fbpx

โมงยามแห่งความเงียบงัน : มีสิ่งใดเลือนหายหลังเสียงปืน 6 ตุลา 2519

เช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เสียงปืนเริ่มดังขึ้นข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานที่ปักหลักชุมนุมของนิสิตนักศึกษาเพื่อต่อต้านการกลับมาของ “ถนอม กิตติขจร” หนึ่งในสามทรราชย์ผู้เป็นสารตั้งต้นของความฉิบหายของระบอบประชาธิปไตย ลุกลามไปถึงการสร้างความเข้าใจผิดจากการแสดงละครสะท้อนเหตุการณ์สู่การ “เหยียบหัวใจ” ประชาชน 

นับแต่เสียงปืนนัดแรกดังขึ้น ท้องฟ้าเหนือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์คลุ้งไปด้วยควันปืนและคาวเลือด จนจางลงพร้อมกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันนั้น

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บ้านเมืองก็เข้าสู่ “โมงยามแห่งความเงียบงัน” ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือความบันเทิง

The Modernist จึงขออาสาพาทุกคนไปแกะรอยความเงียบหลังวันสังหารหมู่ใจกลางเมืองเมื่อ 47 ที่แล้วไปพร้อม ๆ กัน

(คำเตือนก่อนอ่าน: เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องในอดีต หากบางตอนคุณรู้สึกว่าอ่านแล้วคล้ายคลึงกับปัจจุบัน คุณอาจจะกำลังคิดไปเอง)

ที่มาภาพ:  ชุดภาพถ่ายขาวดำจากคุณปฐมพร ศรีมันตะ, doct6.com

โมงยามที่เสียงของประชาชนสิ้นความหมาย

เสียงปืนดังขึ้น ตามมาด้วยการสังหารหมู่นิสิต-นักศึกษา และประชาชน ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากฝ่ายขวาจากทั้งตำรวจ ทหาร กลุ่มคลั่งฝ่ายขวา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน เพียงเพราะเชื่อคำปลุกปั่นจากสื่อฝ่ายขวาไม่ว่าจะเป็นวิทยุยานเกราะ หรือหนังสือพิมพ์ดาวสยาม กล่าวหาว่านักศึกษาและผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นฝ่ายซ้ายเป็นคอมมิวนิสต์ที่ต้องการล้มล้างการปกครองและสถาบันต่างๆ ในประเทศไทย เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะฝ่ายขวาผิดหวัง หมดหวัง และไม่รู้จะไปทางไหน งุนงงกับสถานการณ์ที่ภายหลังเวียดนามใต้ ลาว กัมพูชา ล้วนพ่ายแพ้ต่อคอมมิวนิสต์ ทำให้พวกเขาเกิดความสับสน นำไปสู่การสังหารหมู่เพื่อนร่วมชาติ เพื่อนผู้มีหัวใจประชาธิปไตยเพียงเพราะนิสิต-นักศึกษาและประชาชนที่มาชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการกลับประเทศของ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีและจอมเผด็จการสืบทอดอำนาจ ผู้ซึ่งเอื้อผลประโยชน์ให้กับชนชั้นสูงและพวกพ้องของตนเอง

หลังเสียงปืนจบลง ความสูญเสียเข้ามาเยือน บรรยากาศหดหู่สุดจะพรรณนา เต็มไปด้วยคราบน้ำตาและความตาย ความเงียบสงัดเข้ามาสู่การเมืองไทยทันที เพราะทหารได้ขยับออกจากกรมกอง ประกาศศักดาทั่วท้องถนน พร้อมอาวุธครบมือเข้ายึดอำนาจ โดยมีชื่อคณะผู้ก่อการว่า  “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ การเมืองแบบภาคประชาชน การเมืองแบบรัฐบาลพลเรือน จึงเงียบสงบและจบลงด้วยการรัฐประหารทันที

เหตุเพราะมีการตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดโดยมี ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้ฉายา “รัฐบาลหอย” ด้วยเหตุมาจากเหมือนหอยที่อยู่ในเปลือกที่ถูกโอบอุ้มโดยทหาร ทำให้บรรยากาศการเมืองที่เคยมีสีสัน ไม่ว่าจะมีการชุมนุมเรียกร้องต่างๆ ของสังคม หรือสีสันบรรยากาศการเมืองในสภาของนักการเมือง ต้องจบลงและมืดมิด มีเพียงบรรยากาศแห่งมัจจุราชจากปลายกระบอกปืนที่จ่อคอเข้ามา จนบรรยากาศประชาธิปไตยถึงกับไร้รสชาติ ไร้สี เหมือนดั่งภาพขาว-ดำ ที่แทบจะไม่สะดุดตาใดๆ เลย

เมื่อรวมกับกฎหมายปิดปากผู้เห็นต่าง ยิ่งสร้างบรรยากาศ “สงบปากสงบคำ” เพราะมีการเพิ่มโทษที่รุนแรงในประมวลกฎหมาย มาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์จากเดิมที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เปลี่ยนเป็นจำคุก 3-5 ปี สำหรับคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร จะมีผลทำให้มีการตีความถอยกลับคืออาจมีการฟ้องคดีซ้ำได้แม้ศาลต่างประเทศพิพากษาถึงที่สุดและยังไม่พ้นโทษ เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายปิดปากที่รุนแรงทำให้บรรยากาศการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เอื้อให้กับการวิพากษ์วิจารณ์ต้องจบลง 

ส่วนขบวนการร่วมระหว่างนิสิต-นักศึกษา กรรมกร และชาวนาที่ต้องจบสิ้นลง ทำให้อำนาจการต่อรองกับนายทุนใหญ่หรือรัฐบาลลดน้อยลง ทั้งเรื่องค่าจ้าง สินค้าทางการเกษตร หรือสหภาพแรงงานในอดีต ที่เคยเข้มแข็งจนสามารถต่อรองค่าจ้าง รวมตัวนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงาน ก็ไม่สามารถรวมตัวหรือต่อรองกันได้อีกต่อไป เพราะรัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามนัดหยุดงาน ตลอดจนเกิดการจับกุมลูกจ้างที่หยุดงาน โดยยัดข้อหา “เป็นภัยสังคม” เข้าไป

ที่เงียบยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดคือการสืบสวนคดีความจากภาครัฐต่อการสังหารหมู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลายเป็นว่ามีผู้กระทำความผิด แต่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการสังหารเพื่อนร่วมชาติใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกันกลับมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเร่งด่วนจากรัฐบาล จำเลยในคดีสังหารหมู่นิสิต-นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ถูกถอนข้อหาไปทั้งหมด นี่จึงเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายแบบ “สองมาตรฐาน” เพื่อคุ้มครองผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหารให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีใด ๆ ในอนาคต

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองไทยช่วง 6 ตุลาคม นั้นเป็นการเมืองจากภาคประชาชน นิสิต-นักศึกษา กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน ที่ถูกกดทับจากรัฐบาล โดยใช้กฎหมายความรุนแรงเข้าปิดปาก ใช้กระบอกปืนข่มเหง ทำให้การเรียกร้องสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ หรือการถกเถียงแนวคิดทางการเมืองตลอดจนความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในประเทศไทยต้องสงัดลง แต่ประชาชนหาได้ยอมจำนนไม่ เพราะหลาย ๆ คนมุ่งหน้าเข้าสู่ “ป่า” 

และถึงแม้ภายในเมืองจะเงียบสงบลง ภายในป่านั้นกลับคึกคัก ไม่ใช่เพราะเสียงนกกาในป่าไพร แต่คือหัวใจของประชาชนผู้มีอุดมการณ์ดังระงมในป่าใหญ่ที่ห่างไกลจากอำนาจรัฐเผด็จการ

ที่มาภาพ: ภาพถ่ายจาก “คุณอ๊อด” (ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อจริง), doct6.com

โมงยามแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากประชาชนที่ชะงักงัน

ห้วงเวลาสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเดือนตุลาฯ เรี่ยวแรงสำคัญที่ออกมาจับมือกับนักศึกษาก็คือ ผู้ใช้แรงงานและชาวนา จนถูกเรียกว่าพลัง ‘สามประสาน’ ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรม จนถูกตีตราจากขบวนการฝ่ายขวาว่าเป็นการกระทำของคนไม่รักชาติ แรงขับสำคัญของเหล่ากรรมกรและชาวนาที่ออกมาเข้าร่วมในการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ มาจากการถูก ‘เงียบเสียง’ จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในขณะนั้น 

ก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ 2510 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างก้าวกระโดด ทำให้ระบบทุนนิยมเข้มแข็งขึ้น ส่งผลให้สังคมไทยได้เปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรมเต็มที่ ส่วนภาคการเกษตรก็เปลี่ยนไปเน้นเป็นผลิตเพื่อขาย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (ปี 2515-2519) ของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวในคำปราศัยในการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ดังกล่าวว่า เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การยกระดับการผลิตในสาขาเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ในชนบท แต่เมื่อกลุ่มทุนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และการบริหารงานของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ได้นำสังคมไทยไปสู่ความเหลื่อมล้ำ เกษตรกรเริ่มไม่มีที่ดินทำกิน บ้างก็อดยากแร้นแค้นจากการขึ้นค่าเช่าตามอำเภอใจของเจ้าของที่ดิน ขณะที่แรงงานได้รับค่าจ้างต่ำ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคาข้าวของไทยกำลังตกต่ำในตลาดค้าข้าวของโลก ประกอบกับในช่วงปี 2516-2517 โลกเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขึ้น รัฐบาลได้ตัดสินใจปรับราคาน้ำมันในประเทศขึ้นตาม ส่งผลให้ราคาสินค้าข้าวของทุกอย่างทยอยปรับขึ้นกันถ้วนหน้า เนื่องจากน้ำมันแทบจะเป็นต้นทุนของทุกอย่าง สิ่งนี้ได้กัดกร่อนกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย 

สถานการณ์ภายในประเทศและโลก ประกอบกับเสียงเรียกร้องของขบวนการนักศึกษาที่เริ่มดังกระหึ่มในห้วงเวลานั้น ทำให้ชาวนาเลือกที่จะเปล่งเสียงร้องต่อความเงียบที่ความอยุติธรรมได้สร้างขึ้น เช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ที่นัดหยุดงานกันหลายครั้ง ทำให้นักศึกษามองเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำที่ถูกรัฐและกลุ่มทุนถ่างออกจนกว้างขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถนัดตา นำมาสู่การประสานพลังขับเคลื่อนประชาธิปไตยควบคู่ไปกับสิทธิความเท่าเทียมในสังคม 

เสียงที่ถูกเปล่งจากความเงียบ และบรรยากาศการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างความหวาดหวั่นและสั่นสะเทือนไปยังกลุ่มผู้ที่กุมอำนาจเก่าและนายทุน ที่กลัวจะสูญเสียผลประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้พุ่งตรงไปที่ตัวบุคคล แต่ยังมีนัยถึงการสู้กลับไปยังระบบเศรษฐกิจรูปแบบเดิมที่กดขี่ผู้ที่อยู่ชายขอบของสังคมจนต้องเงียบเสียงมานานหลายปี แต่ท้ายที่สุดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคประชาชนก็ได้จบสิ้นลงพร้อมกับสิ้นเสียงปืนในเย็นวันที่ 6 ตุลา

ที่มาภาพ: ชุดภาพถ่ายขาวดำจากคุณปฐมพร ศรีมันตะ, doct6.com

โมงยามแห่งเพลงขวา และความบันเทิงที่ล่องลอย

หากโมงยามหลังเสียงปืนของการเมืองและเศรษฐกิจทำให้ประเทศเงียบสงัดได้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเงียบนั้นจะส่งผลถึง “วิถีชีวิต” และ “สื่อ” ที่ประชาชนเสพด้วยเช่นกัน

