fbpx

แกะอาชีพ “รับถอดเทป” เมื่อสองศรีพี่น้อง ต้องการให้คนออกไปใช้ชีวิต

เชื่อว่าการถอดเทป หรือ การนั่งแกะเสียงจากที่ได้บันทึกไว้ เป็นเรื่องหิน น่าเบื่อ และต้องใช้ความอดทนสูงในการกรอคำพูดไปมา ถือเป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานาน เพราะต้องเก็บคำพูดจากไฟล์เสียงให้ครบถ้วน ทำให้คนที่ต้องทำสรุปรายงานการประชุม คนที่อยู่ในแวดวงงานเขียน หรือนักวิจัยที่ต้องลงพื้นที่ออกไปสัมภาษณ์ ต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับขั้นตอนนี้ แทบอยากจะวาร์ปตัวเองไปไปสู่ขั้นตอนอื่น ๆ กันเลยทีเดียว

ความหวังของหมู่บ้านปรากฏขึ้นเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 บนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก เมื่อมีผู้โพสต์ข้อความว่า  ‘ยกเรื่องถอดเทปให้เรา วางความกังวลใจ แล้วออกไปใช้ชีวิต’ จากนั้น โพสต์นี้ก็ถูกแชร์ออกไปเป็นวงกว้าง ด้วยข้อความที่เชื่อว่าน่าจะโดนใจใครหลายคนที่ก่อนหน้านี้ต้องมานะบากบั่นในการแกะเสียงจากไฟล์ดิจิทัลเป็นเวลาครึ่งค่อนวัน ความหวังที่ว่านี้มาจากสองศรีพี่น้องที่สนุกกับการถอดเทป และยืดอกรับภารกิจนี้ไว้ เพื่อให้ใครหลายคนได้ใช้ชีวิตของตัวเอง  

อยากได้เงินซื้อมือถือใหม่ ดันกลายเป็นอาชีพ ทำคิวยาวข้ามสัปดาห์ 

จุดเริ่มต้นของการรับจ้างถอดเทป มาจากการที่ ‘ออม’ จุรีรัตน์ ยี่วาศรี วัย 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3  คณะครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม อยากได้มือถือสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ เนื่องจากของเดิมที่มีอยู่เป็นโทรศัพท์รุ่นเก่าใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่ยังขาดเงินอีก 10,000 บาท จึงปรึกษากับพี่สาว คือหัทยา ภูดี หรือ ‘ติ๊กต็อก’ ซึ่งทางติ๊กต็อกก็เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกับกลุ่มคน GEN Z ที่ต้องใช้สมาร์ทโฟนทำอะไรอีกหลายอย่าง เพราะสมัยนี้มือถือมีบทบาทมากกว่าการเป็นเครื่องมือสื่อสารเท่านั้น และรู้สึกว่าหากไม่มีจะทำให้ใช้ชีวิตลำบาก แต่ก็ได้เสนอว่า หากจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ ขอให้ใช้เงินที่ซื้อมาจากการหารายได้เสริม

คุณหัทยา ภูดี บรรณาธิการฟรีแลนซ์

ด้วยประสบการณ์ของติ๊กต็อก ที่เคยคร่ำวอดอยู่ในแวดวงสื่อ และปัจจุบันเป็นบรรณาธิการฟรีแลนซ์ จึงเสนอให้รับงานถอดเทป แกะเสียงสัมภาษณ์ เนื่องจากเป็นงานที่อาศัยทรัพยากรที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีอยู่แล้ว 

“เรามองจากสิ่งรอบ ๆ ตัวว่าเรามีทรัพยากรอะไรอยู่บ้าง เรามีคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ต มีเวลาที่ยืดหยุ่น มีองค์ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของเทคโนโลยีที่จะนำมาช่วยในการถอดเสียง รวมไปถึงตนเองนั้นเคยมีประสบการณ์ถอดเทปจึงเข้าใจถึงปัญหาได้เป็นอย่างดี” ติ๊กต็อกกล่าว

