fbpx

5 รายการ Live น่าสนใจยุค ‘COVID-19’ ที่หล่นหายตามกาลเวลา

เป็นเวลาเกือบ 4 ปี แล้วที่ประเทศไทยเรารู้จักกับ ‘COVID-19’ เชื้อโรคเจ้าปัญหาที่สร้างความปั่นป่วนทั่วทั้งโลก และสร้างวิวัฒนาการด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับสาธารณสุข ร่วมถึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนใหม่ทั้งระบบ เพราะคงไม่มีเหตุการณ์ไหนในโลก ที่กีดกันความสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ในโลกความจริงพร้อม ๆ กัน เพื่อรักษาเนื้อตัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากไวรัสนานหลายเดือน

ช่วงระหว่างนั้นเองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในโลกไร้พรมแดนจึงขยายตัวเท่าทวีคูณ พื้นที่ออนไลน์กลายเป็นเพียงหนึ่งช่องทางที่ยังพอเป็นพื้นที่สนทนาพาที ระบายทุกความอัดอั้นที่ถูกไขก็อกไว้ หรือหาอะไรทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ทำ เหมือนที่เราเห็นว่าโลกออนไลน์ในช่วงนั้นมีใครก็ไม่รู้มากมายใช้โลกออนไลน์เป็น ‘พื้นที่ปลดปล่อย’ ผ่านหลายสิ่งอย่าง และผู้คนก็ล้วนตอบรับกระแสนี้อย่างแพร่หลาย

สิ่งหนึ่งที่อยู่ ๆ ก็มีคนทำไว้เต็มหน้าฟีดบนโลกออนไลน์เลยคือ ‘ไลฟ์สตรีม’ ที่ต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่วิวัฒน์พอจะทำให้เราสามารถเห็นทุกคนบนโลกได้ ในระยะเวลาที่แทบจะใกล้เคียงกัน (ถ้าไม่หน่วง) นั่นจึงกลายเป็นช่องทางแห่งความหวังของนักสร้างสรรค์ที่ถูกกักขังความคิดและขาดพื้นที่ปลดปล่อยในเชิงกายภาพ

ที่น่าเสียดายไปกว่านั้น คือเมื่อวันเวลาผ่านเลย ก็เป็นส่วนน้อยนักที่ผู้คนจะวนกลับไปเจอเนื้อหาอันทรงคุณค่าเหล่านั้นที่ขลุกอยู่ก้นคลังวิดีโอในแพลตฟอร์ม วันนี้เราเลยอยากนำเสนอรายการเหล่านั้นให้ได้รู้จักกัน อย่างน้อยเนื้อหาเหล่านั้นอาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้ เพราะไม่ใช่โอกาสบ่อยครั้งนักที่คนเจ๋ง ๆ เหล่านี้จะมาออกรายการสด และพรั่งพรูหลากหลายองค์ความรู้และแง่คิดที่น่าสนใจให้เราได้ฟังกัน

Live Trade และ Quarantine Talk โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็น ‘เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ ออกมาเป็นคนนำเรื่องด้วยตัวเองในฐานะ ‘พิธีกร’ ปกติเรามักเห็นเต๋ออยู่ในบทบาทอื่นที่น่าสนใจทั้งนั้น ไม่ว่าจะบทบาทการเป็นผู้นำ (เรื่อง) ผ่านการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ฟอร์มเล็กฟอร์มใหญ่ ตั้งแต่หนังอินดี้เฉพาะทางอย่าง ‘36’ จนถึงหนังสุดจะแมสอย่าง ‘Fast and Feel Love’ หรือการเห็นเขาในบทบาทนักเขียน ทั้งเขียนหนังสือหรือคอลัมน์ หรือเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์นิทรรศการ เขาก็ทำมาแล้ว

แม้แต่บทบาทผู้ตามในฐานะแขกรับเชิญรายการต่าง ๆ เต๋อก็มีท่าทีเฉพาะที่ทำให้รสชาติการรับชมรายการนั้น ๆ ไม่เหมือนเดิม อาจด้วยความสนใจ เอกลักษณ์ หรืออัตลักษณ์เฉพาะตัวของเขาที่ประกอบรวมกันจนกลายเป็นนักสร้างสรรค์ที่น่าจับตามองคนหนึ่ง เวลาเขาขยับเนื้อขยับตัวไปทำสิ่งสร้างสรรค์อะไรก็ตาม

