fbpx

“เครียด-ซึมเศร้า-หมดไฟ” มีปัญหาสุขภาพใจ ควรแจ้งก่อนเริ่มงานใหม่หรือไม่?

“เป็นซึมเศร้าควรบอกที่ทำงานไหม”
“รู้สึกหมดไฟจะบอกหัวหน้ายังไงดี”
“ลาไปพบจิตแพทย์ต้องแจ้ง HR ว่าอะไร”

แม้ว่าปัจจุบันสังคมจะเปิดกว้างเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น หลายสื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ในมิติต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนัก ลดความตระหนก รวมถึงแนวทางการดูแลจิตใจผู้คนทุกระดับ แต่ทำไมเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะพูดอย่างเปิดกว้างในที่ทำงาน บางคนเกิดความลังเลที่จะรับความช่วยเหลือ ไม่กล้าแม้แต่จะบอกที่ทำงานว่าตัวเองกำลังมีปัญหาสุขภาพใจ 

หากมองไปยังเส้นทางการทำงานของคนคนหนึ่ง—สัมภาษณ์ เริ่มงาน ทำงาน และลาออก เมื่อลองตั้งคำถามว่าช่วงไหนกันที่เรากล้าเปิดใจคุยกันเรื่องสุขภาพจิตมากที่สุด หลายคนก็คงจะมีคำตอบในใจว่า ‘ทำงาน-ลาออก’ เพราะการทำงานไปสักระยะเราก็พอจะมีเพื่อนร่วมงานสักคนที่รับฟังเรื่องราวของเราได้เต็มสูบ 

ในขณะที่ขั้นตอนของการ ‘สัมภาษณ์-เริ่มงาน’ ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดหรือถามเรื่องสุขภาพจิต หรือแม้กระทั่งบางบริษัทก็ยึดถือเป็นกฎเหล็กเลยว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้สมัคร สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงถูกหยิบมาพูดถึงตอนสัมภาษณ์งานไม่ได้ หากเรามีปัญหาสุขภาพจิตควรแจ้งไว้ก่อนหรือไม่ และองค์กรที่ปลอดภัยต่อจิตใจคนทำงานควรเป็นแบบไหนกัน

เรื่องสุขภาพใจ มองไม่เห็นด้วยตา

ห้วงเวลาของความตื่นเต้นเริ่มขึ้นนับตั้งแต่การถูกเรียกสัมภาษณ์งาน ตำราไหนว่าเด็ด เคล็ดลับไหนว่าปัง ก็ต้องเตรียมตัวกันอย่างหนักเลยทีเดียว เพราะเหนือกว่าการได้รู้จักกันระหว่างบริษัทกับผู้สมัคร การสัมภาษณ์งานยังเป็นช่วงชี้ชะตาในการเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมมาร่วมงานด้วย

แพทเทิร์นสุดคลาสสิกของการสัมภาษณ์งานมักจะเปิดด้วย ‘ช่วยแนะนำตัวเองให้ฟังหน่อย’ ตามมาด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับประสบการณ์ ทักษะ ความรู้ ทัศนคติ และอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสุขภาพจิต

‘ภาณุมาศ ไหมซ้อน’ เจ้าหน้าที่ค่าตอบแทนและสวัสดิการบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้แบ่งปันประสบการณ์ขณะที่เป็นผู้สัมภาษณ์งาน เขามองว่าเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้สมัคร โดยที่ฝ่ายบุคคลไม่สามารถถามเรื่องสุขภาพจิตกับผู้สมัครในเชิงลึกได้

“การที่พนักงานคนหนึ่งมาสัมภาษณ์งานกับเรา เราจะพิจารณาว่าเขาสามารถอยู่กับองค์กรได้มั้ย สามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรเราได้หรือเปล่า สำหรับปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตเราจะมีแค่การคัดกรองเบื้องต้น เช่น คุณมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพทางจิตไหม แต่เราจะไม่ได้ถามกันในเชิงลึกว่า เป็นอะไร เกิดเมื่อไร เพราะอะไร และทำไม ซึ่งพี่มองว่าปัญหาสุขภาพจิตมันเป็นปัญหาภายในใจ เราจะไม่มีทางรู้หรอกว่าคนนี้มีปัญหาอะไรจนกว่าเขาต้องมาทำงานกับเราสักระยะหนึ่ง”

มีปัญหาทางจิต = ปิดกั้นโอกาส

การตีตราผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตยังคงเกิดขึ้นเรื่อยมาในสังคมไทย อีกมุมหนึ่งจึงมองว่าการถามเรื่องสุขภาพจิตของผู้สมัครงานอาจนำไปสู่การถูกกีดกันโอกาสในการทำงานก็เป็นได้

‘พญ.อุบลพรรณ วีระโจง’ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า น้อยคนที่จะบอกว่าตัวเองมีความผิดปกติกับคนที่ไม่ได้ไว้ใจ ยิ่งหากเป็นผู้สมัครงานแล้วบอกที่ทำงานว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เราก็ไม่สามารถรู้ว่าฝ่ายบุคคลจะช่วยเหลือหรือกากบาทหัวไว้ว่าไม่รับเข้าทำงาน ซึ่งอาจเป็นการตีตราตัดสินผู้สมัครทั้งที่ยังไม่รู้จักกัน

