fbpx

‘สิทธิสตรีกับการร่ำสุรา’ เมื่อความเมามายถูกผูกติดกับปิตาธิปไตย

      แม้จุดเริ่มต้นการดื่มของแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน แต่วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์อยู่คู่กับมนุษย์มาแสนนาน บางแห่งทำเหล้าเพื่อบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ บางพื้นที่ก็สงวนเหล้าไวน์ไว้สำหรับชนชั้นปกครอง หรือบังเอิญค้นพบการหมักเหล้าจากยุ้งฉางของชาวบ้านก็ได้เหมือนกัน และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการก่อกำเนิด คือการที่เอกสารหลายฉบับระบุตรงกันว่าการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิดขึ้นโดยสตรี

      เมื่อมองมายังปัจจุบัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับถูกผูกติดอยู่ที่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน ทำไมผู้หญิงถึงถูกผลักออกจากน้ำเมา แล้วการที่สังคมนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปผูกติดกับเพศทำให้เราได้เห็นอะไรบ้าง 

ผู้หญิงทำเบียร์

      ในอดีตผู้หญิงมักได้รับหน้าที่สร้างสรรค์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พวกเธอจะเป็นกลุ่มคนหมักเหล้าเบียร์ ที่ล้อไปกับค่านิยมความเป็นหญิงและการใช้เพศแบ่งบทบาทหน้าที่ในสังคม เพราะเครื่องดื่มก็คือส่วนหนึ่งของอาหาร เป็นสิ่งที่ใช้บริโภค และอาหารคืองานบ้าน งานบ้านก็เป็นงานของผู้หญิง พวกเธอจึงหมักเหล้า หมักไวน์ มากกว่าผู้ชาย แล้วเหล้ากับไวน์ก็เป็นเครื่องดื่มที่ถูกนำไปในประโยชน์ในด้านต่างๆ  

      ว่ากันว่าในช่วงยุคกลาง กลุ่มคนที่ต้มเบียร์แล้วนำออกขายเป็นล่ำเป็นสันก็คือผู้หญิง พวกเธอจะซื้อข้าวมาหมักทำเบียร์ เคี่ยวในหม้อต้มขนาดใหญ่ แล้วบรรจุใส่แก้วใส่ขวดขายตามตลาด แต่หลังจากนั้นไม่นาน การทำเบียร์ของสตรียุคกลางก็เริ่มถูกกวาดล้างจากความเชื่อทางศาสนา เพราะพฤติกรรม บุคลิก หรือการกระทำของพวกเธอถูกสังคมตัดสินว่าผิดจารีตประเพณี เป็นพวกนอกรีตนอกรอย เป็นพวกเล่นคุณไสย เป็นแม่มดที่ต้องกำจัดกวาดล้างให้สิ้นซาก 

      เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การทำเบียร์เริ่มโยกย้ายจากเพศหญิงสู่เพศชาย การเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกหนหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรป เมื่อผู้ชายเกือบทั้งหมดยกเว้นเพียงแค่เด็ก ผู้พิการ และคนชราถูกเกณฑ์ออกไปรบจนในเมืองเหลือเพียงแค่ผู้หญิง

      ผู้หญิงที่เคยถูกสอนว่าให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ถูกห้ามไม่ให้ได้รับการศึกษา หรือออกไปทำงานแบบผู้ชาย ก็ได้เปิดประตูบ้านออกมาทำทุกอย่างที่อยากลองทำดูสักครั้ง พวกเธอเข้าสู่ระบบแรงงาน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม บริการ รวมถึงการกลับมาทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง ก่อนสงครามจะจบลงและเข้าสู่ช่วงเร่งฟื้นฟู ผู้ชายที่เคยถูกเกณฑ์สู่สนามรบกลับภูมิลำเนาอีกครั้ง พวกเขาพบว่าผู้หญิงสามารถใช้ชีวิตและทำงานแทนตัวเองได้ และนำไปสู่ยุคการรณรงค์ให้ผู้หญิงกลับไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่อีกครั้ง 

      ค่านิยมการดื่มที่เปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคสมัยก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป และในปัจจุบันการดื่มรวมถึงการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังคงถูกนำไปเกี่ยวพันกับความเป็นชายอยู่เสมอ

วัฒนธรรมการดื่มกับการตีตราเพศหญิง 

      ในสังคมไทย ผู้หญิงและผู้ชายมีบทบาทหน้าที่ระหว่างเพศแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยแบ่งพื้นที่สำหรับงานหรือบทบาทของคนทั้งสองเพศออกเป็นโลกในบ้านกับโลกนอกบ้าน (Private ans Public Spheres) ที่ส่งผลกระทบต่อจารีต ประเพณี ค่านิยม มุมมองและความคิดของผู้คน 

