fbpx

‘ล้อเสื้อผ้า ด่าแรดร่าน ประณามว่ากะหรี่’ ทำไมนักการเมืองหญิงและเพศอื่นๆ ถูกส่อเสียดเหยียดหยามมากกว่าผู้ชาย 

‘นักการเมืองหญิงคนนั้นเหรอ เป็นเมียน้อยเขานี่’

‘โปรโมตนโยบาย sex worker แบบนี้คุณก็ขายด้วยเลยสิ’

‘ถ้านักการเมืองหญิงท้อง ลาออกไปอยู่บ้านเลี้ยงลูกดีกว่า อย่ามาทำงานการเมืองเลย’

ทำไมหลายครั้งหลายคราว นักการเมืองหญิงจะต้องถูกพูดถึงในฐานะที่เป็นเมียของใครสักคน เป็นลูกของใครสักคน ถูกโยงว่าเป็นเมียน้อยของผู้มีอำนาจสักคน หรือมักจะถูกโจมตีในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น วิจารณ์เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องแต่งกาย หรือกระทั่งรูปร่างหน้าตา

แง่หนึ่งเป็นกลยุทธ์สาดโคลนของฝ่ายตรงข้ามเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือ ลดทอนศักดิ์ศรีของอีกฝ่ายให้น้อยลง แต่อีกแง่หนึ่ง หากลองมองไปอีกประเด็น การโยงว่าลูกใคร เมียใคร เมียน้อยใคร เสื้อผ้าน่าเกลียด หรือไล่ให้ไปขายบริการทางเพศ มักเกิดขึ้นกับนักการเมืองหญิงมากกว่านักการเมืองชาย 

จากเหตุการณ์มากมายที่นักการเมืองหญิงถูกลดทอนบทบาทผ่านวาทกรรมเรื่องเพศ แสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในการเมืองไทยและการเมืองโลก และอาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในความคิดความเข้าใจของคนในโลกการเมือง

เมื่อนักการเมืองหญิงมักถูกโยงกับความเป็น แม่ เมีย กะหรี่

จริงหรือไม่ที่นักการเมืองหญิงไม่ว่าจะพรรคใด เป็นฝ่ายซ้าย สายกลาง หรือฝ่ายขวา ก็มักจะได้รับแรงกดดันแบบแปลกๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงานมากกว่านักการเมืองเพศชาย? 

ตัวอย่างที่เห็นเมื่อไม่นานมานี้ เกิดขึ้นเมื่อกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ‘ครูจุ๊ย’ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เปิดประเด็นเรื่องโสเภณีจะต้องถูกนำเข้าระบบเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย และผู้ประกอบอาชีพจะได้รับการคุ้มครอง ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นแบบไม่ใช้สมองถามเธอกลับว่า 

‘ถ้าผลักดัน นโยบายนี้สำเร็จ แล้วถ้าครูจุ๊ยสนใจจะขายบริการ บอกผมด้วยนะ ขายตัวเมื่อไหร่บอกด้วย’

เมื่อมีคอมเมนต์ทำนองนี้เกิดขึ้น คำถามที่ตามมาคือถ้าเป็นนักการเมืองชายมารณรงค์เรื่องเดียวกัน พูดเหมือนกับที่นักการเมืองหญิงพูดทุกอย่าง ฟีดแบ็กจะเหมือนหรือแตกต่างจากเดิมหรือไม่ 

คำตอบจากคนส่วนใหญ่มองว่าไม่เหมือนเดิม และเกิดสมมติฐานว่านักการเมืองชายจะมีโอกาสถูกสบประมาทโดยการใช้ผู้หญิงรอบตัวมากดดันลดทอน มากกว่าการถูกไล่ให้ไปขายบริการทางเพศแบบตรงๆ เช่น 

‘ถ้าลูกสาวคุณขายตัวเมื่อไหร่ให้บอกด้วย’ 