ช่วงเดือนมีนาคม 2020 เต๋อซื้อโปรแกรม Zoom มาใช้คุยงานระหว่างทีม เขาพบว่ามันสามารถไลฟ์สตรีมมิงได้ เต๋อจึงทดลองไลฟ์ลง Facebook ในชื่อ ‘Quarantine Talk’ เนื้อหาว่าด้วยการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของกันและกัน ทั้งตัวเขาและแขกรับเชิญในแต่ละตอน ก่อนที่จะมีอีกรายการที่ดูจะจริงจังขึ้นในชื่อ ‘Live Trade’ รายการสดว่าด้วยความรู้จากการไปอ่าน ไปดู ไปฟัง ไปศึกษาของแขกรับเชิญแต่ละคน แล้วก็เอามาเล่าให้ฟังง่าย ๆ ในไลฟ์

ปัจจุบันทั้งสองรายการนี้ไม่ได้ทำต่อแล้ว แต่เนื้อหาทั้งหลายที่มีอยู่ล้วนน่าสนใจ และเราแนะนำอยากให้คุณกลับไปลองฟังคนเจ๋ง ๆ เหล่านี้ที่มาร่วมพูดคุยกัน

ตอนที่เราแนะนำของ ‘Quarantine Talk’ คือตอนที่ชื่อว่า “เรื่องชิบหายและฝันร้ายในวันออกกอง” ไลฟ์ความยาวสองชั่วโมงกว่าที่แปะลิงก์ zoom ให้ชาวกองที่ผ่านมาเห็นและมีประสบการณ์วายป่วงอยากแชร์ก็กด join กลายเป็นแขกได้เลย ทำให้มู้ดรายการเหมือนเป็น The Ghost Radio เวอร์ชั่นคนกองถ่าย ชมรายการได้ที่นี่

ส่วน ‘Live Trade’ เราขอแนะนำตอนที่ชื่อว่า “SCIENCE OF COMEDY with พฤกษ์ เอมะรุจิ” ศาสตร์การทำหนังตลกตั้งแต่เขียนบท กำกับ และตัดต่อ เพราะโลกการทำหนังของนวพลในช่วงนั้นไม่มีกลิ่นอายความตลกโปกฮาแทรกอยู่เลย เขาจึงเชิญผู้กำกับสายตลกมาแลกเปลี่ยนแง่มุมกันและกันของวิทยาศาสตร์ในหนังตลก ชมรายการได้ที่นี่

ดูรายการนี้ย้อนหลังครบทุกตอนได้ >>ที่นี่<<

Self-Quarantour โดย Ground Control

pain point ใหญ่ของช่วงที่ประเทศยังประกาศเคอร์ฟิว ร้านรวงเล็กใหญ่ไปยังห้างระดับท็อปปิดทำการกันหมด นั่นคือการที่เราเหมือนถูกบังคับไม่ให้ออกไปไหนโดยง่าย เพราะออกไปก็ไม่มีอะไรให้ทำอยู่ดี ยิ่งเรื่องเที่ยวนี่ตัดออกไปได้เลย ฉะนั้นการที่เราจะได้ออกไปเจอโลกกว้างในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นไปได้ยาก

ทาง ‘Ground Control’ บริษัทจัดการงานสร้างสรรค์ ที่เป็นทั้งสื่อออนไลน์ และ Collaborative Agency จึงจัดทัวร์เสมือนผ่าน zoom ในชื่อรายการ ‘Self-Quarantour’ เพื่อพาผู้คนไปสำรวจเมืองศิลปะทั่วโลก ผ่านไกด์นำเที่ยวที่เป็นแขกรับเชิญในแต่ละตอน หากเราไล่เนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบ ก็เหมือนกับเราได้ไปเที่ยว และรู้จักประเทศหรือท้องที่นั้น ๆ ผ่านไกด์ทัวร์เลยทุกกระเบียดนิ้ว เหลือก็เพียงแค่ไม่ได้ไปสัมผัสเอง และไม่ต้องเสียเวลา หรือเสียเงินในการเดินทางไปไหนแต่อย่างใด

