fbpx

“นักการเมือง” กับ “คำโกหก” เป็นวิธีการหรือสันดานกันแน่?

ทุกคนรู้ว่า “นักการเมืองชอบโกหก” เพราะเราต่างก็เจ็บมาเยอะกับคำพูดสวยหรูของนักการเมืองทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าของเมืองไทย ที่ให้สัญญากับประชาชนไว้มากมาย แต่ไม่เห็นจะทำได้จริงๆ เลยสักที เจ็บปวดสุดก็เห็นทีจะเป็นเรื่องที่บอกว่ายังไงก็ไม่จับมือกับลุง แต่สุดท้ายก็หักหลังประชาชน จนไม่รู้แล้วว่าคำพูดไหนของนักการเมืองที่เชื่อถือได้จริงๆ 

ดูเหมือนว่าการโกหกจะกลายเป็นหนทางให้นักการเมืองก้าวขึ้นไปคว้าดาว การทำผิดสัญญาคือวิถีปฏิบัติปกติที่นักการเมืองต้องทำ และการหักหลังประชาชนจะทำให้ได้มาซึ่งอำนาจที่พวกเขาต้องการ (แถมได้กลับบ้านด้วย) แน่นอนว่าการโกหกเป็นสิ่งไม่ดี ผู้ใหญ่คนไหนก็บอกแบบนั้น แต่ในห้วงเวลาที่ต้องการอำนาจจนตัวสั่น ก็ทำให้นักการเมืองหลายคนเลือกที่จะ “ตีหน้าซื่อ” โกหกประชาชนอย่างหน้าไม่อาย

ทำไมนักการเมือง “โกหก” ประชาชน?

เหตุผลง่ายๆ เพราะพวกเขา “ทำได้” ยังไงล่ะ

การโกหกของนักการเมืองทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด หรืออาจทำให้รู้สึกมีความหวัง มองเห็นแสงสว่างในความมืดมิดของสถานการณ์บ้านเมือง จนเชื่อว่านักการเมืองเหล่านั้นจะเป็นคนที่มาช่วยเหลือพวกเขาให้ลืมตาอ้าปากได้จริงๆ เมื่อประชาชนเชื่อแบบนั้น ก็ไม่แปลกที่พวกเขาจะหันมาสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมือง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า การโกหกหรือให้ข้อมูลเท็จมีอิทธิพลกับความคิดของคนในสังคมได้อย่างมาก แม้ว่าภายหลังประชาชนจะมาตระหนักรู้ได้ว่าสิ่งที่พวกเขา “ซื้อ” หรือเชื่ออย่างสุดใจจะเป็น “เรื่องโกหกหลอกลวง” เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงและอำนาจที่นักการเมืองต้องการเท่านั้น

นักการเมืองทุกคนล้วนโกหก ไม่ว่าจะขั้วไหนหรือพรรคการเมืองไหน ซึ่งความจริงข้อนี้ควรทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธเกรี้ยวที่ถูกนักการเมืองหลอกลวง แต่เราเองก็มักจะลืมเลือนคำโกหกเหล่านั้นหลังเวลาผ่านไปช่วงสั้นๆ อาจจะหนึ่งชั่วโมง หนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หรือหนึ่งเดือน และประชาชนก็มักจะพร่ำบอกตัวเองว่า “เพราะพวกเขาเป็นนักการเมือง ยังไงก็เชื่อถือไม่ได้หรอก” แล้วพวกเราก็ move on กับชีวิต ก้มหน้าหาเลี้ยงชีพตัวเองต่อไป

ประชาชนไม่สนใจคำโกหกจริงหรือ?

คำถามนี้อาจจะไม่มีคำตอบที่ตรงไปตรงมา งานวิจัยเรื่อง Processing political misinformation: comprehending the Trump phenomenon โดยนักวิจัยจาก The University of Western Australia (UWA) ในปี 2016 อธิบายว่า การระบุว่าสิ่งที่นักการเมืองพูดเป็นเรื่องโกหก ทำให้ความเชื่อของผู้คนต่อเรื่องนั้นๆ ลดลงจริง แม้ว่าจะเป็นคำพูดหรือเรื่องโกหกที่มาจากนักการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนก็ตาม 

แต่การรับรู้ว่านักการเมืองเหล่านั้นพูดโกหก ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ประชาชนหรือผู้สนับสนุนพรรคการเมืองนั้น ตัดสินใจที่จะไม่ลงคะแนนหรือหันไปเลือกพรรคการเมืองอื่น

สอดคล้องกับงานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมและวิทยาศาสตร์บุคลิกภาพ ในปี 2014 ที่ระบุว่า ผู้คนจะไม่ค่อยมีท่าทีแข็งกร้าวกับคำโกหกของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่พวกเขาให้การสนับสนุน ถ้าพวกเขามีจุดยืนทางการเมืองที่คล้ายกันหรือเห็นพ้องกัน ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า คำโกหกเหล่านั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และอาจจะเป็น “สิ่งจำเป็น” เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่คนกลุ่มนี้ในสังคมต้องการเห็น

สิ่งที่น่าสนใจของผลการวิจัยข้างต้นก็คือ แม้นักการเมืองคนนั้นจะทำการทุจริตหรือโกหกมากแค่ไหน แต่ภาพลักษณ์ของเขาหรือเธอคนนั้นก็ยังดูดีในสายตาของผู้สนับสนุนเสมอ 

ฟังดูคุ้นๆ เหมือนกันนะ ว่าไหม

ยอมรับคำโกหกอย่างไร ก็ได้รัฐบาลอย่างนั้น

จอร์แดน ปีเตอร์สัน นักจิตวิทยาจากประเทศแคนาดา ชี้ว่า การพูดความจริงคือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าตอนนั้นคุณจะดูแย่หรือเลวร้ายมากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งถ้านักการเมืองเชื่อแบบนั้น พวกเขาก็ควรแสดงออกอย่างจริงใจและยอมรับผลที่ตามมาให้ได้ เพราะการสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนจะไม่เกิดขึ้นจาก “คำโกหก” อย่างแน่นอน เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่มันยังรวมไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ ชีวิตแต่งงาน มิตรภาพ หรือแม้แต่ในแวดวงธุรกิจ ซึ่งการโกหกเพียงครั้งเดียวก็อาจจะทำลายความเชื่อมั่นของคนได้อย่างย่อยยับ 

แต่ทำไมนักการเมืองยังพร่ำคำโกหกใส่ประชาชนล่ะ? 

ก็อาจเป็นเพราะประชาชนชอบฟังคำพูดแสนหวานและคำสัญญาสวยหรูของนักการเมือง หรืออาจจะเป็นเพราะในโลกการเมือง การโกหกเป็นสิ่งที่ทำให้นักการเมืองประสบความสำเร็จ

แต่ถ้าคุณอดทนอดกลั้นต่อคำโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่าของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในดวงใจของคุณ ก็เหมือนกับคุณสนับสนุนวัฒนธรรมการเมืองที่โป้ปด หลอกลวง ไม่เห็นหัวประชาชน และหล่อเลี้ยงการเมืองไม่สร้างสรรค์ให้อยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกยาวนาน แล้วเมื่อถึงวันที่ตัวเองเดือดร้อนเพราะคำโกหกของนักการเมืองเหล่านี้ขึ้นมา ก็อย่าออกมาร้องแรกแหกกระเชอก็แล้วกัน เพราะการปิดหูปิดตาของคุณต่อคำโกหก ก็ทำให้คุณได้รับรัฐบาลที่คุณสมควรได้รับ!

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า