fbpx

อนาคต ‘สุราไทย’ ในเวทีโลก 

การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาทั้ง 2 ตำแหน่ง ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นความหวังว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งจะได้เข้าทำงานในสภา สานต่อนโยบายที่เคยให้สัญญาไว้กับประชาชน ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่หลายคนจับตามอง คือ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ที่จะถูกผลักดันอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้ไปต่อในสมัยที่แล้ว 

ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้เดินหน้าผลักดันการผลิตและจำหน่ายสุราเสรี โดยการผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” เพื่อเข้าสู่สภาและผ่านขั้นตอนการลงมติของตัวแทนประชาชน ที่มีนามว่า สภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. แต่เสียงข้างมากกลับปัดตกร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และสิ่งที่เป็นตลกร้ายในเวลานั้น คือ รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่รู้คิดอะไรอยู่ รีบหยิบยกกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ…. ขึ้นมาถกในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเช้าวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเดียวที่สภาฯ กำลังจะมีการลงมติ และช่วงการลงมติได้การนำกฎกระทรวงดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการปัดตก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า อย่างกับตั้งใจเสียอย่างนั้น 

รัฐบาลให้เหตุผลว่า กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เป็นการสร้างความชัดเจนระหว่างการผลิตสุราเพื่อบริโภคในครัวเรือนกับผลิตเพื่อการค้าง่ายต่อควบคุมคุณภาพ มาตรฐานการผลิตสุราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดเก็บภาษี จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงน อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับกฎกระทรวงดังกล่าว ถึงความแตกต่างกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า การปรับแก้ไขในส่วนของรายละเอียดจะช่วยให้ผลิตสุราได้อย่างเสรีจริงหรือไม่ แล้วมีส่วนใดที่ยังเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายย่อยบ้าง เพราะทั้งที่รัฐบาลพยายามอธิบายว่าแก้กฎหมายเพื่อให้รายย่อยสามารถแข่งขันในตลาดระดับกลางได้ แต่ที่สุดแล้วกลับยังติดข้อจำกัดเรื่องแรงม้า จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เอื้อนายทุนตรงไหน 

รู้หรือไม่ว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยยังทำรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สูงถึง 8.5 แสนล้านบาทในปี 2019 หากเปิดให้ผลิตสุราอย่างเสรีและมีข้อจำกัดไม่ยุ่งยากมาก เชื่อว่ารัฐจะสามารถจัดเก็บรายได้เข้ากระเป๋าทั้งจากการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ เปิดรับนักดื่มหน้าใหม่จากต่างแดนเข้ามาลิ้มรสเปิดประสบการณ์รสชาติเหล้า เบียร์ ใหม่ๆ ที่มีแห่งเดียวในไทยเท่านั้น นอกเหนือจากที่ตลาดมีอยู่ในตอนนี้ 

ข้อมูลจาก Statiata คาดการณ์ว่า ปี 2566 มูลค่าตลาดแอลกอฮอล์ทั่วโลก จะอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ เบียร์มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด อยู่ที่ 6.1 แสนล้านดอลลาร์ จีนเป็นตลาดที่สร้างรายได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในโลก อยู่ที่ 3.36 แสนล้านดอลลาร์  การดื่มแอลกอฮอล์ของ 1 คนบนโลก เฉลี่ย 36.73 ลิตร สร้างรายได้ให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 209.4 ดอลลาร์ต่อคน และยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาจากออนไลน์คิดเป็น 6.6% นอกจากนั้นคาดการณ์ว่าปี 2566-2570 ตลาดจะโตได้อีก +5.42% ในทุกๆ ปี และปี 2570 คาดว่า 42% ของมูลค่าการใช้จ่าย และ 25% ของปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่ม จะมาจากการบริโภคนอกบ้าน นั่นหมายความว่าการใช้จ่ายนอกพื้นที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ร้านอาหาร สถานบันเทิงมีรายได้เพิ่มเงิน เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนรอบข้าง 

