fbpx

จาก “คณะราษฎร” สู่การปีนรั้วของ “หยก” พลวัตทางสังคมที่มิอาจหลีกเลี่ยง 

เรื่อง : ธนภูมิ กุลไพบูลย์

“การเปลี่ยนแปลง” ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ในทุกสังคม แม้กระทั่งสังคมไทยเองก็เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อ 91 ปีก่อน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองและสังคมไทย นั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร อย่างไรก็ตาม ในวันที่แนวคิดอนุรักษนิยมครอบงำสังคม การปฏิวัติ 2475 เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของกลุ่มคนไม่กี่คน ในช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมและความเข้าใจต่อระบอบการปกครองใหม่ ขณะที่สถานะของคณะราษฎรในความนึกคิดของผู้คน ยังเป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งในตำราเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2563 นับตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ สถานะของคณะราษฎรถูกยกสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ โดยสถาปนาคำว่ากลุ่มคณะราษฎร 2563 มีการฝังหมุดของตัวเองแบบที่คณะราษฎรทำ และมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับคณะราษฎรอย่างเปิดเผยมากขึ้น

หากมองผ่านเลนส์ของอนุรักษนิยมไทย คณะราษฎรเป็นเพียงผู้ก่อการปล้นอำนาจสถาบันกษัตริย์ ขณะที่เลนส์ของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย คณะราษฎรกลับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยไทย ในฐานะผู้ริเริ่มระบอบใหม่ ประหนึ่งฮีโร่ผู้มากอบกู้ ซึ่งแม้แต่ในวงวิชาการประวัติศาสตร์ ก็ยังมีการถกเถียงเรื่องนี้กันอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ภูมิทัศน์ดังกล่าวอาจบดบังให้เราห่างไกลจากความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 อันเป็นพลวัตทางสังคมที่ต้องเปลี่ยนแปลงโดยมิอาจหลีกเลี่ยง

ก่อนสังคมไทยจะรู้จักคณะราษฎรและประชาธิปไตย 

นับตั้งแต่สมัยโบราณ อาณาจักรต่างๆ ปกครองกันในลักษณะรัฐจารีต อำนาจของรัฐเปรียบเสมือนแสงเทียนที่ยิ่งอยู่ไกลก็ยิ่งริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ เพราะอำนาจการปกครองไม่ได้กระจุกอยู่ที่ศูนย์กลาง และก็ไม่ได้มีขอบเขตดินแดนที่ชัดเจนแบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยระบอบศักดินา โดยหัวเมืองจะส่งภาษี บรรณาการ หรือไพร่ แก่เมืองหลวงหรือเจ้าผู้ปกครอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยอมรับว่าถูกปกครอง แต่ระบบดังกล่าวก็ได้ถูกสั่นคลอนหลังจากที่อังกฤษได้เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับรัฐสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 

สนธิสัญญาเบาว์ริงระบุให้สยามเปิดการค้าเสรีกับอังกฤษ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของสยามถูกผูกเข้ากับระบบทุนนิยมโลก และทำให้การค้าขยายตัว รายได้และทรัพยากรหลั่งไหลเข้าสู่สยามมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้น กลับตกไปอยู่ในมือกลุ่มขุนนาง โดยไม่มีการแบ่งรายได้ให้พระมหากษัตริย์ แม้รายได้ของรัฐจะขยายตัว แต่พระมหากษัตริย์กลับไม่มีอำนาจใดๆ โดยเฉพาะอำนาจการควบคุมและจัดสรรทรัพยากรรัฐ ปัจจัยนี้คือแรงผลักดันที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ทำการปฏิรูปการปกครองให้กลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือรวบอำนาจการจัดสรรทรัพยากรของรัฐจากบรรดาขุนนางมาไว้ที่สถาบันกษัตริย์ และสร้างระบบราชการสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งแผ่อำนาจการควบคุมเหนือดินแดนที่ห่างไกลออกไป โดยเฉพาะดินแดนที่รัฐสยามไม่เคยควบคุมได้ ซึ่งเป็นแบบแผนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบรรดารัฐในยุโรป ที่ทำสำเร็จกันไปแล้วในช่วงศตวรรษที่ 19 และจุดนี้เองคือการก่อกำเนิดของความเป็นรัฐสมัยใหม่ของสยาม ซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบรัฐจารีตแบบเก่า 

เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐต้องสรรหาบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบราชการ เพื่อเป็นฟันเฟืองในการบริหารราชการแผ่นดิน และกระบวนการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างเบ็ดเสร็จ แต่เนื่องจากสยามไม่เคยมีระบบนี้มาก่อน จึงต้องส่งเสริมให้คนมีการศึกษาเพื่อเข้าใจถึงรูปแบบการบริหารงานแบบใหม่ ชนชั้นสูงเริ่มส่งลูกหลานไปศึกษายังต่างประเทศ เช่นในยุโรป เพื่อให้เข้าใจการบริหารงานแบบรัฐสมัยใหม่มากขึ้น ขณะเดียวกัน การเติบโตของทุนนิยมในสยามหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงได้ก่อกำเนิดชนชั้นใหม่ในสังคมที่ไม่ใช่ทั้งไพร่และขุนนางดังเช่นที่เป็นอยู่ในสังคมศักดินา นั่นคือชนชั้นกลาง ที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวจากระบอบการค้าเสรี และคนเหล่านี้เริ่มมีทรัพยากรมากพอที่จะสามารถเข้าถึงการศึกษาในแบบเดียวกับลูกของชนชั้นสูง ทั้งโรงเรียนในสยามที่เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาในช่วงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 รวมไปถึงการส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกเช่นเดียวกับลูกของชนชั้นสูง 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การเข้ารับราชการ จากที่เคยรับเฉพาะลูกหลานของชนชั้นผู้ปกครอง แต่คุณสมบัติด้านการศึกษา เปิดโอกาสให้ชนชั้นล่างได้มีโอกาสเป็นขุนนาง ก่อให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมอย่างมากมาย นอกจากนั้นยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมในหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น ในโรงเรียน ครูปฏิบัติต่อลูกขุนนางเท่าเทียมกับลูกของคนธรรมดา ทำให้มีคอนเซ็ปต์ความเท่าเทียมขึ้น อาจกล่าวได้ว่า สิ่งเหล่านี้คือผลผลิตของกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 

กำเนิดคณะราษฎร

อย่างไรก็ตาม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังคงเป็นกำแพงอันสูงลิ่วสำหรับบรรดาชนชั้นกลางในการไต่เต้าทางสังคม เพราะเรื่องของเชื้อสายและชาติตระกูลยังคงมีอิทธิพลและความสำคัญอยู่ นี่คือบ่อเกิดความไม่พอใจของข้าราชการที่ไต่เต้ามาจากชนชั้นกลาง ที่ไม่ได้รับอภิสิทธิ์เทียบเท่ากับผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นสูง

บรรดาสมาชิกแรกเริ่มของคณะราษฎรที่พบกันในฝรั่งเศส คือผู้ที่ได้รับโอกาสให้ไปศึกษาที่ต่างประเทศ เพื่อกลับมาเข้ารับราชการในอนาคต ซึ่งหลายคนไม่ใช่ลูกชนชั้นสูงระดับเชื้อพระวงศ์หรือขุนนาง แต่ล้วนไต่เต้ามาจากชนชั้นกลาง และคนเหล่านี้ยังได้สัมผัสความเจริญในสังคมตะวันตกด้วย

พลโท ประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส และอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้จุดประกายความคิดของปรีดี พนมยงค์ ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ ได้บันทึกสาเหตุของการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. 2475 ไว้ดังนี้ 

“กำเนิดของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น ได้ก่อหวอดขึ้นในดินแดนต่างด้าว ว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่อยู่ในประเทศของเราก็เคยชินต่อสภาพความเป็นอยู่ในระบบพึ่งบุญบารมี ระบบพินอบพิเทา ถือโชคชะตากุศลบุญราศี เป็นเรื่องของชีวิต ครั้นเมื่อได้ออกไปอยู่ในดินแดนต่างประเทศ ในประการแรก เราจะได้เห็นความรุ่งเรืองของประเทศต่างๆ ทำให้หวนมาคิดเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมืองเราทำไมจึงต้องจมดินจมโคลนพะรุงพะรังอยู่อย่างนี้ กับทั้งความเป็นอยู่ของประชาชนของเขาที่อยู่ในระดับชีวิตส่วนรวมที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ระบบหมอบกราบ พินอบพิเทา พูดจา ไอ้ เอ็ง มึง กู เป็นเรื่องที่ขมขื่น ดังที่ได้ประสบอยู่ในบ้านเมืองของเรา”

“นอกจากนี้ยังเกิดมีความรู้สึกแสลงใจที่ถูกเหยียดหยาม เสมือนข้าทาสที่อยู่ในอาณานิคม เพราะในยุคนั้น พลเมืองกว่าครึ่งโลกยังเป็นประเทศราชในความปกครองของคนผิวขาว ทำให้รู้สึกว่าประเทศเรานั้นอ่อนแอ มิได้ปรับปรุงให้เข้มแข็งและเป็นระเบียบอันดีงามเสมือนอารยประเทศทั้งหลาย เมื่อได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่ออิสระและเสรีภาพที่ประชาชนชาวยุโรปต่อสู้ เอาชีวิตเลือดเนื้อเข้าแลกรักษาสิทธิเสรีภาพ เขาจึงสามารถสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมั่นคง ที่เป็นกุญแจทองนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองและความมั่นคงสืบเนื่องกันมาหลายศตวรรษ ด้วยเหตุผลนานาประการดังได้กล่าวมาแล้วนี้ ประกอบกับเมื่อหวนคำนึงถึงสภาพความเสื่อมโทรมของบ้านเมืองในยุคนั้น จึงทำให้นักเรียนไทยผู้รักชาติที่อยู่ในยุโรป เฉพาะในประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมใจร่วมคิดด้วยเจตนาอันแรงกล้า ยอมเสี่ยงชีวิตคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น เพื่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติ”

บันทึกของพลโท ประยูร แสดงให้เห็นถึงรากของการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าล้วนเป็นผลมาจากความไร้ประสิทธิภาพของระบอบเก่า ความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขัดแย้งกับผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนสร้างรัฐสมัย และการขยายตัวของชนชั้นกลางอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ บริบทเศรษฐกิจโลกในขณะนั้น ที่อยู่ในช่วงตกต่ำภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมไปถึงกระแสปฏิวัติที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกทั้งในจีนและรัสเซีย เป็นตัวช่วยส่งให้ความไม่พอใจต่อระบอบนั้นกลายเป็นการปฏิวัติ ดังนั้น การเกิดขึ้นของคณะราษฎรคือพลวัตที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการล่มสลายของระบบอำนาจผูกขาดและรวมศูนย์ที่ไม่ฟังก์ชั่นอีกต่อไปแล้ว

ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่กล่าวมา กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เมื่อภาวะโลกสมัยใหม่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า มนุษย์จะถูกผลักดันให้เกิดสำนึกแบบใหม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การเข้าถึงองค์ความรู้แบบใหม่ การตระหนักถึงการกดขี่หรือระบอบที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น ระบอบที่เต็มไปด้วยการกีดกัน ปิดกั้น เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับไร้ซึ่งโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร อำนาจรัฐ หรือผลประโยชน์ต่างๆ  ย่อมต้องถูกท้าทายเข้าสักวันหนึ่ง แต่จะเกิดขึ้นในลักษณะใดและเร็วแค่ไหน ก็ขึ้นกับบริบทของสังคมนั้นๆ 

