fbpx

แรงงานไทยได้รับการคุ้มครองจริงหรือ? ชวนอ่าน 3 งานวิจัย สะท้อนความไม่เป็นธรรมในกฎหมายแรงงาน

ท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยที่เติบโตขึ้นในปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้สังคมตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ และเริ่มที่จะพูดคุยและตั้งคำถามต่อกฎหมาย ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมในสังคมไทยมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการทำงานที่บางครั้งก็เกิดเป็นประเด็นต่างๆ ขึ้นมา เช่น การลางานไปดูแลแม่ที่ป่วยไม่ได้ , การทำงานล่วงเวลาติดต่อกันจนเสียชีวิต หรือแม้กระทั่งการสั่งงานนอกเวลาทำงาน ฯลฯ

ถึงแม้ว่าแรงงานเหล่านี้จะมีกฎหมายคุ้มครองพวกเขา แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่ค้นพบว่า กฎหมายแรงงานในประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องต่างๆ ที่ทำให้แรงงานในประเทศเสียเปรียบในการเจรจาต่อรอง รวมถึงตัวกฎหมายที่ล้าหลังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการทำงานโดยเฉพาะแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelance) และนี่คือ 3 งานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของกฎหมายแรงงาน ซึ่งทำให้แรงงานในประเทศไทยยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเต็มที่เท่าที่ควร

“แม้มีสิทธิ (ตามกฎหมาย) แต่เข้าไม่ถึงสิทธิ (ตามความเป็นจริง)”: กรณีศึกษาสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรอง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นของสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า  โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 3 ประการ คือ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและที่มาของปัญหาอันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยเข้าไม่ถึงการคุ้มครอง และเพื่อวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหา รวมถึงหาแนวทางและวิธีการที่เหมาะสมในการรวมตัวหรือเจรจาต่อรองของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย

จากงานวิจัยพบว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้นมีปัญหาจากช่องว่างของตัวกฎหมาย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย ดังนี้

  1. กฎหมายยังไม่สามารถคุ้มครองผู้ดำเนินการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานช่วงระหว่างการเจรจาต่อรองใน 3 ลักษณะ คือ
  • กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไม่บังคับให้นายจ้างและลูกจ้างต้องเจรจากันเสมอ เมื่อมีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อกัน
  • นายจ้างมีการปิดงานบางส่วนเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้อง และกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการปิดงานไว้
  • เมื่อการพิพาทแรงงานยุติ นายจ้างมักจะไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างที่ถูกปิดงานได้กลับเข้าไปทำงานในสถานประกอบการเหมือนเดิม
  1. กฎหมายทำให้ลูกจ้างเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของศาลแรงงานล่าช้า โดยพบว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานผ่านกลไกศาลแรงงานเป็นเรื่องยุ่งยากและมีต้นทุนสูง นายจ้างจึงมักใช้ข้อเสียเปรียบนี้มาต่อรองกับลูกจ้าง และผู้พิพากษามาจากกระบวนการยุติธรรมปกติไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแรงงานอีกด้วย
  2. กระทรวงแรงงานได้มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงแรงงานฉบับใหม่ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2558 โดยเพียงการสรรหาจากตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์เท่านั้น ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมขององค์กรแรงงานทั้งหมดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้าง

การพัฒนาระบอบกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelance) ที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในศตวรรษที่ 21

งานวิจัยดังกล่าวเป็นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีจุดประสงค์คือ ทบทวน สภาพปัญหา สถานการณ์ปัจจุบัน ที่สร้างความด้อยสิทธิต่อกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระ และความเสี่ยงจากการไม่ปรับตัวของระบอบกฎหมายไทย

งานวิจัยดังกล่าวพบว่า มีปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวไม่ทันของระบอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. ระบอบกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการสังคม

ลักษณะของการผลิต แนวคิดในการทำงานและการบริหารจัดการของบริษัทที่ต่างๆที่เปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 21 ได้สลายลักษณะความสัมพันธ์ของการระบบความสัมพันธ์ทางแรงงานแบบสายพานการผลิตในโรงงาน ไปสู่การกระจายงานออกเป็นชิ้น ๆ ส่วน ๆ แล้วติดต่อส่งรับงานกันผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้คนทำงานที่เป็นแรงงานรับจ้างอิสระอยู่ในภาวะเสี่ยงด้อยสิทธิสูง หน้าที่อันน้อยลงของนายจ้างเจ้าของทุน โดยเฉพาะบริษัทได้สร้างความมั่งคั่งผ่านผลประกอบการดีขึ้นเพราะสามารถลดต้นทุนและความเสี่ยงออกไปให้แรงงานรับจ้างอิสระแบกรับเอาเอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ถ่างความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

