fbpx

9 เคล็ดลับ ลุยเดี่ยวสร้างธุรกิจ ฉบับ ‘Solopreneur’

อยากทำธุรกิจแต่เหนื่อยประสานงานกับคนเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น นักลงทุน ไหนจะลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน มีทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการเดบิวต์ธุรกิจตัวเอง ด้วยการเป็น ‘ผู้ประกอบการคนเดียว’ หรือ ‘Solopreneur’

ซึ่งเป็นการรวมคำจากคำว่า Solo ที่แปลว่าตามลำพัง แล้วนำมาผนวกกับ Entrepreneur ที่แปลว่าผู้ประกอบการ พอจับ 2 คำมาชนกันจึงเกิดเป็นนิยามเก๋ ๆ ของผู้ประกอบการประเภทหนึ่ง ที่ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจด้วยตัวเองคนเดียว ปราศจากหุ้นส่วนหรือผู้ร่วมงานใด ๆ 

Solopreneur แตกต่างจากผู้ประกอบการทั่วไปที่เริ่มก่อตั้งกิจการด้วยตัวคนเดียว กล่าวคือ ในกรณีหลังแม้จะเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเอง แต่ก็มีความตั้งใจที่จะขยับขยายกิจการ วางแผนสร้างอาณาจักรกิจการของตัวเองในอนาคต ซึ่งลักษณะนี้มักจะตามมาด้วย หุ้นส่วนทางธุรกิจ การสร้างทีมงาน และตามมาด้วยผู้คนอีกจำนวนมากเมื่อบริษัทเริ่มเข้าที่

ในทางกลับกัน Solopreneur หรือผู้ประกอบการใบเลี้ยงเดี่ยวนี้ มักจะปักธงในใจไว้อยู่แล้วว่า จะใส่เดี่ยวลุยทำธุรกิจเพียงลำพัง อาจจะมีการจ้างบุคคลภายนอกมาช่วยเป็นครั้งคราว บางกรณีอาจมีเพื่อนคู่คิดหรือคนที่ออกลุยธุรกิจไปด้วยกันบ้าง แต่ถ้าเทียบสัดส่วนจำนวนคนแล้ว ก็ถือว่าน้อยกว่าผู้ประกอบการทั่วไป 

ส่วนมากแล้วผู้ประกอบการคนเดียว มักจะเป็นผู้ที่มีความถนัดและความชอบเฉพาะทาง ซึ่งการลุยเดี่ยวทำธุรกิจคนเดียวจริง ๆ แล้วมีอยู่ในเกือบทุกอุตสาหกรรม แต่ที่เห็นเด่นชัดเลยคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์ เช่น เจ้าของร้านค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า เปิดรับบริการติดผ้าม่าน หรือที่เติบโตสุด ๆ ก็คือ บรรดา Content Creator ทั้งหลาย อย่างการเปิดเพจใน Facebook การเป็น YouTuber หรือเป็น Beauty Blogger แล้วเปิดรับรายได้จากแฟลตฟอร์มออนไลน์

ที่มาภาพ: blog.hubspot.com

ยุคที่คนหันมาเป็น Solopreneur มากขึ้น 

เนื่องด้วยหลายคนเริ่มเหนื่อยหน่ายกับงานประจำ อยากผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้มีความฝันอะไรใหญ่โตที่อยากจะขยับขยายธุรกิจตัวเองให้กลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ ประกอบกับไม่อยากวุ่นวายกับคนเยอะ จึงทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบันหันมาใส่เดี่ยวเป็น Solopreneur กันมากขึ้น

นอกจากนี้เว็บไซต์ upwork.com ยังได้เปิดเผยเสน่ห์ของการเป็นผู้ประกอบการคนเดียวไว้อีกว่า การเป็นนักธุรกิจประเภทนี้ตอบโจทย์คนที่ชอบความยืดหยุ่นสูง มีอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นนายตัวเองได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องพะวงเรื่องการร่วมงานกับคนที่ไม่ชอบ สามารถคุมเกมการทำธุรกิจได้อย่างเต็มตัว

