็นมนุษย์จริง ๆ ใส่กันมากพอหรือยัง ส่วนจะมีเกมอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น ไปอ่านพร้อมกันได้เลย

The Genius Game (2013-2015)

ภาพจาก tvN

นี่คือรายการแห่งจุดกำเนิดชื่อเสียงของ ‘Jung Jong-yeon’ ในฐานะ PD ของเครือ ‘CJ ENM’ เลยก็ว่าได้ ‘The Genius Game’ คือรายการเกมโชว์ที่เชิญหัวกะทิจากสาขาอาชีพต่าง ๆ 12 คน ให้มาเล่นเกมร่วมกัน โดยมีเงินรางวัลก้อนใหญ่เป็นเดิมพัน ในแต่ละตอนจะคัดผู้เล่นออก 1 คนเสมอ และเกมในแต่ละตอนก็จะค่อย ๆ ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจกันของผู้เล่นไปเรื่อย ๆ

ก่อนที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้ร่วมเล่นเกม พวกเขาจะได้รับ ‘การ์เน็ต (Garnet)’ หรือโกเมนไปคนละ 1 ชิ้น ซึ่งโกเมนแต่ละชิ้นจะมีค่า 1 ล้านวอน ยิ่งผู้เล่นแต่ละคนมีโกเมนมากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงว่าหากเขาเป็นผู้ชนะ โกเมนก็จะแลกเป็นเงินรางวัลได้มากเท่านั้น ซึ่งในแต่ละเกมก็จะเป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้เล่นมีโกเมนไว้ครอบครองเพิ่มมากขึ้น

ในการแข่งขันแต่ละตอนจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ คือ ‘Main Match’ หรือเกมหลัก ซึ่งเป็นเกมที่จำเป็นต้องใช้ตรรกะหลากหลายวิธีการที่จะเอาชนะ ทั้งการคำนวณ ไหวพริบ ความจำ ทักษะการเอาตัวรอด รวมถึงยังต้องร่วมมือกับผู้อื่นเพื่อเอาชนะอีกฝ่าย หรือหลอกว่าร่วมมือแต่หักหลังก็ยังได้

ตัวอย่างเช่นในเกมในตอนที่ 4 ของซีซั่นที่ 1 อย่าง ‘Zombie Game’ ที่ผู้เล่น 2 จาก 10 คน จะถูกสุ่มให้เป็นซอมบี้ โดยที่ซอมบี้จะรู้กันและกัน แต่มนุษย์จะไม่รู้เลยว่าใครบ้างที่เป็นซอมบี้ ในแต่ละรอบของเกม ผู้เล่นจะต้องหาผู้เล่นคนอื่นมาร่วมกันสัมผัสมือที่ ‘เครื่องตรวจซอมบี้’ อย่างน้อย 1 ครั้ง หากคนปกติที่ไม่ได้เป็นซอมบี้แตะมือกัน พวกเขาจะได้ทั้งสองคนจะได้คนละ 1 คะแนน แต่ถ้าคนปกติแตะมือกับซอมบี้ คนปกติจะกลายเป็นซอมบี้ และหากซอมบี้แตะมือกันจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในทางเดียวกันหากคนปกติไม่ยอมแตะมือกับใครเลยในเวลาที่กำหนด เมื่อจบรอบ คนปกติจะถูกบังคับให้เป็นซอมบี้โดยอัตโนมัติ ซึ่งระหว่างเกมจะมีการเปิดเผยจำนวนผู้เล่นที่เป็นคนปกติ และเป็นซอมบี้ รวมถึงยังมีตัวช่วยยารักษาให้กับผู้เล่นปกติที่คิดว่าตัวเองแตะมือกับซอมบี้ไปแล้วอีกด้วย

เกมนี้เพียงเกมเดียวทำให้เราเห็นวิธีการสร้างความเชื่อใจกันในหมู่ผู้เล่นที่เป็นคนปกติ และต้อง ‘ทำตัว’ ให้เป็นคนปกติ เพื่อจะได้ออกไปแตะมือกันที่เครื่องตรวจซอมบี้ ซึ่งเป็นดาบสองคมภายในเกม หากหลงเชื่อซอมบี้เพราะหวังจะไปเอาคะแนนจากการคิดว่าอีกฝ่ายเป็นคนปกติ เขาก็จะชวดคะแนนไปในเกมนี้ทันที การสังเกตพฤติกรรม ไหวพริบ และการอ่านคนให้ออกจึงสำคัญมากในเกมรูปแบบนี้

หลังจากเกมหลักจบลง ผู้ชนะจะได้รับโกเมนเพิ่ม และได้รับ ‘สิทธิ์งดเว้น’ ที่จะทำให้ตัวเองไม่ต้องไปเป็นผู้เล่นที่ถูกเลือกให้แข่งในรอบ ‘Death Match’ หรือเกมชี้ชะตา เกมสุดท้ายของแต่ละตอนที่จะทำให้มีผู้เล่น 1 คน ต้องกลับบ้านไป ผู้เล่นที่ต้องมาเล่นเกมในรอบนี้คือผู้เล่นที่ทำคะแนนได้น้อยที่สุดของเกมหลัก และผู้เล่นอีก 1 คน ที่ผู้ชนะในแต่ละตอนจะเป็นผู้เลือก โดยทั้ง 2 คนจะมาเล่นเกมกันแบบตัวต่อตัว เพื่อศักดิ์ศรีของผู้ชนะที่จะได้รับ ‘โกเมน’ ทั้งหมดของผู้แพ้ไป

รายละเอียดของเกมเต็มไปด้วยองค์ประกอบมากมายที่ทำให้ผู้เล่นแต่ละคนได้ชิงดีชิงเด่นผ่านรูปแบบการเล่นของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งการออกแบบเกมให้การเอาชนะกันในแต่ละเกมนั้นทำให้ผู้ชนะได้รับโกเมนเพียงประมาณหนึ่ง แต่การที่ผู้เล่นถูกโยนให้ไปเล่นเกมชี้ชะตานั้นมีโอกาสทำให้ผู้เล่นได้รับโกเมนมากกว่า แต่ต้องเสี่ยงต่อการตกรอบจากรายการครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว

หรือการออกแบบพื้นที่เล่นเกมที่สร้างห้องเจรจาแบบปิดหลากหลายห้อง เพื่อรองรับความแตกต่างหลากหลายของ ‘ทีม’ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่นในแต่ละเกม

