fbpx

สูงวัยแต่ยังมีไฟทำงาน! เกาหลีใต้จ้างงานผู้สูงอายุมากกว่า 3 แสนอัตรา

รายงานข่าวของ The Korea Time เผยว่า เกาหลีใต้มีการจ้างงานสตรีสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคมในเกาหลีที่สตรีสูงวัยจะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าการอยู่บ้านเพื่อทำงานบ้านหรือเลี้ยงดูลูกหลาน ส่งผลให้ในเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา มีจำนวนสตรีสูงวัยอายุ 60 ปี กว่า 1.91 ล้านคน ได้รับเงินเดือนจากการทำงาน 

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ได้ทิ้งกลุ่มผู้สูงอายุไว้เบื้องหลัง เนื่องจากมีผู้สูงอายุจำนวนมากต้องต่อสู้กับความยากลำบากในการทำมาหากิน พวกเขาใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยเงินบำนาญจากรัฐบาลเพียงทางเดียว เป็นปัจจัยที่ส่งผลทางด้านลบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจำนวนมาก

ในปี 2017 เกาหลีใต้ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ สำนักงานสถิติเกาหลีใต้คาดว่า จำนวนผู้สูงอายุในปี 2025 มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเป็น 20% และอาจทำให้เกาหลีใต้เข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับสุดยอด (Super Aged Society) 

ผู้สูงอายุอาศัยอยู่บนความยากจน

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ชี้ว่า คนทำงานในเกาหลีใต้จำนวนมากตัดสินใจเกษียณจากงานประจำก่อนอายุ 55 ปี แล้วเปลี่ยนมาทำงานรับจ้างชั่วคราวแทน ทำให้เกือบ 2 ใน 5 ของคนที่มีอายุ 55-64 ปี ไม่ได้ทำงานเป็นหลักเป็นแหล่งชัดเจนและหวังพึ่งเงินบำนาญจากรัฐบาล ซึ่งเงินบำนาญที่ไม่ได้สูงมากทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากประสบปัญหาทางการเงิน 

The University of British Columbia ได้เผยบทสัมภาษณ์ของ ‘Yeong-Im Jung’ สตรีสูงวัยอายุ 75 ปี ประกอบอาชีพเก็บขยะขาย เธออธิบายว่า ผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขายขยะและวัสดุรีไซเคิลเพื่อหลีกหนีจากความยากจน โดยมีรายได้ต่อวันประมาณ 20,000–30,000 วอน อีกทั้งโครงสร้างทางสังคมของการให้ความคุณค่าในความกตัญญูต่อบุพการีที่มีรากฐานมาจากลัทธิขงจื๊อนั้นถดถอยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาตัวเอง

ปัญหาถัดมาคือบริษัทจำนวนมากบังคับพนักงานให้เกษียณอายุก่อนกำหนด เหตุเพราะนายจ้างจำนวนมากต้องจ่ายเงินให้พนักงานตามจำนวนปีในการทำงาน ทำให้การจ้างงานผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง บริษัทส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะจ้างงานพนักงานวัยหนุ่มสาวมากกว่าผู้สูงอายุ

Yong Suk Lee ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และกิจการระดับโลกที่มหาวิทยาลัย Notre Dame มองว่า ผู้สูงวัยที่ถูกบังคับเกษียณอายุตั้งแต่ช่วง 60 ปี ยังต้องใช้ชีวิตต่อไปจนถึง 80 หรือกระทั่ง 90 ปี หากไม่มีเงินเพียงพอสำหรับเกษียณหรือการสนับสนุนเงินบำนาญจากภาครัฐที่มั่นคง ก็มีแนวโน้มที่คนสูงวัยจะต้องใช้ชีวิตต่อไปบนความยากจน 

จะเห็นได้ว่าแม้ประเทศเกาหลีใต้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ยังเต็มไปด้วยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ทำงานรับจ้างชั่วคราวมากถึง 69% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ทำให้ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในเกาหลีใต้ มีอัตราความยากจนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD 

ชีวิตของสตรีสูงวัยในเกาหลีใต้

ปัจจุบันเกาหลีใต้มีสตรีสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ที่ 42.6% ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตบนเส้นความยากจนมากกว่าผู้ชายถึง 30% เนื่องจากการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่มีต้นกำเนิดมาจากลัทธิขงจื๊อกลายเป็นค่านิยมพื้นฐานที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลีใต้ โดยผู้ชายส่วนใหญ่มีโอกาสในการเติบโตบนเส้นทางอาชีพด้วยการออกไปทำงานนอกบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงต้องรับภาระหน้าที่ในการดูแลงานบ้านเป็นเมียและเป็นแม่ที่ดีให้กับลูก แม้ในปัจจุบันผู้หญิงจะเริ่มมีบทบาทในการทำงานมากขึ้น แต่การยกย่องให้ชายเป็นใหญ่ยังเกิดขึ้นในสังคมเกาหลีใต้เรื่อยมา 