ไม่ว่าจะเป็นการวางกลยุทธ์ของแบรนด์ และการตัดสินใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของธุรกิจ ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการคนเดียว ตัวตนของคุณจะกลายเป็นธุรกิจ และตัวคุณเองจะกลายเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปโดยปริยาย  

ทุกแห่งหนบนโลกใบนี้จะกลายเป็นที่ทำงาน สามารถทำงานทุกที่ได้ทุกเวลา การที่ธุรกิจของ Solopreneur ไม่ได้ถูกจำกัดเรื่องสถานที่ ทำให้อิสระที่ได้จากการทำงาน ส่งผลต่ออิสระในการสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการในธุรกิจได้มากขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีนัยยะสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของ Solopreneur ก็คือการดิสรัปชัน (Disruption) ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมไปถึงระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ในภาคธุรกิจ เว็บไซต์ peak.capital กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เทคโนโลยีไฮเทคต่าง ๆ  ที่ถือกำเนิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เป็นตัวเร่งสำคัญที่พลิกโฉมหน้ารูปแบบการทำธุรกิจ

ปัจจุบันผู้ที่จะเป็นเจ้าของกิจการไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นธุรกิจหรือดำเนินกิจการด้วยรูปแบบเดิม ๆ เช่น เมื่อก่อนหากทำธุรกิจ อาจจะจำเป็นที่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ตอนนี้สามารถหันมาพึ่งพาระบบ AI ได้แทน โดยเฉพาะระบบ Auto-GPT ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง ทำงานได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ อย่างการป้อนข้อมูล และการทำบัญชี ทำให้ Solopreneur มีเวลามาใช้ความคิดสร้างสรรค์กับสินค้า บริการ และกลยุทธ์ทางการตลาดมากขึ้น

ที่มาภาพ: godaddy.com

คนเดียวก็เอาอยู่

ก่อนออกสตาร์ทไปเป็น Solopreneur อาจจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงสนามจริง โดยมี 9 วิธีที่น่าสนใจเอาไว้เป็นแนวทางในการเป็นเจ้านายตัวเองอย่างแท้จริง

1.เลือกแนวคิดธุรกิจให้เหมาะสมกับตัวเอง

ทบทวนตัวเองว่ามีทักษะอะไรบ้างที่โดดเด่นและมีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียว แล้วพิจารณาต่อว่าธุรกิจที่จะทำนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะบางธุรกิจอาจไม่เหมาะที่จะลุยเดี่ยว นอกจากนี้อย่าลืมที่จะศึกษาความต้องการของตลาด มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับศึกษาคู่แข่งทางธุรกิจ จะได้รู้เขารู้เราและรู้ว่าจะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจตัวเองอย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาทำการบ้านอยู่นานกว่าจะได้แนวคิดทางธุรกิจที่ชัดเจน แต่ก็คุ้มค่ากว่าการที่เริ่มต้นธุรกิจทันทีแล้วค่อยมาวางแผน ตบความคิดให้เข้าร่องเข้ารอยทีหลัง

2.ทดสอบธุรกิจก่อนลงสนามจริง

อย่าเพิ่งกระโจนลงมาทำธุรกิจแบบเต็มตัว โดยยังไม่ได้ทดลองก่อนว่าแนวคิดธุรกิจที่มีนั้นจะประสบความสำเร็จ เพราะบางครั้งแนวคิดดีแต่เอาเข้าจริงอาจไปต่อไม่ได้  เช่น เริ่มทดลองตลาดก่อนว่ามีกระแสตอบรับต่อสินค้าและบริการอย่างไรบ้าง ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งกระบวนการทดสอบผลิตภัณฑ์นี้ยังเป็นการทดสอบการเป็น Solopreneur ไปในตัวด้วยว่าตนเหมาะที่จะเดินไปต่อบนเส้นทางนี้ไหม   