  1. ระบอบกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมสวัสดิการสังคมเพื่อการสร้างครอบครัว

การวางระบอบสวัสดิการสังคมและครอบครัวโดยมิได้คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของลักษณะการทำงานในยุคดิจิทัลซึ่งแรงงานมีพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป การถูกบังคับให้กลายเป็นแรงงานรับจ้างอิสระมีชีวิตแขวนอยู่บนรายได้ต่อชิ้นงานนั้นบีบให้คนทำงานมากขึ้น แต่มีความมั่นคงในรายได้และการมีงานทำต่อเนื่องน้อยลง ส่งผลต่อการสร้างดุลยภาพระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต อันมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจสร้างครอบครัว หรือมีลูกของแรงงานรับจ้างอิสระที่อยู่ในระบบการจ้างยืดหยุ่น ขาดแคลนรายได้ประจำและด้อยสิทธิในระบบหลักประกันแรงงาน

  1. ระบอบกฎหมายทรัพย์สินในยุคดิจิทัลกับการแย่งยึดทุกสรรพสิ่งให้เป็นของบริษัท

ระบอบกฎหมายที่ไม่ยอมรับความเป็นเจ้าของในข้อมูลหรือทรัพย์สินในโลกเสมือนของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตได้สร้างผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งกว้างขวางในสำนึกของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เป็นแรงงานรับจ้างอิสระ เนื่องจากปริมาณข้อมูลที่แรงงานรับจ้างอิสระผลิตขึ้นบนโลกไซเบอร์ผ่านการเล่นเกมส์ยามพักผ่อนหย่อนใจ หรือการผลิตเนื้อหาต่างๆในโลกไซเบอร์ ไปจนถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ได้กลายเป็นขุมทรัพย์ที่บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มหรือเจ้าของเทคโนโลยีสามารถยึดครองเอาทรัพย์สินใหม่ๆเหล่านี้ไปโดยมิได้ตัดสินใจร่วมกับผู้ใช้ว่าจะแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร 

ความยุติธรรมด้านแรงงานในประเทศไทย ศึกษากรณีความยุติธรรมตามสัญญาจ้างแรงงาน

งานวิจัยดังกล่าวเป็นของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาความยุติธรรมตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และวิเคราะห์หานโยบายทางสังคมที่เหมาะสม ในประเด็นที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานยังไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่สัญญาจ้างแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการวิจัยพบว่า ประเทศไทยต้องมีนโยบายทางสังคมที่เหมาะสมที่ทำให้คู่สัญญาในสัญญาจ้างแรงงานได้รับความยุติธรรมจากการจ้างแรงงานอย่างเท่าเทียมกัน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะ การคุ้มครองคู่สัญญาจ้างแรงงานยังพบข้อบกพร่องบางประการที่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมด้านการแรงงานให้แก่คู่สัญญาจ้างแรงานได้ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

  1. ประเด็นค่าจ้าง

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้ลูกจ้างได้รับความยุติธรรมทางสังคมได้ เนื่องจากแนวคิดในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดให้อัตราค่าจ้างชั้นต่ำเพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกจ้างเพียงคนเดียว ลูกจ้างยังได้รับอัตราค่าจ้างไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับความรู้ ทักษะ และความสามารถ

  1. ประเด็นการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน

คู่สัญญาจ้างแรงงานฝ่ายที่ถูกบอกเลิกสัญญาอาจได้รับความเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่ถูกต้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ลูกจ้างไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานทันทีในกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างกระทำการอันเข้าลักษณะร้ายแรงต่อตนเอง เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันในการคุ้มครองสิทธิการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานในทันทีตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นความไม่ยุติธรรมทางกฎหมาย

  1. ประเด็นสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมทางกฎหมาย 

ลูกจ้างยังไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมจากการจ้างแรงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากนโยบายและมาตรการที่รัฐใช้เป็นกลไกเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้มีสิทธิเข้าถึงความยุติธรรมนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกำจัดข้อจำกัดส่วนบุคคลของลูกจ้างอันเป็นอุปสรรคขัดขวางสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมทางกฎหมายของลูกจ้าง และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะปฏิบัติงานเชิงรุกในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ลูกจ้าง

ผู้เขียน : ณัฐชนน จงห่วงกลาง

อ้างอิง : สถาบันพระปกเกล้า , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) , คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า