fbpx

‘Vespa’ สกู๊ตเตอร์สุดป็อปจากอิตาลี ไม่ใช่แค่สินค้า แต่เป็นวิถีชีวิต

ภาพของเจ้าหญิงแอน ที่รับบทโดย ออเดรย์  เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) ขี่สกู๊ตเตอร์  Vespa รุ่น 125 สีเขียวเมทัลลิก โดย มีโจ นักข่าวหนุ่มที่รับบทโดย เกรกอรี เพก (Gregory Peck) ซ้อนท้ายไปรอบ ๆ ใจกลางกรุงโรม ในภาพยนตร์เรื่อง Roman Holiday (1953) กลายเป็นภาพจำสุดคลาสสิกในโลกป็อปคัลเจอร์ ที่ต่อให้จะไม่เคยชมภาพยนตร์ ก็เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นฉากนี้ผ่านโปสเตอร์ รวมไปถึงภาพที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในสื่อต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็น 1 ในฉากที่น่าจดจำที่สุดในโลกภาพยนตร์แล้ว ภาพนี้ยังทำให้สกู๊ตเตอร์แบรนด์ Vespa ที่ใช้ในฉากดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นภาพจำมาถึงทุกวันนี้ว่า ถ้าหากมีโอกาสได้ไปกรุงโรม ประเทศอิตาลี ต้องหาเช่า Vespa ขี่ชมบรรยากาศรอบเมืองสักครั้ง

ภาพยนตร์เรื่อง Roman Holiday (1953)

นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว Vespa ยังถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น 102 Dalmatians, The Talented Mr. Ripley, The Interpreter, ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Luca และภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Call Me By Your Name จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความป็อปของ Vespa ได้เป็นส่วนประกอบที่ลงตัวในการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ และยิ่งตอกย้ำความป็อปของแบรนด์ Vespa ให้เด่นชัดขึ้น

ภาพยนตร์เรื่อง Call Me by Your Name (2017) ที่มาภาพ: imdb

กำเนิดจากรุ่งอรุณ เมื่อสงครามสิ้นสุดลง

หากเปรียบประเทศเป็นดั่งเรือนร่าง อิตาลี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงหมาด ๆ คงไม่ต่างจากมนุษย์ที่ร่างกายถูกฉีกทึ้งอย่างสะบักสะบอม อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 การตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเบนีโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) เผด็จการฟาสชิสต์ ที่ชักนำประเทศให้ล่มหัวจมท้ายไปกับเยอรมนีในการทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตามมาด้วยความตายของผู้คนจำนวนมากและเม็ดเงินของประเทศที่ถูกถลุงเอาไปใช้กับสงครามอย่างมหาศาล 

เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี 1945 ความพ่ายแพ้มาเยือนฝ่ายอักษะ หนึ่งในข้อตกลงการยุติสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรคือ อิตาลีต้องจำกัดอุตสาหกรรมทางด้านอากาศยานแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งขีดความสามารถและปริมาณการผลิต ประกอบกับเศรษฐกิจอิตาลีที่พังยับเยินและสภาพบ้านเมืองทรุดโทรม โดยเฉพาะพื้นผิวถนนที่ผุพัง ไม่เอื้อต่อการสัญจรของรถยนต์ นั่นทำให้เอนริโก พิอาจิโอ (Enrico Piaggio) และอาร์มานโด พิอาจิโอ (Armando Piaggio) สองทายาทบริษัทผู้ผลิตยานยนต์และเครื่องบิน บริษัท พิอาจิโอ (Piaggio) ได้หันกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจของครอบครัวอีกครั้ง หลังจากประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เนื่องจากในช่วงสงคราม โรงงานผลิตได้ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายย่อยยับไปเกือบทั้งหมด

Enrico piaggio  ที่มาภาพ:  wikimedia

เอนริโกมองเห็นโอกาสในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะโคม่าทางเศรษฐกิจว่าอิตาลีจำเป็นต้องมีวิธีการขนส่งที่ทันสมัยและราคาไม่แพงอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศเคลื่อนตัวได้อีกครั้ง เขาจึงตัดสินใจนำบริษัทออกจากแวดวงธุรกิจการบิน และหันมามุ่งพัฒนายานพาหนะที่ราคาไม่แรง คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ สกู๊ตเตอร์หรือรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กรุ่นแรกจึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า MP5 หรือ Moto Piaggio No. 5 และมีชื่อเล่นที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘ปาเปอริโน่’ (Paperino) หรือที่แปลว่า เป็ดโดนัลด์ ในภาษาอิตาลี อย่างไรก็ตามเอนริโกรู้สึกไม่พอใจกับลักษณะของสกู๊ตเตอร์ต้นแบบรุ่นนี้ ในปี 1946 เขาจึงดึงคอร์ราดิโน ดัสคานิโอ (Corradino d’Ascanio) วิศวกรการบินมาออกแบบสกู๊ตเตอร์ให้ใหม่ แม้คอร์ราดิโนจะไม่ได้ชื่นชอบรถจักรยานยนต์มากนัก เพราะมองว่ามีความสกปรก และเป็นพาหนะที่ไม่น่าเชื่อถือ

