fbpx

“เผด็จการ คณาธิปไตย” โดยเล่าเรื่องผ่านอนิเมะ “เกิดใหม่เป็นสไลม์”

จากคำกล่าวอันโด่งดังของ “วินสตัน เชอร์ชิล” รัฐบุรุษชาวอังกฤษที่ว่า “ระบบประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่มันคือระบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” วาทกรรมที่มีชื่อเสียงนี้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปถึงการแสดงให้เห็นถึง ข้อดีของระบบการปกครองที่มีรากฐานมาจากเสียงของประชาชน ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นภาพจำของรูปแบบการปกครองที่ถูกมองว่า นี้คือสิ่งที่ดี แล้วถ้าถามว่าในทางกลับกัน ตรงข้ามกับสิ่งที่เลวน้อยที่สุดอย่างประชาธิปไตย อะไรคือสิ่งที่ถูกมองในแง่ลบ คนส่วนมากก็อาจจะนึกถึงรูปแบบการปกครองรูปแบบหนึ่ง นั้นก็คือระบบการปกครองที่เรียกว่า “เผด็จการ”

​“เผด็จการ” ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2554 หมายถึง “การใช้อํานาจบริหารเด็ดขาด เรียกลัทธิหรือแบบการปกครองที่ผู้นำคนเดียวหรือบุคคลกลุ่มเดียวใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการบริหารประเทศว่า ลัทธิเผด็จการ เรียกผู้ใช้อำนาจเช่นนั้นว่า ผู้เผด็จการ” ในภาพจำของคนส่วนมาก คำว่าเผด็จการ มักถูกมองในแง่ร้ายเป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารประเทศ เป็นรูปแบบการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยที่สุดและเสียผลประโยชน์มากที่สุด

ถึงแม้ ระบบการปกครองแบบเผด็จการ จะมีภาพจำที่ไม่ดีแต่ก็ใช่ว่าตัวรูปแบบการปกครองจะไม่มีจุดแข็งหรือข้อดีเลย ความเด็ดขาดและการรวมอำนาจตัดสินใจไว้ที่บุคคลเดียวหรือกลุ่มคนกลุ่มเดียว นำมาซึ่งความรวดเร็ว ในการตัดสินใจดำเนินงานใดๆของรัฐ โครงการต่างๆได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว ในสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งแตกต่างจากการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีจุดด้อยในเรื่องของความล่าช้าในการดำเนินกิจกรรมต่างๆซึ่งมีมากขั้นตอนกว่าที่จะสามารถดำเนินงานได้ ในครั้งนี้เราจะมามองข้อดีของการปกครองแบบเผด็จการ ผ่านการ์ตูนอนิเมะจากประเทศญี่ปุ่นเรื่องดังอย่าง Tensei shitara Slime Datta Ken หรือชื่อไทย เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว ว่าการปกครองแบบเผด็จการตามอุดมคตินั้นส่งผลดีได้มากแค่ไหน

“เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว” เป็นหนังสือไลต์โนเวล แต่งเรื่องโดย อ.ฟุเซะ และวาดภาพประกอบโดย Mitz Vah ได้ถูกดัดแปลงทำเป็นอนิเมะฉายทางโทรทัศน์ซีซั่นแรกในปี 2018 และสร้างซีซั่นต่อในปี 2021 นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวในฉบับโรงภาพยนตร์ และจะมีการฉายซีซั่น 3 ต่อในเดือนเมษายนปี 2024 

เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้วหรือ เกิดใหม่เป็นสไลม์ เป็นเรื่องราวของ มิคามิ ซาโตรุ ชายโสดใจดีวัย 37 ปี ตัวเขาได้สละชีวิตช่วยรุ่นน้องที่ทำงานจากการถูกทำร้าย เป็นเหตุให้เขาถูกแทงจนเสียชีวิต ก่อนจะสิ้นใจด้วยสาเหตุบางอย่าง ตัวเขากลับได้โอกาสในชีวิตที่สองได้ไปเกิดใหม่ที่ต่างโลก ทว่า ร่างที่ซาโตรุได้มาเกิดใหม่นั้น ไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นมอนสเตอร์ระดับล่างที่เรียกว่า “สไลม์”และชื่อของสไลม์ในโลกใหม่นั้นคือ ริมุรุ ในโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความแฟนตาซี

ชีวิตครั้งที่สองของสไลม์ริมุรุจึงออกเดินทางผจญภัยพบพานกับเหล่ามอนสเตอร์และผู้คนในสถานที่ใหม่ๆ จุดเด่นของ เกิดใหม่เป็นสไลม์ที่ทำให้ผู้ชมต่างชื่นชอบนั้นคือการดูพัฒนาการของริมุรุ มอนสเตอร์สไลม์ตัวเอกของเรื่อง จากตัวตนอ่อนแอที่เป็นเพียงสไลม์ มอนสเตอร์ที่มีลักษณะเหมือนเยลลี่ใสๆหนุ่มนิ่ม ว่าจะสามารถแข็งแกร่งขึ้นได้อย่างไรหรือการได้พบพานกับเพื่อนพ้องที่จะร่วมพัฒนาร่างไปพร้อมกับริมุรุ เอาชนะศัตรูที่เข้ามาท้าทายกลุ่มของริมุรุ ทว่าอีกสิ่งที่น่าสนไม่แพ้การเติบโตของตัวละคร คือการพัฒนาเมืองหรือประเทศของริมุรุ

ในเนื้อเรื่องเกิดใหม่เป็นสไลม์ ตัวเอกอย่างริมุรุมีโอกาสได้ขึ้นเป็นหัวหน้าหมู่บ้านของเหล่าอสูร ซึ่งเริ่มแรกเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆที่มีประชากรไม่มากนัก ระดับอารยธรรมก็ยังด้อยพัฒนาเหมือนเป็นเพียงกลุ่มชนเผ่า แต่จากการเข้ามาของริมุรุ ด้วยความสามารถและความรู้จากโลกเก่า ทำให้หมู่บ้านค่อยๆมีการพัฒนามากขึ้น

เหล่าอสูรเริ่มมีความรู้ มีวัฒนธรรม จากหมู่บ้านเล็กๆก็เริ่มมีผู้ที่ย้ายเข้ามาอาศัยใหม่เพิ่มขึ้น ยกระดับจากหมู่บ้านกลายเป็นเมือง อีกทั้งพอริมุรุสามารถปราบศัตรูได้ เหล่าศัตรูก็สวามิภักดิ์เป็นบริวารของริมุรุ จากเมืองสุดท้ายก็นำไปสู่การก่อตั้งประเทศที่ชื่อว่า “สหพันธ์จูร่าเทมเพสต์” ซึ่งเป็นการร่วมกันของอสูรชนิดต่างๆมาอาศัยอยู่ด้วยกันโดยมีผู้นำคือริมุรุ

ประเทศของเหล่าอสูรภายใต้การนำของริมุรุ พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น ด้านเทคโนโลยี  วิทยาการทางการทหาร ระบบสาธารณสุขหรือ วัฒนธรรมอาหารการกิน จนเปรียบได้ว่า สหพันธ์จูร่าเทมเพสต์เป็นเหมือนประเทศรีสอร์ท ที่ไม่ว่าใครต่างก็อยากจะมาท่องเที่ยวหรือร่วมทำการค้าด้วยเป็นประเทศเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก

แน่นอนว่าสำหรับผู้ชมย่อมต้องเชียร์กลุ่มหรือประเทศของริมุรุ เวลาที่มีศัตรูเข้ามาโจมตีประเทศสหพันธ์จูร่าเทมเพสต์ เนื่องจากถึงจะเป็นอสูรแต่ก็มีเป้าหมายที่ดี ริมุรุที่เคยเป็นมนุษย์มาก่อนอยากจะผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศของมนุษย์และสร้างโลกสงบสุขที่ไม่ว่าใครต่างก็มีรอยยิ้ม

แต่ถ้ามองในมุมการปกครองบ้านเมือง  หากตัดเรื่องที่ริมุรุเป็นตัวเอกของเรื่องที่มีนิสัยใจดี อ่อนโยนเป็นมิตร การปกครองของริมุรุก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการปกครองรูปแบบ เผด็จการคณาธิปไตย ที่อำนาจการตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ริมุรุซึ่งเป็นผู้นำ อีกทั้งไม่ว่าจะเป็น อำนาจบริหาร อำนาจศาล และ อำนาจนิติบัญญัติ ต่างก็ถูกควบคุมโดยกลุ่มบุคคลที่เป็นคนสนิทของริมุรุที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา

แน่นอนว่าภายในเรื่อง กลุ่มตัวละครเหล่านี้เป็นตัวละครฝ่ายดีที่คิดถึงประชาชนและความก้าวหน้าของประเทศ แต่การปกครองที่มีลักษณะพีระมิด ที่อำนาจส่วนใหญ่ถูกควบคุมในกลุ่มคนไม่กี่คน ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอาจจะไม่ได้มีสิทธิ์เสียงในการออกความคิดเห็นในแนวทางของประเทศและปล่อยให้ผู้นำอย่างริมุรุเป็นผู้ตัดสินใจแทนทั้งหมด หากดูแบบนี้แล้วก็อาจจะเรียกได้ว่า ประเทศสหพันธ์จูร่าเทมเพสต์ ไม่ใช่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

แต่ถึงจะไม่ใช่ประชาธิปไตย ประเทศก็ยังพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด อาจจะเรียกได้ว่าการปกครองของริมุรุสามารถดึงจุดแข็งของการปกครองแบบร่วมศูนย์อำนาจนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ความรวดเร็วในการดำเนินงาน ความเด็ดขาดในการออกคำสั่งและการเชื่อฟังของผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้การบริหารประเทศเรียบร้อยไร้ปัญหาติดขัด ซึ่งหากวิเคราะห์เหตุผลว่าอะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้การปกครองริมุรุประสบความสำเร็จก็จะได้ออกมา 3 ข้อ

1. ผู้นำที่เพรียบพร้อมทั้งจิตใจและความสามารถ การปกครองแบบเผด็จการหัวใจสำคัญนั้นคือผู้นำที่อยู่จุดสูงของอำนาจ แน่นอนริมุรุที่เป็นตัวเอก เป็นตัวละครที่มีลักษณะจิตใจดี เปิดกว้างกับสิ่งใหม่และพร้อมจะแบ่งปันผลประโยชน์ต่างๆหากมันทำให้ทุกฝ่ายมีความสุข 

ถึงแม้จะเป็นผู้นำสูงสุดแต่ก็ไม่ถือตัวทำให้ผู้คนต่างก็เคารพและรักในตัวริมุรุ แน่นอนว่าแค่เป็นคนดีเพียงอย่างเดียวไม่อาจปกครองบ้านเมืองให้ดีได้ ซึ่งปัญหาเรื่องความสามรถ ริมุรุก็สามารถแก้ได้ด้วย สกิล”มหาปราชญ์”

โดยสกิลมหาปราชญ์นี้เป็นสกิลที่มีอัตตาความนึกคิดเป็นของตัวเอง โดยจะปรากฏเป็นเสียงในหัวของริมุรุ คอยให้คำแนะนำ วิเคราะห์สถานการณ์ให้แก่ริมุรุ โดยความสามรถนี้ไม่ได้จำกัดเพียงใช้ในการต่อสู้เพียงเท่านั้น สกิลมหาปราชญ์ยังช่วยในการบริหารบ้านเมืองด้วย การวิเคราะห์หาทางออกที่ดีที่สุดในการบริหาร การแนะนำวิธีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ หรือ การหาวิธีทำให้ความคิดเพ้อฝันของริมุรุสามารถนำปฏิบัติได้จริง

ด้วยจิตใจที่ดีกับสกิลพิเศษนี้ ทำให้ริมุรุกลายเป็นผู้นำในอุดมคติที่ทั้งเก่งและมีคุณธรรม

2. ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี แน่นอนไม่ว่าการปกครองแบบไหนก็ไม่อาจมีเพียงผู้นำเพียงคนเดียว จำเป็นจะต้องมีผู้ช่วยในการบริหารเรื่องต่างๆ

เพราะการปกครองประเทศย่อมมีเรื่องที่ต้องทำเป็นจำนวนมาก ซึ่งในบางครั้งต่อให้ผู้นำจะสมบูรณ์แบบมากแค่ไหน ปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นได้จากผู้ตาม ไม่ว่าจะเป็นจากการขาดความสามารถ  การละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ การฉ้อโกงหรือ การคอรัปชั่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศของริมุรุ

เพราะว่าในโลกของเกิดใหม่เป็นสไลม์นั้นอสูรไม่สามารถขัดเจตจำนงของผู้เป็นนายได้ โดยจะมีการอธิบายไว้ว่า อสูรหรือมอนสเตอร์จะยอมปฏิบัติตามเชื่อฟังผู้ที่แข็งแกร่งกว่า ยิ่งไปกว่านั้น เหล่าพวกพ้องของริมุรุต่างก็อยู่ใต้พันธะกับริมุรุแทบทั้งสิ้น

ทำให้ไม่ว่าริมุรุจะออกคำสั่งแบบใดมาทุกคนในประเทศต่างก็พร้อมจะปฏิบัติตาม ถึงแม้ในบางครั้งจะไม่เข้าใจหรือเห็นด้วยในคำสั่งที่ว่าแต่ทุกคนต่างก็เชื่อฟังและพร้อมจะทำตามอย่างไม่แตกแถว

3. ผู้นำไม่มีวันเปลี่ยนคน ในรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ที่บุคคลหนึ่ง ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องประสบปัญหาจากการเปลี่ยนตัวผู้นำ

เพราะไม่ว่าผู้นำคนนั้นจะเป็นคนที่เพียบพร้อมมากแค่ไหน ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องอายุขัยและไม่มีใครรับประกันได้ว่าผู้นำคนใหม่ที่จะขึ้นมาแทนผู้นำคนเก่าจะเป็นคนที่ดีเหมือนผู้นำคนก่อน

แต่สำหรับริมุรุเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะริมุรุที่เป็นสไลม์นั้น หลังผ่านการต่อสู้และวิวัฒนาการร่างจนอายุขับแทบจะเป็นนิรันดร์หรืออาจจะเรียกได้ว่าไม่มีอายุขัย ทำให้ไม่มีทางที่จะเกิดการเปลี่ยนตัวผู้นำได้ ยุคสมัยแห่งความสงบภายใต้ผู้นำที่มากความสามรถจะดำรงตลอดไปนานเท่านาน

ซึ่งเงื่อนไข 3 ข้อนี้เป็นจุดที่ทำให้การปกครองแบบเผด็จการคณาธิปไตยของริมุรุนั้น เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และอาจเรียกได้ว่าเป็นภาพในอุดมคติของการปกครองแบบร่วมศูนย์อำนาจ แต่หากนำมาลองเปรียบเทียบกับโลกความเป็นจริงแล้ว ก็จะเข้าใจได้ในทันทีว่า การจะหาสถานการณ์หรือเงื่อนไขให้ได้อย่างประเทศของริมุรุนั้น เป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้

บางครั้งผู้นำอาจจะดีแต่ก็มีบริวารที่แย่ หรือ มีคนเก่งคนดีอยู่มากมายแต่กลับมีผู้นำบ้าอำจาจที่ปกครองบ้านเมืองอย่างโหดร้าย หรือต่อให้จะมีทั้งผู้นำที่ดีและผู้ตามที่ดี เวลาก็จะพรากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งก็ไม่มีใครพูดได้ว่า ผู้นำคนใหม่จะดีหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ การปกครองแบบเผด็จการจึงยากที่จะประสบความสำเร็จได้ในโลกของความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริงก็ยังมีหลายๆประเทศที่ถึงแม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็ยังสามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้ 

ประเทศตัวอย่างที่อยู่ใกล้ประเทศไทยอย่างสิงค์โปร์ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการปกครองรูปแบบอื่นนอกเหนือประชาธิปไตย

แต่อย่างไรเสียประเทศส่วนมากที่พัฒนาแล้วก็ล้วนแล้วแต่มีรูปการปกครองที่ให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของประเทศ เพราะหากไม่มีประชาชนก็ไม่อาจเกิดเป็นประเทศได้ ฉนั้นจากคำกล่าวของ วินสตัน เชอร์ชิล ที่ว่า “ระบบประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่มันคือระบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” ก็อาจจะเรียกได้เป็นความจริงที่สุดในเวลานี้ก็เป็นได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า