fbpx

มรดกความขัดแย้ง “อิหร่าน” จากราชวงศ์ปาห์ลาวีถึงการปฏิวัติอิสลาม สู่วันแอนตี้ชาติตะวันตก

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ประเทศทั้งฝ่ายสนับสนุนอิสราเอลหรือฮามาสต่างก็ยังไม่มีทิศทางในการจัดการกับความขัดแย้งครั้งนี้

ล่าสุดท่าทีของประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจแห่งโลกอิสลาม และเป็นลูกพี่ใหญ่ของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อย่างอิหร่าน ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิสราเอลและชาติตะวันตกมาโดยตลอด ก็มีทีท่าว่าจะช่วยเหลือปาเลสไตน์ รวมถึงกลุ่มฮามาส และประกาศตัดสัมพันธ์กับอิสราเอลอย่างเป็นทางการ ขณะที่ชาติอาหรับอื่นๆ ยังคงดูทิศทางสงครามว่าจะเอาอย่างไรต่อไป

The Modernist พาไปย้อนชมเหตุที่มาของความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกและอิสราเอล สืบค้นต้นตอของความแข็งกร้าวของอิหร่านที่มีต่อเหตุการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส สิ่งที่อิหร่านทำไม่ใช่เพิ่งจะคิดทำ หรืออยู่ดีๆ จะแสดงท่าทีเช่นนี้ แต่ที่มาของท่าทีเช่นนี้ คือ มรดกความขัดแย้ง ที่มีมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน

ภัยรุกรานอิหร่านจากยุคล่าอาณานิคม

ย้อนกลับไปเมื่อคริสตวรรษที่ 18 การล่าอาณานิคมของยุโรปได้แผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ เข้ายึดดินแดนของประเทศที่อ่อนแอทางด้านการเมืองและการทหาร เพื่อดึงทรัพยากรกลับสู่ประเทศเจ้าอาณานิคม อิหร่านเองก็เป็นดินแดนที่ถูกช่วงชิงและผลัดเปลี่ยนผู้มีอำนาจเข้ามาหาผลประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นออตโตมัน ซึ่งเคยรุ่งเรืองตั้งแต่คราวสงครามโลกครั้งที่ 1 และเสื่อมอำนาจลงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จากนั้น ผู้ที่เข้ามามีบทบาทแทนคือจักรวรรดิรัสเซีย อังกฤษ เยอรมนี รวมถึงสหรัฐอเมริกา สิ่งที่ทำให้อิหร่านเป็นที่ล่อตาล่อใจของชาติตะวันตกคือการมีดินแดนชายฝั่งติดกับทะเลเหมาะกับการขนส่ง รวมถึงมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะน้ำมัน

ในอดีต อิหร่านนั้นปกครองโดยราชวงศ์กอญัร เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพสัมพันธมิตรได้บุกเข้าตะวันออกกลาง อิหร่านจึงตกเป็นเป้าของชาติตะวันตกในการหาเหตุผลบุกเข้าดินแดนแห่งนี้เพื่อจะได้ทั้งเส้นทางการค้าและทรัพยากร โดยที่อังกฤษพยายามที่จะโค่นล้มราชวงศ์กอญัรของอิหร่านลงเมื่อ ค.ศ. 1923 โดยใช้กองทัพอังกฤษสนับสนุนการทำรัฐประหารของพันเอก เรซา ชาห์ ข่าน ผู้บัญชาการกองพันน้อยคอสแซค จนได้ครองตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม และค่อยๆ สถาปนาราชวงค์ปาห์ลาวีขึ้น โดยมีอังกฤษสนับสนุนราชวงศ์ เพราะมุ่งหวังผลประโยชน์มหาศาลในอิหร่าน ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมันและอุตสาหกรรมยาสูบ

ราชวงศ์ปาห์ลาวีกับความท้าทายของระบอบราชาธิปไตยที่มีตะวันตกหนุนหลัง

ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น อิหร่านเองซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับเยอรมนีที่เป็นศัตรูกับสัมพันธมิตร จึงถูกรุกรานโดยชาติตะวันตก ทั้งทางเหนือที่ถูกรุกรานจากสหภาพโซเวียต และทางใต้ถูกรุกรากจากอังกฤษ ทำให้ชาติตะวันตกได้เข้าควบคุมประเทศอิหร่านโดยบีบให้กษัตริย์เรซา ชาห์ ข่าน ที่ตอนหลังไม่นิยมตะวันตก สละราชบัลลังก์ และนำโอรสของกษัตริย์เรซา ชาห์ ข่าน คือ มุฮัมหมัด เรซา ข่าน ที่นิยมตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอมริกา ขึ้นครองราชบัลลังก์แทน นับตั้งแต่นั้นมาอิหร่านจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจ ณ ขณะนั้น

