fbpx

“อย่าอ้างสามก๊กในวันที่ฉันไม่อ่านแล้ว” เมื่อคนต่างวัยอ่านงานการเมืองกันคนละเรื่อง

“ยังได้ยินเสียงบอกว่ารวมพรรคนั้นได้พรรคนี้ไม่ได้ ตนก็อยากขอให้ดูสามก๊กหรือประวัติศาสตร์ชาติไทย ถ้าฆ่าแม่ทัพตาย เราจะเอาไพร่พลไว้เลี้ยงดูหรือไม่ หรือจะฆ่าทิ้งให้หมด” เป็นคำพูดที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่รัฐสภา ระหว่างแถลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย โดยยกเรื่องสามก๊กขึ้นมากล่าวถึงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิม

ไม่ใช่แค่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เท่านั้นที่กล่าวถึงสามก๊ก แต่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ก็เคยกล่าวถึงสามก๊กเช่นกัน เขากล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ขณะย้ายกลับมาซบพรรคพลังประชารัฐ ว่า “ถ้าให้เปรียบเทียบกับสามก๊ก พล.อ.ประวิตร เปรียบเหมือนเล่าปี่ที่พยายามรวบรวมผู้คนเข้ามากอบกู้แก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งในทางการเมือง พล.อ.ประวิตร มีบทบาทด้านนี้เด่นมาก และเชื่อว่า พรรคพลังประชารัฐรวบรวมคนเก่งเข้ามาได้มากขึ้น”

ประโยคเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่บ่งบอกถึงทัศนคติของนักการเมืองไทยวัยเก๋าที่ถึงแม้จะอยู่กันคนละพรรคแต่ก็มักยกวรรณกรรมเรื่อง ‘สามก๊ก’ ที่แต่งขึ้นตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14  ขึ้นมาอ้างถึงเสมอ

เราอาจตั้งคำถามได้ว่า การอ้างเหตุการณ์ในสามก๊กมาเปรียบเทียบกับการเมืองไทยของพวกเขา เป็นเพราะพวกเขากำลังอยู่บนเส้นทางที่เดินหน้าไปสู่ชัยชนะทางการเมือง ซึ่งหมายถึงการมีอำนาจทางการเมือง และได้เป็นรัฐบาลกันอยู่หรือไม่ ในขณะเดียวกัน การอ้างสามก๊กของนักการเมืองบางกลุ่มนั้นเป็นตัวชี้ชัดได้ไหมว่าพวกเขายังติดในกรอบการเมืองแบบสามก๊ก ที่เน้นเล่นเกมการเมืองหักเหลี่ยมกันมากกว่าจะสู้ด้วยอุดมการณ์ ขณะที่คนรุ่นใหม่แทบไม่ได้อ่านสามก๊กเพื่อทำความเข้าใจการเมืองอีกแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่น่าถามต่อไปก็คือ สามก๊กที่นักการเมืองรุ่นใหญ่มักอ้างให้คนรุ่นใหม่ฟังนั้นสามารถสร้างความซาบซึ้งได้หรือไม่ เพราะหากเราไม่ได้อ่านสามก๊ก หรือเสพสามก๊กจน “เข้าเส้น” แบบที่อธิบายทุกเรื่องด้วยสามก๊กได้ตลอดเวลา คงจะยากที่คนรุ่นใหม่จะเข้าใจและยอมรับแนวคิเของคนรุ่นเก่าได้

ขณะเดียวกันคนรุ่นเก๋าจำเป็นต้องทำความเข้าใจแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ผ่านวรรณกรรมที่คนรุ่นใหม่อ่าน เพื่อจะนำไปสู่ความเข้าใจของคนทั้งสองรุ่น

ในงาน Winter Book Fest 2020 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่สามย่านมิตรทาวน์ เยาวชนไทยตื่นตัวด้านการเมืองมาก โดยข้อมูลจาก PPTV ระบุว่า “บูธของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถือเป็นหนึ่งในบูธที่ได้รับความสนใจ มีเยาวชนเข้ามาซื้อหาหนังสือการเมืองอย่างไม่ขาดสาย สะท้อนถึงความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในเรื่องการเมืองมากขึ้น” และหนังสือส่วนใหญ่ที่เด็กๆ สนใจ คือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านประชาธิปไตย งานวิชาการที่พวกเขาสนใจอ่านเป็นงานของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ 

