fbpx

ชวนดู 5 งานน่าสนใจที่ไม่ใช่หนังจาก ‘เต๋อ’ ก่อนไปเจอนิทรรศการใหม่ ‘Heavy’

อีกแค่สองวัน แฟน ๆ ที่ชอบผลงานของ ‘เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ ก็จะได้เดินไปในโลกศิลปะไอเดียแหวกจากเขาอีกครั้ง หลังจากงานล่าสุดที่จัดไปช่วงปี 2563 เขาก็ไม่ได้มีโอกาสจัดงานศิลปะเจ๋ง ๆ แบบนี้เลย จนกระทั่งช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา นวพลก็ได้ประกาศจัดนิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกในชีวิต ในชื่อเรียบง่ายอย่าง ‘Heavy’ ที่คัดภาพถ่ายในคลังส่วนตัว ที่ผสมปนเปทั้งชีวิตของเขา และชีวิตในอาชีพผู้กำกับ ที่ต้องเจอกับสถานการณ์มากมายหลายหลาก จนอดบันทึกภาพเหล่านั้นไม่ไหว ภาพถ่ายกว่า 50,000 ภาพจึงถูกคัดกรองจนเหลือเพียงหัวกะทิร่วม 120 ภาพ เพื่อจัดแสดงในงานครั้งนี้

นอกจากคำว่า ‘Heavy’ จะสะท้อนถึงอารมณ์มากมายที่รวมกันในเนื้อหาแต่ละภาพ คำนี้ยังถูกนำเสนอผ่านวิธีการชมงานที่ไม่เหมือนใคร คือการนำภาพเหล่านั้นมาอัดกรอบแบบใหญ่เบิ้ม วางซ้อนกลางงานให้ผู้ชมใช้แรงยกขึ้นยกลงเพื่อเปิดดูภาพแต่ละภาพกันเองอีกด้วย

นี่คือลีลายั่วล้อแสนกวนของชายผู้นี้ที่เราชื่นชอบผลงานของเขาอยู่เสมอ และคอลัมน์ ‘Gimme 5’ ก็อยากแนะนำให้คุณรู้จักกับงานอื่น ๆ ในวิธีเล่าอื่น ๆ ของเขา ที่นอกเหนือจากการเล่ามันในฐานะผู้กำกับการแสดง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีวิธีคิด และรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็น คอลัมนิสต์

คอลัมน์ เมดอินไทยแลนด์ ใน a day magazine

ภาพจาก Se-ed

ในฐานะแฟนเดนตายของนิตยสารเด็กแนวในยุคหนึ่งอย่าง a day หลายครั้งเราก็จะเห็นว่าคอลัมน์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในมันดูเต็มไปด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์เต็มไปหมดเลย ยิ่งรู้ว่ามีคอลัมน์หนึ่งที่นวพลร่วมเขียนด้วย ก็ทำให้เราสนใจว่าคอลัมน์ของเขามันเล่าถึงเรื่องอะไร

ชื่อของคอลัมน์นี้คือ ‘เมดอินไทยแลนด์’ ที่ไม่ใช่เพลงของคาราบาวแต่อย่างใด แต่เป็นคอลัมน์ที่เล่าเรื่อง weird ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตไทยในยุคนั้น ที่หมายถึงประมาณช่วง 10 ปีที่แล้ว ยุคเดียวกันกับที่เพลง ‘คันหู’ เพิ่งดังใหม่ ๆ ยุคเดียวกันกับที่น้ำหมักป้าเช็งกำลังเป็นกระแส และแกขยับขยายกิจการไปทำช่องดาวเทียมเฉยเลย หรือยุคเดียวกันกับที่โลก YouTube ยังเต็มไปด้วยคลิปบ้า ๆ บอ ๆ ไม่มีพิธีรีตองเหมือนในยุคที่รายการออนไลน์แน่นเว็บเหมือนเช่นทุกวันนี้

