fbpx

5 เรื่องหัวเราะทั้งน้ำตากว่าจะมาเป็น ‘ออฟฟิศ 0.4’

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ทีมงาน The Modernist ได้เข้าร่วมฟังเสวนาในหัวข้อเรื่อง “Work-Laugh Balance : 5 เรื่องหัวเราะทั้งน้ำตาของชาวออฟฟิศ” โดยคุณถนอม เกตุเอม และ คุณโอมศิริ วีระกุล ได้ร่วมเสวนาถึงที่มาของเพจออฟฟิศ 0.4 และบทเรียนแสนตลกร้ายของคนทำงาน ที่เป็น Pain Point สำคัญทำให้พนักงานหลายคนลาออกจากองค์กร ทั้งนี้ The Modernist จึงสรุปเนื้อหาและอาสาพาทุกคนหัวเราะทั้งน้ำตาไปพร้อมกัน

ทำคอนเทนต์ให้เหมือนทำหนัง

เป็นเวลากว่า 5 ปีกับการเดินทางเติบโตของเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า ‘ออฟฟิศ 0.4’ บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์เงินเดือนที่ ฝันโคตรไกล…แต่ไปยังไม่ถึง ด้วยโควตคำพูดสั้น ๆ ที่กินใจวัยทำงาน เพราะทุกเรื่องราวคือ insight ที่มนุษย์ออฟฟิศต่างเคยประสบพบเจอกันมาแล้วทั้งนั้น

คุณโอมศิริกล่าวถึงที่มาของเพจว่า “เราวนเวียนอยู่กับการทำงานมาตลอด ออฟฟิศเป็นสิ่งที่ตื่นเช้ามาแล้วเราต้องเจอทุกวัน จึงมีไอเดียอยากทำพอดแคสต์ร่วมกับพี่หนอมภายใต้คอนเซ็ปต์ออฟฟิศ ผนวกกับสิ่งที่เคยถูกสอนมาว่าฝันให้ไกลไปให้ถึง แต่เราคิดมุมกลับกันแล้วมองว่า เราอยากเป็นออฟฟิศที่ฝันโคตรไกล แต่ไปยังไม่ถึง เพื่อที่เราจะต้องพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น”

คุณถนอมกล่าวเสริมว่า “การเป็นคนธรรมดาไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นสิ่งที่บอกเราว่าเราสามารถพัฒนาตัวเองไปได้อีก แม้ว่าจะไม่ได้ขึ้นไปในเลเวลสูง ๆ แต่ขอแค่เราเป็นคนธรรมดาที่สามารถอยู่รอดและเติบโตไปพร้อมกับมัน จะฝันไกลแค่ไหนก็ได้ ไปไม่ถึงไม่เป็นไร แค่มีความสุขในชีวิตระหว่างทางก็พอ” 

5 เรื่องหัวเราะทั้งน้ำตาของชาวออฟฟิศ

เรื่องที่ 1: การลาออก

การลาออกเป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งในชีวิต โดยมาจากปัญหาในการทำงานทั้งเรื่องเวลา สุขภาพ การเงิน และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลกระทบไปถึงการใช้ชีวิตส่วนตัว โดยก่อนการตัดสินใจลาออก คนส่วนใหญ่มักจะหาวิธีการแก้ไขปัญหา ให้สามารถทำงานไปได้ด้วยดี แต่ด้วยปัญหาที่มีอยู่ค่อนข้างยิบย่อยทำให้หลายคนทนไม่ไหวและตัดสินใจลาออกในที่สุด 

“การลาออกไม่ใช่การยอมแพ้ แค่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งชัยชนะ” เป็นหนึ่งโควตคำพูดที่สะท้อนให้เห็นถึงความสบายใจของคนที่ตัดสินใจลาออก เมื่อการทำงานมาถึงจุดที่หาทางออกของปัญหาไม่ได้ สุดท้ายแล้วการลาออกก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด บางคนจึงเลือกลาออกเมื่อรู้สึกไม่ไหว และคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าต้องทนกับความเลวร้ายในออฟฟิศ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเทรนด์การทำงานปัจจุบันที่ชื่อว่า Quiet Quitting ที่คนรุ่นใหม่มักลาออกมาพักใจ โดยไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมาย ขอแค่ได้ใช้ชีวิตอย่างราบรื่นก็พอ

เรื่องที่ 2: เพื่อนร่วมงาน

สภาพแวดล้อมการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ และหนึ่งในสภาพแวดล้อมการทำงานก็คือ ‘คน’ หากการทำงานแวดล้อมไปด้วยคนที่เป็นมิตรจะส่งผลให้รู้สึกอยากทำงานมากขึ้น งานหนักแค่ไหนก็สู้ไหวเพราะทุกคนสามารถช่วยกันได้  แต่หากการทำงานแวดล้อมไปด้วยคนที่เป็นพิษ เช่น การแบ่งพรรคแบ่งพวก ความไม่เท่าเทียม ถูกเลือกปฏิบัติจากเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเบื่องานได้โดยง่าย บางทีงานที่เคยชอบกลับรู้สึกไม่ชอบและไม่อยากทำ ชี้ให้เห็นว่าเบื้องหลังของการเบื่องานนั้นมาจากการเบื่อคน หรือเพื่อนร่วมงานที่เป็นพิษนั่นเอง