รายการนี้ได้รับความนิยมจนถูกสร้างขึ้น 4 ซีซันด้วยกัน บนสถานีโทรทัศน์ tvN ซึ่งในซีซันถัด ๆ มา ‘Jung Jong-yeon’ ก็ได้เพิ่มลูกเล่นพิเศษที่แตกต่างกันเพื่อทำให้เกมพลิกผันได้ตลอดเวลา อย่างในซีซันที่สอง ‘The Genius: Rule Breaker’ ได้มีการเพิ่ม ‘Token of Immortality’ หรือเหรียญแห่งความเป็นอมตะ ที่จะทำให้ผู้เล่นคนใดก็ตามที่พบมันเข้า จะเป็นอิสระจากเกมชี้ชะตาหาคนกลับบ้าน

หากพูดกลาย ๆ ‘The Genius Game’ ดูเหมือนรายการ ‘อัจฉริยะข้ามคืน’ ที่เคยมีในประเทศเรา จากการนำหัวกะทิในหลากหลายสาขาอาชีพที่มีบุคลิกน่าสนใจมาเล่นเกมแข่งกัน แต่รายการอัจฉริยะข้ามคืนในประเทศเรานั้นดูเหมือนจะให้คนเก่งมาแข่ง ผ่านแค่ความยากของเกมในรายการ พวกเขาต้องสู้กับตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ จากการอดตาหลับขับตานอนทำภารกิจให้สำเร็จ

ต่างจาก ‘The Genius Game’ ที่ไม่ได้เอาคนเก่งมาสู้กับตัวเอง แต่เอามาสู้กันเองผ่านเกมที่ผู้เล่นจำเป็นต้องสร้างพันธมิตรผ่านความไว้เนื้อเชื่อใจให้ได้มากที่สุด ในสถานการณ์ที่เชื่อถือกันได้ยากที่สุด นำมาซึ่งความรู้สึกความอยากเอาใจช่วยที่มากขึ้นแก่คนดู จากรูปแบบการตัดต่อที่ทำให้คนดูรู้สึกสงสาร หมั่นไส้ กระอักกระอ่วน และชวนติดตามผู้เล่นทุกคนไปจนจบเกม

‘The Genius Game’ ได้รับเสียงชื่นชมมากมายจากทั้งผู้ชมในประเทศเอง และผู้ชมจากต่างประเทศ ว่าเป็นเกมที่น่าสนใจ และทำให้เห็น ‘ความเป็นมนุษย์’ ได้แบบชัดเจนแจ่มแจ้ง ได้รับทั้งรางวัล Best Game or Quiz Programme จากเวที Asian Television Awards 2015 และรางวัล Best Content Award, Variety จาก tvN10 Awards เมื่อปี 2016 อีกทั้งยังขายลิขสิทธิ์และถูกนำไปทำเป็นเวอร์ชันเนเธอร์แลนด์เป็นที่เรียบร้อย และกำลังจะทำเป็นเวอร์ชันสหราชอาณาจักรต่อไปในอีกไม่ช้า

Society Game (2016-2017)

ภาพจาก tvN

หลังจากเกมชีวิตในรูปแบบแรกของ ‘Jung Jong-yeon’ ในฐานะ PD ประสบความสำเร็จ เขาจึงปิดตัว ‘The Genius Game’ ในซีซันที่ 4 พร้อมทั้งแจกจ่ายการ์ดเกม หรือบอร์ดเกมที่ใช้ในรายการทั้งหมด รวมถึงการ์เน็ตให้ผู้เข้าแข่งขันเป็นที่ระลึก พร้อมกับบอกว่าถ้าให้ทำต่อคงยาก เพราะเขาต้องรักษามาตรฐานความสนุกของเกมไว้เสมอ แต่ด้วยเกมที่ต้องคิดใหม่ตลอด ทำให้เขาเจอทางตันในการสร้างสรรค์เกมบนกติกาแบบเดิม ๆ

จึงนำมาซึ่งรายการรูปแบบใหม่ ที่สะท้อนสังคมแบบสุดโต่งไปอีกทางอย่าง ‘Society Game’ ขึ้นมา

‘Society Game’ เล่นใหญ่ขึ้นหลายเท่าตัวจาก ‘The Genius Game’ รวมถึงยังเล่นกับจิตใจผู้เล่นมากขึ้นกว่าเดิม เริ่มจากสถานที่ที่ใช้เล่นเกม จากแค่ห้องถ่ายทำที่จำลองสถานที่แข่งขันในสตูดิโอปกติของ The Genius Game ขยับขยายสู่หมู่บ้านจำลองพิเศษห่างไกลผู้คนรูปวงกลมขนาดใหญ่ ที่มีเพดานห้องส่งเป็นท้องฟ้าจริง ๆ และรูปแบบการอยู่ร่วมกันก็จำลองมาจากสังคมจริง ๆ เพียงแต่ถูกครอบไว้ด้วย ‘เกม’

‘Society Game’ เชิญผู้เล่น 22 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 14 คน และผู้หญิง 8 คน มาแข่งขันกันในพื้นที่ปิดที่เรียกว่า ‘หมู่บ้านวอนฮยอง’ โดยจะแบ่งคนเหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยผู้เล่นกลุ่มแรกจะอาศัยอยู่ที่ชุมชนในส่วนเสี้ยววงกลมขวาบน เรียกว่า ‘ชุมชนนบดง’ หรือชุมชนที่ปกครองด้วยหลัก ‘ประชาธิปไตย’ ส่วนผู้เล่นกลุ่มที่สองจะอาศัยอยู่ชุมชนข้างเคียงบริเวณส่วนเสี้ยววงกลมซ้ายบน เรียกว่า ‘ชุมชนมาดง’ หรือชุมชนที่ปกครองด้วยหลัก ‘เผด็จการ’ โดยจะมีสมาชิกตายตัวที่ 11 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 7 คน และผู้หญิง 4 คน ซึ่งไม่สามารถย้ายหมู่บ้านได้อีกต่อไป

หน้าตาของหมู่บ้านวอนฮยอง ที่มีชุมชนนบดงทางขวาบน, ชุมชนมาดงทางซ้ายบน
และพื้นที่แข่งขันอยู่ตรงกลางด้านล่าง – ภาพจาก tvN