ทั้งนี้ทางด้านกฎหมาย กฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค ปี 2566 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นคือตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2566 นี้ ในประกาศบอกว่า โรคตามมาตรา 36 ข. (2) ประกอบด้วย 1. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 2. โรคติดยาเสพติดให้โทษ 3. โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 4. โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่

จากแนวทางปฏิบัติสำหรับโรคทางจิตจะเป็นการประเมินโรคเรื้อรังทางจิตที่เด่นชัดรุนแรง เป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างชัดเจน หากไม่ปรากฎ ก็ไม่มีปัญหาอะไรในการทำงาน ทั้งนี้ในมุมของนายจ้างที่รู้สึกกลัวว่าความเครียด ความกดดัน และสภาพแวดล้อมจะกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจ การถามเรื่องสุขภาพจิตก่อนทำงานก็อาจจะเป็นแนวทางที่ช่วย ‘กันไว้ก่อนแก้’

“ถึงอย่างนั้น การถามเรื่องสุขภาพจิตตอนสัมภาษณ์งานเป็นเหมือนดาบสองคม หากฝ่ายบุคคลกรอกข้อมูลว่าผู้สมัครมีสุขภาพจิตปกติ แล้วดันมีปัญหาขึ้นระหว่างการทำงาน อาจเกิดคำถามขึ้นได้ว่า ความผิดปกตินี้ เพิ่งเกิดขึ้นตอนทำงานหรือก่อนทำงานกันแน่ หากเกิดขึ้นก่อนทำงาน ความผิดก็อาจตกไปอยู่ที่ฝ่ายบุคคลที่คัดกรองไม่ดี ฉะนั้นการคัดกรองหรือทำแบบสอบถามสุขภาพจิตก่อนเข้าทำงาน ไม่สามารถการันตีได้ว่าคนคนหนึ่งมีสุขภาพจิตปกติหรือไม่ปกติ เพราะ ณ ขณะนั้นอาจตรวจหาความผิดปกติไม่เจอก็ได้” พญ.อุบลพรรณ กล่าวเสริม

จะเป็นไรไหม? ถ้าเริ่มงานใหม่แต่ใจไม่พร้อม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องสุขภาพจิตของคนทำงานที่เกิดขึ้น ผลพวงมาจากความเครียดสะสมในการทำงาน ตามข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เดือนมกราคมที่ผ่านมา พบวัยแรงงานอายุ 20 – 59 ปี ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงอันดับ 1 กว่า 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย 

 ในขณะที่ไฟการทำงานค่อยๆ มอดลงจนนำไปสู่การลาออกในที่สุด หลายคนก็มองหาโอกาสที่ดีกว่าด้วยการสมัครงานใหม่ เพื่อหลีกหนีความเจ็บปวดบางอย่างจากงานที่เก่า 

ภาณุมาศมองว่า สาเหตุการลาออกของผู้สมัครที่เกิดจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน ไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับการลาออกเพราะหมดไฟจากการทำงาน เพราะงานที่ใหม่อาจไม่ได้ตอบโจทย์ทุกด้าน

“บางคนเขาทำงานในตำแหน่ง officer แต่งานที่รับผิดชอบเยอะเท่ากับระดับหัวหน้า พอไม่ได้รับการโปรโมตขึ้น เขาก็จะรู้สึกว่าหมดไฟไม่อยากทำงานต่อ ก็เลยมองหาที่ใหม่เผื่อตัวเองจะได้รับการโปรโมต ซึ่งงานที่ใหม่อาจจะตอบโจทย์เรื่องเงิน แต่ถ้าเขายังทำงานในตำแหน่งเดิม ไม่มีอะไรต่างจากที่เก่าเลย เขาก็ไม่รู้จะทำไปทำไม มันก็หมดไฟอยู่ดี”

“ในมุมของฝ่ายบุคคลเราทำได้แค่คัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น แต่แนวทางปฏิบัติจะเป็นเรื่องของหัวหน้าว่าจะสร้างความท้าทายให้เขายังไง สมมติเป็นพนักงานขาย ความท้าทายของเขาคือค่าคอมมิชชั่น ก็ต้องมีการตกลงกันว่าคุณต้องขายได้เท่านี้ แล้วจะได้ค่าคอมมิชชั่นที่เยอะขึ้นตามยอดขาย หรือ ขายได้เท่านี้ติดต่อกัน 3 เดือน ผมจะปรับคุณให้เป็นหัวหน้าฝ่ายขาย ซึ่งฝ่ายบุคคลก็จะทำหน้าที่ซัพพอร์ตเรื่องของเอกสาร แต่ในรูปแบบการทำงานก็ต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้าของพนักงานคนนั้น”

