fbpx

เสวนา “เปลี่ยนโซเชียล แปลงสังคม” คลี่ชั้นความรุนแรงทับซ้อนของ LGBTQ+ พร้อม 4 แนวทางขับเคลื่อนสังคมด้วยโซเชียลมีเดีย

ทรานส์ทาเลนท์จับมือศศินทร์ เปิดเวทีเสวนา “เปลี่ยนโซเชียล แปลงสังคม” คลี่ชั้นความรุนแรงทับซ้อนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมแนะ 4 แนวทางสร้างแคมเปญขับเคลื่อนสังคมด้วยโซเชียลมีเดีย

เทศกาลไพรด์ช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาของการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศที่เข้มข้นมากกว่าทุกปี โดยเฉพาะในเมืองไทยที่เห็นภาพการเคลื่อนไหวและร่วมมือกันอย่างมีนัยสำคัญทั้งจากฝั่งการเมือง ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ เช่นการร่วมผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้บังคับใช้ก่อนไทยประชันการเป็นเจ้าภาพจัดเวิลด์ไพรด์ 2028 การเดินขบวนพาเหรดสีรุ้งตามเมืองใหญ่สำคัญทั่วประเทศ การออกนโยบายเพื่อความหลากหลายเท่าเทียมในองค์กรธุรกิจ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียสร้างความตระหนักรู้ สนับสนุนและแสดงออกถึงจุดยืนด้านสิทธิความเท่าเทียมของคนทุกเพศในสังคม 

อย่างไรก็ดีผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังคงเผชิญความท้าทายในรูปแบบความรุนแรงทั้งทางตรง ทางวัฒนธรรม และทางโครงสร้าง ผ่านความทับซ้อนของอัตลักษณ์และลักษณะต่างๆ ในรูปแบบและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และมักถูกมองจากฐานที่ว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เป็นหน่วยรวมหน่วยเดียวกัน มีประสบการณ์และพบเจอบริบทปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้ขาดความเข้าใจอย่างถูกต้อง ลึกซึ้งและรอบด้าน ต่อสถานการณ์และบริบทเฉพาะของแต่ละกลุ่มที่เผชิญอยู่  นโยบายหรือทางแก้ปัญหาในหลายๆครั้งจึงขาดความเชื่อมโยง ละเลยแนวคิดสภาวะทับซ้อน (intersectionality) และมองข้ามประสบการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนข้ามเพศ 

ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ภายใต้การสนับสนุนโดยสถานทูตสหรัฐอเมริกา จึงจัดเวทีเสวนา “เปลี่ยนโซเชียล แปลงสังคม” (TRANSforming social media to social movement) เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับความรุนแรงที่ทับซ้อนและการขับเคลื่อนประเด็นสังคมต่างๆด้วยพลังโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะด้านความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ มีผู้นำคนรุ่นใหม่จากหลายองค์กรกว่า 30 รายเข้าร่วมทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมดังกล่าว

ความรุนแรง: ตัวเร่งการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement)

จากรายงานของ SDG Move วิเคราะห์สถานการณ์การเผชิญความรุนแรงของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ผ่านมา โดยสามารถแบ่งเป็นความรุนแรง 1) ทางตรง เช่น การทำร้ายร่างกายและกลั่นแกล้งบุลลี่ให้ได้รับความอับอาย 2) ทางวัฒนธรรม เช่น ค่านิยมการเหยียดเพศ การตีตราและอคติ ผ่านแบบเรียนและสื่อ เป็นต้น และ 3) ทางโครงสร้าง เช่น การถูกเลือกปฏิบัติและอคติจากความอยุติธรรมทางสังคมและกลไกเชิงโครงสร้างหรือระบบต่างๆที่สร้างความเหลื่อมล้ำจากกฎหมาย นโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำที่มีแนวคิดการแบ่งแยกชายหญิงมากกว่าการออกแบบบนพื้นฐานของความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง 

งานวิจัยระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค ในปี 2561 เผยว่า กลุ่มนักเรียน LGBTQ+ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตกเป็นเป้าของความรุนแรงจากการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ มีประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งทางวาจา 47.67% แกล้งทางเพศ 8.46% แกล้งทางไซเบอร์ 5.16% และถูกกลั่นแกล้งทุกประเภท 87.42% ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับนักเรียนหญิงและชาย 

นอกจากนี้ รายงานการสำรวจของธนาคารโลกในปี 2561 ยังเผยอีกว่าในประเทศไทยมีคนข้ามเพศมากถึง 77% เลสเบี้ยน 62.5% และ เกย์ 49% ที่ยังคงเผชิญกับการถูกปฏิเสธการจ้างงาน การเลือกปฏิบัติ และการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน รวมถึงการปฏิเสธการส่งเสริมบทบาทผู้นำโดยเฉพาะกับคนข้ามเพศ ที่สังคมมักจะเหมารวมว่าเป็นบุคคลที่ “ไม่มีความสามารถ ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เป็นมืออาชีพ”

ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้จำกัดให้กลุ่มคนข้ามเพศต้องทำงานอยู่แต่ในอุตสาหกรรมด้านความงาม สื่อและวงการบันเทิง รวมถึงงานบริการทางเพศ คนข้ามเพศเป็นกลุ่มที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากที่สุดในบรรดากลุ่ม LGBTQ+ จากการถูกกีดกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกรูปแบบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความรุนแรงทั้งสามแบบเป็นตัวเร่งการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วน

คนข้ามเพศ: หมุดหมายของสังคมแห่งความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง

“ในการสร้างสังคมหรือองค์กรแห่งความหลากหลายที่แท้จริงและเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนด้านทรัพยากรคนนั้น ผู้นำต้องเข้าใจแก่นของปัญหาความรุนแรงและบริบทที่ทับซ้อนอย่างลึกซึ้งและเชื่อมโยงกันในทุกมิติของกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง เช่น เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่แค่เรื่องของหญิงเท่ากับชาย แต่ต้องรวมกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย และต้องศึกษาเรื่องความรุนแรงต่อคนกลุ่มนี้ให้ลึกกว่าเดิม

โดยเฉพาะอคติ การเลือกปฎิบัติและความรุนแรงในทุกมิติ ทั้งควรคำนึงถึงแนวคิด Inclusion from the margin เน้นการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างพลังให้คนที่ถูกเลือกปฎิบัติมากที่สุดในกลุ่ม LGBTQ+ นั่นคือ คนข้ามเพศ (Transgender) อันเป็นการสร้างความเสมอภาค (equity) ที่ถูกต้อง” ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์ ผู้ก่อตั้ง ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านการสร้างสถานที่ทำงานที่มีความเป็นมิตรต่อ LGBTQ+ แห่งแรกของประเทศไทยกล่าว “นี่ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิพิเศษ แต่เป็นการสนับสนุนอย่างเสมอภาคให้เกิดความเท่าเทียมกับกลุ่มคนชายขอบ เพื่อลดอุปสรรคของระบบ ขณะเดียวกันก็ช่วยปลดล็อกศักยภาพของคนข้ามเพศที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและองค์กรต่อไป”

โซเชียลมีเดีย: เปลี่ยนแพลตฟอร์มเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม

บทสรุป 4 แนวทางการใช้โชเชียลมีเดียสร้างแคมเปญขับเคลื่อนสังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศ 

  1. รู้จักและเข้าใจแก่นของสิ่งที่อยากขับเคลื่อน

“เวลาทำแคมเปญขับเคลื่อนสังคม พึงระลึกไว้เสมอว่าเรากำลังทำเรื่องของคนภายในชุมชน ประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นยอด การศึกษาค้นคว้าจากคนในชุมชนและเข้าใจแก่นของปัญหาอย่างถูกต้อง (Accuracy) จะทำให้เรารู้ลึกและรู้รอบในเรื่องนั้นๆ เพื่อสร้างทัศนคติ (Attitude) ให้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชนเข้าใจประเด็นทับซ้อนอย่างแท้จริงและถูกต้อง เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์มากที่สุด อย่างการสร้าง GendersMatter สื่อที่มองเรื่องเพศนอกตำรา (ที่ไม่ได้มีแค่จู๋กับจิ๋ม) ให้หลากหลาย เพื่อให้ความรู้และขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกัน” ปณต ศรีนวล บรรณาธิการบริหาร ประจำสื่อ GendersMatter Media Agency ติ๊กต๊อกเกอร์ Tewtuen (ติวเถื่อน) มีผู้ติดตามกว่า 250,000 ราย