‘ถ้าน้องสาวคุณขายตัวเมื่อไหร่ให้บอกด้วย’ 

‘ถ้าภรรยาคุณขายตัวเมื่อไหร่ให้บอกด้วย’ 

ในต่างประเทศก็มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นเช่นกัน อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ (Alexandria Ocasio-Cortez) หรือ AOC นักการเมืองหญิงของสหรัฐอเมริกา มักถูกสื่อมวลชนรวมถึงนักการเมืองด้วยกันเองตั้งชื่อหรือตั้งฉายาแปลกๆ ให้ เพราะเธอมีรูปร่างหน้าตาที่สวยตรงตามค่านิยมของคนส่วนใหญ่ บางคนเรียกเธอว่า ‘ยัยตัวเล็ก’ และคำที่พบบ่อยมากคือ ‘คนสวย’ รวมถึงการถูกนักการเมืองชายด่าว่า “Facking Bitch” ต่อหน้าผู้สื่อข่าวหลายสำนัก 

เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ นักการเมืองชายรายนั้นก็ปฏิเสธเป็นพัลวันว่าไม่ได้พูด พร่ำบอกว่าจะไม่ขอโทษในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้พูด และเขาเป็นนักการเมืองที่รักพระเจ้า รักครอบครัว และรักชาติ พอเกิดการยืนยันว่าไม่ได้ทำทั้งที่มีพยานอยู่หลายคน อเล็กซานเดรียจึงโต้ตอบนักการเมืองชายรายนั้นว่า 

“ฉันไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวอะไรกับคุณ แต่ฉันมีปัญหาตรงที่คุณใช้ผู้หญิง ใช้ภรรยา และลูกสาวเป็นเกราะกำบัง ใช้ครอบครัวเป็นข้อแก้ตัวเวลาคุณทำพฤติกรรมแย่ๆ 

“คุณมีภรรยา มีลูกสาวสองคน และฉันก็เป็นลูกสาวของใครบางคนเหมือนกัน โชคดีที่พ่อของฉันไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อดูว่าคุณปฏิบัติตัวอย่างไรต่อลูกสาวของเขา”

ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดในยุคปัจจุบันแต่มีให้เห็นนานแล้ว ย้อนกลับไปหลายปีก่อนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ในช่วงที่ขั้วการเมืองทั้งสองฝั่งเกิดความตึงเครียด เกิดการชุมนุมเสื้อสีต่างๆ 

จักษ์ พันธ์ชูเพชร นักวิชาการและอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยขึ้นเวทีม็อบ กปปส. เมื่อปี 2556 โดยพูดถึงนายกรัฐมนตรีในทางเสียๆ หายๆ และเหยียดเพศอย่างเปิดเผย

“วันนี้เห็นบอกว่า ท่าน ดร.เสรี กับพี่ปองไปที่บ้านนายกฯ ผมบอกตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว ถ้าไปไล่น่ะ พี่ปองกับอาจารย์เสรีไปได้ แต่ถ้าไปล่อ ผม ผม (ชี้ตัวเอง) ส่งคนไปไล่มันก็ไม่อยู่บ้าน ต้องส่งคนไปล่ออย่างผมนี่ถึงจะออกมา รอบหน้าจัดเฉพาะหนุ่มๆ หน้าตาดีๆ ส่งไปล่อให้ดีๆ แล้วเดี๋ยวได้ตัวครับ เชื่อเถอะครับ มั่นใจครับ

“มั่นใจว่าผมน่าจะติด 1 ใน 50 เข้าไปบ้างนะ ผมว่า ขอไปล่อเพื่อชาติหน่อยเถอะ จะได้รู้ว่าเอาอยู่หรือเอาไม่อยู่” 