      หลายคนอาจไม่อยากปักใจเชื่อว่าพฤติกรรมการดื่มเหล้าในแบบปัจจุบันที่เห็นกันบ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งถูกหล่อหลอมมาจากค่านิยมปิตาธิปไตย ไม่ว่าจะการจับคู่เครื่องดื่มเข้ากับเพศ ไปจนถึงทัศนคติที่มีต่อคนเพศต่างๆ เวลาดื่มเหล้าหรือออกไปสังสรรค์ยามค่ำคืน

      แคนแคน-นายิกา ศรีเนียน คณะทำงานพรรคก้าวไกล เคยแบ่งปันประสบการณ์การถูกตัดสินจากพฤติกรรมการกิน ดื่ม เที่ยว เพราะในช่วงที่เธอเป็นไอดอลก็มักแวะเวียนไปเที่ยวบ่อยครั้ง เพราะด้วยรสนิยมส่วนตัวเป็นคนชอบดื่ม ทว่าพอมีคนพบเธอที่ร้านเหล้าบ่อยครั้งมักเกิดการตัดสินกันไปเองด้วยวลีอย่าง “คนนี้แรง” หรือ “เห็นหน้าใสๆ แบบนี้แต่เที่ยวบ่อย ร้ายแน่นอน” มาให้ได้ยินอยู่เสมอ ทั้งที่เธอยังไม่ได้ไปยุ่งกับใคร และดื่มอยู่แค่กับวงเพื่อนฝูงของตัวเอง

      “เชื่อว่าผู้หญิงหลายคนก็จะเจอเหมือนกันกับคำว่า ‘คนนี้ไม่ธรรมดา’ แค่เราไปร้านเหล้าก็ผิดแล้ว แต่กลับกัน เวลาผู้ชายไปร้านเหล้าบ่อยๆ คนจะบอกว่าเท่มาก ไม่มีใครมองว่าเป็นผู้ชายไม่ดีขนาดนั้น เพราะสังคมมองว่าการกิน ดื่ม เที่ยว เป็นเรื่องปกติของผู้ชาย แต่ไม่ค่อยปกติกับผู้หญิงและ LGBTQIA+

      “หรือเวลาเสิร์ชในกูเกิลโดยมีคีย์เวิร์ดว่า ‘ผู้หญิงกับสุรา’ สิ่งที่ขึ้นมาบนๆ คือข้อห้ามหมดเลย มีการเตือนว่าถ้าดื่มจะเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ พาตัวเองไปสู่ความเสี่ยง แต่แคนอยากเห็นทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ทำไมเวลาเสิร์ชแบบนี้กลับเจอแต่ข้อเสียเต็มไปหมด สรุปผิดที่เราเหรอ เพราะเราดื่มจึงถูกคุกคาม จริงๆ ต้องเป็นอีกฝ่ายหนึ่งหรือเปล่าที่ต้องตระหนักว่าไม่ควรไปคุกคามคนอื่น”

      หากมองไปยังการลงพื้นที่สำรวจหรืองานที่มีความจริงจังมากขึ้น จะพบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้หญิงในหลายพื้นที่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเท่ากับผู้ชาย บางบ้านถึงขั้นสอนเด็กๆ ว่าเหล้าเบียร์เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่บางครอบครัวนอกจากจะบอกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่ยังบอกว่าเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้นอีกด้วย

      การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในผู้หญิง จึงไม่ค่อยเป็นประเด็นของสังคมหรือชุมชนท้องถิ่น ประกอบกับการรณรงค์ส่วนใหญ่ของภาคองค์กรในไทยก็มักเน้นว่าให้ผู้ชายเลิกดื่ม เพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่ดื่มมาก ดื่มหนัก ส่วนการสื่อสารกับผู้หญิงจะเป็นเรื่องของผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ผลกระทบต่อความรุนแรงในครอบครัวที่ส่วนใหญ่ผู้ชายที่มีพฤติกรรมดื่มหนัก จะเป็นฝ่ายกระทำต่อผู้หญิงและเด็ก รวมถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศ แต่จะไม่ค่อยรณรงค์ให้ผู้หญิงดื่มน้อยลงเหมือนผู้ชาย กลายเป็นรอรับผลการกระทำจากความเมาของผู้ชายมากกว่า

      เคยมีนักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่งทำวิจัยด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวของเหล่าแม่ๆ ที่เป็นแรงงานในต่างจังหวัด หลายบ้านเจอปัญหาฝ่ายชายขอให้อยู่บ้านเพื่อทำงานบ้านและเลี้ยงลูก แล้วฝ่ายชายก็จะทำงานแล้วแบ่งเงินส่วนหนึ่งให้ ซึ่งผู้หญิงจะต้องบริหารจัดการเงินให้พอกับค่าใช้จ่ายในบ้าน

