fbpx

ฟังเสียงคนไทย ปี 2021 พร้อมสำหรับชีวิตไร้เงินสดมากขึ้น? และเทรนด์ที่น่าสนใจ

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ประเทศไทย เริ่มต้นการเข้าสู่สั่งคมไร้เงินสด (Cashless Society) เปลี่ยนผ่านจากการใช้เงินสดเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ มาสู่การใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ เพื่อชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต ยิ่งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้การใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสด เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์การใช้จ่ายแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) ที่เริ่มเป็นที่สนใจสำหรับหลายๆ คน

Visa (วีซ่า) ในฐานะผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เปิดเผยผลการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ครั้งที่ 8 ประจำปี 2021 ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตไร้เงินสด การใช้จ่ายแบบไร้การสัมผัส (Contactless Payment) และเทรนด์การใช้จ่ายในอนาคต โดยการศึกษาดังกล่าว เป็นการศึกษาในคนไทย 1,000 คน ครอบคลุมตั้งแต่อายุ 15-65 ปี

คนไทยพร้อมก้าวสู่ ‘ชีวิตไร้เงินสด’ มากขึ้น

ผลสำรวจของวีซ่า ระบุว่า คนไทยเกือบ 9 ใน 10 ได้ลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดแล้ว มาตั้งแต่ปี 2020 โดยปี 2021 มีสัดส่วนอยู่ที่ 87% เพิ่มจากเมื่อปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 82% และคนไทยเกือบครึ่ง หรือ 43% สามารถใช้ชีวิตแบบไม่พึ่งเงินสดได้นานขึ้นมากกว่า 1 สัปดาห์ไปจนถึงหลักเดือน ขณะที่ 79% ของคนไทย มั่นใจว่าสามารถใช้ชีวิตได้ในช่วง 24 ชั่วโมงแบบไม่พึ่งเงินสด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเพียง 62% ที่จะใช้ชีวิตใน 24 ชั่วโมงข้างหน้าได้โดยไม่พึ่งเงินสด

นอกจากนี้ ผลการศึกษาระบุว่า คนไทยมากกว่า 3 ใน 5 (61%) ถือเงินสดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา 3 สาเหตุหลักที่ทำให้หลายคนเลิกใช้เงินสด คือ การเลือกชำระแบบดิจิทัลมากขึ้น (77%) ความกังวลเรื่องการติดต่อของโรคระบาดผ่านการถือเงินสด (54%) และจำนวนร้านค้าที่รับชำระแบบดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น (45%)

‘Contactless Payment’ ทางเลือกใหม่ที่คนไทยเริ่มสนใจมากขึ้น

หลายคนที่มีบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต อาจเพิ่งเข้าใจว่า ระบบ Contactless หรือ การชำระเงินแบบไร้สัมผัส เพิ่งมีมาไม่นานนี้ แต่จริงๆ แล้ว ธนาคารในประเทศไทย เริ่มนำระบบ Contactless มาไว้ในบัตรเครดิตมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน แล้วจึงนำมาใช้กับบัตรเดบิต เมื่อปี พ.ศ. 2558 ก่อนจะแพร่หลายในบัตรเครดิต และบัตรเดบิตของทุกธนาคารดังในปัจจุบัน

ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการนำระบบ Contactless มาใช้กับร้านค้าในประเทศไทย มาจนถึงวันนี้ มีร้านค้าที่รับชำระแบบ Contactless เพิ่มมากขึ้น สามารถใช้จ่ายแบบ Contactless กับการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ  เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า หรือเรือโดยสาร พร้อมทั้งความนิยมในการใช้จ่ายรูปแบบดังกล่าว เริ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ผลการศึกษาของวีซ่า เปิดเผยว่า เกือบ 9 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม (87%) มีการรับรู้เกี่ยวกับบัตร Contactless ขณะที่ 88% ของกลุ่มคนที่ยังไม่เคยใช้งาน มีความสนใจในการชำระเงินรูปแบบนี้

มองเทรนด์การจับจ่ายในอนาคต

เมื่อสังคมไร้เงินสด เริ่มนิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ร้านค้าต้องเริ่มปรับการรับชำระเงินของร้านค้าให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

วีซ่า ได้สอบถามผู้บริโภคชาวไทยว่า หมวดร้านค้าใดที่เห็นว่าจะรับชำระแบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ โดย 5 อันดับหมวดร้านค้าแรกที่ชาวไทยแนะนำ คือ ร้านสะดวกซื้อ (67%) การจ่ายบิล (64%) ซูเปอร์มาร์เก็ต (62%) ระบบขนส่งสาธารณะ (56%) และ ร้านขายอาหารและร้านอาหาร (55%)

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่คาดว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในปี 2027 จากเดิมที่คาดการณ์ในช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ว่าไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในปี 2030

มุมมองผู้บริหาร Visa กับสังคมไร้เงินสดในไทย

คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งก่อนหน้า เราเห็นว่าตัวแปรหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยให้พึ่งพาเงินสดน้อยลง และก่อให้เกิดทัศนคติที่ดียิ่งขึ้นต่อการใช้จ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัลคือสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาในปีนี้และการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลากหลายอุตสาหกรรม เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มกลายเป็นพฤติกรรมที่ผู้บริโภคเลือกที่จะทำด้วยตนเอง มากกว่าที่จะถูกผลักดันจากปัจจัยภายนอก ซึ่งหมายความว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้จะถาวรและยั่งยืนมากขึ้น

คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย

ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ยังพูดถึงการขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสดว่า สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ไม่สามารถโตขึ้นด้วยตัวเองได้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันขับเคลื่อน ตั้งแต่ผู้ให้บริการเครือข่ายรับชำระเงิน (Payment Network) และธนาคาร สถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ออกบัตร (Bank and Non-bank as an Issuer) ในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Infrastructure) และภาครัฐในการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนให้คนใช้งานการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด และผลักดันให้สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

คุณสุริพงษ์ กล่าวสรุปว่า วีซ่ามุ่งสร้างสรรค์เพื่อสร้างหนทางให้ทุกคนในทุกที่มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล เราหวังว่าข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในประเทศไทยฟื้นตัว และเจริญเติบโตต่อไปได้ รวมทั้งยังช่วยปลดล็อคให้กับผู้ประกอบการต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อย

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า