ในเวทีเดียวกันแต่คนละวัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นปราศรัยที่ซ่อนความนัยเกี่ยวกับประเด็นทางเพศ เขาพยายามชี้แจงว่าตัวเองไม่ได้เรียกนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ว่า ‘อีโง่’ หรือ ‘กะหรี่’ เน้นย้ำคำดังกล่าวเรื่อยๆ ก่อนแสดงความคิดเห็นว่าถ้าใช้คำไหนเป็นคำด่าไม่ได้เลย พจนานุกรมก็คงมีคำให้ใช้ได้น้อยลงเรื่อยๆ 

“คือถ้าคำว่าอีโง่ เป็นถ้อยคำซึ่งไม่เหมาะสมที่จะให้พูด ว่าผมอย่างนี้ ผมน้อมรับ ผมก็รู้แล้ว และต่อไปนี้พจนานุกรมเล่มจะเล็กลง เล็กลง เล็กลง เพราะหลายคำจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอีโง่ ไม่ว่าจะเป็นแรด หรือไม่ว่าจะเป็นกะหรี่” 

เอกยุทธ อัญชันบุตร อดีตนักธุรกิจชื่อดัง เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ เคยโพสต์ข้อความดูถูกเหยียดเพศต่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตอกย้ำทัศนคติว่างานการเมืองไม่ใช่งานที่ผู้หญิงควรจะเข้ามาทำ 

‘ไม่อยากจะกล่าวคำแบบนี้ เพราะจะดูเสมือนดูถูกสตรี แต่ในความเป็นจริงนั้น สาวเหนือที่ไร้การศึกษาหรือขี้เกียจ และด้อยปัญญา จะมาทำงานสบายที่หญิงปกติไม่ทำกัน..หลักๆ ก็คือขายบริการ ฉะนั้นสาวเหนือที่ไร้สติปัญญาและโง่เขลาขนาดหนักแต่หน้าด้านมารับตำแหน่ง ก็ควรจะรู้นะว่าอาชีพอะไรที่เหมาะแก่คุณ?’

นอกจากเรื่องการนำนักการเมืองหญิงไปเปรียบเทียบกับหญิงขายบริการในแง่ลดทอน เรายังสามารถเห็นการพูดเชิงแซวๆ ว่า นักการเมืองหญิงคนนี้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้มีอำนาจรายหนึ่ง ไปจนถึงข่าวลือว่ายอมมีเซ็กซ์กับผู้มีอำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือข่าวลือว่านักการเมืองหญิงพรรคนี้แอบมีสัมพันธ์กับนักการเมืองชายพรรคเดียวกัน แล้วเรียกเธอคนนั้นว่า ‘เมียน้อย’ แทนการเรียกชื่อ ตราหน้าว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในแวดวงการเมือง ทั้งที่นักการเมืองชายหลายรายก็ไปเที่ยวอาบ อบ นวด หรือมีเมียน้อยออกหน้าออกตาอย่างเปิดเผย แต่กลับไม่ถูกตีตรามองว่าไม่คู่ควรที่จะเป็นนักการเมืองเท่ากับนักการเมืองหญิงที่โดนแบบเดียวกัน

“เรื่องส่วนตัว ชีวิตครอบครัว ชู้สาว เสื้อผ้าหน้าผมต่างๆ เหล่านี้มันมีความพยายามโดยธรรมชาติของสังคมที่จะจับจ้อง จนรู้สึกว่า เอ๊ะ ฉันมาทำงานการเมือง ทำไมต้องมาถูกตรวจสอบเรื่องที่ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย ผัวเป็นใคร พี่น้องยังไง” – พรรณิการ์ วานิช 

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในแวดวงการเมืองช่วงเวลานี้อาจเป็นเรื่องของความเป็นแม่ จากการที่หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยอย่าง แพทองธาร ชินวัตร จะต้องหาเสียงในช่วงตั้งครรภ์และจำเป็นต้องหยุดงานเพื่อคลอดลูก เธอมักถูกโจมตีเรื่องการตั้งครรภ์ตลอดการหาเสียง ถูกไล่ให้ไปอยู่บ้าน ถูกไล่ให้ไปดูแลลูก ได้รับคำแนะนำให้เดินหนีออกจากโลกการเมืองไปเสีย ไปทำหน้าที่แม่ของลูกให้เต็มที่ ปล่อยให้งานบริหารบ้านเมืองเป็นหน้าที่ของผู้ชายแบบเดิมต่อไปดีแล้ว 