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย 

สำหรับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มเติบโตค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ผู้ผลิตทยอยออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในตลาดส่งออกหลัก ทำให้การส่งออกจากแหล่งผลิตในไทยมีความสำคัญน้อยลง ซึ่งในช่วงปี 2563 มีโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย 80 แห่ง โรงงานขนาดใหญ่ เน้นผลิตสุรา (แอลกอฮอล์ 28 ดีกรี) และเบียร์ คิดเป็น 49% โรงงานขนาดกลาง-เล็ก ผลิตสุราขาว สุราพื้นบ้านและไวน์  51%  

ส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย เฉพาะเบียร์ มีมูลค่า 260,000 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2563)  

  • บจก. บุญรอดบริวเวอรี่ 57.9%  
  • บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ 34.3%  
  • บจก. ไทย เอเชียแปซิฟิค 4.7%  
  • บริษัทอื่นๆ 3.1%  

สุรา มีมูลค่า 180,000 ล้านบาท 

  • บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ 59.5%  
  • บจก. ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) 8.0%  
  • บจก. รีเจนซี่ บรั่นดีไทย 4.4%  
  • บริษัทอื่นๆ 28.1%  

ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกผูกขาดการผลิตอยู่กับทุนรายใหญ่เพราะเงื่อนไขทางกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อรายย่อย เพราะ พ.รบ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 กำหนดให้เพียงผู้ที่มีกำลังการผลิตปริมาณมากเท่านั้นที่จะสามารถขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 

สาระสำคัญของกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565  

1.เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก จากที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง ที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน แต่ผู้ผลิตสุราชุมชนที่จะขยายกำลังการผลิตจากระดับเล็กเป็นระดับกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง 

2.ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียน ทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมนั้น ในกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี กรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับทุนจดทะเบียนนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง 

3. เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคลสามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน และต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี ทั้งนี้สถานที่ผลิตสุราต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ 

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ”  บอกว่า ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณานั้นเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ซึ่งทำให้เปิดโอกาสให้การผลิตสุราดำเนินการได้ง่ายขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ปลดล็อกทั้งในเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ รวมถึงปลดล็อกให้ผลิดเพื่อดื่มในครัวเรือนได้ วงเล็บตัวโตๆ ว่าห้ามขาย  

สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า  

พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หรือร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่พรรคก้าวไกลเสนอต่อที่ประชุมสภาเพื่อปลดล็อกผลิตสุราเสรี ทลายการผูกขาดโดยนายทุน รายละเอียดเนื้อหามีทั้งสิ้น 7 มาตรา เน้นไปที่การแก้ไขมาตรการ 153 ที่เป็นปัญหาโดยเพิ่มคำว่า “การค้า” ลงในมาตรา 153 เพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถผลิตสุราในครัวเรือนได้ จากเดิมคือ “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี….” เปลี่ยนเป็น “ผู้ใดจะประสงค์ผลิตสุราเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี…” พร้อมยกเลิกเกณฑ์ในการผลิตเหล้าเบียร์ ทั้งกำลังแรงคน และกำลังเครื่องจักร รวมถึงขั้นต่ำที่ต้องผลิต เพื่อให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้าถึงได้ และในกรณีของการตั้งบริษัทเบียร์ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 

นอกจากนั้น ร่างแก้ไขของก้าวไกลยังระบุว่า การกำหนดเงื่อนไข แนวทางปฏิบัติ และเกณฑ์การผลิตสุราที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินเหตุ เป็นการกีดกันประชาชนออกจากการประกอบอาชีพ ซึ่งขัดต่อมาตรา 40 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการประกอบอาชีพ จึงควรปรับกฎหมายให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น 

 อย่างไรก็ตามอนาคตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยมีลู่ทางที่สดใสมากขึ้น และจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างรอยยิ้ม ความสุข ให้ฐานราก และยังเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกด้วย   

อนาคต “สุรา” ไทยจะเป็นอย่างไร คงต้องฝากความหวังไว้กับสภาใหม่เป็นผู้ผลักดันต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า