จากนั้นก็ได้ออกแบบกระบวนการรับงาน ตั้งเรทราคา วางกรอบระยะเวลาเพื่อจัดแจงตารางคิวงาน จนทุกอย่างพร้อมจึงออกแบบอาร์ตเวิร์กและโพสต์ลงโซเชียล ช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. โดยไม่ได้คิดอะไร แต่คนแชร์ออกไปเยอะมาก ภายใน 1 ชั่วโมง เอนกายลงยังไม่ทันถึงหมอน ก็มีลูกค้าทักมาแล้ว 2 เจ้า และเพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบเจ้าในวันต่อ ๆ มา จนคิวยาวข้ามสัปดาห์ ซึ่งก็มีทั้งแบบงานด่วนและงานไม่ด่วน และหลายงานเป็นงานต่อเนื่อง ต่อมาจึงได้แบ่งงานให้ออมเอากลับไปทำ ทางตัวน้องเองก็รู้สึกดีใจ และรู้สึกสนุกไปกับงาน จากตอนแรกตั้งเป้าไว้แค่ให้ได้เงิน 10,000 บาทก็พอ แต่ผลตอบรับที่เข้ามาล้นหลามจนทะลุเป้าไปแล้ว

คุณจุรีรัตน์ ยี่วาศรี นศ.ปี3 มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม คณะครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ

“ความรู้สึกเลยคือสนุกค่ะ เพราะเหมือนเราได้ฟังเรื่องราวที่เราไม่เคยรู้มาก่อน รู้สึกเพลินเหมือนได้นั่งฟัง Podcast ที่สำคัญเลยคือเป็นการฝึกทักษะตัวเองในการใช้เทคโนโลยใหม่ ๆ ด้วย” ออมเล่าด้วยความรู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาจับงานนี้

นำเทคโนโลยีมาใช้ เสริมด้วยทุนมนุษย์

การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับงานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การเลือกใช้ให้เหมาะกับงานนั้นเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เรื่องนี้ติ๊กต็อกเล่าให้ฟังว่า ต้องใช้เวลาศึกษาโปรแกรม A.I. อยู่สักพัก เพื่อหาระบบที่ตอบโจทย์งานได้ให้มากที่สุด ในที่สุดก็เจอโปรแกรมที่ถูกใจ สามารถถอดเทปได้แม่นยำถึง 95% ช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะ และลดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพไปได้เยอะ

แต่การทำงานของระบบปัญญาประดิษฐ์ เวลาถอดเสียงระบบจะรันตัวอักษรออกมาเป็นพรืด ๆ เรียงติดกัน เป็นไปตามท่วงทำนองของไฟล์เสียงต้นฉบับ นั่นทำให้กระบวนการต่อมาจึงต้องนำทุนมนุษย์เข้ามาใช้ในการตรวจสอบ A.I. อีกที ทำให้ต้องใช้ทักษะงานบรรณาธิการเข้ามาช่วย เช่นเดียวกับทางฝั่งของออมที่นำทักษะจากการเรียนครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มาปรับใช้ จนชิ้นงานมีความสมบูรณ์แบบก่อนที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า เพราะต้องการวางมาตรฐานงานให้ดีที่สุด เพื่อความสะดวกสบายของลูกค้า

ลูกค้าส่วนใหญ่นั้นมีทั้งจากแวดวงสื่อทั้งของไทยและต่างประเทศ งานจากนักวิจัยที่ออกภาคสนามไปเก็บเสียงสัมภาษณ์ความเห็นของประชาชน งานเสวนาจากแวดวงวิชาการ เรื่อยไปจนถึงงานสัมภาษณ์ในแวดวงการเมือง โดยแต่ละวัน สองพี่น้องสามารถรับงานได้สูงสุดวันละ 3 เทป เฉลี่ยเทปละ 1 ชั่วโมง เพราะแต่ละไฟล์นั้นต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ แต่ ณ ขณะนี้ยังคงรับถอดเทปในฐานะอาชีพเสริมอยู่ ทำให้วันหนึ่งทั้งติ๊กต็อกและออมจะแบ่งเวลาการทำงานอย่างชัดเจน ทางฝั่งคนพี่จะทำในช่วงครึ่งวันเช้าของวัน ส่วนคนน้องนั้นจะต้องใช้เวลาหลังเรียนในการทำงาน