ตลอดการแข่งขันทั้ง 2 สัปดาห์ ผู้เล่นทุกคนจะต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในหมู่บ้านเท่านั้น ห้ามติดต่อสื่อสารกับภายนอก และทั้งสองหมู่บ้านจะต้องมาแข่งขันเกมที่วัดทั้งมันสมอง พละกำลัง และทักษะความสามารถ ซึ่งจะเป็นตัวชี้ขาดว่าชุมชนไหนเป็นฝ่ายชนะ และเป็นฝ่ายแพ้ โดยหากชนะ หัวหน้าชุมชนจะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านวอนเพื่อเอาไปจัดสรรปันส่วนเงินรางวัลกันในชุมชน ว่าจะแบ่งให้ใคร เท่าไหร่ หรือไม่แบ่งให้ใครบ้าง ส่วนทีมที่แพ้จะต้องคัดผู้เล่น 1 คนออกจากการแข่งขันทันที

เกมระหว่างชุมชนว่ายากแล้ว แต่เกมการเมืองในชุมชนตัวเองยากยิ่งกว่า

‘ชุมชนนบดง’ หรือชุมชนที่ปกครองด้วยหลัก ‘ประชาธิปไตย’ จะเป็นชุมชนที่ในทุกเช้าทุกคนจะมีสิทธิ์เสนอชื่อผู้ร่วมชุมชน 3 คนเป็นแคนดิเดตหัวหน้าชุมชน และทุกคนมีสิทธิ์โหวตเลือก 1 ใน 3 คนนี้เพื่อเป็นหัวหน้าชุมชนใหม่ได้ทุกวัน และหัวหน้าชุมชนคนนั้นจะได้สิทธิ์เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตหัวหน้าชุมชนในวันถัดไปอีกด้วย แต่ถ้าผลโหวตเสมอกัน หัวหน้าชุมชนคนเดิมจะได้เป็นหัวหน้าต่อไปทันที

ส่วนผู้เล่นใน ‘ชุมชนมาดง’ หรือชุมชนที่ปกครองด้วยหลัก ‘เผด็จการ’ นั้น หัวหน้าคนแรกมาจากการคัดเลือกด้วยวิธีการวัดความกล้า ผ่านภารกิจพิเศษที่ท้าทายก่อนเริ่มเล่นเกม หากผู้เล่นคนใดกล้าทำสิ่งนั้น สิทธิ์ในการเป็นหัวหน้าจะกลายเป็นของเขาทันที

แต่หัวหน้าชุมชนนี้ยังได้รับ ‘กุญแจแห่งกบฏ’ เพื่อมอบให้กับผู้เล่นที่เหลือในชุมชน 2 จาก 10 คน โดยหากผู้ถือกุญแจแห่งกบฏนี้สามารถทำการ ‘ก่อกบฏ’ เพื่อยึดอำนาจจากหัวหน้าชุมชนให้มาเป็นของตัวเองได้ ผ่านการไขกุญแจเข้าห้องกบฏเพื่อตีฆ้อง และใช้เวลาหลังจากนั้น 30 นาทีเพื่อรวมเสียงข้างมากจากสมาชิกที่เหลือในชุมชนอีก 5 เสียง ให้สำเร็จ ตำแหน่งหัวหน้าชุมชนก็จะเปลี่ยนมือได้ทันที

คำถามคือต้องแก่งแย่งชิงดีอยากเป็นหัวหน้าขนาดนั้นกันทำไม?

เพราะสิทธิ์ของ ‘หัวหน้า’ ในชุมชนประชาธิปไตย และชุมชนเผด็จการในเกมนี้นั้นสำคัญนัก ทั้งเป็นคนเดียวที่ได้อยู่ห้องแอร์ในแต่ละชุมชน ในขณะที่สมาชิกคนอื่นนอนกางมุ้งแบบ open air กันหมด ทั้งเป็นคนที่มีสิทธิ์ในการจัดสรรปันส่วนเงินรางวัลเพื่อตอบสนองพันธมิตรด้วยกันเอง หรืออาจจะไม่แบ่งเงินรางวัลให้เพื่อส่งสัญญาณบางอย่างกับผู้เล่นบางคนก็ยังทำได้

อีกทั้งมีสิทธิ์เขี่ยคนในชุมชนให้ตกรอบได้ หากว่าชุมชนตัวเองแพ้ในการแข่งขัน และทั้งเป็นผู้มีสิทธิ์เขียน ‘Blacklist’ หรือการเขียนชื่อผู้เล่นคนใดก็ได้ในชุมชนที่อยากให้ขึ้นบัญชีดำ หากผู้เล่นคนนั้นถูกเขียนชื่อสองครั้ง เขาหรือเธอจะตกรอบโดยทันทีเช่นกัน

ตลอดการแข่งขันจะค่อย ๆ คัดคนตกรอบไปเรื่อย ๆ จนจะเหลือสมาชิกที่แกร่งที่สุดของ 2 ชุมชนมาเจอกันในการแข่งขันรอบสุดท้าย หากสมาชิกจากชุมชนใดเอาชนะอีกฝั่งไปได้ เขาทั้งสามจะกลายเป็นผู้ชนะของ ‘Society Game’ และรับเงินรางวัล 150 ล้านวอนไปในที่สุด

นี่จึงเป็นเกมที่ไม่ใช่เพียงเชิญมาเล่นในแต่ละตอนแล้วก็ลาจากกัน ก่อนจะกลับมาเจอในห้องส่งพร้อมเกมต่อไป แต่มันคือเกมที่เล่นกับชีวิต และเล่นกับความรู้สึกของผู้เล่นแบบอยู่หมัด พวกเขาต่างมาจากคนละถิ่น ตำแหน่งแห่งที่ก็หลากหลายไม่ใช่เล่น แต่พวกเขาต้องมาเป็นมนุษย์ที่ต้องเอาตัวรอดจากมนุษย์ที่ต่างคนต่างไม่รู้ว่าคิดแบบใดต่อกัน วิธีคิด ทัศนคติ คาแรกเตอร์ผู้เล่น ทักษะการใช้ชีวิต วิธีการสื่อสาร การเป็นผู้นำ ทักษะการเข้าสังคม ทั้งหมดผสมกลมกลืนจนทำให้เกมนี้กลมกล่อม และเป็นอีกหนึ่งรายการหักเหลี่ยมเฉือนคมที่น่าสนใจของ ‘Jung Jong-yeon’ เลยก็ว่าได้

