fbpx

ความเจ็บปวดที่ต้องจำของ “ทักษิณ” สู่วันกลับบ้านภายใต้รัฐบาล “เพื่อไทย”

สำหรับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งสร้างรูปแบบเฉพาะตัวรูปแบบใหม่ขึ้นมาและส่งผลต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน ถ้าไม่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ เราจะไม่ทราบถึงจุดเริ่มต้นที่ส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ในปัจจุบันเลย เหตุการณ์นั้นก็คือ การเข้ามามีบทบาทของนักธุรกิจคนหนึ่ง นามว่า ทักษิณ ชินวัตร นักการเมืองหน้าใหม่

เป็นนักธุรกิจไฟแรง ที่สามารถสร้างนโยบายตอบโจทย์ประชาชน ที่เรียกว่า “นโยบายประชานิยม” ซึ่งเป็นนโยบายที่สามารถนำพาพรรคไทยรักไทย ให้กลายเป็นพรรคเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และยังเป็นบริบทที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ การสร้างพรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ก็ยังถูกมองว่าเป็น “พรรคของทักษิณ” ถึงแม้ ทักษิณ ชินวัตร ไม่อยู่ในประเทศนานถึง 16 ปีแล้ว แต่เขาก็กลายเป็น “ผีทักษิณ” ที่คอยหลอกหลอนการเมืองไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน 

รัฐบาลใหม่ภายใต้ไทยรักไทย 

การเลือกตั้งในอดีตนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั่งก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะได้เป็นรัฐบาล ยังไม่เคยมีพรรคไหนที่จะสามารถตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว และที่พิเศษยิ่งกว่านั้น พรรคไทยรักไทย ที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สามารถตั้งรัฐบาลได้ที่ได้เสียงข้างมากอย่างถล่มทลาย

ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2544 ซึ่งในครั้งนั้น มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ทั้งหมด 42,759,001 คน มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งจริงจำนวน 29,904,940 คน คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 69.94 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และผลการเลือกตั้งก็ปรากฏว่า พรรคไทยรักไทย ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมกัน 248 คน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด และหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรับรองแล้ว พรรคไทยรักไทยก็ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเป็นรัฐบาลผสม 3 พรรค โดยมีพรรคชาติไทย และพรรคความหวังใหม่ เข้าร่วม ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 

จะเห็นได้ว่าพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น อยู่ในสถานะการเมืองที่ค่อนข้างจะมีคะแนนนิยมมากที่สุด ถือได้ว่ามีเสียงที่อยู่ในลักษณะเกือบถึงครึ่งจากสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน และมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ที่ขอเพียงได้เสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กหรือพรรคขนาดกลางอื่นๆ สนับสนุน ก็จะทำให้สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้อย่างเต็มรูปแบบ ลักษณะการครองเสียงข้างมากในสภา ที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจากสมัยทักษิณจนถึงปัจจุบัน ทำให้กลายเป็นคำพูดหรือวาทกรรมทีหลายคนรู้จักในชื่อว่า “เผด็จการรัฐสภา” ต่อมานั่นเอง  

ปัจจัยหลักที่ทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่ประชาชนเลือกหรือมีคะแนนมากที่สุดในช่วงเวลานั้น มีดังนี้ 

1. บริบทของสังคมในขณะนั้นเพิ่งผ่านสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากสภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ  และรัฐบาลก่อนหน้านั้น คือรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ และด้วยภาวะฟองสบู่แตก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศไทย บริษัทหลายๆบริษัทต้องล้มละลาย ผู้คนตกงานว่างงานในอัตราสูง รวมทั้งรัฐบาลก่อนหน้าพรรคไทยรักไทยไม่ตอบโจทย์กับผู้ใช้แรงงาน จะเห็นได้ว่าผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มคนใช้แรงหรือเป็นเกษตรกรเป็นหลัก ทำให้ผู้คนที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพมองหาโอกาสใหม่ ดังนั้น พรรคไทยรักไทย ที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และชูคำขวัญที่ว่า “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” จึงกลายเป็นจุดสนใจและโอกาสใหม่ๆ ของสังคมที่ต้องการผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในเวลานั้น 

2. เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักธุรกิจที่เข้ามาสู่การเมือง ทำให้เกิดความเข้าใจ และมีวิธีการหาเสียงที่ตอบโจทย์ผู้ใช้แรงงาน หรือตอบโจทย์ผู้คนส่วนใหญ่ ทำให้นโยบายของพรรคไทยรักไทยมีลักษณะเป็นประชานิยม กล่าวคือเป็นการหาเสียงที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าจับต้องได้จริง เช่น โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ที่เกิดขึ้นจริงและประชาชนก็รับการรักษาได้จริงในอัตราค่ารักษาที่ต่ำ อีกภาพที่เห็นได้ชัด คือ โครงการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า ที่สามารถทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก เข้าถึงได้ สามารถตอบโจทย์คนวัยทำงานส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก  

ที่กล่าวมานี้เป็นปัจจัยที่ทำให้พรรคไทยรักไทยกลายเป็นพรรคที่ประชาชนนิยมเป็นเวลาต่อมา และที่สำคัญด้วยนโยบายต่อๆมาซึ่งทำให้ประชาชนพึงพอใจ ทำให้ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มา พรรคไทยรักไทยได้คะแนนนิยมมากขึ้น จนทำให้การผูกขาดสภาเสียงข้างมาก ที่ทำให้เสียงข้างน้อย หรือพรรคฝ่ายค้านในประเทศไทย ณ ขณะนั้น หมดบทบาทลงเรื่อยๆ 

จุดเสื่อมของไทยรักไทย สู่ความแตกแยกทางการเมืองไทย ที่มีผลต่อสังคม 

จุดจบของรัฐบาลทักษิณ มาจากการสร้างภาพลักษณ์ “คนโกง” และการทุจริตต่างๆ ด้วยฝีมือของฝ่ายตรงข้าม วาทกรรมเหล่านี้ถึงจะเป็นคำกล่าวอ้างหรือเป็นเรื่องจริงประการใดก็ตาม เป็นปัจจัยบ่อนทำลายรัฐบาลทักษิณเรื่อยมา จะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้  

เดือนมกราคม 2549 ตระกูลชินวัตรขายบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น ให้กับบริษัทเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นเงิน 73 พันล้านบาท โดยไม่เสียภาษี เป็นเรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก กลุ่มพันธมิตรที่ชุมนุมประท้วงก็โหมกระหน่ำโจมตีถึงการเป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงแม้เรื่องนี้นายทักษิณจะออกมาโต้แย้ง ว่าเป็นหุ้นของครอบครัว ซึ่งตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า การกระทำของทักษิณหรือผู้ใกล้ชิดของเขา ถูกจับตามอง และถูกวิจารณ์จากสังคมมากขึ้น  

นอกจากนี้ รัฐมนตรีในรัฐบาลของเขายังถูกวิจารณ์ถึงการทุจริตเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การลงมติในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน  121 ท่าน เป็นผู้เสนอ โดยอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ใจความว่า ผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงคมนาคมและรับผิดชอบโครงการสนามบินสุวรรณภูมิได้ประพฤติ ปฏิบัติบกพร่องต่อหน้าที่ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้  

“1. บริหารโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิบกพร่อง ผิดพลาด จนเกิดการทุจริตในโครงการระบบสายพานและระบบตรวจวัตถุระเบิด  

2. เมื่อมีการเปิดเผยข่าวการทุจริตดังกล่าว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกลับละเลยไม่ใส่ใจดำเนินการให้เกิดการตรวจสอบเพื่อให้ได้ผู้กระทำความผิด และยังล้มเหลวในการดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา  

3. นอกจากความผิดพลาดใน 2 ข้อข้างต้นแล้ว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังมีพฤติกรรมปกป้องการกระทำที่ผิดพลาดของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการตรวจสอบตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” 

กรณีเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลทักษิณอยู่ในช่วงขาลงทางการเมือง ที่มาจากปัญหาการทุจริตเสียเป็นส่วนใหญ่ จนในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ต่างประเทศ แล้วจัดตั้งรัฐบาลโดยมี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งในที่สุด 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกิดความไม่พอใจ นำไปสู่การชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (น.ป.ช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงในที่สุด 

