fbpx

ประวัติอันดำมืดของประเทศ ‘สวีเดน’ สู่ต้นแบบเมืองที่ปลอดภัยของ LGBTQ+

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย จัดสัมมนาเรื่อง “การป้องกันการเลือกปฏิบัติและการคุกคามบุคคลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในที่ทำงาน” ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒฟนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) พร้อมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมสัมมนาได้ โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ยูน โอสตร็อม เกรินดอล (Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงาน 

ยูน โอสตร็อม เกรินดอล (Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงที่มาของประเทศสวีเดนที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า “แม้ปัจจุบันประเทศสวีเดนจะเป็นแนวหน้าในการยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนที่ให้ความสำคัญกับ LGBTQ+ มากที่สุดในโลก ทั้งการสมรสเท่าเทียม รับเลี้ยงบุตรบุญธรรม อนุญาตให้คนข้ามเพศเปลี่ยนเพศได้ตามกฎหมาย กระทั่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเปิดกว้างมากที่สุดในยุโรปและทั่วโลก ทว่ากว่าสวีเดนจะเป็นประเทศที่มีความเสรีทางเพศได้ทุกวันนี้ ต้องฝ่าอุปสรรคที่มาจากวิถีอัตลักษณ์ของแต่ละคน ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 การรักร่วมเพศถือเป็นความเจ็บป่วยทางจิต”

ต่อมาใน ค.ศ. 1979 ชาวสวีเดนกลุ่มหนึ่งพยายามฉีกกรอบกฎหมายที่มองว่า LGBTQ+ เป็นความเจ็บป่วย ด้วยการโทรลาป่วยแล้วบอกว่า “วันนี้ฉันรู้สึกเกย์มาก ๆ จึงขอใช้สิทธิลาป่วย” ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของคนที่มองว่า LGBTQ+ เป็นคนที่มีอาการป่วยเพียงแค่เขารักเพศเดียวกันเท่านั้น

ยูน โอสตร็อม เกรินดอล อธิบายต่อว่า จากเหตุการณ์ใน ค.ศ. 1979 การเรียกร้องสิทธิให้กับ LGBTQ+ ยังดำเนินเรื่อยมาจนเกิดเป็นสมาคมสหพันธ์สวีเดนสำหรับ LGBTQ+ ขนาดใหญ่ ที่มีชื่อว่า  RFSL ออกมาเรียกร้องสิทธิและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับ LGBTQ+ โดยได้เปลี่ยนจากการโทรศัพท์เพื่อขอลาป่วย เป็นการยึดอาคารคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อแสดงออกถึงสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ จนกลายเป็น Homosexual Liberation Week หรือ ‘สัปดาห์แห่งการปลดแอกคนรักร่วมเพศ’ ที่กรุงสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน 

ในขณะนั้น บาร์โบร เวสเตอร์โฮล์ม (Barbro Westerholm) ผู้อำนวยการของ National Board ได้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ที่มาเรียกร้องสิทธิสำหรับ LGBTQ+ และปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1979 คณะกรรมการแห่งชาติได้ยกเลิกการจำแนกการรักร่วมเพศว่าเป็นโรค ทำให้สวีเดนเป็นประเทศแรกในยุโรปที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ

ยูน โอสตร็อม เกรินดอล กล่าวว่า “จุดเปลี่ยนของการเปิดรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายเท่านั้น แต่รวมไปถึงความยุติธรรมของผู้คนในการถูกเลือกปฏิบัติ การทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งสภาพแวดล้อมในโครงสร้างของการบริหาร ต้องไม่ให้สิทธิพิเศษต่อคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงสิทธิ โอกาส และได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน”

อุลลา แพร์มาน ผู้ตรวจสอบ หน่วยงานพัฒนาและวิเคราะห์ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อความเท่าเทียมของสวีเดน ได้อธิบายถึงแนวทางการป้องกันการเลือกปฏิบัติและการคุกคาม LGBTQ+ ในประเทศสวีเดนว่า “ประเทศสวีเดนมีความเชื่อในการจำกัดความของเพศ ซึ่งต้องเป็นเพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น การที่เป็นเพศที่อยู่ตรงกลาง หรือเป็นเพศที่เป็นได้ทั้งชายและหญิง จะถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มน้อย ทำให้การร้องเรียนการถูกเลือกปฏิบัติก็มีจำนวนน้อยเช่นกัน ซึ่งยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ร้องเรียนมาเพื่อขอความช่วยเหลือ ส่งผลให้กลุ่ม LGBTQ+ เหล่านี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถูกละเมิดเกียรติและศักดิ์ศรีจากกลุ่มคนที่มองว่าโลกนี้มีแค่ชายและหญิง ซึ่งรวมไปถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น ห้องน้ำสาธารณะ ชุดเครื่องแบบที่มีการแบ่งเพศอย่างชัดเจน โดยในการเลือกปฏิบัตินั้นมักจะเกิดในสถานที่ที่ใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ไม่ใช่เพียงแค่สถานที่ทำงาน แต่รวมไปถึงโรงเรียนด้วย”

อุลลา แพร์มาน ได้ชี้แจงแนวทางการสร้างมาตรการเชิงรุกในการป้องกันการเลือกปฏิบัติและคุกคาม LGBTQ+ โดยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ดูความเสี่ยงและอุปสรรคต่าง ๆ ที่กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญ
  2. วิเคราะห์ถึงสาเหตุและที่มาของการเลือกปฏิบัติของ LGBTQ+ 
  3. ใช้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและติดตามผลเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+
  4. พัฒนาและดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้กับกลุ่ม LGBTQ+

อุลลา แพร์มาน มองว่าแนวทางของการป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ ต้องมีความชัดเจน โดยต้องทำงานร่วมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อความเท่าเทียมของสวีเดน และหน่วยงานการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ที่จะให้คำแนะนำในมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ และสามารถนำไปใช้จริงได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงความเท่าเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับค่าชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม ถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างได้

ทั้งหมดนี้เป็นเบื้องหลังของประเทศสวีเดน หนึ่งในประเทศที่เปิดกว้างให้กับผู้ที่ความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในโลก และยังเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบที่สร้างความปลอดภัยและใส่ใจในความเป็นอยู่ของ LGBTQ+ อย่างเห็นได้ชัดและเป็นรูปธรรมมากที่สุด

ขณะที่ประเทศไทย หลายคนมองว่าเปิดกว้างให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว แต่ในมุมของกฎหมายนั้น กลับไม่มีกฎหมายใดมารองรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และในต้นเดือนมิถุนายนของทุกปีที่ผ่าน ๆ มา การจัด Pride Parade ยังคงเป็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการได้รับความเท่าเทียมเฉกเช่นกับเพศชายหญิงเท่านั้น

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า