fbpx

ยูกันดาผ่านกฎหมายต้าน LGBTQ+ รักร่วมเพศอาจต้องโทษจำคุก 20 ปี จนถึงประหารชีวิต

      ในปี 2023 เราได้เห็นการขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศจากหลายพื้นที่ทั่วโลก หลายประเทศผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม อีกจำนวนมากพยายามผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้ LGBTQ+ ได้สิทธิเสมอกับคนอื่นๆ 

      ทว่าก็ยังมีหลายพื้นที่ ที่แม้ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักรู้และเปิดรับความหลากหลาย แต่แนวคิดโฮโมโฟเบีย (Homophobia) หรืออาการเกลียดหรือกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ อยู่เสมอ ทั้งการเหยียดเพศ การล้อเลียนเสียดสี การประท้วงต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการนำแนวคิดดังกล่าวมาร่างเป็นกฎหมายบังคับใช้กับคนทุกคน ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ

      หนึ่งในประเด็นที่สร้างเสียงวิจารณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่ประเทศยูกันดา เมื่อสภาเพิ่งผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ได้รับเสียงตอบรับจากสภาอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่ทั่วโลกกลับต่อต้านและแสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น 

      ร่างกฎหมายที่ว่าถูกเรียกว่ากฎหมายต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตอนหนึ่งของกฎหมายระบุว่า บุคคลที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางเบี่ยงเบนทางเพศอาจต้องโทษจำคุก 2-10 ปี กรณีมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันอาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังระบุว่าผู้ที่กระทำผิดฐาน ‘รักร่วมเพศที่เป็นเหตุฉกรรจ์’ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันจนนำไปสู่การแพร่เชื้อและโรคทางเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กและเยาวชนที่เป็นเพศเดียวกัน อาจถูกพิจารณาต้องโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

      นอกจากนี้ ยังระบุถึงบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรที่ลงทุน สนับสนุน จัดหา หรือโปรโมตกิจกรรมใดก็ตามเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี

      ร่างกฎหมายถูกยื่นเข้าสภาในช่วงต้นเดือนมีนาคม มีมติเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 387 เสียง จาก 389 เสียง มีเสียงไม่เห็นด้วยเพียงแค่ 2 เสียงเท่านั้น จึงทำให้ โยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) ประธานาธิบดียูกันดา ลงนามยอมรับร่างกฎหมายดังกล่าว 

      อนิตา แอนเน็ต อะมอง (Annet Anita Among) ประธานรัฐสภายูกันดา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การที่ประธานาธิบดีได้ลงนามรับร่างกฎหมายต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นเพราะน้อมรับมติของสภาและตอบรับเสียงเรียกร้องของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อปกป้องสถาบันครอบครัว ปกป้องวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของยูกันดา 

      การกระทำของรัฐบาลสร้างเสียงวิจารณ์ล้นหลามจากประชาชนในประเทศ ผู้คนบางส่วนขุดบทสัมภาษณ์เก่าๆ ของผู้นำยูกันดามารีโพสต์อีกครั้ง เช่น บทสัมภาษณ์ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมูเซเวนีกล่าวว่า รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่เพื่อต่อต้านแนวคิดจากชาติตะวันตกในการพยายามทำให้ ‘ความเบี่ยงเบน’ กลายเป็น ‘สิ่งปกติ’ ในสังคม และชาติตะวันตกควรหยุดยัดเยียดแนวคิดหรือความเชื่อของตัวเองให้ผู้อื่นเสียที 

      โอริม เนียโก้ (Oryem Nyeko) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กร Human Rights Watch แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อร่างกฎหมายต้าน LGBTQ+ กลายเป็นสิ่งที่บังคับใช้จริง ประชาชนจำนวนมากจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมโดยมิชอบ เพราะการแยกว่าใครเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละคน จะทำให้ผู้คนที่เป็น LGBTQ+ ถูกทุบตี ถูกไล่ออกจากบ้าน ถูกไล่ออกจากงาน แม้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในสังคม แต่รัฐควรต้องปกป้องและให้ความสำคัญในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