ตัวอย่างเช่นคลิปที่ชื่อ “ต่อยแรง” ความยาว 2 วินาที เนื้อหาคลิปคือผู้ชายคนหนึ่งต่อยหน้าอีกคน พร้อม sound effect เสียงต่อยสุดดาษดื่น ต่อยปั๊บ จบเลย หรือโฆษณาต้นทุนต่ำของ ‘ครีมทาฝ้าลีน่าจัง’ ที่ได้ ‘เต๋า ทีวีพูล’ มาร่วมแสดง เนื้อหาเต็มไปด้วยความประดักประเดิดและกิริยาอาการของตัวแสดงที่ดูแล้วขำคิก ๆ ในลำคอ นวพลหยิบเอาความ weird เหล่านี้มาเล่าเดือนละครั้งลงในนิตยสารนี้ และมันก็กลายเป็นจดหมายเหตุอินเทอร์เน็ตไทยในยุคหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็น สปีกเกอร์

หัวข้อ ความจริงจริงๆ บนเวที TEDxBangkok 2016

เวลา 15 นาที บนเวทีแสนกว้างที่ตั้งต้นให้คุณยืนในวงกลมสีแดง และให้พูดอะไรให้ได้สาระครบถ้วนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่บนเวทีนี้นวพลก็เอาคนดูได้อยู่หมัด ด้วยวิธีการนำเสนอและดึงผู้ชมหลากหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนแล้วแต่ขมวดเป็นประเด็นการนำเสนอความจริงบนโลกใบนี้ ที่ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอจากใคร ทั้งผู้กำกับที่นำเสนอการแสดงผ่านการตัดต่อมาอย่างถี่ถ้วน ทั้งมนุษย์โซเชียลที่ถ่ายวิดีโอเหตุการณ์จริงเหมือนที่เราเคยดูในเพจ Youlike ซึ่งก็ไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ก่อนหน้าจะกดอัด และบันทึกเหตุการณ์หลังจากกดอัดเรียบร้อย ทั้งบทสนทนาระหว่างใครกับใครก็ตามที่กล่าวถึงบุคคลที่สาม ซึ่งก็อาจจะเล่าเรื่องราวของเขาหรือเธอไม่ครบถ้วนทั้งหมด

นวพลใช้เวทีนี้เพื่อพูดว่าในชีวิตเรา ทุกเรื่องราวที่เราได้รับหรือส่งออกไปล้วนแต่ผ่านการตัดต่อหรือดัดแปลงเรื่องราวผ่านผู้เล่ากันทั้งนั้น และชวนให้ผู้ฟังรับสารเหล่านั้นให้ช้าลง ชะลอความน่าเชื่อถือตั้งแต่วินาทีแรก แล้วตรวจสอบอะไร ๆ ให้ชัดเจนเสียก่อน อย่างน้อยการตั้งคำถามก็จะทำให้เราได้หาความถูกต้องกว่าให้กับความจริงเหล่านั้น

เราเชื่อว่าเราเล่าไม่สนุกหรอก แต่อยากให้คุณลองกดดูเนื้อหาสั้น ๆ 16 นาทีด้านบน จะเห็นว่าลีลาการนำเสนอ และตัวอย่างที่แพรวพราวนั้นชี้ชวนคนดูให้สนใจในสิ่งที่เขาเล่าได้เป็นอย่างดีจริง ๆ

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็น ดีเจ

รายการ แซดเต๋อเดย์ ทาง Cat Radio

ภาพจาก Facebook – Nawapol Thamrongrattanarit

น้อยครั้งนักที่เราจะเห็นนวพลพูดคนเดียว ซึ่งนอกจากเวที TEDxBangkok 2016 ที่เขาพูดคนเดียวเป็นเวลา 15 นาทีแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน นวพลรับงานพูดคนเดียวเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ในฐานะดีเจของรายการพิเศษจาก ‘Cat Radio’ ชื่อ ‘แซดเต๋อเดย์’ ซึ่งนวพลรับหน้าที่จัดรายการที่เขาทั้งกำกับและเขียนบทด้วยตัวเอง เปิดไมค์พูดเอง เลือกเพลงมาเปิดเอง