ตอนที่เราแนะนำเลยคือเมืองอัครา ประเทศอินเดีย (Self-Quarantour EP.6 : Agra) ที่มีไกด์รับเชิญเป็น ‘วิว Point of View’ ที่เจนจัดทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ และการเล่าเรื่องเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอเธอรับบทไกด์ทัวร์จำเป็น วิวจึงเป็นไกด์ที่ทำหน้าที่ได้ดี และเล่าเรื่องศิลปะอินเดียได้น่าฟังตั้งแต่ต้นจนจบเลยทีเดียว ชมรายการได้ที่นี่

ดูรายการนี้ย้อนหลังทั้งได้ ซีซั่น 1 / ซีซั่น 2

Meet the Master โดย a day

หากพูดถึงสังคมคนทำสื่อสิ่งพิมพ์ช่วงนั้น ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างทวีคูณ จากสถานการณ์ของวงการสื่อที่ทำให้สิ่งพิมพ์ค่อย ๆ หายไปจากแผงแล้ว COVID-19 ยังทำให้คนออกไปซื้อหนังสือได้ยากขึ้นไปอีก เพราะเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเลือกซื้อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ก็คือการออกไปเห็นหน้าตามัน ทดลองจับ ทดลองอ่าน สร้างสายสัมพันธ์คุ้นเคยกับกลุ่มกระดาษเหล่านี้ ก่อนจะพามันกลับไปสนทนาต่อที่บ้าน

ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ก็เป็นช่วงเดือนที่นิตยสาร a day ยังคงตีพิมพ์ฉบับรายเดือนอยู่ ธีมของเล่มนั้นคือ ‘Meet the Master’ ซึ่งเป็นธีมพิเศษเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 20 ปี หรือเล่มที่ 240 พอดิบพอดี เนื้อหาในเล่มคือบทสัมภาษณ์ 10 จอมยุทธ์ในทุกวงการในไทย พร้อมเรื่องราวจาก ‘Master’ หรือจอมยุทธ์รุ่นก่อนหน้าในศาสตร์เดียวกันที่พวกเขานับถือเป็นอาจารย์ จึงเกิดเป็นเนื้อหาที่ผสมผสานความแตกต่างของยุคสมัยจากคนวัยหนึ่ง และคนอีกวัยหนึ่งที่แตกต่างทางประสบการณ์ แต่ถ่ายทอดถึงกันด้วยแก่นแนวคิดที่เบ่งบานในตัว

แต่ก่อนที่ main course ของเล่มที่ 240 จะกลายเป็นธีมนี้ a day ได้สร้างรายการสดในชื่อเดียวกันมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดยเป็นรายการที่นำคน ‘รุ่นใหม่’ และ ‘รุ่นใหญ่’ จากแวดวงสร้างสรรค์ต่างๆ มาสนทนากัน ทั้งเรื่องวิธีคิด ประสบการณ์ วิธีการทำงาน เล่าย้อนไปถึงความเชื่อในการสร้างสรรค์งานและใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน แต่เชื่อมถึงกันด้วยองค์ความรู้หรือความสนใจที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นจุดแข็งของบทสนทนาที่เกิดขึ้น เพราะในทุกตอนของรายการ คนนำเรื่องก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยเป็นคนรุ่นใหม่ในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งนำมาถึงคำถาม คำตอบ บทสนทนา ข้อสงสัย หรือรูปแบบคำถามที่อาจจะแตกต่างหากคนทั่วไปเป็นคนสัมภาษณ์ เพราะเป็นการเอาคน Geek สองรุ่นมานั่งคุยกันนั่นเอง

ตอนที่แนะนำคือคู่ของ ‘ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์’ และ ‘แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข’ ที่มาพูดคุยทั้งประวัติ วิธีคิด และมุมมองนักสร้างสรรค์ในวงการดนตรี จากการเป็นนักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลงเหมือน ๆ กัน ที่เวลาสองคนนี้มาเจอกัน mood ของการสนทนาจากแสตมป์ทำให้บรรยากาศ และลดความน่าเกรงขามของพี่ปูลงไปหลายเปลาะ เกิดเป็นบรรยากาศสบาย ๆ ของทั้งคู่ ชมรายการได้ที่นี่