ในทางกลับกัน นักการเมืองชายหลายคนก็มีบทบาทเป็นพ่อคน หลายคนเล่นการเมืองระหว่างเป็นพ่อลูกอ่อน แต่กลับไม่ค่อยได้รับคอมเมนต์ไล่ไปอยู่บ้านเลี้ยงลูกเท่ากับนักการเมืองหญิง สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการกดทับของแนวคิดแบบปิตาธิปไตยและการเมืองไทยแบบผู้ชายที่ผูกติดอยู่กับสังคมไทยอย่างยาวนาน กับค่านิยมเก่าเก็บที่มองว่าผู้หญิงจะต้องเป็นเมียและแม่ที่ดี จะต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก ไม่ควรทำงาน 

ประเด็นเรื่องความเป็นแม่ เป็นเมีย ลักษณะการชีวิตของคนในยุคปัจจุบันมีความยืดหยุ่นและเป็นอิสระจากเดิมมากพอสมควร เห็นได้จากการที่สังคมได้เห็นภาพสามีของแพทองธารอุ้มลูก ท่ามกลางคอมเมนต์จำนวนมากที่สนับสนุนว่าหากคนในครอบครัวตกลงกันได้ ผู้หญิงก็จะสามารถทำงานการเมืองได้โดยไม่ติดขัดแม้จะเป็นแม่คนก็ตาม และการดูแลลูกก็ไม่จำเป็นจะต้องผูกติดไว้กับคนเป็นแม่เท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่ที่จะต้องช่วยกันดูแลลูกให้ดีที่สุด 

นักการเมืองหญิงก็มีชื่อ แต่ทำไมถึงไม่ค่อยยอมเรียกกัน?

ประเด็นนักการเมืองแก่กว่าเรียกนักการเมืองหญิงที่อายุน้อยกว่าว่า ‘คนสวย’ กับ ‘หนู’ แทนการเรียกชื่อเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่?

เรื่องนี้ก็มีความคิดเห็นแตกออกเป็นสองฝั่ง จึงต้องนำความคิดเห็นจากทั้งสองมุมมาเปรียบเทียบเหตุผลกัน ฝั่งที่ไม่รู้สึกว่าถูกลดทอนมองว่าเป็นเรื่องปกติ นักการเมืองชายเหล่านั้นอาจกำลังแสดงความเอ็นดูเพราะฝ่ายหญิงอายุน้อยกว่า เอ็นดูเหมือนลูกหลาน หรือเป็นน้องที่น่ารัก ประกอบกับการที่นักการเมืองหญิงส่วนใหญ่มีประสบการณ์น้อยกว่า รวมถึงการถูกเรียกว่า ‘คนสวย’ ก็คือคำชม ไม่ใช่คำที่มีความหมายไม่ดี ดังนั้นจึงไม่ได้เสียหายอะไรถ้าถูกเรียกด้วยคำเหล่านี้ 

ขณะที่อีกฝั่งที่รู้สึกไม่ค่อยชอบการถูกเรียกว่า ‘คนสวย’ หรือ ‘หนู’ จะแบ่งออกเป็นสองปัจจัย คือ เรียกโดยคนที่ไม่รู้จักหรือไม่สนิทกัน และเรียกในช่วงเวลาที่กำลังทำงาน ซึ่งถ้าเรียกขณะที่กำลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ กำลังพูดในประเด็นที่ซีเรียสจริงจัง นักการเมืองหญิงบางส่วนมองว่าไม่ควรจะใช้คำแบบนั้น แต่ควรเรียกชื่อของพวกเธอแทน เพราะพวกเธอก็เรียกชื่อของนักการเมืองชาย ไม่ได้หยิบเอาสรรพนามอื่นๆ มาเรียกแทนชื่อ 