รายการนี้ออนแอร์วันเสาร์ เวลา 6 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม ตลอดเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งเหตุผลที่นวพลได้รับตำแหน่งนี้มาจากการที่ดีเจประจำอย่าง ‘จูนจูน-พัชชา พูนพิริยะ’ ที่รับผิดชอบรายการ ‘เด็กจูน’ เดินทางไปต่างประเทศในเดือนกรกฎาคมทั้งเดือน แปลว่ารายการนี้มีเพียง 4 ตอนเท่านั้น แน่นอนว่านวพลไม่เคยรับหน้าที่จัดรายการมาก่อน เวทีนี้จึงเป็นพื้นที่ให้เขาได้ทดลองและเรียนรู้กระบวนการทำงานรูปแบบนี้

เนื้อหาทั้ง 4 ตอน จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวจากความสนใจของนวพล ที่ทำให้เราได้รู้จักกับเขามากขึ้นจากแง่มุมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องหนัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตเขาวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้ธีมในแต่ละตอนมีความเกี่ยวพันทางอ้อมกับหนังที่เขาทำ เช่น ตอนที่รวมเพลย์ลิสต์เพลงโปรดของตัวละครในหนังเรื่องต่าง ๆ ของเขา หรือตอนที่เขาให้นักแสดงที่เคยทำงานร่วมกับเขาเลือกเพลงโปรดมาให้เขาเปิดคนละ 1 เพลง 26 คน 26 เพลง รวมถึงไล่เรียงเหตุผลที่เขาและเธอเลือกเพลงเหล่านี้มา

ทั้งหมดทำให้รายการวิทยุระยะสั้นของเขาน่าสนใจและฟังเพลิน จากความเนิร์ด และรูปแบบการฟังเพลงที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ซึ่งแสดงตัวตนและความสนใจของเขาได้มากเลยทีเดียว ว่าแล้วก็ตามกดดูทั้ง 4 ตอนได้ด้านล่างนี้เลย

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็น แคสติ้ง

โปรเจ็กต์ Nawapol Props Casting จาก ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ


ภาพจาก nawapolpropscasting.com ผ่าน web archive

เป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจริง ๆ นวพล ระหว่างที่เขากำลังทำงานที่ถนัดอย่างการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ ที่ว่าด้วยการจัดบ้านและการจัดการสิ่งของมากมาย จึงนำมาซึ่งการสรรหาสิ่งของประกอบฉากที่น่าสนใจมากพอเพื่อนำมาเข้าฉาก

เพราะนวพลคือนวพล นวพลจึงไม่อยากหา prop เหล่านั้นด้วยตัวเอง แต่ให้คนแปลกหน้ามามีส่วนร่วมด้วย ผ่านโปรเจ็กต์ ‘Nawapol Props Casting’ ที่เปิดให้ผู้คนส่งสิ่งของที่มีคุณค่าต่อตัวเองมาแคสติ้งเพื่อใช้เป็นพร็อพบนโต๊ะพระเอก วางในห้องนางเอก หรือโลดแล่นอยู่บนซีนที่น่าจดจำอื่น ๆ ภายในเรื่อง ด้วยกติกาง่าย ๆ ที่ให้คนถ่ายรูปสิ่งของเหล่านั้นบนพื้นสีเรียบ ๆ และเขียนประวัติหรือที่มาของสิ่งของชิ้นนั้นพอสังเขป หลังจากนั้นนวพลค่อยคัดเลือกไปเข้าซีนแล้วส่งคืนให้ หรือหากผู้ส่งไม่เอาแล้วก็ให้ทีมงานไปเลยได้ด้วยเหมือนกัน

