fbpx

“สมยศ พฤกษาเกษมสุข” บรรณาธิการผู้เชื่อว่าทุกคนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก

สำหรับคอการเมืองที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงการเมืองอย่างใกล้ชิด ชื่อของ “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูคุ้นตา จากบทบาทแกนนำเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ผ่านเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองหลายครั้ง และมีบทบาทโดดเด่นในช่วงหลังการรัฐประหาร 2549 ในแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมทั้งการเป็นบรรณาธิการนิตยสารรายปักษ์ Voice of Taksin ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2552 และทำให้เขาต้องกลายเป็นนักโทษการเมือง จากการตีพิมพ์บทความที่ถูกตีความว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 112

แรงบันดาลใจจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา

สมยศเติบโตและใช้ชีวิตในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ยุค 14 ตุลา ท่ามกลางบรรยากาศอันเฟื่องฟูของแนวคิดฝ่ายซ้าย นอกเหนือจากแฟชั่น 5 ย. อันประกอบด้วย ผมยาว เสื้อยืด กางเกงยีนส์ สะพายย่าม และรองเท้ายางแล้ว วรรณกรรมฝ่ายซ้ายว่าด้วยทฤษฎีทางการเมือง ทฤษฎีการปฏิวัติ ยังแพร่หลายในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นอุทิศตนเพื่อการโค่นล้มระบบศักดินา และเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม 

“ฝ่ายซ้ายเห็นของจิตร ภูมิศักดิ์, วัฒน์ วรรลยางกูร แต่จริงๆ อ่านฝ่ายขวาแล้วชอบหลายคน เมื่อก่อนก็ชอบประสงค์ สุ่นศิริ เขาเป็นเหมือนนักปราชญ์ เอาปรัชญาจีน เอานิทานมาเขียนเล่าเรื่องการเมืองได้ดีมาก เขียนเชิงวรรณกรรม หมา 5 ตัว พูดเรื่องการเลี้ยงหมา แล้วเอามาเปรียบเปรยทางการเมือง คึกฤทธิ์ก็เก่ง เขียนเรื่องทำกับข้าวแล้วโยงมาเรื่องการเมือง ได้ความรู้ทั้งเรื่องกับข้าว เรื่องการเมืองด้วย เมื่อก่อนสื่อฝ่ายซ้ายก็เยอะนะ ในการตอบโต้ แล้วทำมากด้วย ทั้งบนดินและใต้ดิน เพียงแต่ว่าฝ่ายซ้ายบางครั้งมันแห้งแล้ง อย่างคึกฤทธิ์เขียนสนุก มีลูกล่อลูกชน” สมยศเล่าถึงสีสันและแรงบันดาลใจทางการเมืองในอดีต

ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อจุดยืนประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม การทำงานเขียนของเขากลับจริงจังมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน โดยเน้นเล่าเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานและปัญหาที่คนเหล่านี้ต้องประสบ บวกกับการเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ทั้งประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Voice of Taksin ที่ทำให้การเขียนมีบทบาทสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเด่นชัด

ของผมมันไม่ใช่บรรณาธิการปกติ แต่เป็นบรรณาธิการที่เลือกฝั่ง แล้วก็เกิดจากขบวนการต่อสู้ แล้วก็ผลิตสื่อเพื่อรับใช้การต่อสู้ คือตอนนั้นมันเกิดขบวนการเสื้อแดงขึ้นที่ต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย แล้วก็ถูกสื่อหลักโจมตี เป็นควายแดง แล้วการรายงานข่าวมันไม่ได้ตรงไปตรงมา คือเราอยู่ในขบวนการต่อสู้ เราก็รู้ว่ามันมีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เราก็ผลิตสื่อเพื่อรับใช้คนกลุ่มนี้ แล้วบังเอิญมันประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจด้วย คือไม่ได้เป็นสื่อดีอะไรมาก แต่ความเป็นสื่อเลือกข้าง มันก็เลยได้รับการตอบรับจากข้างนี้โดยเฉพาะ กลายเป็นสิ่งใหม่ที่เร้าใจสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง”