โพสต์เดียว ปังข้ามคืน

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือการที่โพสต์ดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน แต่ยังสามารถดึงดูดได้ลูกค้าได้ในทันที จากการระบุรายละเอียดเรื่องเรตราคาที่ชัดเจนลงไปในภาพอาร์ตเวิร์ก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดเผยกัน

ต่อมาคือการใส่รูปหน้าตนเองกับน้องสาวลงไปด้วย เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้าว่าคนที่จะส่งงานมาให้นั้นเป็นใคร โดยจากการทำการบ้านมาพบว่าเกือบ 100% ของธุรกิจรับถอดเทปมักจะไม่เปิดเผยหน้าตา จึงรู้สึกสงสัยว่าคนที่จะรับงานเราไปเขาคือใคร จึงนำตรงนี้มาปรับใช้กับตนเอง 

และที่สำคัญที่สุดเลยคือ การหา Pain Point หรือจุดบอดที่เป็นปัญหาในสิ่งนั้น ๆ เพื่อที่จะได้นำการแก้ปัญหา หรือ Solution มาส่งมอบให้กับลูกค้า ในกรณีของการถอดเทปเสียงนั้น คือเรื่อง ‘เวลา’ 

“เราคิดว่า Pain Point หลักของมนุษยชาติไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ก็คือเรื่องของเวลาค่ะ สังเกตว่า นวัตกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นและได้รับความนิยมบนโลก มักจะเป็นนวัตกรรมที่แก่นแท้ของมันมาเพื่อช่วยประหยัดเวลามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า รถยนต์ที่มาแทนรถม้า เครื่องบิน คอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยส่วนตัวเราเป็นคนที่ให้คุณค่ากับเวลาพักผ่อนมาก และเราก็รู้สึกว่า มนุษย์ทุกคนก็ต้องการสิ่งนี้แหละค่ะ แล้วพอเราเจอเครื่องมือที่มันช่วยให้เราทำงานได้ไวขึ้น ส่งมอบงานได้ดีขึ้น โดยที่เราก็ยังมีเวลาเหลือไปใช้ชีวิตเหมือนกัน เราเลยคิดว่า บริการนี้น่าจะมีกลุ่มลูกค้าที่สนใจนะ มันอาจไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่อยากใช้บริการนี้ แต่มันมีกลุ่มที่เขาสนใจแน่ๆ เพราะมันจะช่วยให้เขามีเวลาเหลือไปใช้ชีวิตเหมือนกัน เรามองว่า service นี้เป็น win-win ด้วยกันทั้งคู่ และธุรกิจส่วนใหญ่ก็น่าจะต้องเริ่มต้นกันแบบนี้แหละค่ะ ด้วยการเสนอสินค้าหรือบริการ ที่ win กับธุรกิจ และ win กับผู้บริโภคด้วยนั่นจึงเป็นที่มาของสโลแกน ‘ยกเรื่องถอดเทปให้เรา วางความกังวลใจ แล้วไปใช้ชีวิตเถอะนะ’ ” ติ๊กต็อกกล่าว

