fbpx

“สูงวัยใช่เลย” หรือ “ประเพณีการเมือง” ส่องทัศนะคนการเมือง ใครกันที่คู่ควรกับเก้าอี้ประธานสภา 

หลังจากยื้อยุดกันไปมานานหลายวัน ศึกชิงบัลลังก์ประธานสภาระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยก็ยุติลงในที่สุด โดยทั้งสองฝ่ายตกลงเสนอชื่อนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภา ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาทั้งสองตำแหน่งจะเป็นของ ส.ส. พรรคก้าวไกล และ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ตามลำดับ  สถานีต่อไปประเด็นไหนจะร้อนแรง ก็คงต้องติดตามกันต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นประธานสภา ควรจะเป็นผู้ที่ “สูงวัยใช่เลย” หรือทำตาม “ประเพณีการเมือง” ก็ยังคงเป็นประเด็นที่น่าหาคำตอบ ดังนั้น The Modernist จึงพาไปเจาะทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ว่าพวกเขามีมุมมองอย่างไร และใครกันที่คู่ควรกับเก้าอี้ “ประธานสภา” อันทรงเกียรตินี้กันแน่ 

ประสบการณ์สำคัญ คนนั่งประธานสภาต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย 

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย  อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมืองสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า “เรื่องความอาวุโสมีส่วนสำคัญ เพราะในสภาผู้แทนราษฎรมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งความแตกต่างในเรื่องช่วงวัย ที่ปัจจุบันนี้มีทั้งคนสูงวัย 89 ปี หรือคนอายุน้อยเพียง 27 ปี รวมทั้งความแตกต่างด้านอาชีพ ซึ่งไม่เหมือนในอดีตที่ ส.ส. ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย นักธุรกิจ และข้าราชการประจำ เพราะฉะนั้นคนที่มีประสบการณ์จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาก็มีส่วนสำคัญ และด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหลายอย่าง จึงต้องมีการทำงานร่วมกับวุฒิสภา หรือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่มีประสบการณ์ควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่คงไม่ใช่เรื่องง่าย”  

“ส่วนเรื่องที่หลายๆ ประเทศ ผู้นำรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี มีอายุไม่เยอะนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ขอให้มีประสบการณ์ และต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เนื่องจากต้องทำงานร่วมกันทั้งฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล” 

“เพราะฉะนั้นอายุน้อยจึงไม่สำคัญ ขอให้มีประสบการณ์ก็พอ เมื่อดูเจตนารมณ์ของข้อบังคับให้ใช้วิธีโหวตรับ เพราะว่าไม่อยากให้ขัดแย้งกันจากการโหวต และสามารถทำงานร่วมกันต่อได้ เมื่อข้อบังคับเป็นแบบนี้”  

“เมื่อมองเรื่องประเพณี การที่พรรคอันดับ 1 ต้องถูกวางตัวเป็นประธานรัฐสภา ยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่หรือไม่ อาจารย์ยุทธพรมองว่าธรรมเนียมของระบบเลือกประธานรัฐสภา พรรคอันดับ 1 ควรได้ตำแหน่งประธานรัฐสภาไป หลายๆ คนคิดว่ามีแค่สมัยประธานชวน หลีกภัย คนเดียว แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะหากย้อนไปเมื่อี พ.ศ. 2518 – 2519  พรรคอันดับ 1 ก็ไม่ได้เป็นประธานรัฐสภาก็มี เช่น คุณอุทัย พิมพ์ใจชนได้เป็นประธานรัฐสภาจากพรรคที่มีเสียงในสภา 3 คะแนน ดังนั้น เรื่องพรรคอันดับ 1 ได้ตำแหน่งประธานรัฐสภาจึงไม่ใช่ข้อบังคับตายตัว “ 

อาจารย์ยุทธพร ย้ำว่าคนที่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภามากที่สุด ต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์และได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในรัฐสภา  

“เกียรติ” ชี้ คนนั่งประธานสภาต้อง ชม.บินสูง ซัด หากยึดธรรมเนียมปฏิบัติ พรรคได้อันดับ 2 ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน 

ด้าน เกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องประธานรัฐสภาว่า “หากเป็นคนที่มีอาวุโสแต่ไม่มีประสบการณ์ก็เหนื่อย ต้องเป็นคนที่เหมาะและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ต้องมีบารมีและชั่วโมงบินด้านการเมืองพอสมควร และต้องเข้าใจภารกิจของสภา ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ของสภาแห่งนี้ คนที่ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาเป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับ และไม่ใช่หน้าใหม่ทางการเมือง พรรษาทางการเมืองไม่ได้ หรือไม่เคยได้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา” 

“ส่วนเรื่องพรรคอันดับ 1 ได้ตำแหน่งประธานรัฐสภาคือประเพณีปฏิบัติ แต่ถ้าอย่างนั้นก็พูดได้ว่าประเพณีปฏิบัติ พรรคที่ได้ที่ 2 ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน ได้ที่ 1 คุณเป็นเลยประธานรัฐสภา พรรคที่ได้ที่ 2 เป็นฝ่ายค้านให้เลยนะ เคยมีมาแล้วสมัยคุณชวน หลีกภัย ส่วนพวกที่เรียกว่าตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่เข้าท่าเลย เพราะว่าความเป็นประชาธิปไตยวัดกันที่พฤติกรรม ไม่ได้วัดกันที่วลีเด็ดทางการเมือง นี่คือการไปลอกต่างประเทศมาแบบผิดๆ  พรรคการเมืองในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นพรรคเฉพาะกิจเพราะมีคนที่จัดการอยู่ไม่กี่คน แต่ประชาธิปัตย์ไม่ได้มีคนมาจัดการและควบคุม” 

