fbpx

“Work from Anywhere” ยืดหยุ่นได้จริงหรือแค่กระแส?

ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของโรคโควิด-19 ทำให้ตลาดแรงงานทั่วโลกหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนนั่นคือรูปแบบการทำงาน ด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งรวมไปถึงสังคมการทำงานด้วย เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายคนรู้จักกับการทำงานอย่าง Work from Home หรือ การทำงานจากที่บ้าน

วันนี้แม้ว่าเราจะผ่านช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศจะไม่ใช่ทางเลือกเดียวอีกต่อไป เพราะหลายคนได้รับรู้ว่าแล้วว่างานบางอย่าง ‘อยู่ที่ไหนก็ทำได้เหมือนกัน’ เทรนด์การทำงานแบบ Work from Anywhere จึงได้เข้ามาการพลิกโฉมการทำงานให้เปลี่ยนไปจากเดิม

อย่างไรก็ตามแม้ว่า Work from Anywhere จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกการทำงาน และสร้างความยืดหยุ่นให้พนักงานสามารถจัดสรรเวลาชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้น ทว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมากลับมีหลายบริษัทที่ให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Meta และ Goldman Sachs ที่ได้ออกคำสั่งให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างเข้มงวด อีกทั้งยังมีบทลงโทษทางวินัยถึงขั้นไล่ออก หากพนักงานไม่ปฏิบัติตาม โดยทั้งสองบริษัทมองว่าการทำงานที่ออฟฟิศจะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำงานที่บ้าน

แม้แต่เจ้าของแอปพลิเคชันยอดนิยมในการทำงานออนไลน์อย่าง Zoom ก็มีการประกาศให้พนักงานที่อยู่ในระยะ 80 กิโลเมตร กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ โดย อีริค หยวน ซีอีโอของ Zoom มองว่าการทำงานทางไกลทำให้พนักงานยากที่จะทำความรู้จักกันและสร้างความเชื่อใจกัน เมื่อขาดความเชื่อใจจึงทำให้งานเดินช้าลง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ได้นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยที่น่าสนใจว่า เทรนด์การทำงานอย่าง Work from Anywhere ยืดหยุ่นได้จริงหรือแค่กระแสกันแน่ แล้วบริษัทต้องปรับตัวไปในทิศทางไหนถึงจะสร้างความยืดหยุ่นในที่ทำงานได้

Work from Anywhere ยืดหยุ่นได้ถ้าเข้าใจคนทำงาน

“ที่นี่เข้าออฟฟิศกี่วัน” กลายเป็นประโยคคำถามสุดฮิตของเหล่าแคนดิเดตขณะที่สัมภาษณ์งาน นั่นอาจหมายความได้ว่า ความยืดหยุ่นในการทำงานอาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกบริษัทไปแล้วก็ได้ 

The Modernist ได้พูดคุยกับ ‘คุณกล้า ตั้งสุวรรณ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Wisesight ถึงประเด็นการสร้างความยืดหยุ่นในองค์กรเพื่อตอบโจทย์คนทำงาน โดยเขาเล่าว่าทางบริษัทเองมีการใช้หลักการ ‘Laissez Faire’ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ปล่อยให้ทำไปเลย’ ทำให้การกำหนดวันเข้าออฟฟิศไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในกฎบริษัท ซึ่งทางบริษัทให้อิสระกับพนักงานในทีมเป็นคนเลือกรูปแบบการทำงานได้เอง

“เราให้แต่ละทีมเลือกกันเองเลยว่าจะทำงานกี่วัน ซึ่งแต่ละทีมก็จะเข้าออฟฟิศไม่เหมือนกัน เช่น ทีมแอดมินกับทีมบัญชีเข้าออฟฟิศทุกวัน ทีมแบรนด์ดิ้งเข้าสองวันต่ออาทิตย์ ส่วนทีมวิศกรซอฟต์แวร์เขาก็จะเข้าเดือนละหนึ่งครั้งหรือสองครั้งแค่นั้นก็ได้ เพราะเราสร้างความยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับทีมเป็นหลัก”

คุณกล้าเล่าว่าการเข้ามาของโควิด-19 ทำให้บริบทของ ‘ออฟฟิศ’ เปลี่ยนไป เพราะเราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ และด้วยกระบวนการทำงานของ Wisesight เกือบทั้งหมดอยู่บนคลาวด์เป็นหลัก การทำงานผ่านออนไลน์จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเท่าไรนัก และเมื่อวิเคราะห์ข้อดีของ Work from Anywhere สามารถแบ่งออกเป็น 5 ข้อดังนี้