หลังจากประกาศแคสติ้งไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ไปเพียง 6 วัน ผลคือมีคนถ่ายรูปสิ่งของสุดรักแล้วอัพโหลดลงในเว็บไซต์ nawapolpropscasting.com (ปัจจุบันปิดเว็บไซต์ไปแล้ว) ไปกว่า 1,100 ชิ้น ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสุดท้ายแล้วก็มีพร็อพที่แคสติ้งผ่านแค่ 16 ชิ้น แต่สิ่งของทุกชิ้นที่ผู้คนถ่ายรูปและส่งเรื่องราวมารวมกันก็สร้างมวลอารมณ์อันหลากหลาย และเต็มไปด้วยความรู้สึกมากมายที่พรั่งพรูออกมาในรูปแบบตัวอักษร ดู ๆ ไปแล้วนี่ไม่เหมือนการแคสติ้งสักเท่าไหร่ แต่เหมือนนิทรรศการของรักที่เต็มไปด้วยคุณค่าของผู้คนที่เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตาเลยเสียมากกว่า

ส่วนด้านล่างนี้คือสิ่งของที่เข้าแคสติ้งบางส่วนที่เรานำมาให้ดูกัน

ภาพจาก Facebook – Nawapol Thamrongrattanarit

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็น ศิลปิน

นิทรรศการหาเสียง Second Hand Dialogue ที่ Bangkok Citycity Gallery

ภาพจาก Facebook – Nawapol Thamrongrattanarit

นี่คือนิทรรศการชิ้นเกือบล่าสุดของเขา เป็นนิทรรศการที่เขาเนรมิต Bangkok Citycity Gallery ให้กลายเป็นพื้นที่รับบริจาคบทสนทนามือสอง เพื่อให้คนอื่น ๆ ที่เฝ้าฟังนิทรรศการอยู่รับรู้เนื้อหาที่เขาและเธอคุยกันทั้งหมด

เพื่ออะไรกันนะ ?

นวพลได้ไอเดียจากการเฝ้าฟังห้องน้ำห้องข้าง ๆ คุยโทรศัพท์เสียงดัง ที่บางครั้งไม่ได้ตั้งใจฟัง แต่ต่อมความอยากรู้ก็ปะติดปะต่อสตอรี่จากบทสนทนาลอย ๆ ที่ได้ยินมารวมกันเป็นเรื่องราว งานนี้ของนวพลจึงชวนคนทั่วไปมาโทรศัพท์คุยกันในงาน เพื่อเอาบทสนทนาที่ได้รับความยินยอมทั้งสองฝ่ายมาถอดเทป แล้วพิมพ์ให้อ่านกันสด ๆ ในพื้นที่นิทรรศการ โดยที่คนในงานจะไม่รู้ว่าใครกำลังคุยกับใครแค่นั้นเอง

เป็นนิทรรศการที่เล่นกับต่อมเผือกของคนไทยได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกันก็นำเสนอเรื่องราวจากชีวิตผู้คนผ่านบทสนทนาลอย ๆ บนจอโปรเจ็กเตอร์ตรงหน้าที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกจริงได้อย่างน่าสนใจ

ทั้งหมดนั่นคือรูปแบบการเล่าเรื่องชิ้นเก่า ๆ ของนวพลที่เราหยิบมาเล่าให้อ่านกัน ก่อนจะไปฟังนวพลเล่าเรื่องครั้งใหม่ล่าสุดที่งาน ‘Heavy’ นิทรรศการภาพถ่ายแห่งความหนักทางอารมณ์และทางกายภาพ จัดแสดงที่ Bangkok Citycity Gallery ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 11 พฤศจิกายน 2566 

ขอบคุณข้อมูลจาก : Nawapol Thamrongrattanarit 1 / #แซดเต๋อเดย์ / nawapolnawapol 1

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า