fbpx

เทียบซอฟต์พาวเวอร์ “หนังไทย VS เกาหลีใต้” จากวันสร้างสู่สิ่งที่หลงเหลือหลังกระแสจบ

ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ กันบ่อยๆ ตามข่าวจากการที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันเรื่องนี้ให้กับประเทศไทย ก่อนอื่นคำว่าซอฟพาวเวอร์คือการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การทำให้คนมีส่วนร่วม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ด้านนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันคือ ส่งเสริมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นจากการ “พัฒนาคน” (นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power) โดยจะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ ผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” ที่จะมีในทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ ให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเองในทุกด้าน  ไม่ว่าทักษะด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะ “ไม่เสียค่าใช้จ่าย” เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี

นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ จะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างอุตสาหกรรมให้เติบโต สร้างเงินเข้าประเทศมหาศาล และสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านซอฟท์พาวเวอร์

แต่จนถึงตอนนี้ประชาชนหลายคนถึงกับงงและสงสัยว่าจริงๆแล้วรัฐบาลต้องการให้เราทำอะไรกันแน่ ?

ถ้าจะให้นึกภาพตามง่ายๆคือเวลาที่เราดูซีรีส์หรือภาพยนตร์เกาหลีแล้วยังมีอะไรบางอย่างที่เป็นควันหลงให้ทำตาม อย่างภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Parasite (ชนชั้นปรสิต) ที่สะท้อนเรื่องราวเสียดสีสังคมและนำเสนอความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้ จนกวาดรางวัลมากมายและคว้า 4 รางวัลใหญ่จากออสการ์ครั้งที่ 92 ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีฉากหนึ่งในเรื่องที่แม่บ้านในบ้านเศรษฐีทำเมนู จาปากูรี เป็นการผสมกันของ 2 สูตร คือ ‘จาปาเกตตี’ (Jjapaghetti) กับ ‘นีโอกูรี’ (Neoguri) การใช้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 สูตรถือว่าเป็นความฟุ่มเฟือย แถมในเรื่องยังมีการใส่เนื้อฮันอู ซึ่งเป็นเนื้อวัวเกาหลีเกรดสูงอีก สะท้อนให้เห็นถึงความร่ำรวย ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น จนทำให้มีกระแสฮิตลองทำจาปากูรีกินกันของเหล่ายูทูปเบอร์และคนทั่วไปทั้งไทยและต่างประเทศ

หรือจะเป็นซีรีส์ Squid game เป็นเรื่องราวของกลุ่มคนที่ถูกเชิญให้ไปเล่นเกมปริศนา แต่ละเกมจะเป็นการละเล่นพื้นบ้านของเด็กเกาหลีใต้ ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน ซึ่งเรื่องนี้โด่งดังไกลทั่วโลกจนทำให้นักแสดงนำในเรื่องอย่าง วีฮาจุน มีผลงานซีรีส์ตามมาอีกหลายเรื่อง ซอฟต์พาวเวอร์ที่ซีรีส์เรื่องนี้สร้างขึ้นมีหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ชุดในการแข่งขันเกม การละเล่นเออีไอโอยู หยุด การแต่งตัวแบบหุ่นยนต์เด็กสาวมูกุงฮวา ขนมน้ำตาล (Dalgona Candy) และ มาแล้วลูกจ๋า~ชุดโกโกวาที่หนูอยากได้ หรือ เพลงชุดโกโกวา นั่นเอง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการทำซีรีส์เรื่องนี้เหมือนวางแผนในการใส่การแต่งกาย การละเล่น ขนมพื้นบ้าน เข้ามาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่นอกจากจะมีรายได้ ชื่อเสียงที่มาจากซีรีส์แล้วยังคงทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมบางอย่างเอาไว้ให้คนทั่วโลกได้จดจำ

บินกลับมาที่ประเทศไทย มีภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่องที่มีกระแสโด่งดังไปทั่วโลก ยกตัวอย่างเรื่อง ร่างทรง จากค่าย GHD 559 เป็นภาพยนตร์ที่ได้ นาฮงจิน ผู้กำกับระดับโลกจาก The Wailing มาร่วมดูแลการผลิตให้ด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล Best of Bucheon จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติบูชอน และโด่งดังมากในประเทศเกาหลี

เราจะเห็นได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่สนใจมาก แต่สิ่งที่ทำได้มีเพียงรายได้และกระแสตอบรับที่ดีเท่านั้น ไม่ได้ทิ้งซอฟต์พาวเวอร์บางอย่าง เช่น อาหาร เพลง หรืออะไรที่สะท้อนความเป็นประเทศไทยเอาไว้ เมื่อกระแสของภาพยนตร์ซาลงความทรงจำเกี่ยวกับความเป็นไทยของคนดูก็ซาลงไปด้วย เรื่องแบบนี้ทางผู้กำกับอาจจะต้องพยายามใส่วัตถุดิบของความเป็นไทยอะไรบางอย่างปรุงลงไปในภาพยนตร์ หรือในอีกมุมหนึ่ง หากอยากให้มีการเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ รัฐบาลควรเข้ามาให้การสนับสนุนร่วมมือกันผลักดันวงการภาพยนตร์ไทยและสร้างซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแรงมากกว่านี้

หากใครเป็นคอภาพยนตร์หรือซีรีส์เกาหลีจะเห็นว่าเนื้อเรื่องมีการตีแผ่การทุจริตของหลายองค์กรรวมไปถึงภาครัฐและการเสียดสีสังคมอย่างตรงไปตรงมา แต่สำหรับประเทศไทยแล้วสื่อทุกรูปแบบถูกห้ามในหลายประเด็น หากสื่อใดก็ตามมีเนื้อหากระทบกับสถาบันหลักของประเทศ สถาบันศาสนา หรือหน่วยงานราชการ ก็จะถูกแบนให้ปรับเนื้อหาหรือไม่ก็ห้ามฉายไปเลย นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หากวงการภาพยนตร์ไทยสามารถปลดล็อกได้ เราจะสามารถพาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก้าวไปได้ไกลและสร้างซอฟต์พาวเวอร์อย่างที่หวังไว้ได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า