นอกจากนี้ทั้งสองยังเล่าต่อว่า ในอนาคต อาจจะพัฒนาเครื่องมือและสร้างบริการที่ทั้งลูกค้าและผู้ให้บริการได้ประโยชน์มากกว่านี้ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น โดยมองว่าโอกาสในการขยายรายได้จากหลักหมื่นต่อเดือน ไปถึงหลักแสนต่อเดือนเป็นไปได้ เพราะ Pain Point เรื่องเวลาของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ใน DNA ของมนุษย์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะคนเจเนอเรชั่นไหน แม้กระทั่งลูกหลานของคน GEN Z ก็ยังน่าจะต้องเจอ Pain Point เรื่องเวลา และอยากหาใครสักคนมาส่งมอบสินค้าและบริการที่ช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาอยู่ดี 

การลงทุนที่ดีที่สุด คือการลงทุนกับตัวเอง

พ้นไปจากเรื่องของธุรกิจรับถอดเทปแล้ว ทางติ๊กต็อกและออม ซึ่งเปรียบเสมือนคน 2 เจเนอเรชั่นที่ต้องมาทำงานด้วยกัน ได้บอกเล่าถึงมุมมองเรื่องการสร้างรายได้สำหรับยุคนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ติ๊กต็อกมองว่าไม่ว่าเรียนจบมาแล้ว จะเลือกเดินสายธุรกิจ เป็นฟรีแลนซ์ หรืองานประจำ สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือการลงทุนกับตัวเอง

“เรามองว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนกับตัวเอง เติมทักษะ เติมความรู้ หากเราเป็นพนักงานออฟฟิศ เราก็จะเป็นพนักงานดาวเด่น มีศักยภาพกับที่ที่เราอยู่ นั่นหมายความว่าเราก็จะได้การเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือน หรือรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือหากจะผันตัวมาทำธุรกิจ หรือสร้างรายได้ด้วยตนเองทันทีหลังจากเรียนจบ ก็ต้องอาศัยทักษะความรู้เป็นพื้นฐาน และต้องใช้สายตามองหาโอกาสจากความรู้นั้นให้มากที่สุด ”

 สำหรับออมนั้นมองว่าการที่มีประสบการณ์ได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างนั้นเป็นเรื่องที่ดี มีโอกาสได้ลองผิดลองถูกตั้งแต่สมัยเรียน พอเรียนจบอาจจะได้มองเห็นโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะกับตัวเองที่จะเอาไปใช้ต่อยอดได้ในอนาคต นอกจากนี้เมื่อได้สังเกตคนรอบตัวที่อยู่ในวัยเดียวกันพบว่า หลายคนก็นิยมหันมาสร้างรายได้จากสิ่งที่ตัวเองชอบเยอะ เช่นการเป็น Content Creator ตนจึงมองว่าทุกอย่างสามารถเป็นอาชีพได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าเราได้นำตัวเองกระโจนลงไปในสิ่ง ๆ นั้นมากพอหรือไม่

“อยากให้สำรวจตัวเองว่าอะไรที่เราทำบ่อย อะไรที่เราทำแล้วเรารู้สึกดี ลองทำให้หมดทุกอย่าง ไม่ต้องไปกลัวว่าจะผิดพลาด เพราะอย่างไรก็ต้องผิดพลาดอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นครั้งแรก แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ถ้าผิดพลาดแล้วจะจมอยู่กับความผิดพลาดนั้น จะพัฒนาไปต่อ หรือจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นก็ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญสุดเลยคือการมีประสบการณ์” 
ทั้งนี้เราจะเห็นว่าสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ในรูปแบบไหน การหาจุดบอดของสิ่งนั้นแล้วหาวิธีแก้ นำมาพัฒนาเป็นบริการ เป็นหัวใจสำคัญ การที่โพสต์ ‘ยกเรื่องถอดเทปให้เรา วางความกังวลใจ แล้วออกไปใช้ชีวิต’ ถูกแชร์ออกไปอย่างล้นหลาม อาจสะท้อนถึงสิ่งที่สะกิดใจของกลุ่มคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ และแวดวงสนทนา ราวกับยิงธนูพุ่งเป้าไปหากลุ่มลูกค้าได้ตรงจุดเลยในครั้งเดียว

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า