Yong Suk Lee กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ชายสูงวัยมีโอกาสในการทำงานที่หลากหลายด้วยประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาตลอดชีวิต ในขณะที่สตรีสูงวัย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษา ทำให้พวกเขาต้องเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างชั่วคราว ทำให้สตรีสูงวัยบางคนต้องอยู่อย่างแร้นแค้น”

วิธีรับมือของรัฐบาลเกาหลี

จากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการจ้างงานเพื่อปรับปรุงสถานะทางการเงินของผู้สูงอายุในประเทศ โดยมีการเพิ่มอายุเกษียณตามกฎหมายจาก 58 ปี เป็น 60 ปี ทางด้าน OECD เริ่มเล็งเห็นความสำคัญในมาตรฐานการครองชีพและการสร้างรูปแบบการทำงานที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมความยืดหยุ่นในการทำงาน การสร้างระบบการทำงานที่ปลอดภัย ผลตอบแทนและชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม รวมทั้งการเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ผู้สูงอายุและกระตุ้นให้นายจ้างรับพนักงานสูงวัยเข้าทำงาน

ซึ่งในปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีทองแห่งการจ้างงานสำหรับผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ จากการรายงานข่าวของ The Korea Economic Daily เผยว่า การจ้างงานในเกาหลีใต้ได้ขยายแนวการเติบโตมากยิ่งขึ้น มีการจ้างงานกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 343,000 อัตรา และกลุ่มผู้ที่มีอายุ 50 ปี เพิ่มขึ้น 71,000 อัตรา 

ภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากที่สุดคือ การบริการด้านสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ ซึ่งมีการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 126,000 ตำแหน่ง นอกจากนั้นยังมีภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เปิดรับสมัคร ไม่ว่าจะเป็น การบริการร้านอาหาร วิชาชีพทางวิทยาศาสตร์ และวิชาชีพทางเทคโนโลยี ส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุในเกาหลีใต้สูงขึ้นถึง 48.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนั้นประชากรที่มีอายุระหว่าง 55-79 ปี มีความประสงค์ที่จะหางานทำในอนาคตอีกด้วย

สังคมสูงวัยในไทยแลนด์พร้อมหรือยัง

ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ กรมกิจการผู้สูงอายุได้บันทึกสถิติผู้สูงอายุพบว่า ปี 2565 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวนเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด โดยได้จัดอันดับจังหวัดในไทยที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (1,063,871 คน), นครราชสีมา (จำนวน 453,388 คน), เชียงใหม่ (333,692 คน) ขอนแก่น (312,933 คน) และอุบลราชธานี (276,628 คน) ซึ่งแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็วของกลุ่มผู้สูงอายุทั้งประเทศ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ 

กระทรวงแรงงานโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างและรูปแบบการทำงานของผู้สูงอายุที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้วยค่าจ้างอัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 45 บาทต่อชั่วโมง และกำหนดระยะเวลาทำงานที่เหมาะสมสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุ โดยไม่ควรเกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 6 วันต่อสัปดาห์ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงานมากขึ้น ทางรัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจให้บริษัทที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปเข้าทำงาน ให้สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินนิติบุคคลได้ถึง 100% ของเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างสูงอายุ

อย่างไรก็ตาม การจ้างงานผู้สูงอายุในไทยนั้นมีค่อนข้างน้อย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยว่า ปี 2566 กรมการจัดหางานมีการลงพื้นที่เชิญชวนนายจ้างและสถานประกอบการให้เห็นถึงความสำคัญและเกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ รวม 1,057 แห่ง และมีการจ้างงานผู้สูงอายุ จำนวน 702 คน ทว่าปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างไว้รองรับผู้สูงอายุ จำนวน 694 อัตราเท่านั้น

สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยยังมีการจ้างงานที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศ โดยผู้สูงอายุมีจำนวนสิบล้านคน แต่มีตำแหน่งงานรองรับเพียงหลักร้อยเท่านั้น อีกทั้งความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยเกิดจากระบบเศรษฐกิจระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบททำให้ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงการทำงานที่เท่าเทียมกันได้ และที่สำคัญคือเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ภาครัฐจัดสรรให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการจ่ายอยู่ที่ 600-1,000 บาท ข้อสงสัยถัดมาคือ เบี้ยผู้สูงอายุที่เฉลี่ยตกวันละ 20-30 กว่าบาท เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้เราไม่ได้มองว่าการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุจะเป็นการรับมือสังคมผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืนในสังคมไทย ซึ่งเราอาจต้องลงลึกไปดูแก่นถึงปัญหาที่ผู้สูงอายุต่างประสบพบเจอ เพื่อมองหาแนวทางในการรับมือได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่าทุกมิติในสังคมก็ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลังเพียงเพราะเขาเป็นผู้สูงวัย

ที่มา: hrmasia / koreatimes / globalreportingprogram / oecd / kedglobal / resourcecenter

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า