      ในกรณีที่ผู้หญิงมีรายได้ส่วนตัว รายได้นั้นมักถูกนำมาใช้เพื่อครอบครัวก่อนตัวเอง ขณะที่รายได้ของผู้ชายส่วนใหญ่จะแบ่งเก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัว เช่น เพื่อเข้าสังคม สะท้อนให้เห็นว่าโลกภายนอกคือโลกของผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงจะถูกมองว่าไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนฝูงมากเท่า ไม่จำเป็นต้องคบค้าสมาคมกับใครมาก ซึ่งปัญหาเรื่องเงินและรายได้สอดคล้องกับปัญหาเรื่องเหล้า ที่ผู้หญิงในงานวิจัยนี้อธิบายถึงการถูกทำร้ายร่างกายด้วยเหมือนกัน 

วัฒนธรรมการดื่มที่ถูกสงวนไว้ให้เพศชาย

      เมื่อมองไปยังเพศชายต่อการกิน ดื่ม เที่ยว เรื่องคลาสสิกคือหลายคนมักตีความไปก่อนว่าผู้ชายจะต้องดื่มอะไรหนักๆ ดื่มเหล้าดีกรีแรง ดื่มเบียร์กลิ่นหอมแต่มีรสขม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วรสชาติที่แต่ละคนชื่นชอบถือเป็นรสนิยมที่ไม่เกี่ยวกับเพศ ผู้หญิงอาจจะชอบดื่มเบียร์ ส่วนผู้ชายอาจจะชอบดื่มค็อกเทลรสเปรี้ยวหวานก็ได้เหมือนกัน แต่ด้วยค่านิยมที่อยู่กับสังคมโลกมาอย่างยาวนาน ภาพจำเรื่องการดื่มกับเพศจึงมักออกมาในทิศทางเดียวกัน

      นอกจากรสนิยมการดื่ม ผู้ชายที่คออ่อนหรือไม่ชอบดื่มอาจจะเผชิญกับเรื่องยากกว่าคนอื่น สิ่งนี้ไม่ใช่แค่ความรู้สึกหรือเป็นการคิดไปเองของไม่กี่คนเท่านั้น เพราะในประเด็นนี้มีงานวิจัยรองรับเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มกับระบบปิตาธิปไตย ที่สุดท้ายพฤติกรรมนี้ไม่ได้กดขี่แค่ผู้หญิงหรือ LGBTQIA+ เท่านั้น แต่ก็ทำร้ายผู้ชายที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม เช่น ผู้ชายที่ไม่ดื่มก็จะถูกมองว่าไม่แมน หรือผู้ชายที่ดื่มแต่คออ่อน ก็จะถูกล้อเลียน ทำให้ผู้ชายต้องแข่งขันกันดื่มเหล้ามากๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ หรือสร้างมิตรภาพในวงเหล้า และสุดท้ายอาจส่งผลย้อนกลับมายังตัวเองคือสุขภาพร่างกาย หรือการฝืนดื่ม แข่งกันดื่มจนขาดสติแล้วคุกคามผู้อื่น ที่เรื่องราวนี้จะวนซ้ำเดิมไม่รู้จบ 

      ในแง่ของความหลากหลายทางเพศต่อผู้ที่มีเพศสภาพแต่กำเนิดเป็นเพศชาย เคยมีคนแบ่งปันประสบการณ์ในวงกินดื่ม ข้อมูลพื้นฐานของเขาคือไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และก่อนที่จะเปิดตัวว่าเป็น LGBTQIA+ เขาได้เห็นมุมมองที่สังคมคาดหวังต่อผู้ชายคนหนึ่ง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเหล้า มองว่าพื้นที่ในวงเหล้าเต็มไปด้วยความกดดัน เพราะผู้ชายไม่ดื่มเหล้าเบียร์มักถูกแซว ถูกมองว่าไม่เท่ ไม่แมน แล้วพอสุดท้ายเปิดตัวว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

      พอมองในหลายมุม เราจะเห็นว่าความเป็นเพศที่กำหนดบทบาทของชายและหญิง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนไม่น้อย ส่งผลต่อพฤติกรรมการดื่มเหล้า คุณค่าความเป็นชาย สุขภาพ ความรุนแรง เศรษฐกิจ แรงงาน การค้า ที่นักสิทธิทางเพศสามารถเชื่อมโยงกับทุกประเด็นของมนุษย์ได้หมด และหากเราไม่พูดถึงมิติเรื่องเพศ การขับเคลื่อนประเด็นสังคม ขับเคลื่อนกฎหมาย จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง

      วันนี้เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศกำลังเฟื่องฟู การสลายโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงเรื่องปิตาธิปไตยแบบไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า