fbpx

10 หนังสือ GEN Z ที่ 10 สำนักพิมพ์แนะนำ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51

เหลืออีกเพียง 2 วันสุดท้ายแล้วสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 ที่ในครั้งนี้ผู้คนก็หลั่งไหลเข้ามาหาความรู้เข้าสมอง หากองดองไปเพิ่มกองเดิมที่บ้าน หลายคนก็ลากรถเข็นหรือกระเป๋าเดินทางมาขนความรู้กลับไปเพิ่มอ่านไม่ทัน

เราขอเป็นอีกหนึ่งคนที่ช่วยเพิ่มกองดองของคุณก็แล้วกัน เพราะเราจะแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ 10 เล่ม ภายในงานหนังสือ ที่คุณอาจจะตกหล่นไประหว่างเดินชมบูธเป็นร้อยๆ บูธที่ละลานตาก็อยู่ภายในงาน ซึ่งจะให้เราแนะนำเองก็คงกระไรอยู่ เราเลยลองถาม Staff ผู้ป้ายยาหนังสือให้กับผู้อ่านที่เข้ามาเลือกซื้อหนังสือในแต่ละบูธว่า “ถ้าให้แนะนำหนังสือ 1 เล่ม ที่เหมาะกับ Gen Z มากที่สุด จะแนะนำหนังสือเล่มไหน” มาดูกันว่าแต่ละบูธแนะนำหนังสือเล่มไหนกันบ้าง

DOT (H15)

I’m a Centrovert เป็นตัวเองในแบบที่ไม่ต้องพยายามเพื่อใคร

เขียนโดย อันโตอี / แปลโดย ชลธิชา วงษาชัย

“ตอนนี้สังคมปัจจุบัน ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองมากขึ้น คนที่อาจจะเป็น Introvert ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Extrovert เพื่อให้ตัวเองเข้ากับสังคมได้ ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่จำเป็นต้องเป็นทั้ง Introvert และ Extrovert เพราะสามารถอยู่ตรงกลางได้ หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องผลักตัวเองให้กลายเป็นอีกคนหนึ่ง แต่เราสามารถตัวเองในแบบที่มีความสุขได้”

KOOB (I22)

Ultraman เส้นชัยไร้เหตุผล

เขียนโดย นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์)

“หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยประสบการณ์อัลตร้าเทรล 100 กิโลเมตร ของพี่นิ้วกลมเอง ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ท้าทาย ผู้อ่านน่าจะได้ Passion ดี ๆ ที่นำมาใช้ในชีวิตจริง ๆ ได้”

10 มิลลิเมตร (G16)

My Playlist KANIS x 4EVE

เขียนโดย Kanis

“หนังสือ My Playlist เป็นหนังสือที่นำเพลงของศิลปินมา collab ซึ่งเล่มนี้เป็นการนำเพลงของ 4EVE 4 เพลงมาสร้างเป็นเรื่องราวที่ตีความใหม่เป็นการ์ตูน ซึ่งถ้าได้ฟังเพลงประกอบไปด้วยก็จะช่วยเพิ่มความอินในการอ่าน”

สมมติ (J32)

ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่น ๆ (Rashomon and Other Stories)

เขียนโดย ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ / แปลโดย มณฑา พิมพ์ทอง และคณะ

“หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ดีสำหรับคนที่อยากลองเริ่มต้นอ่านวรรณกรรมแปลคลาสสิก และเล่มนี้ก็เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น เรามองว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย ไม่ว่าจะดูอนิเมะหรือการ์ตูน รวมถึงเล่มนี้เป็นเรื่องสั้นที่เอาเรื่องเล่าปรัมปรามาเขียนใหม่ บนเส้นเรื่องแบบใหม่ที่มีความตะวันตกมากขึ้น ถ้าคนรุ่นใหม่ได้อ่านเล่มนี้ก็จะทำให้เข้าใจกับบริบทสังคมญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น”

SALMON BOOKS (I31)

FILMMAKER, FAILMAKER บันทึกกำ (กับ)

เขียนโดย ธนชาติ ศิริภัทราชัย

“เล่มนี้พี่เบนซ์เขียนเกี่ยวกับการทำงานเป็นผู้กำกับใน Salmon House ที่ไม่เคยง่ายเลย ซึ่งมันเป็นอาชีพที่ Gen Z หลายคนมองว่าเป็นอาชีพที่ฮิตและเท่ คนที่มาทำอาชีพนี้จะดูเจ๋งมาก แต่เบื้องหลังอาชีพนี้มันยังไม่ค่อยมีใครออกมาเล่า ซึ่งพี่เบนซ์เป็นผู้กำกับที่ออกมาเล่าถึงการทำงานอยู่เรื่อย ๆ ว่าในอาชีพนี้เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง มีอุปสรรคและความวายป่วงมากมาย กว่าจะมาเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จ”

ชี้ดาบ (L41)

0 ปี อเมริกา

เขียนโดย ชี้ดาบ X ชลิ (ชลิดา ด่านสวนใหญ่)