  1. เพิ่มสมาธิในการทำงาน

สำหรับงานบางประเภทที่ต้องใช้สมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ หรือต้องใช้เวลาอยู่กับตัวเองเยอะ ๆ สำหรับบางคนแล้วการทำงานแบบ Work from Anywhere ก็เป็นแนวทางที่ตอบโจทย์มากกว่าการอยู่รวมกับคนเยอะ ๆ ในออฟฟิศ

  1. ประหยัดค่าใช้จ่าย

แค่ลองคำนวณค่าใช้จ่ายในวันที่ไปออฟฟิศต่อวันของคนทำงานในกรุงเทพฯ ก็ตกวันละ 200-300 บาท (หรืออาจมากกว่านั้น) ซึ่งการทำงานอยู่บ้านก็ค่อนข้างที่จะช่วยลดภาระทางการเงินได้เยอะเลยทีเดียว

  1. มีเวลามากขึ้น

บางคนต้องตื่นแต่เช้า รีบต่อแถวขึ้นรถเมล์ ต้องยืนเบียดกันบนรถไฟฟ้า ยิ่งวันไหนฝนตกน้ำท่วม รถก็ยิ่งติดหนัก ยืดเวลาเดินทางออกไปนานกว่าเดิมอีก ดังนั้นการ Work from Anywhere ช่วยประหยัดเวลาจากการเดินทางและมีเวลาไปทำอย่างอื่นได้

  1. เข้าถึงข้อมูลได้สะดวก

ในปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสารได้มีการพัฒนาระบบให้ตอบโจทย์การทำงานแบบ Work from Anywhere หลายบริษัทก็มีการใช้ระบบปฏิบัติการหลังบ้านเพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้สะดวกและรวดเร็ว และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา

  1. มีอิสระในการทำงาน

เมื่อพูดถึง Work from Anywhere แน่นอนว่าเราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ทำให้เราเข้าถึงโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ ได้จากทุกที่ทั่วโลก โดยไม่มี ‘สถานที่’ เป็นข้อจำกัดในการทำงาน อยู่ทะเล คาเฟ่ ต่างจังหวัด ต่างประเทศ หรือที่ไหน ๆ ก็สามารถทำงานได้

นอกจากนี้ Wisesight ได้ทำการสำรวจคนทำงาน พบว่าคน 64% อยากทำงานที่บ้าน เพราะสภาพแวดล้อมที่บ้านทำให้เขาจัดการเวลาได้ดีขึ้น ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปทำงาน ในขณะที่ 36% คนอยากทำงานที่ออฟฟิศ เพราะมองว่าออฟฟิศมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า มีสวัสดิการให้ และสร้างคอมมูนิตี้กับเพื่อนร่วมงานได้

แม้การ Work from Anywhere จะมีข้อดีอยู่หลายด้าน แต่อีกมุมหนึ่งที่หลายองค์กรกังวลใจนั่นก็คือ ผลลัพธ์และประสิทธิภาพของคนทำงาน เราจึงได้ถามคุณกล้าต่อ ถึงแนวทางการวัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเมื่อต้องทำงานทางไกล

คุณกล้าตอบว่า “ทางบริษัทไม่ได้มีการวัดผลพนักงานเฉพาะคน แต่เน้นวัดผลในภาพรวมเป็นหลัก เราดูว่าทั้งปีบริษัทเติบโตขึ้นหรือเปล่า เรายังสามารถส่งมอบสินค้าและบริการให้ลูกค้าโอเคไหม ซึ่งภาพรวมของ Wisesight ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราโตขึ้นมา 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเราไม่แน่ใจหรอกว่าพนักงานทำงานกันด้วยวิธีไหน แต่ถ้าเรายังรวมพลังกันได้แล้วเติบโตขึ้นก็โอเค”

“ส่วนเรื่องการประเมิน ในทุก ๆ 3 เดือน เราจะมีการประเมินกันว่า คุณยังแฮปปี้กับงานที่ทำหรือเปล่า คุณรู้สึกว่าเก่งขึ้นไหม ดูว่ามีอะไรที่ผู้บริหารจะสามารถสนับสนุนให้เก่งขึ้นหรือทำงานได้มากขึ้น เราก็จะสนับสนุนเขาด้วยทิศทางที่เหมาะสม นี่คือสิ่งที่เราคุยกับพนักงานทุก ๆ คน”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทาง Wisesight จะให้อิสระและความยืดหยุ่นกับคนทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการออกแบบออฟฟิศให้ทุกคนทำงานได้อย่างยืดหยุ่นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดที่นั่งแบบ Hot Seat เพื่อให้ทุกคนได้มีความสัมพันธ์ร่วมกันได้ หรือแม้กระทั่งการมีแท็บเบียร์ เพื่อเป็นกิจกรรมให้พนักงานผ่อนคลายและได้ใช้เวลาอยู่ที่ออฟฟิศได้นานขึ้นแบบไม่ต้องบังคับ 

