fbpx

ประวัติศาสตร์สีอำพัน : ทำไมเราถึงชอบน้ำเมา?

ย้อนกลับไปในสมัยที่ยังไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่บนโลก นักโบราณคดีพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่าธรรมชาติมีวิธีการผลิตน้ำเมาขึ้นมาเอง เป็นแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการหมักหมมของผลไม้ที่เน่าเปื่อย แล้วจึงเกิดกระบวนการหมักตามธรรมชาติ การหมักทำให้เกิดน้ำตาลและแอลกอฮอล์ และสิ่งมีชีวิตพวกแรกที่ได้ลิ้มรสน้ำเมาชนิดนี้คือ แมลง โดยเฉพาะแมลงหวี่ แมลงหวี่เหล่านี้มีพฤติกรรมที่น่าสนใจคือ พวกมันจะคอยเสาะหาแอลกอฮอล์ในธรรมชาติอย่างแข็งขัน เราไม่ทราบแน่ชัดว่าแมลงหวี่เหล่านี้มีอาการ “เมา” เหมือนหรือคล้ายกับคนมากน้อยแค่ไหน แต่ที่เราทราบแน่ ๆ คือ เมื่อแมลงหวี่ตัวผู้อกหักจากตัวเมีย มันจะบริโภคแอลกอฮอล์มากกว่าในเวลาปกติ ราวกับจะดื่มให้ลืมความเจ็บปวดนั่นเอง

นอกจากเจ้าแมลงหวี่แล้ว สิ่งมีชีวิตที่อาจจะเป็นหรือมีบรรพบุรุษร่วมกันกับมนุษย์อย่างลิง ก็มีพฤติกรรมที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน เราพบว่าลิงฮาวเลอร์สีข้างทอง (Mantled Howler monkey) ในเกาะแห่งหนึ่งนอกชายฝั่งปานามา มีพฤติกรรมชอบกินระกำนอก ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 4.5% เกือบเท่าเบียร์หนึ่งกระป๋อง เมื่อเจ้าลิงฮาวเลอร์ได้ลิ้มรสระกำนอก พวกมันจะมีอาการคึกสุดเหวี่ยง ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวไม่หยุดหย่อน ก่อนจะมีอาการง่วงนอนและเดินเซไปเซมา บางครั้งตัวที่เมามากก็มีโอกาสพลัดตกต้นไม้ได้เหมือนกัน พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะสะท้อนว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนโลกที่มีความชื่นชอบน้ำเมา แต่สิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนชอบน้ำเมาก็เป็นได้ 

มนุษย์รู้จักน้ำเมาตอนไหน

ในปัจจุบันเราเชื่อว่า มนุษย์สมัยใหม่ เริ่มต้นอารยธรรมจริง ๆ จัง ๆ หลังจากที่มนุษย์เลิกหาของป่าล่าสัตว์ และเปลี่ยนมาตั้งถิ่นฐานและทำการเกษตร แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ มนุษย์อย่างเราอาจจะรู้จักน้ำเมาก่อนมีอารยธรรมจริงๆก็ได้ 

หลักฐานทางโบราณคดีบอกกับเราว่า อาคารเก่าแก่ที่ชื่อ เกอเบกลีเทเป (Göbekli Tepe) ในตุรกี สถานที่แห่งนี้ดูแปลกประหลาด เพราะไม่มีหลังคาหรือผนัง ไม่มีร่องรอยที่เชื่อได้ว่าเคยมีคนอยู่อาศัย รวมถึงไม่มีอาคารที่พักอาศัยใกล้ ๆ ด้วย เราทราบว่าสถานที่แห่งนี้มีมาก่อนที่มนุษย์จะลงหลักปักฐาน และรู้จักกับการทำการเกษตรเสียอีก มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า เกอเบกลีเทเป เป็นวิหารที่นักล่าสัตว์และนักเก็บของป่าสร้างขึ้น และต้องเป็นวิหารที่มีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นสถานที่ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินเขา โดยใช้แผ่นหินที่หนักถึง 15 ตัน ในการสร้าง จึงทำให้เชื่อได้ว่าการก่อสร้างวิหารใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการสร้าง ดังนั้น ชนเผ่าต่าง ๆ ที่หาของป่าจึงจำเป็นต้องรวมตัวกันที่นี่เพื่อประกอบแผ่นหินเข้าด้วยกัน คำถามก็คือแล้วพวกเขาทำไปทำไม?