Crime Scene (2014-2017)

ภาพจาก JTBC

มาที่ทางฝั่งช่องเคเบิลข้างเคียงอย่าง JTBC ที่ได้ ‘Hyun-Joon Yoon’ มาดูแลรายการให้ หลังจากความสำเร็จของเกมหักเหลี่ยมเฉือนคมต้นตำรับในปี 2013 อย่าง ‘The Genius Game’ อีกสถานีก็มีรายการเกมโชว์หักเหลี่ยมเฉือนคมแนว ๆ นี้ ออกมาเหมือนกัน ในชื่อ ‘Crime Scene’ ที่ฟังแล้วก็คงต้องนึกถึงคดีฆาตกรรมอย่างแน่นอน

ใช่, นี่คือเกมโชว์แห่งการฆาตกรรม เพราะผู้เล่นที่ได้รับเชิญทั้ง 5 คน จะต้องเข้ามาเล่นเกมสวมบทบาท เพื่อสืบหาให้ได้ว่า 1 ใน 5 คนนี้ ใครกันแน่คือฆาตกรที่แฝงตัวในหมู่นักสืบ!

‘Crime Scene’ ถือได้ว่าเป็นรายการประเภท Role-Playing Game (RPG) รายการแรกของเกาหลีใต้เลยก็ว่าได้ กติการายการนี้หากใครที่เคยเล่นบอร์ดเกม ‘CS files’ อาจจะพอทำให้นึกถึงรูปแบบการเล่นได้ประมาณหนึ่ง

‘Crime Scene’ ในแต่ละซีซันจะดำเนินการเล่นไปด้วยผู้เล่นชุดเดิมที่ถูกเชิญให้มาเป็นสมาชิกหลัก เพียงแต่ ‘บทบาท’ จะเป็นตัวนำพาให้รสชาติที่เราได้รับชมจากสมาชิกชุดเดิม ไม่เหมือนเดิมเลยสักครั้ง ในแต่ละตอนพวกเขาทั้ง 5 คนจะได้รับบทบาทในสถานการณ์สมมติที่แตกต่างกัน สภาพแวดล้อมในสถานการณ์จำลองคดีฆาตกรรมต่างกัน และรายละเอียดในการฆาตกรรม รวมถึงหลักฐานและเบาะแสที่ยากง่ายแตกต่างกันไป

เกมจะดำเนินไปเป็นขั้นเป็นตอนแบบละเอียดยิบ ไล่เรียงตั้งแต่การสรุปคดีเบื้องต้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนเกิดการฆาตกรรม จากนั้นจะเป็นการเปิดเผย ‘ตัวละคร’ ที่ผู้เล่นทั้ง 5 จะต้องสวมบทบาท ซึ่งถือว่าเป็น ‘ผู้ต้องสงสัย’ เหมือน ๆ กันในคดีนี้ทั้งคู่ เพราะตัวละครทุกตัวจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปสู่ผู้ตายเสมอ หลังจากนั้นผู้เล่นทั้ง 5 จะต้องสุ่มหยิบว่าอยากเล่นเป็นตัวละครตัวไหน โดยที่ในซองตัวละครนั้นจะมีบทบาทปรากฏชัดเจนว่าเขาคือฆาตกรที่แท้จริงหรือไม่

หลังจากนี้เกมจะเริ่มต้นขึ้น และ ‘ผู้เล่น’ ทุกคนจะถูกสวมทับไปด้วยบทบาท ภูมิหลัง และคาแรกเตอร์ของตัวละคร ‘ผู้ต้องสงสัย’ ภายในเนื้อหาเกมคดีฆาตกรรมนี้โดยทันที

เกมจะเริ่มต้นด้วยการให้ผู้ต้องสงสัยแต่ละคนออกมาเล่าภูมิหลังของตัวเองกับผู้ตาย เพื่อเป็นข้อแก้ตัวให้รูปคดี ซึ่งผู้ต้องสงสัยคนอื่นสามารถซักถามได้ หลังจากเล่าข้อแก้ตัวหมดทุกคนแล้ว ผู้ต้องสงสัยจะมีเวลา 10 นาที ในการสืบสวนบนสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งจำลองซีนการฆาตกรรมตามเนื้อเรื่องไว้อย่างละเอียด ชนิดที่ว่าหากใช้เวลากันดีก็จะหาคำตอบเจอจาก Crime Scene ที่จำลองไว้เลย อีกทั้งผู้ต้องสงสัยแต่ละคนยังถ่ายรูปที่เกิดเหตุมาเป็นหลักฐานเพิ่มเติมได้อีก 10 ภาพ จากนั้นทุกคนจะกลับมารวมโต๊ะ และนำเสนอหลักฐานหรือประเด็นเพิ่มเติมที่พบ จากนั้นจึงเริ่มลงคะแนนโหวตครั้งแรก ว่าใครกันคือฆาตกร

เมื่อการเปิดโหวตครั้งแรกจบลง ผู้ต้องสงสัยทุกคนจะมีโอกาสซักถาม ถกเถียง โต้แย้งในคดีนี้ได้อย่างอิสระจากหลักฐานที่ได้มาทั้งหมด และยังจะได้รับเบาะแสเพิ่มเติมจากทางรายการ อย่างภาพจากกล้องวงจรปิด หรือทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ตาย ก่อนที่จะเริ่มการสืบสวนในโค้งสุดท้ายบนสถานที่เกิดเหตุจำลอง และสืบสวนแบบ 1 ต่อ 1 ระหว่างผู้ต้องสงสัยที่ต้องการชี้ตัวผู้ต้องสงสัยคนอื่นมาเป็นผู้ถูกซักถาม และลงคะแนนโหวตตัดสินหาฆาตกรครั้งสุดท้าย เมื่อนั้นคะแนนจะถูกเปิดเผยว่าผู้ต้องสงสัยคนใดโหวตให้ใครบ้าง โดยหากทายฆาตกรถูก ผู้ต้องสงสัยที่บริสุทธิ์จะได้รับรางวัล แต่ถ้าทายผิด ฆาตกรจะได้รับรางวัลทั้งหมดไปเพียงคนเดียว

