fbpx

รวม 10 บริษัทที่ดีต่อใจ LGBTQ+ 

แม้ภาพรวมของประเทศไทย จะดูเหมือนเปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่ปิดกั้นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) กลายเป็นกำแพงทำให้บางคนไม่ได้รับการยอมรับหรือบางทีก็เป็นการยอมรับอย่างมีเงื่อนไข

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมการทำงานเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่มีข้อจำกัดทางเพศ ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ หลายคนไม่กล้าแสดงออกและปิดบังตัวตนที่แท้จริง เพราะกังวลว่าจะถูกตัดสินจากเพื่อนร่วมงานและอาจส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าในอาชีพ 

อย่างไรก็ตาม บางองค์กรก็ไม่ได้มีจุดยืนที่ชัดเจนในการสนับสนุนพนักงานกลุ่ม LGBTQ+ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเพศสภาพในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศ การเลือกปฏิบัติ การคุกคามทางเพศ รวมถึงการที่ไม่มีสวัสดิการรองรับคนกลุ่มนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เพิกเฉยต่อความไม่เท่าเทียมในสิทธิเสรีภาพของพนักงานโดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับพนักงานคนอื่น

อย่างไรก็ตามชาว LGBTQ+ ก็มีบทบาทสำคัญไม่ต่างจากเพศชายหญิง ซึ่งทุกบริษัทควรสนับสนุนและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้กล้าแสดงออก เข้าใจในความหลากหลาย ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ตั้งแต่วันแรกของการเป็นพนักงาน ตลอดจนการดูแลด้วยสวัสดิการที่เหมาะสม

ในปัจจุบันมีบริษัททั้งไทยและต่างประเทศ ได้แสดงออกถึงจุดยืน ขับเคลื่อนความหลากหลายและการรวมเป็นหนึ่งเดียว (Diversity & Inclusion) เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนเท่าเทียมกันและมีสวัสดิการที่รองรับชาว LGBTQ+ มากขึ้น ทั้งนี้ The Modernisit ได้รวบรวม 10 บริษัทที่มีสวัสดิการที่น่าสนใจให้ทุกคนได้ชมไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้

  1. Google

ประเดิมด้วย Google บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในปี 2023 ซึ่งมีหัวใจหลักในการทำงานคือ “Be Human” การทำงานที่มีความเป็นมนุษย์มากที่สุด สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะกับคนหลากหลายกลุ่ม พร้อมทั้งให้ความสำคัญเรื่อง DEI ที่ย่อมาจาก Diversity (ความหลากหลาย), Equality (ความเท่าเทียม) และ Inclusion (การเปิดรับคนทุกคน) เพื่อสนับสนุนทุกความแตกต่างทางเพศของพนักงานผ่านสวัสดิการต่าง ๆ เช่น

  • สวัสดิการสำหรับผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศ มีการให้คำแนะนำทุกกระบวนการในการศัลยกรรมแปลงเพศ ก่อน-หลัง โดยงบประมาณจะแตกต่างกันไปตามเคสและประเทศที่ทำงาน
  • ประกันสุขภาพของพนักงานครอบคลุมคู่รัก ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา คนรัก พาร์ตเนอร์ โดยไม่มีการจำกัดเพศในการใช้สิทธิประกันสุขภาพ
  • สามารถแจ้งสรรพนามในการเรียกตนเองได้ เพื่อให้พนักงานทุกคนเคารพในคำสรรพนามของชาว LGBTQ+ และผู้ที่ไม่ประสงค์ระบุเพศ ทางบริษัทจึงให้ทุกคนแจ้งสรรพนามของตัวเองได้ผ่านโปรไฟล์พนักงาน
  1. Apple

กว่า 35 ปีที่ผ่านมาบริษัท Apple ได้มีการก่อตั้งชุมชนที่เรียกว่า Diversity Network Association (DNA) เพื่อให้พนักงานเคารพในทุกความแตกต่างซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นยังมีสวัสดิการที่สนับสนุนและผลักดันพนักงานทุกเพศให้เติบโตได้ในแบบของตัวเอง เช่น

  • วันลาคลอดสำหรับพ่อแม่มือใหม่ ที่สามารถลาหยุดแบบได้รับเงินค่าจ้าง หรือหากใครที่ต้องการเวลาในการดูแลคนในครอบครัวก็สามารถใช้สิทธิได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีบริการให้คำแนะนำฟรีในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ
  • ทุกเพศได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียม พนักงานที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกันจะได้รับค่าตอบแทนคล้ายคลึงกันและทางบริษัทไม่มีการถามถึงประวัติเงินเดือนย้อนหลัง
  • พนักงานทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ถือหุ้น Apple และบริษัทจะมอบส่วนลดในการซื้อผลิตภัณฑ์ Apple เมื่อพนักงานคนนั้นได้ทำการซื้อหุ้น
  1. NETFLIX