จากการสำรวจของนักโบราณคดี พบว่าในวิหารนี้มีอ่างศิลาขนาดใหญ่อยู่หลายใบ ใบใหญ่ที่สุดบรรจุน้ำได้ 40 แกลลอน และในอ่างนี้มีร่องรอยของสารเคมีที่ชื่อ ออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งสารเคมีดังกล่าวจะก่อตัวขึ้นเมื่อนำข้าวบาร์เลย์มาผสมน้ำ หลังการผสมเข้าด้วยกันจะหมักและบ่มจนกลายเป็นเบียร์ตามธรรมชาติ ดังนั้นสถานที่อย่าง เกอเบกลีเทเป จึงน่าจะเป็นสถานที่ชุมนุมของชนเผ่าทั้งหลายและดื่มเบียร์ร่วมกัน 

หลังอารยธรรมแห่งแรกของมนุษย์ถือกำเนิดในดินแดนระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรทีส เรียกว่า “เมโสโปเตเมีย” ดินแดนรูปพระจันทร์เสี้ยวที่อุดมสมบูรณ์ ชาวสุเมเรียนคิดค้นตัวอักษรขึ้นมาเป็นอารยธรรมแรก เรียกว่าอักษร “คูนิฟอร์ม” หรืออักษรรูปลิ่ม สิ่งแรกที่มนุษย์ผู้มีอารยะเขียนถึงคือ “เบียร์” โดยระบุไว้ในสัญญากู้ยืม สมัยนั้นยังไม่มีเงินธนบัตรและเหรียญใช้กัน แต่ชาวสุเมเรียนใช้ข้าวบาร์เลย์ ทองคำ และเบียร์ ในการแลกเปลี่ยน นอกจากสัญญากู้ยืมแล้ว ชาวสุเมเรียนก็เริ่มเขียนถึงสิ่งที่สำคัญ นั่นคือ เทพีนินคาซี เทพีแห่งเบียร์ เทพีผู้หมักเบียร์ชั่วนิรันดร์ 

ชาวสุเมเรียนทุกคนล้วนดื่มเบียร์ กษัตริย์เสวยเบียร์ขณะอยู่บนบัลลังก์ นักบวชดื่มขณะอยู่ในวิหาร นักกวีกล่าวสรรเสริญถึงเบียร์ เช่น เอนเฮดูอันนา พระธิดาของกษัตริย์ซาร์กอนมหาราช บทกวีของพระนางต่างพูดถึงเบียร์ กล่าวกันว่าในเมโสโปเตเมียมีเบียร์อยู่ทุกที่ ชาวสุเมเรียนมีเบียร์หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ข้าวบาร์เลย์ เบียร์ข้าวสาลีเอมเบอร์ เบียร์สีน้ำตาล เบียร์ดำ ไลท์เบียร์ เบียร์แดง เบียร์หวาน เบียร์ผสมน้ำผึ้ง และอีกสารพัดชนิด ชาวสุเมเรียนทุกคนล้วนชอบเบียร์ แต่เบียร์ของชาวสุเมเรียนอาจจะมีหน้าตาไม่เหมือนเบียร์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เพราะเบียร์ของชาวสุเมเรียนต้องดื่มจากหลอดในไหอามัม (Amam) สาเหตุเพราะเบียร์ของชาวสุเมเรียนมีลักษณะคล้ายโจ๊กข้าวบาร์เลย์มีพรายฟองและของแข็งลอยอยู่เต็มผิวหน้า จึงต้องใช้หลอดดูดน้ำหวาน ๆ ที่อยู่ใต้ผิวหน้าได้ นอกจากนั้นชาวสุเมเรียนเองยังมีเพลงที่พวกเขาร้องระหว่างดื่มเบียร์ด้วยว่า 

“ข้าดื่มเบียร์อย่างสุขาอารมณ์ ช่วงสุขสมยามได้ดื่มเบียร์
ความสุขแล่นไปทั่วกายข้า ส่วนหัวใจนั้นหนาห่มอาภรณ์ราชัน
หัวใจแห่งอินานาผาสุกอีกครา หัวใจแห่งอินานาผาสุกอีกครา
โอ้นินคาซี”