ข้อมูลจากมติชนในช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บูธหนังสือที่เยาวชนให้ความสนใจคือบูธสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและมติชน ที่ตีพิมพ์หนังสือออกมาให้ผู้อ่านได้รู้ถึงรสชาติของการเมือง และประวัติศาสตร์ที่มีการวิพากษ์หลักฐาน หรือออกนอกกรอบของหนังสือเรียนในโรงเรียน ซึ่งแทบไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสามก๊กเลย  และสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับสามก๊กก็แทบไม่มีชื่ออยู่ในสิ่งที่เยาวชนสนใจเลย ตลอดงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา อีกสิ่งที่ทำให้เห็นถึงการตื่นตัวของเยาวชนคือมีการจัดบูธจากพรรคการเมืองที่เยาวชนให้ความสนใจเข้าไปเยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็นบูธจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย  

ข้อมูลเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนได้ดีที่สุดว่าคนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองจริง และที่สำคัญเป็นการเมืองเชิงอุดมการณ์ด้านประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับการเมืองที่มีประชาชนเป็นสำคัญ ผิดไปจากสามก๊กที่นักการเมืองรุ่นใหญ่เสพ เพราะวรรณกรรมสามก๊กที่มีคำร่ำลือว่า “อ่านสามก๊กสามจบ คบไม่ได้” เป็นการหักเหลี่ยมชิงไหวชิงพริบ ระหว่างตัวละคร ใช้แผนและยุทธวิธีการรบเพื่อให้ได้ชัยชนะ เรียกได้ว่าเป็นการมองการเมืองแบบ เกมการเมือง ชี้ให้เห็นว่าเป็นการอ่านหนังสือกันคนละเล่ม มองการเมืองกันคนละแบบ จนนักการเมืองรุ่นใหญ่ทั้งหลายต้องคิดได้แล้วว่า หากจะสื่อสารกับเด็กต้องสื่อสารด้วยอะไร ภาษาแบบไหน จะใช้สามก๊กมาอ้างอีกได้หรือเปล่า  

เพราะโหวตเตอร์รุ่นใหม่มีความสำคัญในการหาเสียงและจะเป็นคะแนนเสียงที่มาแทนผู้ใหญ่ในอนาคต เห็นได้จากหลายพรรคการเมืองที่ทำการบ้านมาดีอยู่พอสมควรในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยยกเรื่องที่เยาวชนสนใจมาพูดถึง เช่นเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากคณะรัฐประหารเผด็จการตลอดเกือบ 9 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาสู่ประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่นพรรคก้าวไกลที่สร้างความชัดเจนในอุดมการณ์ของพรรคด้วยการใช้สโลแกน “มีเราไม่มีลุง” หรือ “กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” ไม่ว่าจะเป็นการชูการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ที่ก่อนหน้านี้มีเด็กและเยาวชนที่ออกมาชุมนุม ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายดังกล่าว รวมถึงนโยบายกระจายอำนาจที่ให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยที่ลงไปสู่ท้องถิ่น และองค์กรการปกครองที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด 

มองไปที่พรรคเพื่อไทย ช่วงหาเสียงเลือกตั้งกลับขาดความชัดเจนและสร้างความระแวงให้กับประชาชน ไม่ว่าเรื่องจะจับมือกับพรรครัฐบาลเดิมที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ตอบไม่ชัดเจนว่าจะจับมือด้วยหรือไม่ ทำให้สื่อหลากหลายสำนักมักจี้ถามกับตัวแทนของพรรคเพื่อไทยในหลายๆ เวทีดีเบต ถึงแม้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะยืนยันว่าจะไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ หรือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังไม่ชัดเจน มองไปที่สโลแกนของพรรคเพื่อไทย “เลือกเพื่อไทยแลนสไลด์ ประเทศไทยเปลี่ยนทันที” ก็ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ ความเปลี่ยนแปลงไปถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตย และการไม่มี 2 ลุงอยู่ต่อไปในระบบการเมืองไทย 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า พรรคที่อุดมการณ์ชัดเจน มักได้คะแนนนิยมสูงสุด มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากผลเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 ได้ ส.ส.เขตถึง 112 เสียง ชนะในกรุงเทพมหานครเกือบทั้งหมดยกเว้นเขตลาดกระบัง รวมไปถึงชนะในปริมณฑลเมืองใหญ่ และเขตเมืองของแต่ละจังหวัด ยังไม่รวมการล้มบ้านใหญ่ในหลายจังหวัด กวาดความไว้ใจจากประชาชนไป 14,438,851 คน สร้างแผ่นดินไหวทางการเมืองจนนักการเมืองรุ่นใหญ่อกสั่นขวัญแขวน 