สำหรับผู้ให้บริการด้านความบันเทิงระดับโลกอย่างบริษัท NETFLIX การพัฒนาคนในองค์กรเป็นอันดับแรกที่บริษัทให้ความสำคัญ ด้วยความแตกต่างของพนักงานที่มาจากทั่วทุกมุมโลกทำให้ NETFLIX มุ่งมั่นสร้างสวัสดิการที่เท่าเทียมกันให้พนักงานทุกคนเข้าถึงได้ เช่น

  • ทุ่มเงินเดือนให้คนเก่งโดยไม่จำกัดเพศ (Personal Top of Market) วัดผลความสามารถส่วนบุคคลแล้วมอบค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนที่เหมาะสมกับศักยภาพการทำงานของพนักงานคนนั้น โดยไม่จำเป็นต้องรอโบนัสประจำปี 
  • โปรแกรมดูแลสุขภาพจิตสำหรับทุกคน พนักงานทุกคนสามารถปรึกษาปัญหาชีวิตได้แบบฟรี ๆ อีกทั้งครอบครัวของพนักงานก็สามารถใช้สิทธินี้ได้เช่นกัน
  • สวัสดิการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ทางบริษัทมีการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างครอบครัวของพนักงานทุกคนทั่วโลก ทั้งการตั้งครรภ์และการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม โดยไม่จำกัดเรื่องสถานภาพการสมรส เพศ หรือรสนิยมทางเพศ 
  1. Microsoft

ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากที่ไหน สิ่งที่ Microsoft ให้ความสำคัญคือ ความสามารถของคนคนนั้น พร้อมที่จะสนับสนุนให้ทุกคนก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยมีสวัสดิการที่ตอบโจทย์ทุกคนในองค์กร เช่น

  • สวัสดิการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม มีการจัดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ต้องการรับเลี้ยงบุญบุตรธรรม และมีคลาสสอนเรื่องการดูแลคนในครอบครัว
  • วันลาสำหรับพ่อแม่มือใหม่ ที่สามารถลาหยุดแบบได้รับเงินค่าจ้าง
  • สร้างคอมมูนิตี้ GLEAM (Global LGBTQ+ Employees and Allies at Microsoft) เพื่อสนับสนุนความหลากหลายและออกนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพให้ครอบคลุมการดูแลกลุ่ม LGBTQ+ ทั้งในองค์กรและนอกองค์กร
  1. TikTok

พันธกิจหลักของบริษัท TikTok คือการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และมอบความสุขให้กับผู้คน ทาง TikTok ได้ตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้และสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกองค์กร ให้ทุกคนแสดงความเป็นตัวตนได้อย่างเต็มที่ ผ่านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น

  • การแจ้งสรรพนามในการแทนตัวเอง เพื่อสร้างความสบายใจในการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งเคารพในความหลากหลายของชาว LGBTQ+ และผู้ที่ไม่ประสงค์ระบุเพศ 
  • จัด Pride Parade ทั่วโลก ทุกปี ร่วมสนับสนุนและเป็นสปอนเซอร์ในการจัดกิจกรรมเดินพาเหรดให้กับ LGBTQ+ ทั่วโลกในเดือนมิถุนายนของทุกปี 
  • มีที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับ LGBTQ+ จัดสรรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สามารถให้คำแนะนำชาว LGBTQ+ เมื่อเจอปัญหาที่ไม่สบายใจ
  1. SC ASSET 

หนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทย ที่มีความมุ่งมั่นในการดูแลและสนับสนุนพนักงาน ให้กล้าคิด กล้าทำได้อย่างอิสระ ภายใต้วัฒนธรรมองค์กร SC SKYDIVE ส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างจริงใจ เคารพในสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างกัน โดยมีการมอบสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่สนับสนุนทุกความแตกต่าง

  • สวัสดิการสมรสเท่าเทียม 10,000 บาท ให้พนักงานทุกคนได้เฉลิมฉลองกับความรักที่สวยงามแบบไม่จำกัดเพศ
  • สวัสดิการคนโสด 10,000 บาท เงินสนับสนุนให้พนักงานที่รักในความโสดของตัวเอง เมื่ออายุครบ 45 ปี สามารถยื่นขอสวัสดิการคนโสดจาก SC ASSET ได้
  • วันลาคลอดสำหรับพ่อมือใหม่ 30 วัน ให้พนักงานที่เป็นพ่อมือใหม่ ได้สิทธิลาทำงานที่บ้าน 30 วัน 
  1. LINE 

