fbpx

ทางออกสู่โลกที่ทุกคนเท่ากัน ของ “ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี”

“สิ่งที่เป็นปัญหาที่ผ่านมา กลุ่มทุน กลุ่มชนชั้นนำผ่านโครงสร้างของรัฐ มีการผูกขาดอำนาจมากขึ้น”

นี่คือคำอธิบายของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ และผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการ วิเคราะห์ฉากทัศน์ประเทศหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิด-19 อาจารย์ษัษฐรัมย์มองว่ากลุ่มธุรกิจผูกขาดเติบโตมากขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจ SMEs ล้มหายตายจาก ฉะนั้นฉากทัศน์ที่น่ากังวลคือ การเติบโตของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะไปกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ และกลายเป็นว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามาควบคุมเศรษฐกิจในระบบใหม่ๆ รวมถึงเศรษฐกิจรูปแบบแพลตฟอร์มมากขึ้นด้วย 

สาเหตุของการผูกขาด และความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร 

สาเหตุเกิดจากปัญหาของนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เน้นการเติบโต แต่ไม่มีนโยบายในเรื่องของการกระจายความมั่งคั่งให้ลงมาถึงระดับฐานราก มีแต่การพูดถึงว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจ SMEs เติบโต แต่กลับใช้เครื่องมือ เช่น เรื่องการลดหย่อนภาษี ซึ่งมีการวิจัยออกมาแล้วว่านโยบายลักษณะนี้ทำให้ทุนกลุ่มใหญ่ได้ประโยชน์ ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กไม่ได้สิทธิเท่าไหร่จากนโยบายดังกล่าว 

 สิ่งที่ควรทำคือมีการจินตนาการชุดใหม่ในการสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เช่นต้องมีสวัสดิการด้านสังคมที่ปลอดภัย ให้กับชนชั้นกลางที่สามารถต่อยอดการประกอบธุรกิจ ทำให้เขาหมดความกังวลเรื่องของพ่อแม่ ครอบครัว ลูก ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ด้านการขนส่ง ต้องกลับมาตั้งคำถามกับเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้มากขึ้น สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการเด็ก ที่จะทำให้คนธรรมดาเติบโตเป็น SMEs ได้ แต่ทุกวันนี้หายไปเลย เพราะมัวแต่ไปหลงกับคำว่า “อายุน้อยร้อยล้าน” “การขายของออนไลน์” เราเห็นได้ว่าสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบผลสำเร็จ แต่สิ่งที่จะทำให้คนประสบความสำเร็จได้ต้องมี สวัสดิการสังคมที่ดี หลังพิงที่ดี จะทำให้เห็นฉากทัศน์ใหม่ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ 

ควรจะมีการแก้ไขอย่างไรเรื่องของการผูกขาดและความเหลื่อมล้ำ 

ส่วนในเรื่องที่จะทำให้พรรคการเมืองมีนโยบายให้ก้าวหน้าในเรื่องนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นอัตโนมัติได้ ต้องมีกระแสกดดันจากประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ รวมถึงประชาชนในวงกว้าง ว่าถึงเวลาแล้วที่จะผลักดันเรื่องสวัสดิการที่สามารถทำให้คนเติบโตไปเป็น SMEs ได้ สามารถลองผิดลองถูกกับธุรกิจได้ แต่ปัญหาคือบรรยากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2565 ลายเป็นบรรยากาศของการปราบปรามผู้คน การปราบปรามไม่ได้มีผลเสียในเรื่องของการเมือง แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย ทำให้คนไม่กล้าเสนอแนวคิดในเรื่องเศรษฐกิจใหม่ๆ แต่เป็นเพียงภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นที่สีเทา ๆ การฉ้อฉล การค้าระยะสั้น ที่ให้คนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในวังวนแบบนี้มากขึ้น ในด้านหนึ่งคือภาพธุรกิจที่ไม่ได้ปลอดภัย ไม่ได้มีความมั่นคงอะไรเลย ประชาชนควรยกระดับกดดันให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่สหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ประกาศล้างหนี้เพื่อการศึกษา เพราะไบเดนบอกว่า ถ้าคนอเมริกันมีหนี้สินจากการศึกษาทบต้นทบดอก เศรษฐกิจของอเมริกาจะไปไหนไม่ได้เลย ไบเดนจึงประกาศล้างหนี้ให้เลย 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเติบโตและลองผิดลองถูกได้ และใช้ความรู้ของเขาให้เกิดดอกเกิดผลมากที่สุด ตัดความกังวลเรื่องหนี้การศึกษาไป 