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เกิดขึ้นหลังจากวันที่่ 19 กันยายน 2549 และค่อยๆ ขยายอย่างชัดเจนกลายเป็นผู้ชุมนุนมทางการเมืองที่มีขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร คนต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสิ้น   

บริบททางการเมือง ณ ขณะนั้น พรรคไทยรักไทย ที่เป็นพรรคเสียงข้างมากของประชาชนถูกโจมตี และทำลายไม่ว่าจะด้วยลักษณะใดก็ตาม โดยฝั่งเสียงข้างน้อยที่แพ้ไม่เป็น เห็นได้จากกรณียุบพรรคไทยรักไทยที่เคยครองเสียงข้างมากในสภา  

ครั้งนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนกับ กกต.ว่า พรรคไทยรักไทยจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก อย่างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ กกต. ปลอมแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคเล็กเมื่อปี 2549 หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภา ก็เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพรรคไทยรักไทย เพื่อปลดแอกจากระบบเกมที่ฝ่ายพรรคไทยรักไทยชนะมาตลอด ให้ตนเป็นฝ่ายขึ้นมาชนะ จนนำไปสู่การยุคพรรคไทยรักไทยในที่สุด 

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค รวม 111 คน นาน 5 ปี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550 หรือที่เรียกว่า “บ้านเลขที่ 111 

แม้จะดูเหมือนกับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะทำให้ขุมกำลังของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณหมดลงไป แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถทำให้กลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ สลายไป เพราะยังสามารถกลับมาชนะได้อีกครั้ง โดยก่อตั้งพรรคใหม่คือพรรคพลังประชาชน ที่นำโดย นายสมัคร สุนทรเวช และเป็นอีกครั้งที่กลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง นายสมัครจึงเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ที่มาจากเสียงสนับสนุนของกลุ่มประชาชน  

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการถอนรากถอนโคนกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็นำไปสู่การวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด จากการเป็นพิธีกรในรายการทำอาหาร ซึ่งโดยรวมศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถเป็นลูกจ้างเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทหาผลกำไรได้ ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช เป็นเพียงพิธีกรรับเชิญเท่านั้น  

ในเวลาต่อมา การเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคพลังประชาชนก็ชนะอีกครั้ง ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การปิดทำเนียบ ปิดสนามบิน ของกลุ่มพันธมิตร ขยายวงกว้างจนฝ่ายประชาธิปัตย์เผด็จศึกด้วยการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มีการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยกมือให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากเสียงประชาชนอย่างสุจริต ภาวการณ์เช่นนี้จึงนำไปสู่การประท้วงของประชาชน และผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลุ่มเสื้อแดงเริ่มรวมตัวจัดตั้งองค์กรอย่างมีเอกภาพ มีทั้งแกนนำจากท้องถิ่น ทั้งส่วนกลาง ที่สำคัญคือสร้างหมู่บ้านเสื้อแดง ที่มีลักษณะของประชาชนรากหญ้า และเข้ามามีบทบาทมากขึ้น  

วิกฤตการณ์เสื้อหลากสีสู่สภา คสช. 

หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ ได้ตั้งรัฐบาลจนถึง ปี 2554 นำไปสู่การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และสามารถชนะการเลือกตั้ง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้อีกครั้ง เป็นการพลิกโฉมประเทศไทย โดยเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง  

แต่ด้วยวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา และด้วยความแตกแยกที่มีมาตั้งแต่อดีต รวมทั้งคำว่า “ผีทักษิณ” หรือ “พรรคทักษิณ” ที่ถูกนำมาตีตราพรรคเพื่อไทย ว่าเป็นพรรคของตระกูลชินวัตร ส่งผลให้มีความพยายามกีดกัน ตระกูลชินวัตรออกจากการเมือง ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ อยู่ได้ไม่ครบวาระ 4 ปี กล่าวคือสามารถอยู่ได้เพียงปี 2554-2557 ด้วยผลกระทบที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วม การกล่าวหาถึงการทุจริตในโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นนโยบายเอื้อต่อชาวนา แต่ด้วยปัญหาด้านนโยบาย หรือปัญหาการจัดการทำให้โครงการนี้มีปัญหา มีการตรวจสอบโดยฝ่ายค้าน นำโดยนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นผู้อภิปรายและตรวจสอบ ความไม่พอใจของฝ่ายค้านทวีขึ้นทุกช่วงทุกเวลา ปัญหาที่สำคัญของรัฐบาลนี้ที่เปรียบเสมือนการนำไปสู่วิกฤตสูงสุด คือการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเสนอโดย นายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ อย่างที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเป็นการ “เหมาเข่ง” หรือนิรโทษกรรมสุดซอย เห็นได้จากบทความสถาบันพระปกเกล้า กล่าวไว้ว่า 