หากอ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยกล่าวในคลิปวิดีโอซีรีส์นักการเมืองหญิงของสื่อออนไลน์ The Matter เธอจะอธิบายว่าถ้าคนพูดเป็นคนที่มีความสนิทสนมกับในระดับหนึ่งก็จะรู้สึกว่าคำนี้เป็นคำธรรมดา แต่สำหรับคนที่ไม่ได้สนิทกันมาก หรือพูดในบริบทที่กำลังทำงานอยู่ การเรียกแบบนี้จะสร้างความอึดอัดได้มากทีเดียว และคำว่า ‘คุณ’ น่าจะเป็นคำที่ดีที่สุด

ในการประชุมสภา พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (ในเวลานั้น) อภิปรายนโยบายรัฐบาล ก่อนที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พยายามกล่าวชี้แจงและเรียกเธอเชิงหลอกล้อว่า “คุณพรรณิการ์นะครับ คุณคนสวย” แล้วเว้นช่วงไว้พักหนึ่ง จนประธานสภาเอ่ยเตือนว่า “ท่านนายกฯ อย่า เดี๋ยวคนอื่นเขาจะประท้วงเอา”

ในการประชุมสภาอีกเช่นกัน พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กำลังอภิปราย แล้ว ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (ในเวลานั้น) ขอประท้วงผู้อภิปราย ทำให้พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์พูดดักคอไว้ก่อนว่า “เชิญ เชิญหนู หนูพูดให้ดีๆ”

การที่ปารีณามักจะลุกขึ้นประท้วงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เราเห็นการโต้ตอบของนักการเมืองคนอื่นๆ หลากหลายรูปแบบ เช่น ขณะที่เธอกำลังอธิบายว่าประท้วงในข้อบังคับใด ชวน หลีกภัย ประธานสภา ก็เอ่ยว่า “ประท้วงเรื่องอะไรหนู เอ่อ… ท่านปารีณาประท้วงเรื่องอะไร”

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยลุกขึ้นประท้วงรองประธานสภาที่เอ่ยปรามปารีณาด้วยการพูดจาไม่เหมาะสม เหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการที่ปารีณาพยายามประท้วง ส.ส. ฝ่ายค้าน พูดว่าค้านทีไรประธานก็ไม่ฟัง และเธอรู้สึกขึ้นมากแล้วในเวลานี้ ก่อนที่รองประธานสภาจะพูดเชิงสองแง่สองง่ามว่า “อย่าเพิ่งขึ้น อย่าเพิ่งขึ้น มันจะไม่สุภาพนะครับถ้าผู้หญิงขึ้น” หรือการที่ ส.ส.ชายคนอื่นพูดกับ ส.ส.หญิง เชิงเปรียบเปรยว่า “เสียงหวานเหมือนภรรยาผมเลย” ซึ่งณัฐวุฒิมองว่า ประธานสภาจำเป็นต้องตักเตือนให้นักการเมืองชายเหล่านี้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อไม่ให้การเหยียดเพศเกิดขึ้นในสภาจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ 

กรณีของปารีณาสร้างเสียงวิจารณ์ได้เสมอ โดยเฉพาะเสียงวิจารณ์เชิงลบกับการพยายามขัดจังหวะขณะที่ ส.ส. ฝ่ายค้านกำลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือการที่เธอเสียมารยาทหลายครั้งกับพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ และเธอก็มักจะถูกนักการเมืองชายเรียกว่า ‘หนู’ บ่อยที่สุดคนหนึ่ง 