การให้กลุ่มทุนมีอำนาจมากเกินไป มีผลงานวิจัยทั่วโลกเลยว่าไม่ใช่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแค่อย่างเดียว แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตยด้วย เป็นการทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างที่เกิดในอเมริกา ในอังกฤษ ในยุโรปและเกาหลีใต้ เมื่อกลุ่มทุนมีอำนาจมากขึ้น ประชาชนมีอำนาจน้อยลง ส่งผลต่อปัญหาประชาธิปไตย แต่มีสัญญาณที่ดี เพราะทั่วโลก รวมถึงไทย จะเห็นตัวชี้วัดเรื่องคนรุ่นใหม่ ตระหนักเห็นทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ที่ใช้มา 10-20 ปี ไม่ใช่ทางออกแล้ว เคยเจอเด็ก ม.5 แนะนำว่าเป็นนักสังคมนิยม อยากใช้ชีวิตแบบสังคมนิยม และไม่ได้มีคนเดียว เมื่อเรามองย้อนไป 5 – 6 ปีก่อน คือไม่มี ตอนนี้กลับไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก่อนถ้ามีความคิดฝ่ายซ้ายสมัยนั้นอาจเป็นอะไรที่แปลกมาก “แต่ตอนนี้ถึงแม้ไม่ใช่ส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ของแปลกแน่นอน” 

ฉากทัศน์และความฝันที่อยากเห็นประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง 

ชวนมองการปรับใช้นโนยายสังคมนิยมให้เข้ากับประเทศไทย เช่น การเรียนฟรีในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากจะเกิดความยุติธรรมในสังคม สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือคนรุ่นใหม่สามารถลองผิดลองถููก มีประสบการณ์ในชีวิตมากขึ้น 

โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย ณ ขณะนี้คือความเหลื่อมล้ำ ที่กำลังกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องผิดปกติมากๆ เช่น การที่แม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาจ่ายค่านมให้ลูก เด็กต้องกู้เงินเรียนตั้งแต่มัธยม ขณะเดียวกันไทยกลายเป็นสังคมที่บูชาคนมีเงิน รักนายทุน มันคือมโนทัศน์ที่ผิดพลาดมากๆ แม้กระทั่งประเทศที่ทุนนิยมจ๋าอย่างอเมริกา ยังไม่มีมโนทัศน์ความภักดีแบบนี้ นี่คือ “ฉากทัศน์ของความเหลื่อมล้ำที่พยายามถูกทำให้ปกติ” ที่เกิดจากความผูกขาดอำนาจ ผูกขาดของกลุ่มทุน 

สิ่งที่จะทำให้สังคมไทยดีขึ้นได้ ต้องมีจินตนาการเรื่องรัฐสวัสดิการ การกระจายอำนาจ การจัดสรรงบประมาณ ที่ให้งบประมาณบาทแรกถึงบาทสุดท้าย ตกไปอยู่ในสวัสดิการที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ ไม่ต้องกังวลว่าประเทศนี้มีหมอมีพยาบาลจำนวนมากแล้วจะเป็นภาระ ไม่ต้องกังวลเรื่องเด็กเรียนมหาวิทยาลัยฟรีแล้วจะไม่ตั้งใจเรียน หรือไปกังวลเรื่องให้เงินเลี้ยงดูเด็กเยอะคนจะปั๊มลูก มีความกังวลกับอะไรแบบนี้ “ซึ่งเป็นผีที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง”  

สิ่งที่ต้องแก้ไขหากจะมีรัฐบาล ต้องเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเงื่อนไขการสืบทอดอำนาจ ต้องสามารถปิดสวิตช์ ส.ว. ขณะเดียวกันมีสิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้นตลอด 8 ปี ทั้งด้านการเมือง การปราบปรามผู้ชุมนุม ต้องมีการดำเนินคดีกับการใช้อำนาจรัฐเหล่านี้ อยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่ที่มีอารมณ์ของการแก้แค้น เพราะคิดว่าหากไม่คิดทบทวนกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อน เราเดินหน้าต่อไปไม่ได้ และการที่มีรัฐบาลที่ต้องยึดโยงกับประชาชน ยึดโยงกับนโนยายที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน สามารถตรวจสอบได้โดยประชาชน จะทำให้เกิดรัฐสวัสดิการ โดยที่ไม่ได้นำเรื่องวินัยทางการเงินการคลังเป็นตัวตั้ง ที่จะบอกว่าเรื่องนี้คุ้มไม่คุ้ม ทำได้ ทำไม่ได้ เราจะไม่เห็นความก้าวหน้าของสังคมได้เลย 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า