ในความเห็นของผู้เขียน คณะราษฎรไม่ใช่พวกชิงสุกก่อนห่าม และไม่ใช่ฮีโร่ประชาธิปไตย แต่เป็นสิ่งที่เหนือกว่านั้น นั่นคือสัญญะที่แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ ที่มักมีความเป็นขบถอยู่ในตัว และปัจจัยทางสังคมต่างๆ รวมถึงภาวะของโลกสมัยใหม่ ได้จุดประกายให้ความเป็นขบถเหล่านั้นถูกแสดงออกมาอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่พวกเขาถูกกดทับหรือถูกเอาเปรียบด้วยอะไรบางอย่าง

จาก “คณะราษฎร” ถึง “หยก” ในฐานะพลวัตทางสังคม

อย่างไรก็ดี เราต้องยอมรับว่า สมาชิกคณะราษฎรอาจไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ หรือตรงกับนิยามที่คนในยุคปัจจุบันคาดหวังทุกคน อย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เคยใช้ระบอบชาตินิยม ที่คล้ายคลึงกับลัทธิฟาสซิสต์ของนาซีเยอรมันปกครองไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อีกทั้งมรดกบางอย่างของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็สร้างปัญหาในเชิงวัฒธรรมจนถึงปัจจุบันด้วยซ้ำไป หรือนายควง อภัยวงศ์ ก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่ยืนหยัดยาวนานที่สุด (แม้จะเป็นสมาชิกที่ตกขอบที่สุด เพราะมาร่วมก่อนวันก่อการไม่กี่วัน แถมทำตามแผนไม่สำเร็จ) หรือหากเราได้มีโอกาสได้อ่านแนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ก็อาจเกิดความรู้สึกระแคะระคายกับบางแนวคิดของเขาที่อาจไม่ได้ทันสมัยไปเสียทั้งหมด เพราะแนวคิดของฝ่ายซ้ายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยตลอด แต่นั่นก็ไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องลดทอนคุณค่าของคณะราษฎร ขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรเทิดทูนบุคคลเหล่านี้ชนิดที่แตะต้องไม่ได้ แต่ควรมองด้วยมิติความเป็นพลวัตทางสังคมและภาวะโลกสมัยใหม่ ที่ส่งผลให้เกิดคณะราษฎรต่างหาก 

กระทั่งในปัจจุบันนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด คือกรณีของ “หยก” เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เนื่องจากแต่งกายและไว้ทรงผมผิดระเบียบ ก็เป็นหนึ่งในพลวัตทางสังคมแบบเดียวกับที่คณะราษฎรเคยเป็น ไม่ว่าแนวคิดของหยกจะเป็นอย่างไร หรือการกระทำของหยกจะเหมาะสมหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ควรถกเถียงกันต่อไป แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดในกรณีนี้คือ ปัญหาของระบบการศึกษาที่ฝังรากลึก ผ่านอำนาจนิยมในรั้วโรงเรียน จริยธรรมของสังคมไทยที่ไม่สอดรับกับภาวะโลกสมัยใหม่ที่กำลังเดินไปข้างหน้า และการ disrupt ของสังคมในยุคปัจจุบัน 

เพราะฉะนั้น การมีอยู่ของเด็กอย่างหยกที่ออกมาตั้งคำถามและท้าทายระบบโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น และมันไม่ใช่หน้าที่ของผู้เขียนที่จะต้องตัดสินการกระทำของหยกว่าถูกหรือผิด แต่เป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องถกเถียงและตกผลึกจากปรากฎการณ์นี้ รวมไปถึงแนวคิดและการแสดงออกของเยาวชนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว สังคมที่มีระบอบการเมืองดี ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน สังคมก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ในแบบที่มันควรจะเป็น 

อ้างอิง waymagazine / silpa-mag /

  • ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย, กุลลดา เกษบุญชู มี้ด
  • การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า