ที่มาภาพ: marketingoops

คอร์ราดิโน จึงดีไซน์พาหนะดังกล่าวขึ้นมาใหม่เป็นรถต้นแบบที่มีชื่อว่า MP6 โดยติดตั้งถังเครื่องยนต์อยู่ข้างล้อหลังและออกแบบตัวถังให้ป้องกันผู้ขับขี่จากสิ่งสกปรกบนท้องถนนขณะใช้งาน รวมถึงมีแผงป้องกันน้ำกระเซ็นหรือกระบังลมติดตั้งไว้ นอกจากนี้ยังนำระบบส่งกำลังล้อแทนโซ่เหล็กมาใช้ พร้อมทั้งเว้นที่ว่างสำหรับวางขาบริเวณคนขับเพื่อความสะดวกในการใช้งาน 

ที่มาภาพ:  vespa

เมื่อเอนริโกเห็นสกู๊ตเตอร์รุ่น MP6 เป็นครั้งแรกถึงกับอุทานออกมาว่า “Sembra una vespa!” ซึ่งแปลว่าดูสิเหมือนตัวต่อเลย! จากรูปทรงของ MP6 ที่ทำออกมาแล้วดูคล้ายตัวต่อเมื่อมองจากมุมสูงลงมา ประกอบกับเสียงเครื่องยนต์ที่ดังเป็นจังหวะราวตัวต่อกำลังบิน ตำนาน Vespa สกู๊ตเตอร์แบรนด์คลาสสิกของอิตาลีจึงถือกำเนิดขึ้น จากนั้นบริษัทจึงยื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบสกู๊ตเตอร์ Vespa ทันที และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีเดียวกันที่งาน  Rome Golf Club และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก ด้วยความแปลกใหม่ของรูปทรงที่ดูคล้ายกับรถของเล่นมากกว่ายานพาหนะจริง ๆ และการเลือกใช้สีพาสเทลที่สะดุดตา จากนั้นก็ได้นำ Vespa ไปเปิดตัวต่อที่งานมิลานแฟร์ โดยทำยอดขายไปได้ 50 คัน แต่หลังจากนำระบบผ่อนชำระมาใช้ ยอดขายก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

ที่มาภาพ:  vespa

หลังจากเปิดตัวไปในปีแรก Vespa ทำยอดขายได้ 2,500 คัน ปีถัดมายอดขายพุ่งทะลุเป็น 10,000 คัน ส่วนในปีที่ 3 เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 20,000 คัน และเขยิบขึ้นเป็น 60,000 คันในปีที่ 4 

แต่สิ่งที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับแบรนด์ Vespa ก็คือ การที่รถสกู๊ตเตอร์คันนี้ไปปรากฏบนจอภาพยนตร์เรื่อง Roman Holiday ในปี 1952 ซึ่งนำแสดงโดย เกรกอรี เพก และออเดรย์  เฮปเบิร์น ในฉากที่ทั้งคู่ขี่ Vespa รอบกรุงโรมด้วยกัน ส่งให้ยอดขายทะยานไปสู่ 100,000 คัน และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Vespa ก็กลายเป็นมากกว่ารถราคาถูก แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและจินตนาการ 

ต่อมาในช่วงกลางทศวรรษ 1950 Vespa ได้รับใบอนุญาตให้ทำการผลิตได้ในประเทศเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม และสเปน ทำให้บริษัทเติบโตและมียอดขายถึงหลักล้านคันในปี 1956 

อิทธิพลทางวัฒนธรรม 

ความสำเร็จของ Vespa ที่กลายมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ขึ้นชื่อของอิตาลี ก็คือการเป็นยานยนต์ที่ตอบโจทย์การใช้งานจนสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไปอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้การดีไซน์รถที่ถูกออกแบบมาในลักษณะของยูนิเซ็กซ์ หรือสินค้าที่เหมาะกับการใช้งานทุกเพศ ไม่ว่าจะจะใส่กางเกงแบบเกรกอรี เพก หรือกระโปรงแบบออเดรย์ เฮปเบิร์นในหนัง Roman Holiday ก็สามารถใช้งานได้