อารยธรรมและน้ำเมา

ตำนานเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับน้ำเมานั้นมีอยู่ทุกอารยธรรมบนโลก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะหยิบตำนานบางส่วนเกี่ยวกับน้ำเมาของอารยธรรมมนุษย์ที่สำคัญมาเล่าสู่กันฟัง 

ในอียิปต์มีตำนานที่น้ำเมาหรือเบียร์ได้ช่วยมวลมนุษย์ไว้ ในอดีตนั้นมนุษย์ต่างชอบว่าร้ายกล่าวหาและนินทาเทพองค์หนึ่ง ซึ่งก็คือเทพรา ผู้เป็นใหญ่เหนือเทพทั้งปวงและเป็นผู้เทพผู้สร้างโลกตามตำนานด้วย เทพราที่ทนไม่ไหวกับการนินทาว่าร้ายของมนุษย์จึงเหลืออด และตัดสินใจว่าบางมนุษย์ผู้โอหัง เทพราจึงส่งเทพีฮาทอร์ไปทำหน้าที่สังหารมนุษย์ทุกคน เทพีฮาทอร์ลงมือสังหารมนุษย์ไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ภายหลังเทพราเกิดสงสารและอยากไว้ชีวิตมนุษย์แต่เทพีฮาทอร์กลับไม่คิดเช่นเดียวกัน เทพราจึงต้องวางแผน โดยการหมักเบียร์มามากมายถึง 7,000 ถัง แล้วย้อมเบียร์เหล่านี้ให้กลายเป็นสีแดงเหมือนเลือดมนุษย์ นำไปราดรดท้องทุ่งที่เทพีฮาทอร์กำลังจะผ่าน เทพีฮาทอร์คิดว่าน้ำสีแดงนั้นคือเลือดมนุษย์ จึงเริ่มดื่มเข้าไป ภายหลังเธอเริ่มง่วงและลืมเลือนถึงหน้าที่อันศ้กดิ์สิทธิ์แล้วจึงหลับไป ทำให้มนุษย์รอดจากการถูกสังหารในที่สุด

แม้ว่าตำนานจะดูน่าเหลือเชื่อ แต่ว่าเบียร์นั้นได้ช่วยมนุษย์สร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ได้ นั้นคือ มหาพีระมิด หลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อถือได้บอกเราว่า คนงานที่ก่อสร้างพีระมิดในสมัยนั้นได้รับค่าตอบแทนบางส่วนเป็น “เบียร์” และดูเหมือนว่าชาวอียิปต์เองก็ชื่นชอบเบียร์มาก คติหนึ่งที่น่าสนใจคือ สำหรับชาวอียิปต์แล้ว น้ำเมาหมายถึงเพศสัมพันธ์ ซึ่งพบจากหลักฐานที่เชื่อถือได้มากมายทั้งจากกลอนรักของพวกเขา ภาพวาดต่าง ๆ รวมถึงสตรีชาวอียิปต์เองก็เป็นกลุ่มที่ชอบการดื่มสังสรรค์อย่างมาก โดยที่เหล่าพ่อบ้านทั้งหลายจำเป็นต้องคอยเฝ้าดูพวกนางเพื่อที่ว่าเวลาที่พวกนางเมาไม่ได้สติจะไม่เดินตกแม่น้ำไนล์ ชาวอียิปต์ดูจะมีความภาคภูมิใจในการดื่มสุดเหวี่ยงอย่างมาก ภาพวาดต่าง ๆ ในหลุมศพของพวกเขาต่างโอ้อวดถึงความสามารถในการดื่ม เช่น หลุมศพของสุภาพสตรีนามว่า คราเทียงก์ (Chratiankh) เล่าไว้ว่า “ข้าเมาเก่งเหนือใคร เป็นผู้รักวันแสนสุข ผู้หมายจะท่องไปในหนองน้ำทุกวารวัน ประพรมมดยอบ และอบร่ำเครื่องหอมกลิ่นดอกบัว” และชาวอียิปต์เองก็มีเทศกาลแห่งความเมา เป็นงานเฉลิมฉลองเพื่อสรรเสริญเทพีฮาทอร์ที่จัดปีละครั้ง โดยเป็นการเทศกาลที่มีจุดประสงค์เดียวเท่านั้นคือ การเมา โดยเฉพาะการเมาอันศักดิ์สิทธิ์คือการเมามายแบบไม่ได้สติ และสุดท้ายพวกเขาและเธอทั้งหมดจะร่วมสังวาสกัน 