“ส่วนตัวอยากเห็นพรรคการเมืองไทยไม่ได้หาคะแนนนิยมให้ตัวเองโดยความแตกแยก แต่ต้องหาคะแนนนิยมด้วยความแตกต่าง และต้องไม่นำประเทศไปเสี่ยงต่อความเสียหาย จากนโยบายประชานิยมที่สุดโต่งมาก” 

ชานันท์ แย้ง ไม่ควรมองเรื่องอายุ หรือประสบการณ์ แต่ควรให้พรรคอันดับ 1 นั่งเก้าอี้ประธานรัฐสภา 

ด้าน ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์เรื่องความเหมาะสมของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาว่า “ความอาวุโสสำหรับเราต้องมานั่งตีความถึงระบบอาวุโส อาวุโสนิยม และความหมายคุณค่าของระบบอาวุโส บทบาทหน้าที่ของประธานรัฐสภา ผู้ที่ดำรงตำแหน่งต้องเป็นคนที่ควรเคารพ คนในสภาก็ต้องเคารพเขาในฐานะประธานรัฐสภา ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไร เพราะฉะนั้น ช่วงวัยไม่ใช่เรื่องสำคัญในการเลือกใครคนใดคนหนึ่งมาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา” 

ในส่วนของบางฝ่ายที่มองว่า การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ต้องมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก ชานันท์มองว่า “ไม่เกี่ยวเลย แต่สิ่งที่ควรจะต้องคำนึง ไม่ใช่พรรษาทางการเมือง แต่ต้องคำนึงถึงมารยาททางการเมืองมากกว่าว่า พรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 ต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและได้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา อันนี้คือสิ่งที่ต้องคำนึงและเคารพกฎเกณฑ์นี้ มากกว่าเรื่องอายุเยอะและมีประสบการณ์มากกกว่า ระบบอาวุโสอยู่กับภาครัฐมายาวนานมาก ซึ่งสร้างปัญหาให้กับการเมืองภาครัฐเช่นเดียวกัน ระบบอาวุโสยึดอยู่กับเรื่องของประสบการณ์ ตำแหน่ง ช่วงวัย ส่วนหนึ่งทำให้ประชาธิปไตยไปต่อไม่ได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าคนที่อายุมากฟังเสียงของคนอายุน้อยกว่าแค่ไหน” 

“ส่วนเรื่องประสบการณ์ ทำให้ทุกอย่างไปต่อยาก สำหรับคนรุ่นใหม่ และคนอายุน้อย เพราะว่าหากอ้างประสบการณ์แล้วเป็นเรื่องตามธรรมชาติ คนที่อายุมากหรือเกิดก่อนที่เขาจะมีประสบการณ์มากกว่า สำหรับเราคิดว่าทำตามกลไกและหลักการ ทุกคนเคารพในตำแหน่งหน้าที่ บทบาทของกันและกัน เรื่องของประธานรัฐสภา ไม่ใช่ต้องคำนึงเรื่องช่วงวัยของประสบการณ์” 

ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลที่ได้เสียงมาเป็นอันดับ 2 ได้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ชานันท์มองว่า เป็นบริบทการเมืองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นการเลือกตั้งเชิงพิธีกรรมเท่านั้นเอง พ.ศ. 2562 คือปีไม่ปกติ ไม่ธรรมดา เพราะอยู่ใต้อำนาจของเผด็จการ ไม่สามารถเอามาอ้างสิทธิ์ในยุคนี้ได้ ในบริบทปัจจุบันที่ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ ส่วนใครจะอ้างว่าพรรคตัวเองเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ ไม่ใช่อนุรักษ์นิยม ประชาชนรู้หมดแล้ว สามารถรู้ได้ด้วยกลไกอำนาจ หรือการทำงานที่ผ่านมาอยู่แล้ว แต่เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าพรรคที่มีอุดมการณ์เรื่องสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ชนะการเลือกตั้ง 

ส่วนความขัดแย้งเรื่องประธานรัฐสภา ต้องมีพรรคใดพรรคหนึ่งที่ถอย แต่ทุกพรรคต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และมารยาททางการเมือง พรรคที่เป็นพรรคอันดับ 1 จะต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และต้องได้ตำแหน่งประธานรัฐสภา  

“ส่วนแรกที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะถอยให้กันคนละก้าวนั้น อยู่ที่การเจรจา สำหรับเราหากอยู่บนหลักการโดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เอาสิ่งที่ประชาชนคาดหวังเป็นตัวตั้ง ควรยึดหลักตามมารยาทที่พรรคอันดับ 1 เป็นคนตั้งรัฐบาล ก็ต้องรู้อยู่ว่าใครควรจะถอย” 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า