 “พ.ร.บ. ดังกล่าวให้มีผลนิรโทษกรรมครอบคลุมหลายฝ่าย ทั้ง “ฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่าย นปช.” ที่สำคัญยังรวมถึง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ” ซึ่งกรณีหลังนี้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 พรรคฝ่ายค้าน องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมทั้งแกนนำ นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่คดีอาญา “ฆ่า-เผา” และ “ผู้ทุจริตคอร์รัปชั่น” ด้วย”  

 พ.ร.บ. นี้ดูเหมือนจะพยายามสร้างความปรองดองให้เกิดในประเทศ แต่ความเห็นจากหลายฝ่าย หรือหลายแหล่งข้อมูล ได้วิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ. นี้ ไปในลักษณะเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายรัฐบาลเสียมากกว่า โดยเฉพาะมีผลต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะพ้นคดีความผิดทั้งมวล ทำให้เกิดความไม่พอใจและเกิดความแตกแยกในสังคมอีกครั้ง กลายเป็นว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ปลุกผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นมาอีกครั้ง ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่ถึงแม้จะมีเสียงข้างน้อยในสภา จึงใช้วิธีการนอกสภาด้วยการประท้วงที่นำไปสู่การชุมนุมของเสื้อหลากสี นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาประท้วงนอกสภา ต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ปลุกระดมคนไม่เอาระบอบทักษิณ ได้เสียงสนับสนุนจากผู้ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเข้ามาเพิ่มเติม กลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.,กลุ่มเสื้อหลากสี  พ.ศ. 2556-2557) ที่ใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์  

การประท้วงครั้งนั้น ในช่วงต้นได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง นักร้อง นักแสดง นักวิชาการบางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น กลุ่มนี้สามารถกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ และที่สำคัญกองทัพยังปฏิเสธช่วยเหลือรัฐบาลในการแก้ปัญหาการชุมนุม การประท้วงเริ่มบานปลายมากยิ่งขึ้น เริ่มต้นจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศยกระดับการชุมนุม ที่มีชื่อเรียกว่า Shutdown Bangkok (13 มกราคม 2557) รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงถอยด้วยการประกาศยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่  (2 กุมภาพันธ์ 2557) ทว่าครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงแข่งขันการเลือกตั้ง ส่วน กปปส. ก็ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พยายามกีดกันไม่ให้คนใช้สิทธิเลือกตั้งทุกวิถีทาง มีการทำร้ายผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้ทั่วกรุงเทพฯ เกิดจลาจลครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีระเบิดเกิดขึ้นทั่วกรุงเทพ มีข่าวมือปืนป๊อปคอร์นยิงทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เพราะภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ  

จากนั้น กลุ่ม กปปส. ส่วนกลาง นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พยายามปลุกระดมทหารให้ทำรัฐประหาร ด้านกลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ปักหลักชุมนุมหนุนรัฐบาล ต่อต้านกลุ่ม กปปส. และพยายามกดดันไม่ให้ทหารออกมารัฐประหาร จนในที่สุดทหารที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก่อนหน้านั้นประกาศ จะไม่รัฐประหารนำทหารออกมา เรียกให้กลุ่มขัดแย้งหลากหลายฝ่ายเข้ามาเจรจา แต่การเจรจาโดยคำกล่าวอ้างของ คสช. ล้มเหลวจนนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด  (20 พฤษภาคม 2557)  

การรัฐประหารครั้งนี้มีวิธีการที่ผิดจากอดีต กล่าวคือ การรัฐประหารทุกครั้ง ผู้นำรัฐประหารจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง แต่แต่งตั้งบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่ง ทว่าการรัฐประหารครั้งนี้ที่มี พลเอกประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร กลับก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเอง  