เสียงบางส่วนก็มองว่าเพราะเธอไม่ให้เกียรติผู้อื่นก่อน ตั้งใจก่อกวน ทำให้คนอื่นรู้สึกโกรธหรือโมโห พยายามขัดจังหวะแบบไม่มีมารยาทและทำตัวไร้เหตุผล จึงได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีกลับไป ขณะเดียวกัน ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เธอมักถูกตอกกลับด้วยเรื่องทางเพศเสมอ เพราะเรื่องเพศถือเป็นเรื่องที่ใช้เสียดสีสตรีได้ง่ายที่สุด ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะเลว จะดี จะทำผิดหรือไม่ก็ตาม 

ประเด็นคำว่า ‘หนู’ ในมุมมองของผู้หญิงส่วนใหญ่ (ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด) สะดวกใจจะใช้คำนี้เรียกตัวเอง เพราะนี่คือสิทธิในการเลือกสรรพนามให้ตัวเอง แต่การเป็นฝ่ายถูกเรียกอาจไม่ง่ายแบบนี้ เพราะจำต้องมองในบริบทที่กำลังพูดคุยกันด้วยว่าพูดคุยกันในสถานการณ์ไหน เรียกในวงพูดคุยทั่วไป ใช้เรียกน้องที่สนิทกันแบบเอ็นดู แต่ในการทำงานที่จริงจัง การเรียกชื่ออาจเหมาะสมมากกว่า ให้เกียรติผู้พูดอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าอีกฝ่ายจะมีเพศอะไร หรืออายุน้อยกว่าก็ตาม 

ในมุมของการเมืองไทย หากนักการเมืองชายใช้คำพูดว่า ‘หนู ใจเย็นๆ ก่อน’ หรือพูดว่า ‘ท่านก็หน้าตาสะสวย ไม่น่า…’ ขณะที่นักการเมืองหญิงกำลังอภิปรายในสภา อาจไม่ได้หมายความว่านักการเมืองรายนั้นพูดด้วยความเอ็นดู แต่กำลังดูถูก ลดทอนสิ่งที่นักการเมืองหญิงกำลังอภิปรายอยู่มากกว่า

และเราก็ไม่ค่อยเห็นนักการเมืองหญิงและชายเรียกนักการเมืองชายว่า ‘คนหล่อ’ ‘รูปหล่อ’ ‘หนุ่มหล่อ’ เหมือนอย่างที่คำว่า ‘คนสวย’ ‘สาวสวย’ ถูกหยิบมาใช้บ่อยครั้ง

ลองมองมุมกลับว่าหากนักการเมืองหญิงที่อายุน้อยกว่า เรียกนักการเมืองชายที่แก่กว่าว่า ‘ลุง’ หรือ ‘ตาแก่’ ขณะที่นักการเมืองชายรายนั้นอภิปรายอยู่ ก็คงจะรู้สึกไม่พอใจเช่นกัน และอาจมองว่าเป็นการไม่เคารพผู้อาวุโส กำลังเล่นหัวคนแก่อยู่หรือเปล่า ดังนั้น จุดตรงกลางของเรื่องนี้คือการให้เกียรติกันด้วยการเรียกชื่อกันตรงๆ น่าจะหลีกเลี่ยงการปะทะได้ดีที่สุด 

เสื้อผ้า หน้าตา การแต่งกาย ถูกใช้เป็นเครื่องมือวิจารณ์เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง 

ประเด็นเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมและเครื่องแต่งกาย มักมาคู่กับนักการเมืองหญิง รวมถึงนักการเมืองผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) แต่การมาคู่กันที่ว่านี้คือการถูกใช้เพื่อวิจารณ์ในเชิงลบ

เหตุการณ์ตัวอย่างที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในการเมืองไทยยุคใหม่เกิดขึ้นกับ พรรณิการ์ วานิช สมัยที่ยังเป็น ส.ส. เธอสวมชุดของแบรนด์ POEM (โพเอ็ม) เข้าสภา โดยชุดนั้นเป็นชุดสีขาว-ดำที่สุภาพ ไม่ได้โป๊ หรือไม่ให้เกียรติสถานที่ แต่กลับถูกคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในอินสตาแกรมส่วนตัว ตำหนิพรรณิการ์ว่าแต่งตัวไม่เหมาะสมในช่วงเวลาที่นักการเมืองจะต้องแต่งกายไว้ทุกข์ 