อีกหนึ่งสถานที่ทำงานในฝันของเด็กรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความสร้างสรรค์ พร้อมเปิดรับและยอมรับทุกความหลากหลาย ทั้งในแง่ของศาสนา วัฒนธรรม ประสบการณ์ ความเชื่อ รวมทั้งเพศสภาพ โดยมีความเชื่อว่า ทุกความแตกต่างไม่เป็นอุปสรรคต่ออาชีพการงาน และมีการยกระดับสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้สามารถครอบคลุมพนักงานทุกกลุ่ม 

  • ประกันสุขภาพครอบคลุมคู่สมรส หากพนักงานมีคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันและมีการจดทะเบียนสมรสก็สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพได้
  • เงินขวัญถุงแต่งงาน 20,000 บาท สำหรับพนักงานที่แต่งงานเพศเดียวกัน ก็สามารถได้รับเงินขวัญถุงเทียบเท่าคู่แต่งงานชาย-หญิง 
  • วันลาเพื่อไปฮันนีมูน 7 วัน พนักงานสามารถใช้สิทธิวันลาเพื่อไปฮันนีมูนได้ โดยจะใช้ครบทั้ง 7 วันในครั้งเดียว หรือแบ่งใช้เป็นรอบ ๆ ก็ได้เช่นกัน และไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่ต้องใช้สิทธิ
  1. LINE MAN WONG NAI

หนึ่งในบริษัทที่ให้ความสำคัญความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีค่านิยมองค์กร “Respect Everyone” ในการเคารพทุกคนด้วยความเท่าเทียม ซึ่งทางบริษัท LINE MAN WONG NAI ได้ผลักดันนโยบายสนับสนุนความหลากหลายทางเพศผ่านสวัสดิการที่ตอบโจทย์ ดังนี้

  • เงินขวัญถุงแต่งงาน 20,000 บาท เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือการแต่งงานของพนักงานเพศเดียวกันเทียบเท่าสวัสดิการของคู่แต่งงานชายหญิง เพียงนำรูปถ่ายจากงานแต่งงานมายื่นเป็นหลักฐาน
  • วันลาเพื่ออุปการะบุตร 10 วัน
  • วันลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ 30 วัน 
  1. SRICHAND 

แบรนด์เครื่องสำอางที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 70 ปี ด้วยความเชื่อที่ว่า พนักงานเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปข้างหน้าแบบไม่หยุดยั้ง เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ได้ปรับเพิ่มสวัสดิการเพื่อรองรับทุกความหลากหลาย ดังนี้

  • วันลาคลอด 180 วัน (รวมวันหยุด) โดยทางบริษัทมีการจ่ายค่าจ้างตามปกติ
  • วันลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ 30 วัน 
  • วันลาพักใจเมื่อสูญเสียคนในครอบครัว ได้ 10 วัน 
  1. SCG

ปิดท้ายด้วย บริษัท SCG ที่ได้ร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาภายนอก ทำความเข้าใจในเชิงลึกถึงประสบการณ์และความต้องการของพนักงานที่มีความหลากหลาย เช่น ผู้หญิง, คนพิการ, LGBTQ+ เป็นต้น เพื่อยกระดับความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างในองค์กร โดยเริ่มจากการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงและขยายในทุกความแตกต่างของพนักงาน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น

  • ระบบ GRC Helpline ให้คำปรึกษาในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับ LGBTQ+ รวมถึงจัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพทั้งพนักงานและบุคคลภายนอก ด้วยกระบวนการรายงานอุบัติการณ์ที่มีความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่แจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • “BE YOU Club” เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้กับทุกความแตกต่าง แลกเปลี่ยนเรื่องราวสะท้อนความเป็นตัวเอง โดยจัดกิจกรรม Live Talk เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจในการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย สนับสนุนให้พนักงานทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข
  • วันลาเพื่อดูแลครอบครัว (Paid Family or Care Leave) พนักงานสามารถขออนุมัติการลาเพื่อไปดูแลคนในครอบครัวได้ ซึ่งสามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งการลากิจ และการลาหยุดพักผ่อนประจำปี

อย่างไรก็ตาม The Modernist มองว่า สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่หลายองค์กรออกมาสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ควรเป็นมากกว่าแค่การดึงดูดให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้มาสมัครงาน แต่ควรที่จะสะท้อนกลับไปที่ค่านิยมขององค์กร และต้องสามารถช่วยขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในองค์กรได้จริงในระยะยาว เพราะนี่อาจจะเป็นความสุขขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม

ที่มา : scg / apple / microsoft / tiktok / netflix / mangozero

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า