นอกจากอารยธรรมอียิปต์แล้วในช่วงเวลาใกล้กัน อารยธรรมที่ถือว่าเป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมตะวันตกทั้งปวงอย่างอารยธรรมกรีก ก็มีความนิยมชมชอบในน้ำเมา แต่ชาวกรีกไม่ดื่มเบียร์ พวกเขาดื่มไวน์ และไม่ได้ดื่มแบบเดียวกับในปัจจุบัน แต่พวกเขาดื่มโดยการเจือจางในน้ำ 

อัมฟิสแห่งเอเธนส์ กล่าวไว้ว่า “ข้าเชื่อว่าในไวน์มักมีความหมาย และผู้ดื่มน้ำเปล่านั้นไซร้คือคนเขลา” คำกล่าวของอัมฟิสบอกเล่าถึงความชอบของชาวกรีกถึงสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งพวกเขาชาวกรีกชอบดื่มไวน์ และเรื่องที่สอง ชาวกรีกชอบดูหมิ่นดูแคลนคนต่างชาติ และพวกเขาชอบมันมากยิ่งกว่าปรัชญาหรืองานปะรติมากรรมเสียอีก ชาวเปอร์เซียดื่มเบียร์ พวกเขาจึงเป็นคนป่าเถื่อน ชาวเธรสชอบดื่มไวน์ไม่ผสมน้ำ พวกเขาจึงเป็นคนป่าเถื่อน แต่เรื่องที่ประหลาดกว่าคือเทพแห่งไวน์ของพวกเขาอย่าง ไดโอนีซุส กลับเป็นเทพที่มาจากนอกดินแดนกรีก เทพองค์นี้ถือกำเนิดในไนซา ในแอฟริกาเหนือ หรือประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน บางตำนานก็ว่ามาจากคาบสมุทรอาหรับ บ้างก็ว่ามาจากอินเดีย 

นอกจากนั้นชาวกรีกยังชอบที่จะถกเถียงกันในเวลาเมามายอย่างมาก โดยเฉพาะการถกเถียงปรัชญาที่เรารู้จักและเป็นภาพจำของชาวกรีก นักปรัชญากรีก เช่น เพลโต เชื่อว่าถ้าคุณเชื่อใจใครได้ยามเขาเมา คุณย่อมเชื่อใจเขาได้เสมอ แม้ว่าชาวกรีกจะชอบดื่มไวน์มากแต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถดื่มไวน์ที่ไหนก็ได้ ต้องดื่มในสถานที่เฉพาะที่เรียกว่า ซิมโพเซียม ซึ่งจัดในห้องส่วนตัวของบ้านใครสักคน เป็นที่น่าเศร้าใจที่การดื่มไวน์ในซิมโพเซียมถูกจำกัดให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น และการดื่มในซิมโพเซียมเป็นการดื่มแบบที่มีพิธีการโดยที่ห้ามลัดขั้นตอนเด็ดขาด ชาวกรีกจึงเมาแบบมีแบบแผน ภายใต้การนำของซิมโพซีอาร์ก (ผู้นำการดื่ม) เมื่อพวกเขาดื่มไปได้สักพัก ซิมโพซีอาร์กจะเปิดหัวข้อการสนทนาขึ้น และแขกทั้งหลายที่เริ่มเมามายจะถูกบังคับให้เข้าร่วมวงสนทนา จนกว่าการดื่มในซิมโพเซียมจะจบลงในทางใดทางหนึ่ง ตั้งแต่ทุกคนสามารถนั่งรถม้ากลับบ้านอย่างเบิกบาน การดื่มจนเมามายจนไม่ได้สติ ตลอดจนถึงโคมอส หรือการที่พวกคุณออกไปวิ่งตามถนนและส่งเสียงตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ชาวกรีกจึงเป็นพวกที่ทำอะไรซับซ้อนด้วยมาตรฐานของพวกเขาเอง