“ปกติหนังสือของชี้ดาบจะเป็นเรื่องราวของชีวิตจริง หนังสือเล่มนี้เป็นฟิกชั่นเล่มแรกของชี้ดาบเลย เนื้อหาว่าด้วยเรื่องของการมองตัวเองในเวอร์ชั่นที่ต่างออกไปในโลกคู่ขนาน ว่าตัวเองใน Multiverse อื่นอาจจะดีกว่านี้หรือเปล่า เหมือนกับที่คนส่วนใหญ่ชอบจมกับอดีตที่ว่าทำไมเราไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ ถ้าเราทำชีวิตอาจจะดีไปแล้วก็ได้ เล่มนี้เหมาะกับผู้ที่กำลังสับสน หรือกำลังลังเลในชีวิตอยู่มาก ๆ”

ขายหัวเราะ (I30)

เซตการ์ตูนเล่มละบาป (แลกชีวิต / ฤทธิ์โจรบู๊ / ชู้ไร้อันดับ / ลับลวงใจ / เมาให้ลืม)

เขียนโดย นิค ขายหัวเราะ (นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์)

“การ์ตูน 5 เล่มนี้จะทำให้คน Gen Z ได้รู้ว่าศีล 5 เข้าถึงได้และเข้าใจง่ายกว่าที่คิด หนึ่งเล่มก็จะเล่าด้วยศีลหนึ่งข้อ เนื้อหาข้างในก็จะเป็นแก๊กการ์ตูนสั้น ๆ แบบขายหัวเราะที่อ่านง่าย และหลังอ่านจบเราก็จะได้ฉุกคิดถึงตัวเราและศีลทั้ง 5 ข้ออีกที”

มติชน (M49)

A History of Thailand ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย

เขียนโดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

“หลายปีมานี้คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองขึ้นมาก เวลาคนมาที่บูธเขาก็ชอบถามว่าถ้าอยากเริ่มอ่านการเมืองควรเริ่มจากเล่มไหนดี เราเลยอยากแนะนำเล่มนี้ เพราะมันเป็นหนังสือที่พาเราไปรู้จักประวัติศาสตร์การเมืองที่ไม่ได้ลงลึกมาก เหมือนเป็นหนังสือปูพื้นฐานความรู้คร่าว ๆ ให้เข้าใจบริบททางการเมืองแบบรวบยอดได้ ซึ่งถ้าเราสนใจมุมไหนก็ตามที่มันลึกขึ้นในประเด็นการเมืองไทย ก็จช่วยให้เราอ่านหนังสือที่เนื้อหาลึกกว่าเป็นขั้นบันไดได้ รวมถึงเล่มนี้มันอัปเดตเนื้อหาให้ใหม่ขึ้นด้วย ช่วงเริ่มต้นรัฐประหารบางคนก็ยังเด็กอยู่ หนังสือที่เล่าเรื่องนี้ก็ยังไม่ค่อยมีเยอะเท่าไหร่ เราเลยคิดว่าเล่มนี้ตอบโจทย์ได้ดี”

BIBLIO (I15)

อย่าบอกให้สู้อีกได้ไหม เพราะฉันอาจไม่มีวันหายดี

เขียนโดย จางหมิ่นจู้ / แปลโดย สุภาพิศ โชติธรรมวัฒนา

“หนังสือเล่มนี้เหมาะกับ Gen Z โดยตรงเลย เพราะผู้เขียนก็เป็นคน Gen Z ที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้คนเดี๋ยวนี้พบว่าเป็นโรคนี้กันเยอะมาก เจอแม้แต่ในเด็กอายุ 13 ปีด้วยซ้ำ เราเลยอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้ Gen Z ได้อ่านกัน มันเล่าเรื่องของคนที่พบเจอกับโรคนี้ และเข้าเรียนสาขาจิตวิทยา เพราะอยากเรียนรู้โรคนี้ให้มากขึ้น เวลาเราอ่านในบางบท เราก็จะรู้สึกเกี่ยวโยงกันกับเรื่องราวที่อาจจะเคยพบเจอใกล้เคียงกัน ทั้งเรื่องเพื่อนหรือครอบครัว ที่ Gen Z บางคนอาจจะมีช่วงชีวิตบางตอนที่ตรงกันกับเรื่องราวภายในเล่ม”

AVOCADO BOOKS (E24)

Drag Queen และซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆ

เขียนโดย ณพรรธน์ ตรีผลาวิเศษกุล

“หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับความเท่าเทียม ประชาธิปไตย และฮีโร่ในบริบทต่างๆซึ่งเหมาะกับ Gen Z มาก เพราะ Gen นี้กำลังอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลง เหมือนเนื้อหาในเล่มนี้ที่เล่าเรื่องของฮีโร่ที่แตกต่างออกไป เราเห็นฮีโร่มาตั้งแต่เด็ก แต่เรายังไม่เคยมีฮีโร่ที่เป็น Drag Queen เล่มนี้เป็นเล่มแรกที่มี และมันเข้ายุคเข้าสมัยของความเท่าเทียมกันทางเพศที่มีมากขึ้น นอกจากเรื่องราวภายในเล่ม คนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศนี้ต่อไปน่าจะรู้สึกได้เลยว่าหนังสือเล่มนี้ให้ทั้งแรงบันดาลใจ และเป็นหนังสือที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่จริงๆ”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า