fbpx

ภาควิชาการแนะ ควรนำเข้า-จำกัดปริมาณเนื้อหมูให้เหมาะสม

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอผลการคาดการณ์ทางวิชาการในหัวข้อ “ทางเลือก ทางรอด หมูแพง….ผู้เลี้ยงอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้” ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาเนื้อสุกรแพง ภายใต้สถานการณ์ที่ภาครัฐจำเป็นต้องเปิดให้นำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ โดยมี ผศ.ดร.ธนาภรณ์ อธิปัญญากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ รัตนนิชย์โรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ระบุถึงปัญหาของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ว่าเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่งผลให้เกิดการป่วยและตายในสุกร ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือสารออกฤทธิ์ที่สามารถยับยั้งไวรัสที่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ จึงต้องใช้การจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพและการทำลายสุกรป่วยที่ถูกต้องในการควบคุมป้องกัน พร้อมย้ำกับประชาชนว่า เนื้อสุกรที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อ ASF ไม่ส่งผลหรือเป็นอันตรายใดๆ ต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความเสียหายจากสุกรที่ป่วยและตายด้วยโรคนี้จำนวนมากว่าส่งผลกระทบต่อโซ่อุปทานทั้งระบบรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

อ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวถึงสาเหตุหลักของปัญหาเนื้อสุกรราคาแพง ว่าเกิดจากปริมาณสุกรหายไปจากระบบมากกว่า 8 ล้านตัว นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 80 บาทต่อกก. ในช่วงต้นปี 2564 เป็น 110 บาทต่อกก. ในเดือนมกราคม 2565 ปัญหาการระบาดของโควิด-19 รวมถึงโรคระบาด ASF ทำให้เกิดการขาดแคลนสุกรอยู่ 4.5 ล้านตัว คิดเป็น 2.7 หมื่นตันต่อเดือน และไม่พอกับความต้องการบริโภคส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากอุปสงค์และอุปทานที่ต่างกัน

ผศ.ตร.เออวดี เปรมัษเฐียร อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร ได้อธิบายการคาดการณ์จากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ หากไม่มีการเปิดให้นำเข้า และรัฐบาลเลือกปล่อยให้เป็นตามกลไกตลาด จะส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 8 เดือนและสามารถมีราคาที่เพิ่มสูงได้มากถึง 300 บาทต่อกก. ในช่วงกลางปี เนื่องจากผู้เลี้ยงสูญเสียกำลังการผลิต และการฟื้นฟูกลับมาต้องอาศัยเวลาและความพร้อม และถ้าหากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงโดยการอุดหนุนและกำหนดราคาเพดานที่ราคาหน้าฟาร์ม 110 บาทต่อกก. ภาครัฐจำเป็นต้องอุดหนุนราคาเพื่อรักษาระดับราคาตลาดให้คงที่ไว้ แต่แนวทางนี้จะทำได้ในระยะสั้น เนื่องจากราคาที่แท้จริงจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 280 บาทต่อกก. ในช่วงกลางปี ส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีของประเทศไทย

ผศ.ดร.ณัฐพล พจนาประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร ได้เสนอข้อมูลว่า ภาครัฐควรแก้ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพงโดยการนำเข้าจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือ EU เนื่องจากเป็นเนื้อหมูที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงและปลอดโรค ASF นั้น ผลการคาดการณ์ทางเลือกที่เหมาะสม คือภาครัฐควรเปิดให้นำเข้าเมื่อราคาหมูหน้าฟาร์ม 120 บาทต่อกก. ซึ่งจะช่วยลดระดับราคาขายปลีกที่จาก 225 บาท เป็น 200 บาทต่อกก. ที่ปริมาณนำเข้าร้อยละ 20 ของอุปสงค์หรือประมาณ 20,000 ตันต่อเดือน โดยควรนำเข้าโดยจำกัดปริมาณและต้องติดตามประเมินสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด และไม่ควรนำเข้าในปริมาณที่เกินกว่า 25,000 ตันต่อเดือน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแก่ผู้เลี้ยงมากนัก และเหมาะสมสำหรับผู้เลี้ยงรายย่อย

อ.ดร.สุวรรณา ได้ย้ำว่าภาครัฐ ควรเน้นการสร้างเสถียรภาพของราคาเพื่อให้ผู้บริโภคอยู่ได้ และหากภาครัฐตัดสินใจเปิดให้นำเข้าควรพิจารณานำเข้าในปริมาณและราคาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบช้ำเติมแก่ผู้เลี้ยง โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย และควรเร่งดำเนินการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยง เพื่อให้ฟื้นตัวและกลับมาผลิตได้โดยเร็ว ให้ความช่วยเหลือดูแลทั้งทางด้านองค์ความรู้ สินเชื่อในเวลาที่เหมาะสม และความต้องการอื่นๆ เพื่อให้กลับมาผลิตได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยในระยะยาว จะต้องมีการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานในอุตสาหกรรมสุกร

Photographer

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า