ดูรายการนี้ย้อนหลังได้ >>ที่นี่<<

ป๋าเต็ด Live โดย ป๋าเต็ด

ช่วง 2-3 ปีมานี้ถ้าพูดถึงรายการสนทนาบนออนไลน์ที่มีคนรอดูรอฟังไม่ขาดสาย และเต็มไปด้วยท่าทีน่าสนใจทุกตอน ก็หนีไม่พ้นรายการ Deep talk ที่ชื่อ ‘ป๋าเต็ดทอล์ก’ รายการทรงคุณค่าแห่งยุคที่คืนชีพนักสัมภาษณ์ซึ่งแขวนนวมมานานอย่าง ‘ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม’ อดีตดีเจคลื่น Hot Wave ที่เคยทำช่วง ‘เปิดอัลบั้ม’ สัมภาษณ์ศิลปินที่กำลังจะวางแผงเทปเพลงในวันถัดไป เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปของแต่ละเพลงอย่างละเอียด ก่อนที่จังหวะชีวิตจะค่อย ๆ ผันเปลี่ยนหน้าที่การงานของป๋าเต็ดไปยังทิศทางอื่น จนเขาหลงลืมไปว่าเขาเคยชอบและหลงใหลการทำสิ่งนี้

ประจวบเหมาะกับสถานการณ์โลกของสื่อที่ทำให้อะไร ๆ มันง่ายดายขึ้น วันหนึ่ง ‘สุทธิชัย หยุ่น’ เดินทางไปสัมภาษณ์เขาพร้อมทีมงานน้อยคน เครื่องมือน้อยชิ้น และท่าทีที่ไม่ได้เคร่งขรึมจริงจังเหมือนในทีวีนัก ป๋าเต็ดจึงมองเห็นลู่ทางการทำสื่อสัมภาษณ์ผู้คนอีกครั้งใน พ.ศ. นี้

และนับตั้งแต่ตอนแรกของรายการออนไลน์ ‘ป๋าเต็ดทอล์ก’ เรื่อยมา เราเห็นถึงพัฒนาการ และการตามหาเส้นทางที่ใช่ของการสร้างเนื้อหาให้น่าสนใจอยู่เสมอ

จนมาช่วง COVID-19 ป๋าเต็ดทอล์กก็ทำซีรีส์พิเศษขึ้นผ่านการทำรายการสดในชื่อ ‘ป๋าเต็ด Live’ ที่ปรับวิธีการจากมุมลึก ให้กลายเป็นมุมตื้น ที่ดูสบายและเบาขึ้น โดยเริ่มรายการวันแรก 1 เมษายน 2563 และสิ้นสุดช่วงสิ้นเดือนเดียวกัน เนื้อหาแต่ละตอนมีทั้งอัปเดตข่าวสารวงการเพลง และอัปเดตชีวิตผู้คนที่ปกติไม่น่าจะต้องอยู่บ้านนาน ๆ แบบนี้ ว่าตอนนี้เขากำลังดูหนังเรื่องอะไร อ่านหนังสืออะไร ฟังเพลงอะไร หรือกำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ และสนใจอะไรอยู่ในขณะกักตัว ซึ่งก็เป็นการบันทึกเหตุการณ์ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของผู้คนที่น่าสนใจไว้ได้ดีเหมือนกัน

หนึ่งตอนที่น่าสนใจและเราอยากแนะนำเลยก็คือตอนของ ‘บังโต-ฟิรเดาส์ ศรัทธายิ่ง’ แขกรับเชิญที่มีส่วนสำคัญทำให้ป๋าเต็ดทอล์กเป็นป๋าเต็ดทอล์กเหมือนเช่นทุกวันนี้ และก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ใครจะเชิญเขาไปถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเฉย ๆ ว่ากำลังทำอะไร หรือสนใจอะไรอยู่บ้างช่วง COVID-19 และในตอนยังสอดแทรกสิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษอย่างเนื้อหาด้านศาสนาอิสลาม ผ่านแง่มุมคำถามของป๋าเต็ดอีกด้วย