“แนวคิดหลักของ Wisesight คือ Listen and Understand คือการฟังและเข้าใจกัน เรามองว่าการฟังและเข้าใจกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกนี้ เวลาเราเจอปัญหาอะไรบางอย่าง มันเริ่มด้วยการฟังและเข้าใจกันให้ได้ก่อน คราวนี้เราก็เลยเริ่มฟังทีมแล้วก็เข้าใจทีมมากขึ้นว่า ทีมงานต้องการอะไรในการทำงานที่ออฟฟิศ เราก็เลยรู้ว่าถ้าเราสนับสนุนอะไรบางอย่างให้กับทีมงานแล้วเขาจะพัฒนาตัวเองได้ขึ้น เขาพัฒนาตัวเองได้เก่งขึ้น ซึ่งพอเขาพัฒนาตัวเองได้เก่งขึ้น เดี๋ยวงานมันก็ดีขึ้นเองโดยไม่ต้องบังคับ” 

“คอนเซ็ปต์ของที่นี่คือเราไม่ได้มาทำงานที่ออฟฟิศ เรามาใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิต เพราะฉะนั้นพอเราปรับความคิดใหม่ว่าออฟฟิศไม่ใช่แค่ที่ทำงาน มันก็เลยจะต้องมีการออกแบบกิจกรรมที่ดูแลเขามากกว่าแค่ทำงาน”

Work from Anywhere ใช้ไม่ได้กับทุกงาน

ในขณะที่การทำงานแบบ Work from Anywhere เป็นเหมือนสวรรค์ของใครหลาย ๆ คน ลองคิดดูว่าหากวันนี้ได้ทำงานที่บ้าน ก็สามารถประหยัดได้ทั้งค่ารถและค่าเสียเวลา แถมยังได้มีเวลาส่วนตัวอย่างเต็มที่ มีเวลาจิบกาแฟ ดูข่าว อ่านหนังสือ หรือแม้แต่การเลื่อนนาฬิกาปลุกไปอีก 10 นาที  โดยไม่ต้องเร่งรีบ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้แบบนี้

‘คุณต่าย’ กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส ได้แบ่งปันความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทางองค์กรก็มีการใช้นโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้าน ด้วยความจำเป็นในสถานการณ์ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว ได้เรียนรู้วิธีการทำงานในอีกรูปแบบ แต่ก็ยอมรับว่ายังเจอปัญหาในหลาย ๆ ด้าน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 ข้อ หลัก ๆ ดังนี้

  1. ขาดการสื่อสารที่ดี

เมื่อเราต่างคนต่างทำงานจากที่บ้านแล้วต้องสื่อสารกันผ่านออนไลน์ ความผิดพลาด ไม่ครบถ้วน จากการสื่อสารเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกัน ด้วยสไตล์ของพนักงานแต่ละคนมีทักษะ รสนิยม และพฤติกรรมที่แตกต่างกัน รวมไปถึงความไม่พร้อมของสภาพแวดล้อม อุปกรณ์กลายเป็นข้อติดขัดในบางลักษณะงาน เช่น การผลิตเนื้อหาหรือชิ้นงานนั้น การสื่อสาร ถือว่ามีความสำคัญ ทั้งในการขั้นตอนการผลิต การส่งต่องานแต่ละขั้นตอน การอัปเดตความคืบหน้า ไปจนถึงการส่งตรวจงาน การให้ Feedback จึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะทุกคนในทีมต้องเข้าใจตรงกัน และหากสื่อสารไม่เข้าใจกัน ก็ยิ่งทำให้ใช้เวลามากขึ้นด้วย

  1. ติดตามผลงานได้ล่าช้า

แม้ว่าจะทำงานผ่านออนไลน์ แต่กฎระเบียบและหลักเกณฑ์ในการทำงานก็ต้องมีการตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการติดตามงานผ่านออนไลน์ทำได้ค่อนข้างล่าช้าและใช้เวลานาน งานที่มีลักษณะรูทีน มักจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่หากเป็นงานลักษณะโปรเจกต์ใหญ่ ไม่ได้มีชิ้นงานหรืองานรูทีนมาเสนอให้เห็นความคืบหน้าได้ทุกวัน ต้องใช้การสื่อสารควบคู่กับเครื่องมือการมอนิเตอร์ ด้วยซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม พนักงานก็ต้องร่วมใจกันใช้วิธีการตามที่ตกลงกัน จึงจะทำให้การติดตามเห็นผลคืบหน้า