การรัฐประหารปี 2557 ทำให้ในเวลาต่อมารัฐบาล คสช. สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามแนวคิดของตนเอง และสามารถทำให้ “บ้านเมืองสงบ” อย่างที่ตนกล่าวอ้างไว้ได้ และที่สำคัญ แม้กระทั่งกติกาบ้านเมือง จนถึงการเลือกตั้ง รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็ยังสามารถคุมความได้เปรียบไว้ได้ทั้งหมด จนถึงปัจจุบัน  

จากวันร้างลาสู่วันกลับบ้าน 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณประกาศลั่นว่าจะกลับบ้านตลอดเวลา ไม่ต่ำกว่า 7 ครั้งที่เขาประกาศจะกลับบ้านตั้งแต่ก่อนช่วงเลือกตั้ง และกำหนดการจะกลับช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ี้้ นั่นหมายความว่าต้องมีอะไรซ่อนอยู่ในสมการที่ลงตัวในการเมืองไทยระหว่างทักษิณและผู้มีอำนาจที่รัฐประหารเขานั่นเอง 

กระแสข่าวการดีลระหว่างพรรคเพื่อไทยกับเผด็จการมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งเสร็จสิ้น โหมกระหน่ำด้วยการที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถไปต่อเพราะติดเงื่อนไข ส.ว. ไม่ยอมโหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยพรรคที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับ 2 จัดตั้งรัฐบาล ปฏิกิริยาที่เห็นคือการที่พรรคเพื่อไทยชวนพรรคขั้วเผด็จการมาพูดคุยเรื่องเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาล  

ทำให้ต้องจับตากันต่อไปว่าพรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไรในอนาคต ท่าทีการจับมือตั้งรัฐบาลของพรรคจะไปทางไหน จะไปในทางที่จับมือกับผู้ที่ล้มรัฐบาลของพวกเขาตั้งแต่สมัยไทยรักไทยหรือเปล่า เพราะการเมืองไทยนั้นไม่แน่ไม่นอนอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ที่แน่ๆ ประชาชนจะไม่มีวันลืมอย่างแน่นอน หากจะยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ฉันทามติคือการจับมือ 8 พรรคใน MOU ให้มั่น เพราะหากคุณเจ็บและไม่จำ ประชาชนนี่แหละที่จะจำและไม่มีวันลืมสิ่งที่ทำลงไป 

แหล่งอ้างอิง 

  • ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 22 ปีที่ 1 สามัญทั่วไป .เรื่องการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล.สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร .ระบบฐานข้อมูลรายงานและการบันทึกการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 27 มิ.ย. 2548. 
  • ข้อมูลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 1 สามัญทั่วไป .เรื่องการพิจารณารับรองการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี.สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร .ระบบฐานข้อมูลรายงานและการบันทึกการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 5 ส.ค. 2554. 
  • คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน,2561. 
  • ไทยรัฐ .ปรากฏการณ์ “รัฐบาลพรรคเดียว” ไทยรักไทย ทำไมชนะถล่มทลาย14 ปีก่อน.ไทยรัฐออนไลน์ .14 มีนาคม 2562. 
  • ข่าวไทยพีบีเอส .//(2561).//ย้อนคดียุบพรรค โทษประหารทางการเมือง.//สืบค้นเมื่อ 6 เม.ย. 2562https://news.thaipbs.or.th/content/277723. https://news.thaipbs.or.th/content/277723
  • ประชาไท .ผลการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 อย่างเป็นทางการ .ประชาไท . 6 กรกฎาคม 2554. 
  • ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร.//(2561).//ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว นิรโทษกรรมเหมาเข่ง.//สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2562,/จาก สถาบันพระปกเกล้า. 
  • วาไรตี้ประจำสัปดาห์ . รู้จริงถึงเรื่องราว.//(2561).//12 ปี กับ 3 นโยบายที่ยังอยู่ในใจประชาชนมาตลอด .//สืบค้นเมื่อ12 เม.ย. 2562 . https://www.ptp.or.th/news/695
  • รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ .แปลจาก Thailand’s Color War: Why Red Hates Yellow .ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556. 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า