ดูรายการนี้ย้อนหลังได้ที่นี่ Facebook / Youtube

สังคมไทยผ่านการศึกษาของนักมานุษยวิทยา โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

เกริ่นก่อนว่า ‘ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร’ คือศูนย์ข้อมูลความรู้ทางด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรมและความรู้ท้องถิ่นของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ค่อนข้างมีความเป็นทางการ หากมองจากมุมคนนอกเข้าไปก็อาจจะดูเข้าถึงยากในบางแง่มุม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อมีสังคมออนไลน์ ศูนย์ข้อมูลแห่งนี้จึงได้พัฒนาและสร้างสรรค์ชุดความรู้ผ่านประเด็นหลากหลายที่เคลือบความง่ายให้ดูน่าเข้าถึงมากยิ่งขึ้น

หากลองสไลด์ดูในวิดีโอทั้งหน้าเพจ หรือช่องทางอื่น ๆ ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เราจะเห็นไลฟ์สดความยาวหลายชั่วโมงเรียงรายอยู่ติดกัน ซึ่งเป็นช่องทางของชุดข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจ และควรค่าแก่การย้อนกลับไปดูอย่างยิ่ง

แต่วันนี้เราอยากแนะนำไลฟ์ซีรีส์พิเศษที่น่าสนใจซีรีส์หนึ่ง ที่จัดขึ้นในปี 2564 เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยจัดขึ้น 15 ตอน เนื้อหาทั้งหมดยืนอยู่บนหลากหลายประเด็น แต่มีแก่นหลักนั่นคือการสำรวจและคลี่คลายสังคมไทยผ่านมุมมองจากการศึกษาของนักมานุษยวิทยาหลากหลายแขนงที่มาร่วมแลกเปลี่ยน พูดคุยกันในแต่ละตอน ซึ่งทำให้ประเด็นวนเวียนอยู่กับชีวิตผู้คนในสังคมปัจจุบันมากขึ้น เข้าถึงง่ายมากขึ้น และทำให้สาระความรู้ที่ได้ดูใกล้ตัวกับผู้คนได้จริง ๆ

ตอนที่เราแนะนำเลยก็คือ ‘วัฒนธรรมป๊อป วัยรุ่น และชีวิตคน (ใน) เมือง’ ที่ดูจะเป็นตอนที่ใกล้ตัวเราทุกคนที่สุด เนื้อหาว่าด้วยการคลี่คลาย ถอดความวัฒนธรรมป๊อป และวิถีชีวิตของคน Gen ใหม่ ๆ ในสังคมที่พลวัตไปข้างหน้าทุกวัน รวมถึงประวัติศาสตร์ pop culture ในประเทศไทยที่น่าสนใจบางช่วงบางตอน ซึ่งเป็นตอนที่หยิบกรณีศึกษาจากความบันเทิงรอบตัวเรามามองผ่านเลนส์แว่นของนักวิชาการ

ดูรายการนี้ย้อนหลังได้ที่นี่ Facebook / Youtube

จริง ๆ ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจอีกมากมายที่หล่นหายไปตามกาลเวลา เมื่อหล่นจากหน้าฟีดในโลกออนไลน์ที่เราไถทิ้งนอกขอบจอ มันก็ถูกเก็บลึกที่ลิ้นชักชั้นในสุด เพื่อรอการสำรวจ ค้นหา และหยิบมันออกมาปัดฝุ่นนิดหน่อยก่อนจะรับชมมัน ในโลกออนไลน์ที่มีสิ่งใหม่ เนื้อหาที่น่าสนใจป้อนลงในลิ้นชักทุกวัน

เราอยากให้คุณลองสำรวจเพลย์ลิสต์เก่า ๆ เนื้อหาที่เคยแชร์เมื่อสองปีที่แล้ว หรือคลิปวิดีโอที่กดดูภายหลังแต่ก็ยังไม่ได้ดูต่อ เพื่อค้นพบสิ่งใหม่ในช่วงเวลาที่มันหล่นหายจากชีวิตเราไป ดีไม่ดีมันอาจจะกลายเป็นเนื้อหาสำคัญที่คุณกำลังตามหามันอยู่ก็ได้นะ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า