  1. สภาพแวดล้อมไม่ตอบโจทย์

ต้องยอมรับว่าสภาพแวดล้อมในบ้านหรือที่พักของแต่ละคน ไม่ได้เอื้ออำนวยในการทำงานเท่ากันเสมอไป เช่น อินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ เครื่องมือ สถานที่ ทำให้พื้นที่ความคิดสร้างสรรค์มีอย่างจำกัด อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพและประสิทธิภาพของคนทำงานแต่ละคนที่มีไม่เท่ากัน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือทักษะในการปรับแก้วิธีการทำงาน องค์กรต้องมีการจัดเตรียมระบบและคำนึงถึงปัญหาตรงนี้ให้กับพนักงานเพื่อให้การเข้าถึงระบบหรือการทำงานออนไลน์ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นหลักไม่เกิดการติดขัด 

  1. เส้นแบ่งชีวิตหายไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานออนไลน์ทำให้เราหลงลืมเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวไป บางคนนั่งอยู่ในหน้าจอทั้งวันหันมองหน้าต่างอีกทีฟ้าก็มืดแล้ว หรือไม่มีแม้เวลาที่จะไปกินข้าว หากไม่เผื่อหรือแบ่งเวลาในการเดินทางออกไปกินข้าว ก็ยิ่งทำให้เวลาทำงานยืดยาวออกไปนานกว่าการทำงานที่ออฟฟิศ และไม่มีเวลาว่างในการใช้ชีวิตส่วนตัว ถ้าควบคุมเวลาของตัวเองตรงนี้ไม่ดีพอ ก็ส่งผลเสียในระยะยาวได้เลย

  1. เครื่องมือไม่พร้อม

ในบางตำแหน่งงานเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน อย่างคนที่ทำงานโปรดักชัน เราคงไม่สามารถที่จะสร้างสตูดิโอออกอากาศภายในบ้าน ดังนั้นการ Work from Anywhere ในบางตำแหน่งจึงไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ 

ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่บ้าน ที่ถ่ายทอดผ่านมุมมองของคุณต่าย ทำให้เราเห็นว่า การ Work from Anywhere ก็ยังมีจุดบอดที่เรามองข้ามไปอยู่หลายจุดทีเดียว ดังนั้นเราพอจะรู้เหตุผลแล้วว่าทำไมบางองค์กรถึงให้พนักงานเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศมากขึ้น

“ผลลัพธ์ที่ดีจากการ Work from Anywhere มันต้องดีทุกด้าน ทั้งตัวองค์กรและพนักงาน อย่างบางที่ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ต้นทุนในการใช้สถานที่ขององค์กรก็ลดลง เลยทำให้เขามองเห็นผลประโยชน์ที่มันเยอะขึ้น”

“แต่การทำงานประเภทสื่อที่เป็นโทรทัศน์ คงยากแน่นอนที่เราจะออกไปทำสตูดิโอออนไลน์ข้างนอก หรือสร้าง virtual studio ไว้ที่บ้าน ซึ่งในการทำงานเราก็ยังต้องการคุณภาพหรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้ทำงานได้เหมาะสม เลยทำให้เห็นว่าบางอุตสาหกรรมหรือบางตำแหน่งไม่สามารถที่จะ Work from Anywhere ได้”

นอกจากนั้น คุณต่ายมองว่า “การทำงานที่ออฟฟิศก็สามารถสร้างความยืดหยุ่นให้กับคนทำงานได้เหมือนกัน ถ้าไม่นับเรื่องอุปสรรคการเดินทางซึ่งพนักงานแต่ละคนก็มีแตกต่างไม่เท่ากัน  หากองค์กรมีสภาพแวดล้อมที่ดี จัดสรรทรัพยากรได้เหมาะสม และมีกฎระเบียบที่ยืดหยุ่นกับคนทำงาน รวมถึงบรรยากาศในออฟฟิศและลักษณะการทำงานที่เป็นพี่เป็นน้อง สิ่งเหล่านี้มันก็คือวัฒนธรรมในองค์กรที่มีความยืดหยุ่นเหมือนกัน”