ต่อจากอารยธรรมกรีก ชาวโรมันจากคาบสมุทรแอพเพนไนน์ ในช่วงเริ่มต้นสมัยสาธารณรัฐ ชาวโรมันเป็นขั้วตรงข้ามกับกรีกเสมอ โดยเฉพาะการที่ชาวโรมันค่อนข้างจะไม่ชอบการดื่มเสียเท่าไหร่ แม้ว่าพวกเขาจะมีไวน์ของตนเอง และมีเทพเจ้าแห่งไวน์อย่าง ลิเบอร์ เทพเจ้าดั้งเดิมของชาวโรมันที่ไม่ค่อยจะสำคัญเท่าไร รวมถึงชาวโรมันยังมีกฎหมายที่เข้มงวดกับน้ำเมามาก โดยเฉพาะกฎหมายที่ห้ามผู้หญิงดื่มไวน์ ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต

อย่างไรก็ดีภายหลังชาวโรมันเริ่มรับอิทธิพลกรีกมากในสมัยจักรวรรดิมากขึ้น เช่น ปรัชญา เทพเจ้า หนังสือความรู้ รวมถึงชาวโรมันเองเริ่มหันมานิยมดื่มไวน์ (และแน่นอนว่าชาวโรมันดื่มไวน์ผสมกับน้ำเหมือนชาวกรีก) โดยพวกเขานิยมไปดื่มกันในสถานที่ที่เรียกว่า คอนวิเวียม แต่ต่างจาก ซิมโพเซียมตรงที่ว่า การจะไปดื่มในคอนวิเวียม ต้องได้รับเชิญก่อน แต่บัตรเชิญเองก็หาไม่ได้ยากเท่าไรนัก แต่สิ่งที่น่าหนักใจคือสภาพในคอมวิเวียมที่อาจจะน่าชิงชังในมุมมองปัจจุบัน เพราะคอนวิเวียมเป็นสถานที่สำหรับการโอ้อวด การแสดงถึงฐานะเพื่อบอกว่าใครคือผู้สูงที่สุดและต่ำที่สุด หากจะนิยามคอนวิเวียมอาจกล่าวได้ว่า ทุกคนมาที่นี่เพื่อไวน์ฟรี แต่จำเป็นต้องปรบมือให้กับผู้อยู่เหนือกว่าและเหยียดหยามผู้ที่ต่ำกว่า ตั้งแต่การจัดวางตำแหน่งที่นั่ง ที่นั่งทางซ้ายสำหรับเจ้าภาพและครอบครัว ตรงกลางคือแขกคนสำคัญ และทางขวาคือแขกที่ด้อยกว่า โดยจะมีทาสคอยเสิร์ฟอาหาร อาหารและไวน์อย่างดีสำหรับเจ้าภาพและแขกที่มีเกียรติ ส่วนแขกที่มีเกียรติด้อยกว่าจะได้อาหารที่ด้อยกว่า บางครั้งเจ้าภาพจะเชิญใครที่ไม่รู้จักเพื่อมานั่งที่นั่งขวามือเพื่อเป็นการดูหมิ่นโดยเฉพาะ