พรรณิการ์ได้โต้กลับความคิดเห็นนี้ว่าชุดของตัวเองนั้นเรียบร้อย เหมาะสมกับการเข้าประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี และสาระสำคัญของวันนี้อยู่ที่การเลือกนายกฯ กับการแสดงวิสัยทัศน์ หลังจากที่ประเทศไทยไม่มีนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยมา 5 ปี ผู้คนควรให้ความสนใจในประเด็นนี้มากกว่ามาให้ความสำคัญว่าตนสวมใส่ชุดอะไร 

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยเล่าถึงประสบการณ์ถูกตำหนิเรื่องการแต่งกายกลางสภา โดย ส.ส. ชายคนหนึ่งจากพรรคพลังประชารัฐค้านเรื่อง ‘เสื้อคอระบาย’ กล่าวหาว่าเธอแต่งกายไม่เหมาะสมกับสถานที่ ทั้งที่ตอนนั้นเธอสวมสูทแต่เสื้อด้านในเป็นเสื้อสีขาวแบบคอระบายเฉยๆ 

“วันนั้นใส่สูทปกติ แต่เสื้อด้านในเป็นแบบคอระบายสีขาว เราลุกขึ้นกำลังจะพูดเรื่องการทำรัฐประหารที่ส่งผลให้การเมืองและเศรษฐกิจปั่นป่วน อยู่ๆ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ยกมือขึ้นประท้วงว่า ท่านประธานครับ นั่นเขาแต่งตัวอะไรเข้ามา ผิดระเบียบ ให้ตำรวจสภามาเชิญตัวออกไปเถอะครับ เราคิดว่าเขาประท้วงด้วยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อขัดจังหวะให้เราหยุดพูด ให้ลืมสิ่งที่จะพูด”

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยให้สัมภาษณ์ว่าถูกนักการเมืองด้วยกันไล่ให้ไปเปลี่ยนชุด เพราะชุดสูทกับกางเกงที่เธอสวมใส่ดูจะไม่เคารพขนบธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมา เนื่องจากเป็นการแต่งกายที่ไม่ตรงกับเพศสภาพแต่กำเนิด จนเกิดคำถามตามมาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับณธีภัสร์ อาจเป็นการนำอัตลักษณ์ทางเพศมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ 

เมื่อมองไปยังการเมืองต่างประเทศ จะเห็นว่านักการเมืองหญิงที่มีชื่อเสียงในหลายยุคสมัยต่างก็จะถูกวิจารณ์ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน เช่น มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ ที่ดำรงตำแหน่งนานกว่า 11 ปี ชื่อเสียงของเธอมีทั้งแง่บวกและลบ มีทั้งคนรักและเกลียด แต่สิ่งหนึ่งที่สื่อเคยวิจารณ์เธอคือเรื่องของน้ำเสียง การพูด การถูกวิจารณ์ว่าพยายามพูดจาแบบผู้ชาย ไปจนถึงเรื่องเครื่องแต่งกายและบทความแซวกระเป๋าถือของเธอ 

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมองว่ากรณีของแทตเชอร์เป็นมรดกจากอดีต ที่ปัจจุบันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่นายกฯ อังกฤษเคยเจอมา เพราะสังคมโลกของเรามีพัฒนาการที่ดีเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และไม่มีการเปรียบเทียบกระทบกระทั่งกันในเรื่องแบบนี้เท่าไหร่แล้ว ทว่าในกรณีของนักการเมืองหญิงในไทยหลายคนที่ได้แบ่งปันเรื่องราวไปก่อนแล้ว ก็เผยให้เห็นว่าเรื่องพวกนี้จะยังคงมีอยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม 