ความยิ่งใหญ่ในการจำลองฉากคดีฆาตกรรมของ ‘Crime Scene’ภาพจาก JTBC

แม้รายการนี้จะดำเนินไปด้วยจำนวนผู้เล่นคนเดิมทุกตอน แต่เนื้อหา บทบาท และความทุ่มทุนในการสร้างฉาก ‘Crime Scene’ ให้เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่ต้องชี้นำการคาดเดาของผู้ต้องสงสัยที่เหลือให้ถูก ทำให้ในแต่ละซีซันของรายการนี้เต็มไปด้วยยอดผู้ชมที่น่าพอใจ

‘Crime Scene’ ถูกผลิตขึ้นแล้ว 3 ซีซัน และถูกส่งออกรูปแบบรายการไปผลิตต่อในประเทศจีน แว่วมาว่าราวเดือนเมษายน 2024 เกมการสืบสวนคดีฆาตกรรมนี้จะกลับมาอีกครั้งผ่าน TVING ในชื่อ ‘Crime Scene Returns’ หากใครที่ติดตามรายการอยู่แล้ว ก็รอฟังข่าวดีเร็ว ๆ นี้ได้เลย

The Devil’s Plan (2023)

ภาพจาก TEO

หลังจาก ‘The Genius Game’ และ ‘Society Game’ จบลง ก็ดูเหมือนว่า ‘Jung Jong-yeon’ จะไม่ได้ทำรายการเกมโชว์เซอร์ไววัลแบบหักเหลี่ยมเฉือนคมแบบนี้ออกมาอีกเลยแต่กลายเป็นรายการแนว co-op หรือเกมที่ผู้เล่นทั้งหมดในรายการต้องช่วยเหลือการเสียมากกว่า อย่างใน ‘The Great Escape’ และ ‘Girl’s Mystery Club’ ที่เป็นรายการแนวไขปริศนาและหาทางไปต่อด้วยกัน

และดูเหมือนเสียงเรียกร้องจากแฟน ๆ รายการแบบต้นตำรับของเขาจะทรงพลังพอ เพราะมันทำให้เกิดรายการที่ดูคล้าย ‘The Genius Game’ ในร่างที่อีโวเรียบร้อยแล้ว ผ่านทาง Netflix ในชื่อ ‘The Devil’s Plan’

“รายการนี้มันเหมือนไวน์ใหม่ในขวดใหม่” Jung Jong-yeon กล่าวถึงตัวเกมหลัก ๆ กับทาง SPOTV News “รายการ The Genius Game เป็นรายการที่ผมชอบมาก ผมจึงเอามันห่อกระดาษอย่างดี แล้วเก็บไว้ในความทรงจำ และไม่อยากหยิบมันออกมาเพื่อทำลายความทรงจำดี ๆ เหล่านั้น แต่ถ้ามีอะไรสักอย่างที่ทำได้ ผมน่าจะปรับปรุงมันให้ดีกว่านี้ แล้วเปลี่ยนชื่อมัน” นั่นคือที่มาของเกมใหม่ในเวอร์ชั่นปรับปรุงครั้งนี้

ซึ่งแค่เราเห็นไตเติ้ลรายการ จังหวะการตัดต่อ รูปแบบการสร้างฉากเล่นเกม มวลทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันยังหวนทำให้เรานึกถึงรายการคู่บุญของเขาอย่าง ‘The Genius Game’ เพียงแต่มันอุบัติใหม่ด้วยแผนร้ายของปีศาจที่มีหน้าเป็นจอ LED

‘The Devil’s Plan’ มีที่มาและที่ไปของผู้เล่นคล้ายคลึงกับ ‘The Genius Game’ และ ‘Society Game’ นั่นคือเอาหัวกะทิจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่มีคาแรกเตอร์และบุคลิกภาพน่าสนใจเข้ามาร่วมเล่นเกม ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่แค่เล่นเกมแล้วกลับบ้าน รอบใหม่ค่อยมาถ่ายทำใหม่ แต่มันคือการเก็บกระเป๋ามาอยู่ด้วยกันจริง ๆ แบบใน ‘Society Game’ ร่วม 6 วันด้วยกัน

บรรยากาศของพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่โถงใหญ่สำหรับเล่นเกม
ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง – ภาพจาก Netflix

การออกแบบพื้นที่ของ ‘The Devil’s Plan’ นั้นกำหนดให้ผู้เล่นเปิดประตูเข้ามาเจอพื้นที่อยู่อาศัยก่อน โดยผู้เล่นทั้งหมดจะใช้พื้นที่ตรงนี้พักผ่อนร่วมกัน นอกเหนือจากการเล่นเกมทั้งหมด โดยจะแบ่งห้องนอนออกเป็นห้องละ 2 คน พร้อมอาหารเช้า และอาหารเย็นแบบจัดเต็ม เครื่องดื่มและขนมนมเนยไม่อั้น ขอแค่ตื่นทันเข้าร่วมเล่นเกมเป็นพอ

เมื่อเข้ามาจากประตูที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอกแล้ว จะเจอพื้นที่นั่งเล่น และประตูฝั่งตรงข้ามคือทางเชื่อมไปสู่ห้องโถงใหญ่สำหรับเล่นเกม หากย้อนกลับไปข้างบนอุปกรณ์ที่ใช้แทนสิ่งมีค่าในรายการ ‘The Genius Game’ คือโกเมนทรงลูกบาศก์สีแดงเข้ม แต่รายการนี้ใช้เป็น ‘Piece’ หรือ ‘ตัวต่อ’ ชิ้นส่วนปริศนารูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสีทองอร่าม ที่เป็นตัวชี้ชะตาผู้เล่นว่าจะได้อยู่ต่อในรายการ หรือจะต้องกลับบ้านไป เพราะในแต่ละเกม ผู้ที่ทำคะแนนได้ลำดับน้อยที่สุดลดหลั่นกันมา จะมีกฎทำโทษผ่านการ ‘เสียตัวต่อ’ นั่นคือการคืนตัวต่อกลับสู่รายการ ยิ่งได้คะแนนน้อย ยิ่งเสียตัวต่อเป็นจำนวนมากขึ้น