  1. รู้ว่าคุณกำลังต่อสู้เพื่ออะไร 

“สังคมตีกรอบสิทธิ หน้าที่ รวมถึงวิธีคิดของคนข้ามเพศให้อยู่ในกล่องเดิมๆ มาอย่างยาวนาน เรากำลังต่อสู้กับอคติ การตีตราและมาตรวัดสังคมแบบเดิม ทั้งการมีตัวตน ความงาม โอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ เป้าหมายของเราคือการสร้างต้นแบบคนข้ามเพศที่เติบโตได้ในสายอาชีพที่หลากหลายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนข้ามเพศรุ่นหลังต่อไป จึงได้เข้าไปร่วมทำงานกับ Trans for Career Thailand เพจให้คำแนะนำบุคคลข้ามเพศในเรื่องการทำงาน อาชีพ และเล่าเรื่องราวคนข้ามเพศมืออาชีพเก่งๆหลายคน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายและความเสมอภาคในที่ทำงาน เป็นต้น” เจสสิลินน์ นาคประสิทธิ์ อีเมลล์มาเก็ตเตอร์ ผู้ประสานงานเพจ Trans for Career Thailand  และมิสทรานส์อินเตอร์เนชั่นแนลไทยแลนด์ 2021

  1. รู้ว่าจะใช้กลยุทธ์แบบไหนและเครื่องมืออะไร 

“การรู้จักจุดแข็งของตัวเอง มีจุดยืน มองเห็นโอกาสในทุกๆปัญหา และเข้าใจกระแส คือกลยุทธ์ที่ใช้สร้างโมเดลเอเจนซี่และแอปฯ เดทสำหรับคนข้ามเพศและ LGBTQ+ แห่งแรกของนิวยอร์ก โดยการใช้โชเชียลมีเดียและแอปฯ สร้างแบรนด์และเสนอบริการโมเดลที่หลากหลายตอบโจทย์แบรนด์ในช่วงเวลาที่กระแสความหลากหลายกำลังมาแรง นอกจากจะช่วยสร้างงานแล้วยังช่วยเพิ่มพื้นที่ให้กับกลุ่มที่ถูกกดทับมานานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงาม นอกจากนี้แอปฯ เดทติ้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่ออาชญากรรมที่เกิดจากการเกลียดกลัวคนข้ามเพศได้อีกด้วย” สุภัทร ภาษี ผู้ก่อตั้งเอเจนซี่ทรานโมเดล Transmodel NYC สำหรับคนข้ามเพศแห่งแรกของนิวยอร์ก ผู้ร่วมก่อตั้ง Teadate เดทติ้งแอปพลิเคชั่นสำหรับคนข้ามเพศ มีผู้ใช้กว่า 18,000 ราย

  1. ทำทันที 

“Just do it ลองทำเลย ถือเป็นหัวใจของความสำเร็จ เพราะทุกก้าวที่เราทำมันจะทดสอบและวัดผลได้ทันทีว่าสิ่งที่ทำนั้นใช่ทางของเราจริงๆ หรือเปล่า ทั้งตอนเริ่มทำเพจ Not too late to be equal ก็เป็นเพจแรกที่พูดเรื่องสิทธิของคนข้ามเพศในการรับฮอร์โมนจนไปถึงการรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนการแต่งกายตามคำนำหน้าเพศได้ หรือการทำ TikTok ช่องซาร่าอาสารีแคป ก็เกิดมาจากความหลงใหลในการดูนางงาม แต่ก็ยังส่งสารสร้างความเท่าเทียม ท้าชนมาตรฐานกรอบความงามแบบเดิม เพื่อยกระดับเวทีนางงามโดยใช้แพลตฟอร์มที่หลากหลาย จากจุดเล็กๆ ในวันนั้นจนกลายมาเป็นเสียงที่ดังขึ้นได้ในวันนี้ จากความสำเร็จของก้าวเล็กๆ ก็จะสามารถสร้างอิมแพคไปจนต่อกันเป็นภาพใหญ่ได้ในสักวัน” ธนพงษ์ วรรณโคตร ผู้ก่อตั้งเพจ Not too late to be equal ติ๊กตอกเกอร์ Sarahchh_ มีผู้ติดตามกว่า 75,000 ราย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า