อีกทั้ง Vespa ยังเป็นสัญลักษณ์ของความหวังในโลกยุคใหม่ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมใหม่ของอิตาลีที่ถือกำเนิดขึ้นหลังจากเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสิ้นสุดยุคของมุสโสลินี ซึ่งการที่เป็นรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก ราคาย่อมเยา ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และส่งอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้ผู้คนสัญจรง่ายขึ้นท่ามกลางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังไม่พร้อม Vespa จึงเป็นภาพแทนของการเป็นปัจเจกบุคคล และเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิบริโภคนิยมไปทั่วอิตาลีและทั่วโลก 

ไม่เพียงส่งอิทธิพลต่อเยาวชนเท่านั้น Vespa ยังได้ยกระดับสถานะของผู้หญิงในสังคมช่วงทศวรรษที่ 1960 จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของสตรีนิยมพร้อมทั้งสื่อถึงการเปลี่ยนแปลง เพราะก่อนที่จะมี Vespa แทบไม่มีสตรีคนไหนในอิตาลีขับขี่รถจักรยานยนต์มาก่อน

ที่มาภาพ:  vespa

นอกจากสังคมอิตาลีแล้ว Vespa ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนในประเทศต่าง ๆ ที่บริษัทได้เข้าไปเจาะตลาด อาทิ ประเทศอังกฤษช่วงทศวรรษที่ 1960 มีวัฒนธรรมย่อยเกิดขึ้นมาในหมู่คนหนุ่มสาวที่หันมาแต่งตัวอย่างเรียบง่าย ฟังดนตรีแจ๊ส และนิยมขี่สกู๊ตเตอร์ไปทั่วมหานครลอนดอนและเมืองริมชายทะเลในอังกฤษ 

ผ่านมาแล้ว 77 ปี เทคโนโลยียานยนต์ได้วิวัฒน์อย่างต่อเนื่อง กลไกต่าง ๆ ได้ถูกปรับเข้ามาใช้กับ Vespa ได้อย่างลงตัวโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ด้านดีไซน์ไป สิ่งนี้ทำให้สกู๊ตเตอร์สัญชาติอิตาลียังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ และเป็นแบรนด์รถจักรยานต์ที่ยิ่งเก่า ยิ่งมีมูลค่าสูง โดยเคยทำราคาขายได้สูงถึง 250,000 ยูโร หรือราว ๆ 9,600,000 บาท ในตลาดซื้อขายรถคลาสสิก

ความแข็งแกร่ง ที่อยู่เหนือกาลเวลา

“Vespa เป็นมากกว่าแบรนด์ยานยนต์ มันเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะ การออกแบบ เทคโนโลยี และความสนุกสนาน” มิเกล โคลานินโน (Michele Colaninno) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมของบริษัทพิอาจิโอกล่าวถึงนิยามของ Vespa ในปัจจุบัน โดยยอมรับว่าแม้จะเป็นการนิยามโดยนำแบรนด์ไปใช้เป็นสัญลักษณ์ในมุมต่าง ๆ มากจนเกินไป แต่นั่นคงไม่มีวิธีไหนที่จะสามารถนิยามความเป็น Vespa ได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว 

Michele Colaninno  ที่มาภาพ:  piaggiogroup

ปี 2021 อินเตอร์แบรนด์ (Interbrand) บริษัทให้คำปรึกษาด้านแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ได้ประเมินมูลค่าแบรนด์ Vespa ด้วยการพิจารณาจากมูลค่าทางการเงิน ข้อมูลการตลาด และการศึกษาเชิงปริมาณ พบว่ามีมูลค่ารวมมากถึง 906 ล้านยูโร หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์สากลของอินเตอร์แบรนด์ระบุว่า Vespa เป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน แต่ก็มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่ส่งผลต่อความแข็งแกร่งของแบรนด์ก็คือ ความโดดเด่นในเชิงอุตสาหกรรม ที่มีการออกแบบรูปทรงได้อย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวกของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์  อีกทั้งยังตอบสนองในแง่ของความบันเทิงอีกด้วย

เหนือสิ่งอื่นใด Vespa ยังได้แสดงถึงแก่นแท้ของความเป็นอิตาลีได้ดีที่สุด และเป็นมากกว่าสินค้าที่ใช้งานได้ดี แต่ยังเป็นวิถีชีวิต ซึ่งได้สร้างแรงบัลดาลใจให้กับผู้คนนับล้านทั่วโลก

ที่มาภาพ: Vespa

อ้างอิง : vespa 1 / topspeed / Catawiki / directasia / tuemaster

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า