‘The Devil’s Plan’ จะดำเนินในแต่ละวันตั้งแต่การตื่นนอน กินอาหารเช้า พบปะพูดคุยกันเล็กน้อยก่อนเข้าเล่นใน ‘Main Match’ หรือเกมหลักที่ผู้เล่นทุกคนจะต้องใช้ความสามารถและทักษะผ่านเกมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเกมวางแผน เกมโกหก เกมจับตัวตน เกมคำนวณ เกมที่ต้องใช้ตรรกะ ที่ผู้เล่นจำเป็นต้องสร้างทีมกันเองเพื่อเอาชนะ และห่ำหั่นกันด้วยไหวพริบ และเชาว์ปัญญาทั้งหมดที่มี เมื่อได้ผู้แพ้ เขาและเธอคนนั้นจะต้องเตรียมตัวไป ‘เข้าคุก’ และผู้ชนะในเกมจะเป็นผู้เลือกผู้เล่นคนอื่นอีก 1 คน ให้ไปเข้าคุกด้วยกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ตัดขาดการสื่อสารจากโลกภายในเกมเข้าไปอีก เพราะประตูคุกมีทางเข้าออกทางเดียวคือบริเวณโถงเล่นเกม

ผู้เล่นที่ถูกให้เข้าคุกจะถูกลดทอนปริมาณอาหารให้เหลือเพียงเล็กน้อย และไม่มีสิทธิ์ได้อาบน้ำ เหมือนกับที่โลกรู้ว่าใคร ๆ ก็ไม่อยากเข้าคุก แต่คุกที่นี่พิเศษกว่านั้น เพราะมันแอบซ่อนทั้งโอกาสย่อยที่จะทำให้ผู้เล่นได้ ‘Piece’ หรือ ‘ตัวต่อ’ ไปฟรี ๆ 1 ชิ้น จากการไขปริศนาภายในให้ได้ก่อนออกจากคุก และแอบซ่อนโอกาสใหญ่ในการค้นเจอห้องลับ ที่จะทำให้ผู้เล่นได้เล่นเกมพิเศษซึ่งอาจทำให้ตัวต่อ 10 ชิ้น หรือตกรอบออกจากเกมไปเลย

ในขณะเดียวกันผู้เล่นที่เหลือจะได้กลับไปพักผ่อนพอสมควรหลังจากห่ำหั่นกันมาทั้งวัน เกมที่สองของวันจะเป็นเกมที่ทำให้พวกเขาทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อคว้าชัยชนะมาให้ได้ กับ ‘Prize Match’ หรือเกมชิงรางวัล

เกมนี้ต่างจาก ‘The Genius Game’ ตรงนี้เอง ที่ว่าผู้เล่นจะไม่ได้เพียงแข่งขันกันเองเพื่อแย่งสิ่งมีค่ามาเป็นของตน เพราะ ‘Piece’ หรือ ‘ตัวต่อ’ ในรายการนี้ไม่ได้เท่ากับเงิน แต่เท่ากับจำนวนชีวิต ฉะนั้นเงินที่ผู้เล่นคนสุดท้ายจะได้ต้องมาจากปัจจัยอื่น รายการนี้จึงเพิ่มเกมสมัครสมานสามัคคีไปในช่วงเย็นของวัน เพื่อสร้างมวลความรู้สึกมากมายให้แก่ผู้เล่น ตอนเช้าแข่งกันเอาเป็นเอาตาย ตอนเย็นต้องมาร่วมมือกัน พรุ่งนี้เช้าเอาเป็นเอาตายอีก ตอนเย็นก็ช่วยกัน ซึ่งในเกมชิงรางวัลนี้จะมอบเงินรางวัลสะสมเพิ่มไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน 50 ล้านวอนบ้าง 100 ล้านวอนบ้าง สมทบกันไปเพื่อให้ผู้อยู่รอดคนสุดท้ายเท่านั้นคว้าไป

เมื่อเทียบกันกับ ‘The Genius Game’ แล้ว ‘The Devil’s Plan’ เป็นเกมหักเหลี่ยมเฉือนคมที่สร้างความรู้สึกลึกซึ้งมากกว่าเป็นไหน ๆ เพราะผู้เล่นต่างมีสถานะที่ต้อง ‘ห่ำหั่น’ และ ‘ปรองดอง’ ไปแทบจะพร้อม ๆ กัน อีกทั้งพวกเขาไม่เพียงแค่เล่นเกมด้วยกัน แต่หลังเล่นเกมพวกเขาก็ยังต้องอยู่ร่วมกัน

นี่จึงเป็นเกมแห่งศักดิ์ศรีของหัวกะทิ ที่ต้องเจ๋งในเกม และเรียนรู้ที่จะวางตัวอยู่กับผู้อื่นให้เป็นด้วยนั่นเอง

The Time Hotel (2023)

ภาพจาก CJ ENM

หลังจากการกลับมารันวงการเกมเซอร์ไววัลอีกครั้งของ ‘Jung Jong-yeon’ ฝ่ายอดีตต้นสังกัดที่เขาเคยร่วมงานอย่าง ‘CJ ENM’ ก็อดไม่ได้ที่ต้องหวนคืนเกมเซอร์ไววัลแบบนี้สู่สายตาผู้ชมด้วยเช่นเดียวกัน ผ่านฝีมือของ PD ‘Nam Kyung-mo’ ครั้งนี้มาในธีมเกมโทนสว่างกว่า แตกต่างจากรายการอื่นอย่าง ‘The Time Hotel’ ที่ยังคงมีเกมหักเหลี่ยมเฉือนคมเป็นแก่น แต่เรื่องราวของเกมนั้นต่างออกไปและน่าสนใจมาก

‘The Time Hotel’ คือโรงแรมลึกลับแห่งความฝันที่ถูกสร้างขึ้นด้วยธีมเทพนิยาย ผู้เล่นทั้ง 10 คน ถูกเชิญให้มาเข้าพักที่นี่ พร้อมทั้งได้รับ ‘ไทม์วอทช์’ ติดตัวตลอดการเข้าพัก ถามว่ามันพิเศษยังไง ก็เพราะนาฬิกาแต่ละเรือนของผู้เล่นจะเป็นตัวบอก ‘เวลา’ ที่ผู้เล่นเหลืออยู่ในการเข้าพักที่นี่ นั่นแปลว่าหากเวลาของใครหมดก็ตาม พวกเขาจะต้องเช็คเอาต์ออกจากที่นี่ หรือตกรอบนั่นเอง