แต่ใช่ว่าการเข้ามาของชาติตะวันตกจะทำให้อิหร่านเป็นปึกแผ่นและมีความมั่นคง ในทางกลับกัน อิหร่านกลายเป็นพื้นที่หาผลประโยชน์ของชาติตะวันตกที่เข้ามา โดยเฉพาะการดึงทรัพยากรน้ำมันจากอิหร่านไปใช้ 

ขณะที่ราชวงศ์ปาห์ลาวีเสวยสุข ร่ำรวย และมีรสนิยมไปทางตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ประชาชนกลับมีความรู้สึกชาตินิยม เนื่องจากภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระแสชาตินิยมได้เผยแพร่ไปทั่วทุกมุมโลก โดยใน ค.ศ. 1951 เกิดกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวอิหร่าน ในปีนั้นผู้นำในขบวนการชาตินิยมอิหร่านคือ ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาให้ยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของอังกฤษกลับมาเป็นของรัฐ ทำให้ตะวันตกตอบโต้การกระทำของรัฐบาลอิหร่านโดยการไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน อิหร่านสวนกลับด้วยการตัดสัมพันธ์กับอังกฤษทันที ขณะที่ราชวงศ์ปาห์ลาวีเห็นต่างจากรัฐบาล ทำให้ชาห์และราชินีเสด็จออกนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชาตินิยมกลับไม่ได้มั่นคงอย่างที่คิด เพราะทหารอิหร่าน รวมถึงราชวงศ์ยังมีความนิยมตะวันตกอยู่ ทำให้เกิดการรัฐประหารรัฐบาลของ ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ที่นำโดยนายพล ซาเฮดี เข้าจับกุม ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก พร้อมกับแต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และนำอิหร่านกลับไปนิยมตะวันตกอีกครั้ง โดยมีข้อมูลว่าสหรัฐแอบให้การสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ผ่านซีไอเอ

ค.ศ. 1955 ชาห์แห่งราชวงศ์ปาห์ลาวีเริ่มมีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบ ชาห์เริ่มเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้า เช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเลือกตั้ง การให้สิทธิแก่สตรี จัดตั้งหน่วยงานการศึกษา การรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากมาย ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลอิหร่านเรียกว่าเป็นการ “ปฏิวัติขาว” เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เกิดความรุนแรงและอยู่ในความสงบ

แต่ใช่ว่าการปฏิรูปของชาห์จะดีไปเสียหมด เพราะการปฏิรูปดังกล่าวทำให้เกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจาย ที่ดินและทรัพย์สินอยู่ในมือราชวงศ์ รวมถึงคนไม่กี่ตระกูลที่ใกล้ชิดกับชาห์ ขณะที่ประชาชนกลับยากจนไร้ที่ดินทำกิน ไร้การศึกษา ขาดแคลนยารักษาโรค บวกกับราชวงศ์ที่มีธุรกิจและกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงเข้าไปมีผลประโยชน์กับบริษัทต่างชาติในอิหร่าน เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดการต่อต้านชาห์ทุกหย่อมหญ้า เมื่อชาห์รู้เช่นนี้จึงตั้งหน่วยตำรวจลับ “ซาวัค” ขึ้นมาทำหน้าที่สอดส่องและจับกุมผู้ต่อต้านพระองค์ ซึ่งส่วนมากเป็นพวกหัวก้าวหน้า อาจารย์ นักศึกษา นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ รวมถึงขับไล่ผู้เห็นต่างออกนอกประเทศ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่จะถูกกล่าวถึงในวันข้างหน้าอย่าง อยาตุลเลาะห์ โคไมนี ก็ถูกพระองค์ขับไล่ออกนอกประเทศ แต่ใช่ว่าจะหยุดการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึงอิหร่านได้

ปฏิวัติอิสลามในวันที่อิหร่านไม่เหมือนเดิม

ผลจากการพัฒนาตามอย่างตะวันตกทำให้เกิดผับบาร์ ไนท์คลับ สื่อลามก หลั่งไหลเข้ามาภายในอิหร่าน จนสร้างความไม่พอใจให้ฝ่ายศาสนาและพวกอนุรักษ์นิยม บวกกับก่อนหน้านี้ การเอื้อประโยชน์ให้กับคนใกล้ชิดพวกพ้องของของชาห์ คนไม่กี่ตระกูล รวมถึงชาติตะวันตก สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายหัวก้าวหน้า เรียกได้ว่าสถานการณ์ของชาห์ ณ ขณะนี้ถึงขั้นวิกฤติเพราะไม่สามารถรักษาอำนาจหรือความพึงพอใจให้กับประชาชนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เลย ทำให้เกิดการประท้วงรัฐบาลชาห์ทั่วอิหร่าน