ตั้งแต่รัฐประหารปี 2514 เป็นต้นมา ความนิยมวรรณกรรมกลุ่มที่เรียกว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ก็เพิ่มมากขึ้น ถึงขนาดที่หนังสือเล่มไหนที่ถูกแบนก็มีการตามหากันตามตลาดหนังสืออย่างชัดเจน 

อุดมการณ์การ “รับใช้สังคม” แพร่กระจายไปทั่วทุกสถาบัน ตั้งแต่นักเรียนมัธยมจนถึงอุดมศึกษา อุดมการณ์ประชาธิปไตยและการต่อต้านชนชั้นทางสังคมค่อย ๆ เติบโตขึ้นในสถาบันต่าง ๆ อย่างที่เราเคยได้ยินคำขวัญของหลายสถาบันพูดถึงการ “รับใช้ประชาชน” ที่ติดหูจนปัจจุบัน เพลงและวรรณกรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นจึงเกิดมาสอดประสานกับอุดมการณ์เหล่านี้ที่เฟื่องฟูสุดขีด จนกระทั่งเสียงปืนดังขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เสียงปืนไม่ได้พรากไปเพียงแต่ชีวิตเท่านั้น แต่ยังพรากเอาอุดมการณ์ออกไปให้ห่างจากผู้คนอีกด้วย

ห้วงเวลานั้น เสียงเพลง “หนักแผ่นดิน” (เพลงนี้แต่งเมื่อปี 2518 – หนึ่งปีก่อนหน้า 6 ตุลาฯ) ดังกระหึ่มตามคลื่นวิทยุทั่วประเทศ ถาโถมความสะใจแก่คนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับเพลงลูกทุ่งหรือเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ทำให้คอมมิวนิสต์สยดสยอง น่ากลัว และเชื่อมโยงกับการโจมตีกลุ่มนิสิตนักศึกษาอย่างชัดเจน อันที่จริงแล้วความเกลียดชังที่เกิดกับฝ่ายซ้ายถูกโหมกระหน่ำมาเป็นปี ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองรอบบ้านที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ความกังวลย่อมเกิดขึ้นในบ้านของเราว่า เราอาจจะบ้านแตกสาแหรกขาด และแน่นอนว่าการปลุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวได้ดีที่สุดคือการปลุกความรู้สึกร่วมของคนขึ้นมา 

คราวนี้ ความรู้สึกที่ถูกเลือกขึ้นมาใช้คือ “ความกลัว” และความกลัวนี้เองที่กลายมาเป็นชนวนของเสียงปืน! ซ้ำยิ่งเมื่อเสียงปืนดับลง ก็ราวกับว่าความกลัวไม่ได้เลือนหายไป

ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เหมือนจะหายไปในยุคนี้ และความบันเทิงแบบหวานแหววที่เข้ามาเคลือบแฝงสังคมแบบ “แอปเปิ้ลอาบยาพิษ”

ความบันเทิงแบบ “เมโลดรามา” (Melodrama) หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเรื่องน้ำเน่า เข้ามามีบทบาทต่อคนเมืองอย่างชัดเจน เนื่องจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและแข่งขันตามการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวกระโดด การหลีกหนีความเครียดด้วยเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ก็คงจะไม่แปลกอะไร แต่เมื่อความบันเทิงเช่นนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาแห่งความเกลียดชัง ย่อมมีความหมาย