นอกจากอารยธรรมตะวันตกแล้ว อารยธรรมในเอเชียอย่าง อารยธรรมจีน ก็นิยมชมชอบในการดื่มอย่างมาก หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในแหล่งโบราณคดีเจี่ยหู ตำบลเจี่ยหู อำเภออู่หยาง ในมณฑลเหอหนาน สามารถนับอายุย้อนไปถึง 7,000 ปีก่อนคริสตกาล มีหลักฐานมากมายชี้ว่า ชาวจีนรู้จักกับน้ำเมามาอย่างยาวนาน รวมถึงเรื่องเล่าตำนานเกี่ยวกับราชวงศ์ของจีน ก็มีความเกี่ยวข้องกับน้ำเมาอย่างมากเช่น จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ซางนามว่า “ตี้ซิน” ทรงโปรดสุราอย่างมาก จนถึงขนาดมีพระบัญชาให้ขุดทะเลสาบและนำสุรามาใส่ไว้ให้เต็มทะเลสาบ รวมถึงยังพบว่ากฎหมายจีนโบราณก็มีบทที่เกี่ยวกับห้ามดื่มสุราด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ กฎหมายในสมัยที่จีนรวมเป็นหนึ่งภายใต้ราชวงศ์ฮั่น ก็ระบุว่า หากมีการรวมกลุ่มดื่มสุรามากกว่าสามคนโดยไม่มีเหตุผล ถือว่าผิดกฎหมายและมีโทษปรับ อย่างไรก็ตามกฎหมายของจีนที่เกี่ยวกับการห้ามดื่มสุรา ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย เห็นได้จากการออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันจำนวนมาก ซึ่งน่าจะมาจากการที่ชาวจีนนิยมการดื่มสุรา ในพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวจีนมีสุราเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมาก และสุรายังปรากฏในวรรณกรรมและบทกวีจำนวนมากเช่น สามก๊ก ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับการดื่มสุราตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงรื่นเริง การทำศึกสงคราม ทุกเหตุการณ์ล้วนมีสุราเกี่ยวข้อง เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือชาวจีนไม่สนใจว่าสุรานั้นจะเป็นอย่างไร ขอแค่ดื่มแล้วเมาถือว่าเป็นใช้ได้ ซึ่งแสดงออกมาในสุภาษิตจีนของโกวเล้งว่า “กระบี่ออกจากฝัก ต้องได้ดื่มโลหิต คนพบมิตรสหาย ต้องได้ดื่มสุรา” หมดจอก! 

ในอินเดียเองก็มีวัฒนธรรมการดื่มที่ยาวนานเช่นกัน และค่อนข้างที่จะพิเศษในระดับหนึ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอินเดีย ถูกค้นพบครั้งแรกในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ในสมัยยุคทองแดง (3,000 ปีก่อนคริสตกาลถึง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล) โดยเป็นลักษณะของแอลกอฮอล์กลั่น ไม่เหมือนกับการหมักของไวน์และเบียร์ (มีนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางส่วนที่ไม่เชื่อว่าอารยธรรมในเอเชียจะมีวิธีการกลั่นแอลกอฮอล์ก่อนชาวตะวันตกในศตวรรษที่ 12 อย่างไรก็ตามเตาหลอมดินเผาที่พบในเมืองตักศิลาและชาร์ซัดดาต่างชี้ชัดว่าการกลั่นเป็นที่รู้จักในอนุทวีปอินเดียโบราณ แต่ไม่สามารถผลิตสุราที่มีดีกรีสูง เนื่องจากยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพมากพอในการรวบรวมไอระเหย) โดยเครื่องดื่มนี้มีชื่อว่า สุระ (Sura) โดยทำมาจาก ข้าวป่น ข้าวสาลี อ้อย องุ่น และผลไม้อื่นๆ เป็นที่นิยมในหมู่นักรบและชาวนา และสุระเองยังถือเป็นเครื่องดื่มที่โปรดปรานของพระอินทร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแอลกอฮอล์มีบทบาทในอินเดียมานานมากแล้ว 

คัมภีร์พระเวทยุคแรกแนะนำการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชั้นเรียนของนักบวช ตำราอายุรเวทของศาสนาฮินดูอธิบายทั้งประโยชน์ของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลที่ตามมาจากความมึนเมาและโรคจากแอลกอฮอล์ ตำราอายุรเวทสรุปว่า แอลกอฮอล์เป็นยา หากบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ แต่เป็นยาพิษหากบริโภคมากเกินไป 

จะเห็นได้ว่าในหลากหลายอารยธรรมของมนุษย์ น้ำเมาเข้าไปมีบทบาทอย่างมาก ตั้งแต่มนุษย์รู้จักกับอารยธรรม เมื่อหันกลับมามองยังอุษาคเนย์ หลักฐานที่เก่าแก่เกี่ยวกับสุราในไทยต้องย้อนกลับไปในสมัยที่อาณาจักรขอมยังรุ่งเรือง จารึกในปราสาทพนมรุ้งกล่าวถึงสุราว่า เป็นหนึ่งในเครื่องบวงสรวงเทพเจ้า ด้วยพบว่าเป็นสุราแช่จากการหมักข้าวที่สามารถปลูกได้มากมายในดินแดนนี้ รวมถึงหลักฐานจากจีนที่กล่าวว่า คนสยามกลั่นเหล้าจากอ้อย สมัยอยุธยาเริ่มพบการกลั่นสุราโดยเรียกว่า เหล้าโรง และคนสยามยังรู้จัก วิสกี้ เบียร์ ไวน์ จากการติดต่อค้าขายกับตะวันตก 