เมื่อพูดถึงจุดแข็งของ Voice of Taksin ที่เน้นเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมืองที่อยู่นอกตำราเรียน เราก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า หนังสือแนว “ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียน” เหล่านี้ ก็กลายเป็นหนังสือขายดีในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน ซึ่งสมยศให้ความเห็นว่า หนังสือเหล่านี้แม้จะอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาที่เข้าใจยาก แต่กลับมีเสน่ห์ตรงการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและผู้มีอำนาจ กระตุกความคิดและความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน 

อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่ท้าทายและสั่นคลอนสถานะของผู้มีอำนาจ ก็ส่งผลให้สมยศต้องโทษจำคุกข้อหามาตรา 112 เมื่อปี 2554 และต้องถูกจองจำนานถึง 7 ปี จากการที่มีผู้เขียนบทความสะท้อนเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตของเมืองไทย และถูกตีความว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“ตอนเข้าไปมันคับแค้นใจมากกว่าว่าทำไมมันเกิดกับเรา คือตอนนั้นทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือ แล้วมีคนเขียนบทความ เขาก็เขียนในเชิงวรรณกรรม เปรียบเทียบเปรียบเปรย ซึ่งทำให้เราตีความได้หลายแบบ แต่เราก็ไม่คิดอะไรมาก มันควรเป็นเสรีภาพ ควรคิด ควรอ่าน ก็ลงไป ก็กลายเป็นคดีขึ้นมา เราก็พยายามต่อสู้ว่ามันเป็นเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ก็เลยไม่เซ็นเซอร์

“พอเป็นคดี อันนี้เราต่างจากคนอื่น มันผิดตรงไหน มันไม่ควรเป็นความผิด เพราะฉะนั้น เราก็สู้ ตอนนั้นเราคิดแล้วว่า ระบบมีปัญหา ไม่ใช่ตัวเรามีปัญหา เพราะฉะนั้นเราก็สู้เต็มที่ ตอนนั้นก็สู้แค่ประกันตัว ก็ไม่ได้ ขอประกันตัว 17 ครั้ง มากที่สุด แล้วก็สู้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นไปจนจบศาลชั้นสูง ขอประกันทุกชั้นจนถึงชั้นสุดท้าย ชั้นสุดท้ายใช้เวลา 1 ปี สิ่งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินเลยคือว่า จำเลยจำคุกมาพอสมควรแล้ว คือระบบมันแย่ตรงที่ว่า เรายังไม่ผิด เราต้องสู้คดี แต่ศาลไม่ให้ประกันตัวก็เท่ากับว่ามึงผิด เราก็สู้ไป เพื่อปกป้องสิ่งที่เราคิดว่าไม่ผิด”

“มันคล้ายๆ เป็นเสรีภาพที่มีปัญหา เป็นเสรีภาพเทียม คุณมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นต้องไม่ขัดกับความมั่นคงของรัฐ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นคุณไม่ได้มีเสรีภาพจริงๆ เพราะว่าเสรีภาพของคุณอยู่ภายใต้กรอบทางศีลธรรม”

ระหว่างที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำ ราคาที่สมยศต้องจ่ายจากการแสดงจุดยืนทางการเมือง คือสุขภาพที่ทรุดโทรม และการถูกเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม เขามองว่า อย่างน้อยสังคมก็ได้เห็นว่ามีคนที่ต้องติดคุก เพียงเพราะแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับจุดยืนของผู้มีอำนาจ นอกจากนี้ ตัวเลขนักโทษการเมืองที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การตั้งคำถามต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 มากขึ้น ทำให้ศาลระมัดระวังในการวินิจฉัยคดีมากขึ้น และเพิ่มสิทธิในการประกันตัวของผู้ที่ต้องโทษนี้มากขึ้นด้วย