ขณะที่ภายนอกประเทศ โคไมนี ซึ่งเผยแพร่แนวคิดของเขาอยู่ตลอดเวลาผ่านสื่อหรือเทป ได้เรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกหันมาจับตาการประท้วงของชาวอิหร่าน โดยกล่าวระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ตอนหนึ่งว่า“ชาห์ได้ยกทรัพยากรธรรมชาติ และผลประโยชน์ที่ชาวอิหร่านสมควรจะได้รับให้กับชาวต่างชาติ ทั้งยกน้ำมันให้อเมริกา ก๊าซให้โซเวียต  ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ให้กับอังกฤษ และปล่อยประชาชนอยู่อย่างยากลำบาก” นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งเป็นวันรำลึกการจากไปของอิหม่ามฮุสเซน อิหม่ามคนที่ 3 ของนิกายชีอะห์ ทำให้มีประชาชนนับล้านออกมาชุมนุมกันบนท้องถนน และชูรูปโคไมนี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ พร้อมตะโกนด่าสหรัฐอเมริกา และเรียกร้องให้มีรัฐอิสลามแทนรัฐบาลชาห์ ขณะที่รัฐบาลชาห์ใช้กำลังทหารเข้าปราบผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงด้วยอาวุธปืน ระเบิดและแก๊สน้ำตา ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่เหตุการณ์ได้ลุกลามยากที่จะควบคุม ทำให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและยุโรปสั่งให้คนของตนออกจากประเทศอิหร่าน พระเจ้าชาห์และราชวงศ์เองก็ต้องอพยพตามคำแนะนำของสหรัฐอเมริกา โดยเสด็จออกนอกประเทศพร้อมครอบครัวในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1979

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นโคไมนีวัย 78 ปี เดินทางกลับสู่แผ่นดินอิหร่าน เขาได้รับการต้อนรับจากประชาชนจำนวนมาก และคงเป็นผู้นำต่อสู้กับรัฐบาลของรักษาการที่พยายามรักษาบัลลังก์ไว้ให้ชาห์ ถึงแม้ตอนแรกกองทัพบกจะไม่ยอมแพ้ต่อโคไมนีและการปฏิวัติ แต่ภายหลังกองทัพอากาศประกาศเข้าร่วมกับโคไมนี กองทัพบกจึงวางตัวเป็นกลาง โคไมนีเข้าควบคุมเมืองหลวงอย่างกรุงเตหะรานโดยบุกยึดที่ทำการของรัฐบาลและสถานีตำรวจไว้ทั้งหมด เมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้ จึงนำไปสู่จุดเปลี่ยนที่ทำให้อิหร่านกลายเป็นรัฐอิสลาม เหตุการณ์ครั้งนี้มีชื่อว่า “การปฏิวัติอิหร่าน” หรือ “การปฏิวัติอิสลาม” นั่นเอง

นับตั้งแต่นั้นมา ท่าทีของรัฐอิสลามอิหร่านที่มีต่อตะวันตกก็มีท่าทีที่แข็งกร้าวมาโดยตลอด และมีสถานการณ์ที่ท้าทายความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกหลายครั้งเรื่อยมา

ใน ค.ศ. 1979 – 1981 เหตุการณ์วิกฤตตัวประกัน ที่นักศึกษาอิหร่านมีแนวคิดสนับสนุนโคไมนี ได้บุกสถานทูตสหรัฐอเมริกา ในกรุงเตหะราน และจับชาวอเมริกัน 52 คน ไว้เป็นตัวประกันนาน 444 วัน ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาเริ่มคว่ำบาตรอิหร่านครั้งแรก

หรือใน ค.ศ. 1980 สงครามอิหร่าน-อิรัก ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ให้การสนับสนุนรัฐบาลอิรัก โดยมีผู้นำ ณ ขณะนั้นคือซัดดัม ฮุสเซน ในการต่อต้านรัฐอิสลามอิหร่าน ขณะที่อิรักเองก็หวั่นเกรงการขยายตัวของการปฏิวัติอิสลามที่นำโดยอิหร่าน ที่มักจะปลุกปั่นให้ชาวมุสลิมชีอะห์ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ภายในประเทศอิรัก ล้มรัฐบาลมุสลิมนิกายซุนนี พร้อมกับต้องการขยายอิทธิพลครอบครองอ่าวเปอร์เซียแทนที่อิหร่าน อิรักจึงได้ทำการบุกอิหร่าน ทำให้เกิดสงครามขึ้น มีการสู้รบอย่างยืดเยื้อ สหรัฐอเมริกาเองได้เพิ่มการช่วยเหลืออิรักมากถึงระดับที่มีนัยสำคัญ หลังจากสู้รบกันนาน 8 ปี โคไมนี ผู้นำอิหร่าน ยอมรับข้อตกลงหยุดยิง 