การเลือกมองข้ามประเด็นที่นักการเมืองหญิงกำลังทำ แล้วหันไปวิจารณ์เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย หรือเรื่องใดๆ ก็ตามที่ไม่เกี่ยวกับนโยบายทางการเมือง มองในมุมหนึ่งคล้ายกับกำลังบอกนักการเมืองหญิงเหล่านี้ว่าถ้าทำดีก็เสมอตัว แต่ถ้าพลาดเมื่อไหร่จะถูกโจมตีหนักทันที เพราะพื้นที่ในโลกการเมืองไม่ได้มีไว้สำหรับผู้หญิงตั้งแต่แรก เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่มากกว่าใช่หรือไม่ 

ในงานเสวนาเรื่องสิทธิสตรีของโครงการดราก้อนฟลาย 360 (Dragonfly 360) ที่รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาค และได้เชิญนักการเมืองหญิงมาหลายคน พรรณิการ์เคยแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องเพศในรัฐสภาว่า หากเข้าไปในสภาจะพบเห็นการแซวแบบที่ได้ยินแล้วตกใจหลายครั้ง ซึ่งไม่ใช่การแซวชวนขำ แต่ยิ่งสร้างความประหลาดใจเวลาได้ฟัง 

 “ผู้หญิงมีราคาที่ต้องจ่าย เคยพูดไปหลายครั้ง วันแรกที่เข้าสภาก็มีการรับน้อง แซวแบบต่อหน้าต่อตา ทั้งๆ ที่อยู่ห่างจากบัลลังก์ประธานไม่ถึง 10 เมตร ตอนเดินขึ้นไปโหวตบนเวที ส.ส.ชายคนหนึ่ง คงไม่ต้องพูดชื่อพรรค ทำท่าพูดโทรศัพท์ดังกว่าปกติว่า ‘เฮ้ย มึงมาที่สภาสิ สาวๆ สวยๆ เยอะมาก’ ทั้งที่ประธานนั่งอยู่ตรงนั้น และรอบๆ มีเพื่อน ส.ส.นั่งอยู่ แต่ทุกคนรู้สึกปกติกับเรื่องนี้ ไม่มีใครมีสีหน้าประหลาดใจ

“เราโดนทั้งเรื่องเสื้อผ้า หน้า ผม เรื่องส่วนตัวจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ถ้าเป็นผู้ชายจะโดนเรื่องเนื้อหาสาระที่เขาพูดมากกว่า ไม่ค่อยมีคนด่าเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครด่า ส.ส. ชายว่าอ้วน หัวล้าน ลงพุง สูทไม่สวย แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะโดนว่าแต่งตัวบ้าอะไร อีอ้วน อีดำ อีนั่น อีนี่ โฟกัสเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน”

บางคนมองว่าการแก้ปัญหาของเรื่องนี้คือการเพิ่มจำนวนนักการเมืองหญิงในระบบมากขึ้น ผลักดันนักการเมืองหญิง นักการเมืองเพศอื่นๆ นอกจากเพศชายให้มากขึ้น ทว่าการเพิ่มจำนวน ส.ส. หญิง กับ ส.ส. ผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหานี้ และไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

มองในมุมหนึ่ง นักการเมืองเพศหญิงหรือนักการเมืองผู้มีความหลากหลายทางเพศบางคน ก็ยังมองไม่เห็นถึงปัญหานี้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องปรับอย่างแรกและนักการเมือง ‘ทุกคน’ ควรทำความเข้าใจให้ได้คือ อย่าคิดแค่จะให้นักการเมืองหญิงหรือนักการเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้พูดในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ แต่นักการเมืองทั้งหลายไม่ว่าจะเพศใด ก็ควรถูกประชาชนและนักการเมืองด้วยกันเองคาดหวังต่อประเด็นนี้แบบเท่าๆ กันหรือเปล่า

อ้างอิง : themomentum / prachatai / moderndiplomacy / cnn / The Matter

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า