สื่อควรเลือกข้างหรือไม่

แม้ว่าปัจจุบันนี้ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองสามารถทำได้อย่างกว้างขวางและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น ด้วยโซเชียลมีเดีย แต่ดูเหมือนว่าด้วยการใช้กฎหมายที่คาดเดาไม่ได้ ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน รวมถึงการรักษาฐานผู้ชมทุกกลุ่ม เพื่อความอยู่รอดของสื่อมวลชนเอง ทำให้สื่อมวลชนต้อง “เซ็นเซอร์ตัวเอง” มากกว่าเดิม ซึ่งสมยศให้ความเห็นว่า

“สมัยก่อนมันเป็นกระแส แล้วมันเป็นสื่อแบบผลิตเอง ทำด้วยโรเนียว ก็เขียนได้เต็มที่ เทียบกับยุคนี้ คนมีเสรีภาพมากกว่าเยอะ เขียนได้ตามใจชอบ แต่สื่อก็ยังเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตามสภาพ มันมีกฎหมายอยู่ เซ็นเซอร์ไปมา ทีนี้กลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว บางทีกฎหมายไม่มีอะไร แต่ก็เซ็นเซอร์ไว้ล่วงหน้าเลย กลายเป็นนิสัยแห่งการเซ็นเซอร์ตัวเอง กลายเป็นหน้าที่ไปเลย เป็นความสำเร็จของการปกครองแบบนี้”

อย่างไรก็ตาม ในมุมของสมยศ สื่อจำเป็นต้อง “เลือกข้าง”

“สื่อจำเป็นต้องเลือกข้าง โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน มันมีข้างผิดกับข้างถูก คุณเลือกให้ถูกก็แล้วกัน สอง คุณต้องอยู่ในข้างที่เป็นประชาธิปไตย ความถูกต้อง แล้วก็ผลประโยชน์ของประชาชน ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกข้าง ถ้าคุณไม่เลือกข้าง คุณกำลังสนับสนุนอีกข้างหนึ่ง”

“ผู้ใหญ่กับเด็กตีกัน คุณจะเลือกข้างไหน คนแข็งแรงกำลังเอาเปรียบคนอ่อนแออยู่ ถ้าไม่เลือกข้างก็คือคุณอยู่ข้างคนที่เอาเปรียบ เหมือนเด็กทะลุแก๊ซใช้พลุยิง กับตำรวจยิงกระสุนยาง เราไม่เลือกข้าง คุณกำลังสนับสนุนให้เขายิงกระสุนยางใส่เด็ก” สมยศกล่าว

แม้จะถูกจำคุกถึง 2 ครั้ง จากการแสดงออกทางการเมืองและรักษาจุดยืนของตัวเอง แต่สมยศก็ยังคงยืนหยัดในอุดมการณ์ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเขาก็ไม่สามารถให้เหตุผลได้

“มันพูดได้หลายองค์ประกอบ เช่น ติดคุกก็ทำให้เราคับแค้นใจมากขึ้นกว่าเดิม ได้สัมผัสความลำบากด้วยตัวเอง จังหวะนั้นมันเหมือนกับว่า มาถึงขั้นนี้แล้ว ก็ต้องทำต่อ แต่ก็ไม่เข้าใจว่ามันต่อเนื่องมาได้อย่างไร ไม่รู้เหมือนกัน”

“อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับความเชื่อทางศีลธรรมด้วย อย่างเช่น เราซื่อสัตย์ต่อตนเอง เมื่อเราคิด เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง ดีงาม แล้วก็มีคุณค่าความหมายกับชีวิต แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา การมีชีวิตที่ดีคืออะไร มันก็อาจจะสะท้อนความเชื่อตรงนี้ด้วยว่า ตายไปแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร ระหว่างมีชีวิตจะทำอะไรให้มันดี เราก็พยายามทำหน้าที่พลเมืองด้วย” สมยศกล่าวทิ้งท้าย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า