วิธีสร้างความยืดหยุ่นที่ดีในที่ทำงาน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก้าวต่อไปของโลกการทำงาน คนทำงานก็ยังคงเรียกร้องหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ความยืดหยุ่น’ อีกทั้งความยืดหยุ่นยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่จะอยู่หรือไปจากบริษัทก็ได้ ดังนั้นการสร้างความในการทำงานที่รองรับความต้องการคนทำงานในปัจจุบันและอนาคตก็อาจเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับบริษัทอยู่ไม่น้อย

ประเด็นนี้เราจึงได้หยิบยกขึ้นมาถามระหว่างสนทนากับคุณกล้าและคุณต่ายว่าเราจะสร้างความยืดหยุ่นในที่ทำงานได้อย่างไร เมื่อวิเคราะห์แล้วจึงสรุปออกมาเป็น 4 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

  1. สำรวจประเภทธุรกิจ

เริ่มตั้งต้นจากการดูประเภทของธุรกิจว่าเหมาะสมที่จะให้พนักงานทำงานทางไกลหรือไม่ และนโยบายใช้สามารถครอบคลุมการทำงานของพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมหรือเปล่า เพราะหากมีการแบ่งว่าตำแหน่งนี้ยืดหยุ่นได้ แต่อีกตำแหน่งหนึ่งยืดหยุ่นไม่ได้ อาจทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้นได้

  1. รับฟังเสียงของพนักงาน

ต้องพิจารณาว่าการสร้างความยืดหยุ่นนั้นดีต่อใคร เพราะคำว่า ‘ดี’ ของทุกคนไม่เหมือนกัน พนักงานบางกลุ่มอาจจะบอกว่าทำงานที่บ้านสะดวกกว่าเพราะมีห้องทำงานเป็นของตัวเอง แต่พนักงานบางกลุ่มที่ไม่ได้มีความสามารถในการสร้างห้องทำงานของตัวเองได้ แล้วต้องทำงานบนโต๊ะกินข้าว ทำงานบนที่นอน ก็อาจจะส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน

  1. ประเมินศักยภาพของพนักงาน

พนักงานทุกคนมีความสามารถและศักยภาพที่ต่างกัน ฉะนั้นการจะสร้างความยืดหยุ่นในที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ขึ้นอยู่กับคนทำงานด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องพิจารณาว่าพนักงานแต่ละคนสามารถทำงานทางไกลร่วมกันได้ไหม และต้องมีแนวทางบริหารงานและปฏิบัติงานอย่างไรที่จะพัฒนาศักยภาพของคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม

สิ่งสำคัญก่อนที่จะทำงานแบบยืดหยุ่น บริษัทต้องคำนึงถึงเรื่องความพร้อมของเทคโนโลยีและความพร้อมของคนใช้งาน เพื่อรองรับการทำงานทางไกล และช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารร่วมกัน การติดตามงาน รวมไปถึงการประเมินผลต่าง ๆ 

คนทำงานคาดหวังความยืดหยุ่นแบบไหน?

จากการพูดคุยกับพนักงานจำนวน 5 คน พบว่าพนักงานส่วนใหญ่ คาดหวังเรื่องของเวลาที่ยืดหยุ่นในการเข้างาน โดยเฉพาะในวันที่ต้องทำงานที่ออฟฟิศ โดยพวกเขาต้องการเลือกสรรเวลาที่เหมาะสมกับการเดินทาง เช่น เข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น หรือเข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็น ซึ่งเหตุผลหลักๆ คือ บ้านไกลและรถติด

ส่วนพนักงานอีกคนหนึ่ง มองว่าอยากทำงานแบบ Work from Anywhere ที่สามารถทำงานและเที่ยวพร้อมกันได้ แต่ด้วยบทบาทหน้าที่ที่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นในทีม ทำให้เขารู้สึกกังวลใจเมื่อต้องออกไปทำงานข้างนอก ในขณะที่พนักงานคนสุดท้าย กล่าวว่าเขาต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน จึงคาดหวังให้บริษัทมีรถรับส่งจากรถไฟฟ้าถึงออฟฟิศ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อประเด็นเรื่องการสร้างความยืดหยุ่นในที่ทำงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเลือกรูปแบบทำงานว่าจะทำงานออฟฟิศ หรือทำงานที่ไหนก็ได้แบบ Work from Anywhere อาจต้องพิจารณาถึงความเท่าเทียมด้วยว่า รูปแบบการทำงานไม่ควรสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบต่อกัน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ขอบคุณแหล่งที่มา: positioning / creativethailand

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า