ในโรงแรมระดับพรีเมียมแห่งนี้ ‘เวลา’ คือสิ่งที่มีค่าเฉกเช่นเดียวกับ ‘เงิน’ เพราะโรงแรมเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เลานจ์ บาร์ ร้านอาหาร คาเฟ่ ตู้ขายของอัตโนมัติ ทุกอย่างใช้จ่ายกันด้วย ‘เวลา’ เท่านั้น อย่างถ้าอยากกินอาหารเที่ยงเป็นพาสตาครีมเบคอน ก็ต้องจ่าย 1 ชั่วโมง 30 นาที แต่ถ้ากินถูกหน่อยก็ซุปเห็ด 20 นาที เป็นต้น อีกทั้งเวลาของผู้เล่นแต่ละคน สามารถถ่ายโอนให้กันได้อีกด้วย

โดยโอกาสที่พวกเขาจะได้รับเวลาเพื่ออยู่ต่อในโรงแรมแห่งนี้ก็คือ การเล่น ‘Kairos Game’ หรือเกมหลักในเวลา 14.00 น. ของแต่ละวัน ซึ่งก็เป็นเกมหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างผู้เล่น แต่ละเกมจะทำให้เกิดผู้แพ้และผู้ชนะ ซึ่งในรายการนี้ผู้ชนะจะได้รับ ‘เวลา’ เป็นของรางวัล เอาไว้ทั้งบริหารทั้งการใช้จ่าย และสร้างพันธมิตรที่ไว้ใจได้ผ่านการให้ยืมใช้เวลา หรือซื้ออาหารให้

ส่วนผู้แพ้จะถูกกลายเป็น ‘แขกเช็คเอาต์’ หรือผู้ที่เสี่ยงตกรอบนั่นเอง ซึ่งผู้ได้รับสิทธิ์นั้นจะมีโอกาสเลือกสมาชิกคนอื่นในเกมให้ไปเล่น ‘Check-out Game’ หรือเกมเช็คเอาต์ เพื่อหาผู้ที่ต้องออกจากโรงแรมนี้

จะเห็นได้ว่ารายการนี้มีการสร้างความสมดุลความเท่าเทียมอยู่พอสมควร หากเทียบกับ ‘The Genius Game’ ที่มีกติกาของการใส่เกมหาคนตกรอบเข้าไป รายการนั้นจะให้สิทธิ์ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในแต่ละเกม เลือกผู้เล่นที่แข็งแกร่งน้อยกว่าคนไหนก็ได้ไปดวลหมัดต่อหมัดกับคนที่แข็งแกร่งน้อยที่สุด แต่ ‘The Time Hotel’ กลับเลือกให้สิทธิ์คนแพ้เลือกได้ว่าอยากจะดวลกับคนที่ไม่แพ้คนไหน เว้นก็แต่บางตอนที่ ‘แขกเช็คเอาต์’ ก็ถูกเลือกจากการแข่งขันไปโดยปริยาย 2 คน หรือไม่ก็ได้คนตกรอบหลังจากเกมหลักจบไปเลยก็มี

มากไปกว่านั้น ด้วยความที่ธีมเกมเป็นการที่ผู้เล่นต้องเป็นแขกผู้มาพักในโรงแรม หรือสถานที่ใช้แข่งขัน facility ต่าง ๆ ใน ‘The Time Hotel’ แห่งนี้ก็ใช้เป็นตัวสร้างข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบให้ผู้เล่นได้อีก

เริ่มจาก ‘Suite Room’ หรือห้องพักวีไอพี ที่ในแต่ละตอนจะคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิ์เข้าพักตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพียงคนเดียวเท่านั้น ผ่านการใช้จ่าย และใช้เวลาของผู้เล่นคนใดมากที่สุดในแต่ละวัน โดยสิทธิ์ดี ๆ ที่จะได้รับในห้องคือการได้กินอาหารดี ๆ โดยไม่ต้องจ่าย ‘เวลา’ เพื่อให้ได้มา, มีสิทธิ์ดูวิดีโอแนะนำเกมหลักของวันรุ่งขึ้นก่อนใคร และมีสิทธิ์ชวนแขก 2 คนจากผู้เล่นที่เหลือให้เข้ามากินอาหารฟรี ๆ ด้วยกัน ซึ่งตรงนี้เองทำให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์ หรือสร้างความแตกหักระหว่างพันธมิตรกันได้

อีกห้องที่น่าสนใจคือ ‘Time Bank’ หรือธนาคารแห่งเวลา ที่เริ่มต้นเปิดทำการในวันที่ 2 ของการแข่งขัน โดยธนาคารแห่งนี้มีไว้ให้ผู้เล่นเข้ามาฝาก ‘เวลา’ เพื่อแลกกับดอกเบี้ย 20% ในทุก ๆ วันที่ผ่านไป ฝากเท่าไหร่และถอนเท่าไหร่ก็ได้ อีกทั้งยังมีบริการ ‘TaTa’ หรือระบบทายผลคนตกรอบของวัน ที่หากทายถูก จะได้รับเวลาที่พนันไว้คืนถึง 2 เท่าในชั่วข้ามคืน

หากไล่เรียงกติกาและรูปแบบรายการนี้จะรู้สึกได้เลยว่ามันเต็มไปด้วยความเหลี่ยม ท้าทายความเหลื่อมล้ำในแง่การอยู่ร่วมกันได้มากพอสมควร แต่ก็ต้องบอกว่าคาแรกเตอร์ผู้เล่นในเกมนี้เต็มไปด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย และเต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์แบบจริง ๆ จัง ๆ มาที่สุดเท่าที่เราเคยดูมา

อาจเป็นเพราะว่ารายการที่ผ่านมาอย่าง ‘The Genius Game’ เป็นเกมที่แค่มาเล่นด้วยกันแล้วก็แยกย้าย, ‘Society Game’ ก็เป็นเกมที่ชิงดีชิงเด่นกันสุดกราฟ, ‘Crime Scene’ ก็แค่มาเล่นเกมสวมบทบาทเท่านั้น เล่นแล้วก็แล้วกัน, ‘The Devil’s Plan’ เอาคนมาเล่นเกมและอยู่ร่วมกันก็จริง แต่อาหารและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเบื้องต้นก็มีให้พร้อม

ผิดจาก ‘The Time Hotel’ ที่ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ต้องใช้จ่ายด้วยเวลา ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม น้ำเปล่า ไอเท็มพิเศษที่ใช้ในเกม หากเวลาน้อยไปก็เหลือไว้เล่นเกมหลักกันไม่จบ ผู้เล่นบางคนเลือกที่จะอดข้าวอดน้ำ หรือลงทุนเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำผู้เล่นคนอื่นเพียงเพราะอยากเลี้ยงก็มี อีกทั้งการที่เวลาของแต่ลคนสามารถโอนให้กันได้ ก็ทำให้ ‘เวลา’ กลายเป็นอุปกรณ์ซื้อใจและสร้างพันธมิตรได้พร้อมกัน