เรื่องที่ 3: หัวหน้า

จากเทรนด์ The Great Resignation ประเด็นใหญ่สุดที่ทำให้คนอยากลาออกไม่ใช่เรื่องงานหรือเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นเรื่องหัวหน้าที่มีวิสัยทัศน์ไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ และด้วยอำนาจที่มีมากเกินไปทำให้หัวหน้ากลายคนที่สามารถชี้เป็นชี้ตายได้ และลูกน้องต้องปฏิบัติตามคำสั่งอยู่เสมอ ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่ทำอะไรไม่ได้นอกจาก ‘ทำตามและทำใจ’ เมื่อไรที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมแบบนี้ในทุกวัน หัวหน้าจึงกลายเป็นระเบิดเวลาการตัดสินใจลาออกของใครหลายคน แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดอาจไม่ได้อยู่ที่หัวหน้าทั้งหมด บางทีเพียงแค่เราเจอหัวหน้าที่เข้ากันไม่ได้ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกอยากลาออกได้ด้วยเช่นกัน

“เราไม่ได้เป็นหัวหน้าเขาตลอดไป เขาก็ไม่ได้เป็นลูกน้องเราตลอดไป” อีกหนึ่งโควตจากเพจออฟฟิศ 0.4 ที่สื่อสารให้เห็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ทุกคนควรให้เกียรติกันไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม เพราะคนที่เป็นลูกน้องในวันนี้ อาจจะเป็นหัวหน้าในอนาคตได้เช่นกัน

เรื่องที่ 4 : เงินเดือน

“เงินเดือนไม่ขึ้น โบนัสไม่มี หลอกล่อด้วยคำว่าท้าทาย” เป็นโควตที่สะท้อนให้เห็นว่า หนึ่งในสกิลสำคัญที่พนักงานควรมี คือการอ่านงบประมาณบริษัท เพื่อดูว่าธุรกิจบริษัทที่ทำงานอยู่นั้นมีการเติบโตขึ้นหรือกำลังถอยหลัง การเงินอยู่ในแดนบวกหรือแดนลบ โดยสามารถเปรียบได้จากธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน ไม่งั้นอาจจะพบสถานการณ์ที่ใช้ความท้าทายมาปลอบใจแทนการขึ้นเงินเดือนก็เป็นได้

เรื่องที่ 5 : เรื่องสุขภาพ (จิต)

คุณถนอมกล่าวว่า “เป็นเรื่องปกติที่เราป่วยแล้วต้องไปหาหมอ ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองป่วยและไม่กล้าที่จะไปพบจิตแพทย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ดีในการเช็กสุขภาพใจตัวเอง อีกทั้งการที่รู้ตัวเองว่าไม่ไหวตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่งผลกระทบน้อยกว่าการที่อดทนไปเรื่อย ๆ จนระเบิดออกมา เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกแย่ ไม่ได้แปลว่าเราแพ้  ไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ มันเป็นแค่ความรู้สึกที่ต้องหาทางแก้ไขก็เท่านั้น”

ปัจจุบันเราจะเห็นว่าธุรกิจด้านสุขภาพจิตมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญชี้ให้เห็นถึงปัญหาของคนทำงานที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งทางองค์กรก็ควรมีการปรับตัว ในเรื่องของนโยบายและสวัสดิการที่ตอบโจทย์พนักงานมากขึ้น ด้านคุณโอมศิริมีการยกตัวอย่างสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับองค์กร เช่น สวัสดิการพบจิตแพทย์ปีละ 3-4 ครั้ง, สวัสดิการสำหรับ LGBTQ+, สวัสดิการดูดวง 199 บาท เดือนละ 2 ครั้ง เป็นต้น

ตอนท้ายของการเสวนา คุณถนอมและคุณโอมศิริ ได้สรุปเนื้อหาเป็นเฟรมเวิร์ก ‘Resigment Framework by Office 0.4’ จากทั้ง 5 เรื่อง ยกให้เรื่องการลาออกเป็นประเด็นของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า การเงิน และสุขภาพ (จิต)

“จากเฟรมเวิร์กนี้ แต่ละคนอาจจะมีสี่ช่องที่ไม่เท่ากัน บางคนให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นหลัก ช่องของสุขภาพก็จะใหญ่กว่าช่องอื่น ๆ เมื่อไรก็ตามที่หนึ่งปัญหากินพื้นที่มากกว่าครึ่งของปัญหาทั้งหมด ต้องวางแผนและตัดสินใจลาออกดีกว่า โดยต้องดูว่าเรื่องไหนมีอิทธิพลกับชีวิตมากเป็นพิเศษ ซึ่งในแต่ละช่วงวัยก็อาจให้น้ำหนักแต่ละเรื่องที่ไม่เท่ากัน ฉะนั้นควรชั่งน้ำหนักอย่างเหมาะสมเพื่อที่จะตัดสินใจได้ว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้ และเมื่อไรที่ต้องการลาออกก็ควรที่จะมีแผนรองรับด้วย” คุณถนอมสรุป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า