      หลังประธานาธิบดียูกันดาลงนามเห็นชอบกฎหมายต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ สื่อต่างประเทศหลายสำนักเขียนข่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในยูกันดา โดยกระแสตอบรับค่อนข้างเป็นไปในทางลบ 

      องค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า รู้สึกตกใจกับการที่เราได้เห็นร่างกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ อย่างรุนแรง กลายมาเป็นสิ่งที่สามารถบังคับใช้เพื่อลิดรอนสิทธิของผู้อื่นได้จริง รัฐบาลยูกันดาควรพิจารณาอีกรอบว่าร่างกฎหมายนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญและสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือไม่ 

      ส่วนรัฐบาลอังกฤษกล่าวแสดงความรู้สึกตกใจและกังวลใจกับการผ่านร่างกฎหมาย เนื่องจากมองว่าร่างดังกล่าวจะทำให้สังคมยูกันดาเต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติ และอีกไม่นานกฎหมายฉบับนี้อาจย้อนกลับมาทำลายชื่อเสียงของยูกันดา 

      ทางด้านชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีปฏิกิริยารุนแรง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ออกแถลงการณ์ประณามการผ่านร่างกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เป็นการกระทำที่น่าอับอาย และรัฐบาลสหรัฐฯ จะพิจารณาคว่ำบาตรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้ คนที่ถูกขึ้นบัญชีดำจะไม่สามารถเดินทางเข้าดินแดนสหรัฐฯ ซึ่งการตัดสินใจของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศ 

      คนในแวดวงศาสนาก็แสดงความคิดเห็นถึงร่างกฎหมายต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศของยูกันดา จัสติน เวลบี (Justin Welby) อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) อัครมุขนายกและผู้นำหลักของคริสตจักรแห่งอังกฤษ เป็นประมุขเชิงสัญลักษณ์ของแองกลิกันคอมมิวเนียนทั่วโลก ออกมาเรียกร้องให้คริสตจักรแองกลิกันแห่งยูกันดาไม่สนับสนุนกฎหมายต้าน LGBTQ+ 

      ข้อมูลของคริสตจักรยูกันดาระบุว่า เวลานี้ยูกันดามีประชากร 45 ล้านคน กว่า 36% นับถือนิกายแองกลิกัน และบาทหลวงสตีเฟน คาซีอิมบา (Stephen Kaziimba) ผู้นำคริสตจักรยูกันดา เคยแสดงความคิดเห็นในประเด็นผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า เป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมยูกันดา ตอนนี้ประเทศกำลังรับแนวคิดและวัฒนธรรมจากภายนอกที่ขัดต่อความเชื่อเดิม ขัดต่อวัฒนธรรมดั้งเดิม และขัดต่อหลักความเชื่อทางศาสนา 

      แนวคิดของผู้นำคริสตจักรยูกันดาตรงกันข้ามกับการเรียกร้องของอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี เพราะเขาแสดงความรู้สึกผิดหวังที่ผู้นำนิกายแองกลิกันในยูกันดาสนับสนุนร่างกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ตะวันตกยัดเยียดค่านิยมบางอย่างให้ชาวยูกันดา แต่เกี่ยวกับพันธสัญญาที่ยึดถืออยู่ คือการปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกันในฐานะบุตรของพระเจ้า และการเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับดังกล่าวจะสร้างความขัดแย้งในคริสตจักรแองกลิกันทั่วโลก

      ตอนนี้หลายฝ่ายกำลังเฝ้าดูสถานการณ์หลังจากนี้ในยูกันดาอย่างใกล้ชิด ตัวเลขความรุนแรงทางเพศจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ จะมีการเหยียดเพศในสังคม การเหยียดเพศโดยเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้นหรือไม่ และเมื่อกระแสทั่วโลกแสดงความไม่เห็นด้วยกับการผ่านร่างกฎหมายนี้ รัฐบาลยูกันดาจะเริ่มลังเลแล้วพิจารณาใหม่ไหม หรือจะยังคงเดินหน้าต่อไปในแนวคิดเดิมคือความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดปกติในสังคม 

ที่มา : theguardian. / africanews / voanews / theguardian

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า