fbpx

ปลดล็อก 6 ทักษะการสื่อสารแบบ ‘ทิม พิธา’

การจัดตั้งรัฐบาลยังคงเป็นข่าวที่หลายคนเกาะติดสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่คนให้ความสนใจไม่แพ้กัน คือการที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ จนเกิดเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ที่มีคนชื่นชมและแสดงความคิดเห็นว่า เขาสามารถโต้ตอบนักข่าวได้ดี มีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว รวมไปถึงบุคลิกภาพที่เหมาะสมในการให้สัมภาษณ์ ทำเอาหลายคนถึงกับออกปากว่า ‘ไม่ชิน’ และตื่นเต้นกับการที่จะมีนายกรัฐมนตรีที่สื่อสารเก่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

‘ทักษะการสื่อสาร’ หรือ Communication Skill คือการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น หรือความรู้สึกที่ต้องการส่งไปยังผู้รับสาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน  สำหรับผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี ‘ทักษะการสื่อสาร’ นับเป็นคุณสมบัติสำคัญ ที่ใช้ในการส่งข้อมูลที่ละเอียด เข้าใจง่าย ครบถ้วน และโปร่งใส ไปยังประชาชน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเป็นผู้รับสารที่ดี พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งหากขาดทักษะการสื่อสารไป จะทำให้ข้อมูลสำคัญถูกตีความผิด เข้าใจไม่ตรงกัน จนอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาในระดับประเทศในที่สุด

แล้วทักษะการสื่อสารที่ดีของ ‘ผู้นำ’ ควรมีลักษณะอย่างไร? 

The Modernisit พาทุกคนมา ปลดล็อก 6 ทักษะการสื่อสารแบบ ‘ทิม พิธา’ จากการ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เพื่อศึกษาเทคนิควิธีการสื่อสารที่น่าสนใจ และอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนได้พัฒนาตัวเองต่อไป

เริ่มต้นด้วยการเป็น ‘ผู้ฟังที่ดี’

ก่อนการตอบคำถามสัมภาษณ์ พิธาจะเริ่มด้วยการฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ขัดจังหวะ ไม่พูดแทรก รวมทั้งมีการใช้ Eye Contact หรือสบตาคู่สนทนาเพื่อแสดงถึงความกระตือรือร้นในการฟัง 

‘สื่อสารกับทุกคนอย่างทั่วถึง’ ด้วยความใส่ใจ

ทุกการสัมภาษณ์ พิธาได้แสดงความใส่ใจด้วยสังเกตว่าผู้สื่อข่าวคนไหนยกมือก่อน ยกมือทีหลัง จัดลำดับการให้สัมภาษณ์อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวที่ยังไม่เคยสัมภาษณ์ได้ถามคำถามก่อน 

ใช้ ‘ภาษากาย’ เป็นกระจกสะท้อนอารมณ์

บ่อยครั้งที่จะเห็นพิธาโบกมือทักทายประชาชนและผู้สื่อข่าวที่มาสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกด้วยการใช้พฤติกรรมทางร่างกาย หรือที่เรียกว่า ภาษากาย (Body Language) ประกอบไปด้วยการวางมือ การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทางการยืน ฯลฯ ภาษากายเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนถึงอารมณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำพูดใด ๆ 

‘กระชับ จับประเด็น’ ให้เข้าใจง่าย

ไม่ว่าพิธาจะใช้ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษในการสื่อสาร สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือ การสื่อสารอย่างเจาะจงและตรงประเด็นด้วยภาษาที่เรียบง่ายที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าใจทันทีไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวหรือประชาชน 

‘ปรับโทนเสียง’ ให้ดึงดูดความสนใจ

พิธามีการปรับโทนเสียงในการสื่อสารอยู่เสมอ หากประเด็นไหนสำคัญ จะมีการใช้โทนเสียงที่หนักแน่น บวกกับการใช้จังหวะพูดที่ไม่เร็วเกินไป เพื่อเป็นการเน้นย้ำข้อความที่สำคัญ 

อีกทั้งวัตถุประสงค์ (Objective) ในการสื่อสารยังเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยกำหนดโทนเสียงของการพูด เช่น การปราศรัยจะมีการใช้โทนเสียงที่เข้มแข็ง ช่วยกระตุ้นอารมณ์ให้ประชาชนเกิดความรู้สึกร่วม แตกต่างกับโทนเสียงที่ใช้เมื่อตอนแถลงข่าวที่ต้องสร้างความเชื่อมั่น เน้นพูดเรื่องสำคัญและตรงประเด็นที่สุด

‘ทำการบ้าน’ ก่อนลงสนามจริง

จากการสังเกตพบว่า การตอบคำถามของพิธานั้น อยู่บนข้อมูลและข้อเท็จจริงมากกว่าการตอบว่าไม่รู้ แสดงให้เห็นว่าก่อนการสื่อสาร พิธาได้ทำการบ้าน หาข้อมูลเพื่อใช้ในการตอบคำถามสัมภาษณ์มาล่วงหน้าก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจและการนำข้อมูลมาช่วยให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้น พิธาได้ให้สัมภาษณ์ในรายการคำนี้ดีว่า การเป็นผู้นำเปรียบเสมือนการว่ายน้ำที่สามารถสอนกันได้ ทั้งการวาดแขนเป็นเส้นโค้ง เงยหน้าขึ้นเหนือน้ำ หรือจังหวะที่หายใจ ในขณะที่ผู้นำก็ต้องรู้ทาง ชี้ทาง นำทาง ด้วยทักษะการตัดสินใจ การพูด การโน้มน้าว และการฟัง ซึ่งล้วนเป็นหนึ่งในทักษะการสื่อสาร ที่สำคัญเราจะเป็นผู้นำไม่ได้หรือว่ายน้ำไม่เป็น หากไม่เคยที่จะกระโดดลงสระและฝึกฝนความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า