ทำไม ‘เกาหลีใต้’ ถึงฮิต ‘Survival Game Show’ กันขนาดนี้

‘X-Man ปริศนาเขาคือใคร’ จุดเริ่มต้นรายการวาไรตี้สุดเหลี่ยมของเกาหลีใต้ – ภาพจาก Allkpop

หากย้อนกลับไปในยุค 2003 ที่เกาหลีมีรายการวาไรตี้เกาหลีรายการหนึ่งที่นำเสนอเกมการแข่งขันกันระหว่างดาราสองทีมใหญ่ ฝั่งไหนเล่นเกมชนะก็ได้รับรางวัล 1 ล้านวอน เข้าการกุศล เล่นไปเรื่อย ๆ จนจบรายการ เพื่อสุดท้ายผู้ร่วมรายการทุกคนจะมาร่วมหาว่าใครกันที่เป็น ‘X-Man’ ประจำสัปดาห์

ซึ่งเขาหรือเธอคนนั้นคือผู้ร่วมรายการเพียงคนเดียวจากทั้งหมดที่ได้รับภารกิจพิเศษจากทางรายการ เพื่อทำลายทีมเดียวกันไม่ให้เป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขัน จึงทำให้รายการวาไรตี้นี้แตกต่างจากรายการอื่น ที่ไม่ได้มีเพียงการเล่นเกมกันของทั้งสองทีมเท่านั้น แต่ทุกคนต้องเล่นเกมจับ ‘X-Man’ ซ้อนเข้าไปอีกระหว่างนั้น นี่น่าจะเป็นรายการแรก ๆ ของเกาหลีที่นำเอาการปิดบังตัวตน และตบตาสมาชิกผู้ร่วมรายการคนอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

หลังจากนั้นมาเหมือนว่ารายการวาไรตี้เกาหลีจะเลือกกลวิธีในการปิดบังตัวตน และตบตาสมาชิกผู้ร่วมรายการนี้มาเป็นจุดขายอีกในหลาย ๆ รายการ อย่างเช่น ‘King of Mask Singer’ หรือที่ไทยรู้จักในชื่อ ‘The Mask Singer หน้ากากนักร้อง’ ซึ่งเป็นการประกวดร้องเพลงที่ผู้ร้องจะใส่ชุดอำพรางตัวตนจริง แล้วเล่นกับการหลอกลวงจิตใจเพื่อไม่ให้กรรมการรู้ว่าเขาเป็นใคร หรืออย่างรายการ ‘I Can See Your Voice’ ที่เอาใครก็ไม่รู้มายืนให้ทายกันว่าใครกันที่ร้องเพลงเพราะ เพื่อเอามาร้องเพลงร่วมกับศิลปินรับเชิญในช่วงท้ายรายการ

อย่างไรก็ตามรายการเหล่านี้ก็ยังคงความวาไรตี้ไว้มากกว่า และมีความเป็นระเบียบแบบแผนการในการดำเนินเรื่องราวในรายการตั้งแต่ต้นจนจบ

ในขณะเดียวกันก็มีรายการอีกประเภทที่ได้รับความนิยมในเกาหลีควบคู่ไปเป็นเส้นขนาน อย่างรายการแนว ‘Reality Show’ ที่นำเสนอความเป็นจริงของมนุษย์ผ่านเรื่องราวที่สอดแทรกในกติการายการ อย่างเช่นรายการ ‘Family Outing’ ที่เอาดารา 7-8 คนมาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของผู้สูงอายุทั่วเกาหลี เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ไปท่องเที่ยวพักผ่อนแทน รายการก็จะเล่าชีวิตความเป็นอยู่ผ่านภารกิจต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุทิ้งโจทย์เอาไว้ให้ ว่าต้องไปเก็บหอย เก็บผัก ต้อนแกะ หรือทำอะไรให้บ้าง

ซึ่งรายการเหล่านี้คือผงชูรสชั้นดีที่ทำให้ผู้ชมได้รู้จักตัวตน คาแรกเตอร์ และลักษณะนิสัยของสมาชิกในรายการมากขึ้นในหลากหลายมิติที่นอกจากบทบาทหลักที่พวกเขายึดถือเป็นอาชีพ

นี่จึงอาจเป็นชนวนเหตุแห่งความเป็นรายการประเภท ‘Reality Survival Shows’ ซึ่งเป็นจุดร่วมของการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ความบันเทิง ละคร และเรื่องราวของชีวิตจริงเข้าไว้ด้วยกัน โดยจุดร่วมส่วนใหญ่ของรายการประเภทนี้คือการเล่นเกมกันในพื้นที่ปิด เพื่อคัดคนออกในทุกตอนของการออกอากาศ และเป็นรายการที่เอาคนที่มีคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจมารวมกัน

ภายใต้ข้อจำกัดของกติกาแต่ละรายการ ‘ผู้เข้าแข่งขัน’ จะถูกเหตุการณ์นำพาทำให้กลายเป็น ‘ตัวละคร’ ของความสัมพันธ์ทั้งแบบมิตรและศัตรูกันในแต่ละเกม หรือทำให้ตัวตนของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนแสดงออกมาชัดเจนขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องราวที่ทับซ้อนบนกติกากลายเป็นเรื่องน่าติดตาม และเป็นจุดขายของรูปแบบรายการประเภทนี้

มากไปกว่านั้น เส้นที่พร่าเลือนของความเป็นผู้เข้าแข่งขัน และตัวละครในรายการ ทำให้หลายครั้งพวกเขาได้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการเพิ่มขึ้น และรสชาติที่ได้รับจากรายการเกมโชว์ประเภทนี้ก็สร้างความแตกต่างจากรายการรูปแบบอื่นที่มีอยู่ได้อย่างแหลมคมแต่กลมกล่อม และกลายเป็นท่าไม้ตายของรายการจากประเทศเกาหลี ที่ส่งผลกระทบให้เกิดความนิยมไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

ขอบคุณข้อมูลจาก : Fandom / Asian Television Awards / Wikipedia 1 2 / Spotvnews / Soompi / Minimore

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า