แม้เราจะไม่รู้ชัดว่าในช่วงปลายปี 2519 มีละครอะไรบ้าง แต่ละครหลายเรื่องตั้งแต่ 2516 เป็นต้นมา ฉายให้เห็นภาพ “ความกลัว” ที่เกิดขึ้นกับคอมมิวนิสต์ – สิ่งที่ถูกสร้างให้คนมองนิสิตนักศึกษา อย่างละครเรื่องที่ฮิตที่สุดหลังการรัฐประหารอย่าง “ผู้กองยอดรัก” ที่มาจากนวนิยายเรื่องเดียวกันของกาญจนา นาคนันทน์ เรื่องราวของแพทย์ทหารและทหารเกณฑ์รับใช้ สร้างทั้งเสียงหัวเราะและเรื่องรักจนทำให้เกิดการผลิตซ้ำหลายต่อหลายครั้ง ความฮิตของเรื่องรักรอมคอมจนส่งให้มีภาคต่อเป็น “ยอดรักผู้กอง” นี้เองมีส่วนหล่อหลอมให้เกิดการ romanticize ระบอบทหารว่านำพาความสงบสุขและเป็นที่พึ่งพาของผู้คนได้ แม้ว่าละครเรื่องนี้จะออกฉายหลังจากการรัฐประหารเย็นวันที่ 6 ตุลาคม ถึง 3 ปี แต่ระยะเวลาที่ห่างออกไปนี้ก็แสดงให้เห็นว่าความกังวลใจที่มีต่อ “ภัยคุกคาม” ในสังคมไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย 

ที่มาภาพ: ThaiMoviePosters

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของการ “รับใช้สังคม” ก็ยังคงได้รับการถ่ายทอดอยู่ ภาพยนตร์เรื่อง “ครูบ้านนอก” (2521) ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการถ่ายทอดอุดมการณ์นี้ผ่านตัวละครครู ผู้เคยอยู่ในเมืองหลวง หอบหิ้วอุดมการณ์แรงกล้ามาสัมผัสความยากลำบากของชีวิตชนบทจากการต้องออกไปสอนหนังสือเด็ก ๆ นำไปสู่การงัดข้อกับข้าราชการในท้องถิ่นและจบลงด้วยความตายของตนเอง แต่สุดท้าย พึงพิจารณาว่าในเรื่องนี้ตัวละครฝ่ายดีได้รับสิ่งตอบแทนคือ “ความตาย” ก็อาจสะท้อนความเป็นจริงในสังคมว่า อุดมการณ์อาจเอาชนะอำนาจไม่ได้ แต่ก็อาจกระตุกสำนึกของคนให้กลับมาเช่นกัน

ที่มาภาพ: ThaiMoviePosters

หากลองดูฝั่งหนังสือ เราพบว่านวนิยายที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ หรือจริง ๆ ก็คือตั้งแต่หลัง “14 ตุลาฯ” ที่จบลงด้วยชัยชนะ(?) ของนิสิตนักศึกษา นำเสนอเนื้อหาบางส่วน “โจมตี” ขบวนการนิสิตนักศึกษาอย่างชัดเจน โดยมีฉากหน้าเป็นนวนิยายรักโรแมนติก อนึ่ง พึงสังเกตว่าผู้เขียนนวนิยายกลุ่มนี้มักเป็นคนใน “ชนชั้นนำ” ที่มีอุดมการณ์สวนทางกับขบวนการนิสิตนักศึกษา นวนิยายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจากนักเขียนกลุ่มนี้อาจเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างภาพหลอนคอมมิวนิสต์ และลดทอนให้อุดมการณ์ของนิสิตนักศึกษาเหล่านี้เป็นเพียง “เสียงเงียบ” ที่คนเมินเฉย เช่น “สิ้นสวาท” ของโรสลาเรน หรือ “ความรักสีเพลิง” ของสีฟ้า ซึ่งเรื่องหลังน่าสนใจที่ผู้เขียนวางพล็อตให้เป็นเรื่องราวของนิสิตรัฐศาสตร์ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบที่กดขี่ แต่ท้ายที่สุดก็ดันเติบโตไปเป็นผู้กดขี่ในระบอบนั้นเอง แม้จะแอบแซะระบบชนชั้นในสังคมไทยอยู่ในที แต่สิ่งที่ตั้งใจจะแซะที่แท้จริงคือความโลเลของคนผู้ที่ยังด้อยเดียงสา อุดมการณ์ที่เคยแกร่งกล้าสุดท้ายก็ต้อง “สมยอม” และ “สยบยอม” ต่อระบบของสังคมที่ถูกมองว่าไม่มีใครทำลายได้ 

หรืออีกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือหนังสือที่ออกโดยนิสิตนักศึกษาเอง อย่าง “มหาวิทยาลัย” โดยแผนกสาราณียกร สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีกำหนดออกทุกวันที่ 23 ตุลาคม แม้ปี 2519 จะไม่มีหนังสือฉบับนี้ออกมา แต่เราอาจสังเกตได้ว่าในปีต่อมาหนังสืออ้างอิงถึงสิ่งที่ “ฝ่ายขวา” เชิดชูอย่างชัดเจน โดยไม่พูดถึงอุดมการณ์การรับใช้สังคม ที่มหาวิทยาลัยปลูกฝังมาตลอด 

นอกเหนือจากนี้ เรายังพบว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังกระทบถึงวรรณกรรมและการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วย ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านนิยายเรื่องหนึ่ง ชื่อ “อุดมการบนเส้นขนาน” โดยได้รับคำบอกเล่าว่าเคยมีสถานะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียน แต่ถูกถอดออกไปหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เมื่อพิจารณาเนื้อหาแล้ว ผู้เขียนมองว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ถูกถอดออกไปคือเนื้อหาที่พูดถึงความหลากหลายและ “ขันติธรรม” ที่เกิดขึ้นในสังคม อันมาจากพล็อตเรื่องที่พูดถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวต่างชาติและคนไทยในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งแอบขัดกับอุดมการณ์ “บางอย่าง” ที่รัฐต้องการปลูกฝังให้นักเรียนไปด้วย 

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสื่อบันเทิงในช่วงเวลานี้คือความ “ล่มสลาย” ของการก่อร่างอุดมการณ์การรับใช้สังคม ผลักผู้คิดต่างให้เป็นเหมือนตัวร้าย หรืออย่างมากที่สุดคือคนดีที่เส้นทางชีวิตสิ้นสุดด้วยความตาย ราวกับว่าอุดมการณ์ถือไปก็กินไม่ได้อยู่ดี

โมงยามของความเงียบงันของแนวคิดฝ่ายซ้ายในสื่อบันเทิงจบลงพร้อม ๆ กับคำสั่งที่ 66/2523 จากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ วรรณกรรมเพื่อชีวิตได้รับการเชิดชูผ่านการถือกำเนิดของ “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “รางวัลซีไรต์” ราวกับว่าคุณค่าที่สังคมต้องการรื้อฟื้นคือการรับใช้สังคม ทว่าสิ่งที่เลือนหายไปคือความรุนแรงจากการถูกล้อมฆ่าใจกลางเมือง

หากอ่านมาถึงตรงนี้ ไม่แปลกที่เราอาจนึกถึงสภาวะของบ้านเมืองที่คล้ายจะกลับไปสู่วังวนแห่งความเมินเฉย ล่องลอยแบบเดิม หากเพียงแต่ได้ใช้เสียงใช้สิทธิผ่านคูหาเท่านั้น

แต่ไม่เสมอไป การต่อสู้ของประชาชนเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง แม้จะวนลูปที่การเกิดความรุนแรงต่อชีวิตของผู้เรียกร้องหลายต่อหลายหน และจบลงที่การพรากอำนาจจากประชาชนเช่นเคย ความเงียบที่เกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีก่อนจึงไม่เคยเป็นเสียงเงียบ แต่เป็นรังสีที่ส่งผ่านพลังแบบทะลุกำแพง เลยขีดจำกัดของเวลา และยังคงส่งอิทธิพลถึงความคิดของคนมาจนตอนนี้

ที่มาภาพ: ชุดภาพถ่ายขาวดำจากคุณปฐมพร ศรีมันตะ, doct6.com )

แหล่งอ้างอิง silpa-mag 1 / prachatai 1 2 3 / waymagazine / adminebook 1 / fapot / chu / bbc / doct6 / the101 , 1 / pridi / nesdc / wiki

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า