3.การสร้างแบรนด์

ข้อนี้จะไม่ค่อยต่างกับธุรกิจส่วนใหญ่เท่าไร แต่สิ่งที่พิเศษเพิ่มขึ้นมาสำหรับการเป็น Solopreneur ก็คือ ตัวเจ้าของธุรกิจเองคือแบรนด์สินค้า ลูกค้าจะมีภาพจำสินค้าและบริการผูกติดไปกับเจ้าของโดยปริยาย ทำให้ผู้ประกอบการประเภทนี้ต้องทบทวนกลยุทธ์แบรนด์อยู่เสมอ โดยเฉพาะสาเหตุที่ลูกค้าเลือกใช้บริการธุรกิจเราแทนที่จะหันไปหาบริษัทคู่แข่ง

ที่มาภาพ: godaddy.com

4.วิเคราะห์ธุรกิจนับตั้งแต่วันเริ่มต้นจนถึงบริษัทเติบโต

เมื่อทำธุรกิจมาจนถึงจุดหนึ่ง สิ่งสำคัญคือต้องมีช่วงที่หยุดพักเพื่อที่จะได้วิเคราะห์การดำเนินงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผลตอบรับจากลูกค้า ราคาสินค้าและบริการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหรือไม่ งบประมาณของบริษัทเพียงพอไหม ธุรกิจมีความจำเป็นไหมที่ต้องลงทุนในทรัพยากรอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมไปถึงวิเคราะห์ตัวเองด้วยว่าในฐานะผู้ประกอบการมีอะไรบ้างที่ตนทำได้ดีหรือทำแล้วผลออกมาไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ

5.เปิดรับโอกาสใหม่ ๆ อยู่เสมอ 

เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง อย่าปิดกั้นโอกาสใหม่ ๆ เพียงเพราะสิ่งนั้นไม่ตรงกับวิสัยทัศน์เดิมหรือแผนธุรกิจที่มีอยู่ 

6.ใช้เทคโนโลยีวางระบบให้กับธุรกิจ 

ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ เป็นตัวช่วยที่จำเป็นสำหรับธุรกิจของ Solopreneur เพราะจะช่วยลดระยะเวลาและหน้าที่ต่าง ๆ ที่คนเป็นผู้ประกอบการต้องทำ สิ่งนี้ทำให้ผู้ประกอบการคนเดียว ต้องพิจารณาในการลงทุนหรือเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่มากมายให้เหมาะสมกับธุรกิจ

7.รักษาสมดุลระหว่างเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว

มีการศึกษาของ Harvard Business Review ระบุว่าผู้ประกอบการที่รักและหลงใหลในสิ่งที่ตัวเองทำมาก ๆ พอถึงจุดหนึ่งงานจะครอบงำชีวิตส่วนตัวไปโดยไม่รู้ตัว ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงาน ซึ่งผลกระทบจากความเหนื่อยหน่ายสามารถทำให้คนที่เป็น Solopreneur ล้มเลิกธุรกิจของตัวเองไปเลยก็มี เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวผู้ประกอบการต้องรู้จักแบ่งเวลางานกับชีวิตส่วนตัวให้ดี

8.สร้างเครือข่ายกับ Solopreneur คนอื่น ๆ 

บางครั้งการเป็น Solopreneur ที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวอาจต้องผจญกับภัยซ่อนเร้นที่เรียกว่าความเหงา การพบเจอกับผู้ที่เป็นผู้ประกอบการตัวคนเดียว ช่วยทำให้ลดความเครียดและความอ้างว้างได้ เพราะมีประสบการณ์การทำธุรกิจในแนวเดียวกัน ยิ่งไปก่อนนั้นการมีเครือข่ายที่เป็นนักธุรกิจด้วยกันยังช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจของตนเองได้อีกด้วย 

9.ต่อให้ลุยเดี่ยว ก็อย่าทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว

ฟังแล้วอาจดูย้อนแย้งกับนิยามของการเป็น Solopreneur แต่ในโลกความเป็นจริงไม่มีใครสามารถทำทุกอย่างด้วยตัวเองได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการขาย กลยุทธ์ทางธุรกิจ การตลาด การบัญชี การออกแบบเว็บไซต์ และการบริการลูกค้า สิ่งเหล่านี้สามารถหาฟรีแลนซ์ หรือ การจ้างพนักงานแบบชั่วคราวมาจัดการในเรื่องบางเรื่องเพื่อลดภาระงานลง

อ้างอิง : greedisgoods / peak.capital / upwork

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า