ใน ค.ศ. 1988 เครื่องบินโดยสารของอิหร่านถูกยิงตก ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน แย่ลงมาโดยตลอด เพราะอิหร่านเห็นว่า สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลเป็นศัตรูตัวสำคัญและ ในปี ค.ศ.1988 สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เมื่อเรือรบของสหรัฐอเมริกา ได้ยิงเครื่องบินของอิหร่านแอร์ตก และไม่เคยออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ครั้งนี้ 

ต่อมาใน ค.ศ. 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐอเมริกา ประณามสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘แกนแห่งความชั่วร้าย’ ซึ่งหมายรวมถึงอิหร่าน, อิรัก และเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาหันมาให้ความสำคัญกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ประชาคมโลกคว่ำบาตรอิหร่านอย่างหนัก การส่งออกน้ำมันและเศรษฐกิจของอิหร่านได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล

และใน ค.ศ. 2015 เกิดเหตุการณ์ข้อตกลงนิวเคลียร์ จากการที่อิหร่านยืนกรานว่า กิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นไปอย่างสันติ แต่อิหร่านก็ยอมจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์ตามข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 เพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม 3 ปีต่อมา สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ และยังระบุว่า กองกำลังป้องกันการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน เป็น ‘กลุ่มก่อการร้าย’ ทำให้เกิดเหตุการณ์ในปัจจุบันขึ้น บุคคลที่มีส่วนสำคัญในความขัดแย้งในปัจจุบันคือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา และอาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันของอิหร่าน โดยที่สหรัฐอเมริกากลับมาคว่ำบาตรอิหร่านเหมือนเดิม และยังเพิ่มมาตรการกดดันใหม่ๆ เข้าไปอีกด้วย

อนาคตการเมืองอิหร่านในระเบียบโลก

หลังจากปฏิวัติอิสลามขับไล่ราชวงศ์ปาห์ลาวีออกจากอิหร่านนั้น อิหร่านได้กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาตลอดมา ชาติตะวันตกนั้นเน้นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่ออิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นการค้า รวมถึงการไม่นำเข้าหรือส่งออกสินค้ากับอิหร่าน ขณะที่อิหร่านเองมักให้การสนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงให้เคลื่อนไหวต่อต้านสหรัฐอเมริกา ชาติตะวันตก และอิสราเอล รวมถึงต่อต้านกลุ่มที่เคลื่อนไหวทั้งชีอะห์และซุนนี ที่ต่อต้านประเทศอาหรับ และเป็นพันธมิตรกับชาติตะวันตก เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน

ทำให้เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส อิหร่านจึงมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการกระทำของอิสราเอลที่บุกเข้าทำร้ายชาวอาหรับปาเลสไตน์ และยึดพื้นที่ของชาวมุสลิมไปครอบครอง ถึงขนาดส่งเสียงขู่ตลอดเวลาว่าจะเข้าทำสงครามช่วยเหลือปาเลสไตน์ และล่าสุดประกาศตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอล

เมื่อเรามองย้อนดูภูมิหลังความขัดแย้งจึงไม่น่าแปลกใจต่อท่าทีของอิหร่านที่มีต่ออิสราเอลนัก แต่ที่น่ามองต่อคืออนาคตการเมืองอิหร่านในระเบียบโลก เพราะอิหร่านเองได้กลายเป็นพันธมิตรกับจีนและรัสเซียที่มีแนวโน้มจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก กลายเป็นว่าระเบียบโลกในอนาคตเริ่มจับข้างเลือกฝั่งกันอย่างชัดเจนมากขึ้น แต่ใช่ว่าอิหร่านเองจะออกมาถึงขั้นทำสงครามทั่วภูมิภาคหรือเป็นศัตรูกับชาติอาหรับอื่นๆ อย่างก้าวร้าว เพราะเมื่อมองไปที่พันธมิตรของอิหร่านอย่างรัสเซียก็ยังติดพันสงครามกับยูเครนและมีท่าทีลากยาวไม่จบสิ้น ขณะที่จีนเองก็ทำสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาและยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

เมื่อมองมาที่อิหร่านขณะนี้ก็อาจจะบอกว่ายังไม่พร้อมนักที่จะแข็งกร้าวกับชาติตะวันตกเท่าไร อาจทำได้เพียงส่งเสียงถึงชาติตะวันตก รวมถึงให้เงินและทรัพยากรสนับสนุนกลุ่มที่ต่อต้านชาติตะวันตกมากกว่า ในแง่ของการต่างประเทศทำเต็มที่ได้แค่ประกาศตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอล เพราะขณะนี้ยังอีกไกล หากพูดถึงสงครามขนาดใหญ่เพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุคสงครามตัวแทน เพราะมันได้ไม่คุ้มเสีย

แหล่งอ้างอิง : silpa-mag 1 / archive.lib.cmu.ac.th / bbc 1

  • ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ .รศ.นันทนา เตชะวณิชย์ .สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า