นอกจากนั้นยังมีสุราพื้นบ้านที่เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น กระแช่, อุ, สาโท ฯลฯ โดยเราจะคุ้นเคยกับคำว่า สุราเมรัย ซึ่งในพระราชกำหนดเรื่อง “สุราน้ำใส เมรัยน้ำข้น” ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ระบุว่า สุรา หมายถึง สุรากลั่น เมรัย หมายถึง สุราแช่ และสุราในไทยก็เหมือนกับอารยธรรมก่อนหน้าที่มักปรากฏตัวในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิต่าง ๆ รวมถึงยังพบว่าสุราเป็นยาในตำรับยาโบราณ และจากบันทึกของชาวต่างชาติที่ร่วมสมัยกล่าวตรงกันว่า คนไทยแต่เดิมไม่ได้นิยมการดื่มสุรามากนัก แต่มีเพียงไว้ดื่มในครัวเรือนและรับแขกเท่านั้น 

อย่างไรก็ดีตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย คาบเกี่ยวช่วงต้นรัตนโกสินทร์ คนไทยเริ่มนิยมการดื่มสุรามากขึ้น หลังคลื่นการอพยพของคนจีนในสยาม และคนจีนเหล่านี้ยังเป็นผู้ผูกขาดการกลั่นสุราในเวลาต่อมา ซึ่งอาจเข้าใจได้ว่าภายหลังที่คนไทยได้ใกล้ชิดกับคนจีนมากขึ้น จึงรับวัฒนธรรมการดื่มมาด้วย จึงทำให้วัฒนธรรมการดื่มเริ่มแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน 

สถิติจาก World Beer Index 2021  ระบุว่าคนไทยเสียเงินในการบริโภคเบียร์ที่ 21,093 บาทต่อปี แต่อย่างไรก็ดีทางเลือกในการบริโภคเบียร์ของคนไทยกลับถูกจำกัดอยู่ค่อนข้างมากจากข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการผลิตเบียร์ของรายย่อย โดยมีกฎหมายที่ให้อำนาจผูกขาดในอุตสาหกรรมสุราตั้งแต่ พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ซึ่งมีสาระสำคัญให้สิทธิผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุราแก่ผู้ผลิตรายใหญ่ และตั้งข้อจำกัดแก่ผู้ผลิตรายใหม่ๆ โดยใช้มาตรฐานการผลิตและความสะอาดที่ต้องอาศัยทุนทางนวัตกรรม สวนทางกันกับการผลิตในระดับท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ผลิตผลจากภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับต้องกลายเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ กลับกันในต่างประเทศก็มีข้อกฎหมายที่สนับสนุนการผลิตสุราในท้องถิ่น เช่นในอังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าและชื่อเสียงให้แก่ประเทศเหล่านั้นอย่างมาก 

บรรณานุกรม

  • Mark Forsyth.  (2561).  A short history of Drunkenness.  แปลโดย ลลิตา ผลผลา.  กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป.
  • Beer Brewing.  (2023).  The Oxford Companion to Beer definition of The history of beer.  (Online).
  • Brews cruise.  (2023).  Where Did Beer Originate From?  (Online).
  • Facts and Detail.  (2023).  Wine, drinking and alcoholic drink in ancient Greece.  (Online).
  • Joshua Mark.  (2011).  Beer in the Ancient World.  (Online).
  • Magandeep Singh.  (2017).  A short history of India’s drinking culture.  (online).
  • Smart blend.  (2023).  Drinking culture of ancient Egypt and the fascinating stories of Cleopatra.  (Online).
  • The Momentum.  (2022).  สังคมไทยและสุรา อนาคตและอุปสรรคของอุตสาหกรรมเหล้าเบียร์ไทย.  (ออนไลน์).

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า