นอกจากนี้ คะแนนแบบบัญชีรายชื่อที่ออกมายังสะท้อนความนิยมของพรรคก้าวไกล เพราะในหลายๆ จังหวัดที่ไม่ได้ ส.ส.เขต แต่ปรากฏว่าประชาชนกาให้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกลในหลายๆ เขต ทำให้พรรคก้าวไกลคว้า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไป 39 ที่นั่ง ขณะที่ความไม่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทย ทำให้แลนด์สไลด์เป็นแค่ความฝัน กลายเป็นพรรคอันดับ 2 ที่มี ส.ส.จำนวน 141 ที่นั่ง (ส.ส. เขต 112 ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 29 ที่นั่ง) ได้เสียงจากประชาชนไป 10,962,522 คน 

เมื่ออุดมการณ์ที่ชัดเจนสำคัญกว่าเกมการเมือง แนวคิดของนักการเมืองวัยดึกที่ถือตำราสามก๊ก ยกอ้างกลยุทธ์เพื่อเอาชนะทางการเมืองออกมาอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไปเพราะอุดมการณ์และประชาธิปไตยคือการเมืองที่คนรุ่นใหม่หาความรู้ ทำความเข้าใจ รวมถึงมีความต้องการที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาสู่การเมืองไทย ต่อให้คุณจะเป็นแฟนพันธ์แท้สามก๊ก เซียนสามก๊ก อ่านสามก๊กมากกว่าสามจบหรือมากกว่านั้น ยึดถือสิ่งนี้มากไปและตลอดเวลา เชื่อว่าก็จะคุยกับพวกเขาไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ใจเขา รวมถึงพรรคการเมืองและเกมการเมืองของคุณจะเหลือแต่ชื่อ ให้คนรุ่นต่อไปจดจำว่าไม่ควรเอาอย่างเพราะเป็นการยึดติดกับการเมืองเก่าๆ เท่านั้นเอง 

ที่สำคัญ สามก๊กที่นักการเมืองรุ่นเก๋ายึดถือ เป็นเพียงวรรณกรรมที่ผู้แพ้แต่งขึ้นมา โดยอ้างอิงกับกลียุคปลายราชวงศ์ฮั่น ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ใหม่ ยุคนั้นยังไม่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เป็นยุคศักดินา ขณะที่หนังสือที่โหวตเตอร์หน้าใหม่ถือ คือเรื่องประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ตรงกับบริบททางการเมืองมากกว่ายุคสามก๊กอันไกลโพ้นที่เอามาอ้างอิง กลายเป็นว่าคุณพูดไปแล้วเด็กไม่เข้าใจ ผิดยุคผิดบริบทไปเปล่าๆ 

อ่านสามก๊ก สามจบ ก็คบได้ ถ้าเราอ่านเป็นบทเรียน ไม่ใช่ยึดติดกับเกมการเมืองมากกว่าอุดมการณ์ เพราะหากคุณอ้างสามก๊กซ้ำๆ ระวังฉันจะพูดว่า อย่ามาอ้างสามก๊กในวันที่ฉันไม่ได้อ่าน เพราะโหวตเตอร์รุ่นใหม่กับนักการเมืองรุ่นใหญ่อ่านหนังสือกันคนละเล่มแล้ว

แหล่งอ้างอิงmatichon 1 2 3 / dailynews / pptvhd36 / prachatai 1 / thestandard

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า