อย่างไรก็ตาม ทุกการเปลี่ยนงานใหม่ สิ่งแรกที่ควรคำนึงก็คือการเช็กสุขภาพใจว่าพร้อมแค่ไหน หากลาออกแล้วเจอปัญหาไม่ต่างจากงานเดิมหรือแย่กว่าเดิม ก็คงเหมือนหนีเสือปะจระเข้ และไฟที่ดับสนิทก็คงยากที่จะจุดติดให้ลุกโชนอีกครั้ง

สุขภาพใจในที่ทำงานเปิดกว้างได้แค่ไหนกัน

เมื่อเรื่องสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่อยู่ภายในใจ ไม่มีบาดแผลทางร่างกายที่ชัดเจน อีกทั้งการเป็นผู้ใหญ่ทำให้หลายคนปกปิดปัญหาใจ บ้างก็ฝืนทำงานแม้ในวันที่ป่วย บ้างก็แอบไปพบจิตแพทย์ คำถามนี้จึงถูกยกขึ้นมาระหว่างสนทนากับภาณุมาศ ถึงช่องว่างที่ทำให้พนักงานไม่เปิดใจที่จะพูดเรื่องสุขภาพจิต  

“พนักงานไม่ยอมเปิดใจที่จะพูดเรื่องสุขภาพจิตเพราะเขากลัวว่าฝ่ายบุคคลจะนำเรื่องเขาไปบอกกับหัวหน้าหรือผู้บริหาร เพราะมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวงานและหัวหน้าโดยตรง ต่อให้เราจะบอกเขาว่า คุณมีปัญหาอะไรพูดได้นะ พี่เชื่อว่า 80% ไม่กล้าพูดเรื่องนี้

เรามีระบบที่เรียก Exit Interview ก่อนที่พนักงานตัดสินใจลาออกให้มาคุยกับทางฝ่ายบุคคลก่อน แต่ก็มีพนักงานไม่ถึง 50% ที่จะมาคุยกับเรา แล้วสถิติของคนลาออกส่วนใหญ่ เขามักจะเขียนว่าได้งานใหม่ ไปประกอบธุรกิจส่วน ไปอยู่ต่างจังหวัด แต่ไม่มีใครเขียนหรอกว่าระบบงานบริษัทมีปัญหา เขาก็ไม่ได้บอกว่า เขามีปัญหากับหัวหน้างาน เขามีปัญหาเรื่องงาน เขามีปัญหาเรื่องเงินเดือน หรือเขามีปัญหาเรื่องสวัสดิการ”

ภาณุมาศ มองว่าการแก้ไขปัญหานี้จะเกิดขึ้นได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารด้วยว่ามีวิสัยทัศน์ในการที่จะสร้างนโยบายสนับสนุนพนักงานให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอย่างไร ทั้งในเรื่องของผลตอบแทน รูปแบบการทำงาน รวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ

สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนกล้าเล่าปัญหาใจตัวเอง

พญ.อุบลพรรณ ให้ความเห็นว่า การเสริมภูมิคุ้มกันให้ทุกคนในที่ทำงานมีจิตใจที่แข็งแรง ต้องเริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ให้พนักงานกล้าบอก กล้าเล่า ปัญหาใจของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องมีคนที่คอยรับฟังและคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของคนทำงานด้วย

“เราจะรู้ว่าคนคนหนึ่งมีความผิดปกติ เราต้องรู้ก่อนว่าโดยปกติเขาเป็นยังไง ซึ่งศิลปะของการใส่ใจกันและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตคนได้มาก เพียงแค่เราถามว่า มีอะไรอยากเล่าไหม เราก็อาจจะหยุดเรื่องร้ายๆ ได้ทีเดียว”

“หากเกิดวิกฤตในชีวิตของพนักงาน เช่น การสูญเสีย การเปลี่ยนแปลง ความเศร้า หรือความเครียด พนักงานสามารถเล่าและขอความช่วยเหลือจากใครในที่ทำงานได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการพยุงหรือเป็นเบาะรองนุ่มๆ ให้กับพนักงานเมื่อล้ม และเป็นแนวทางที่ดีกว่าการถามพนักงานก่อนเข้าทำงานว่ามีปัญหาสุขภาพไหม หากพนักงานตอบว่าไม่ แล้วก็ปล่อยผ่าน”

“อย่างไรก็ดี ทางด้านพนักงานสามารถทำแบบทดสอบทางสุขภาพจิตตัวเองได้ หรือหากต้องการความช่วยเหลือก็สามารถไปที่ศูนย์รับบริการสุขภาพจิตใกล้บ้านหรือทางออนไลน์ก็ได้เช่นกัน แต่ที่สำคัญต้องจริงใจกับความรู้สึกของตัวเองให้มาก”

“เราทำงานในที่ทำงานเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิต การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีเพื่อนร่วมงานที่เป็นมิตร ช่วยให้ชีวิตมีความสุขและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลดีกับทุกคน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง” พญ.อุบลพรรณกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ The Modernist แนบแบบประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกคนได้มาลองสำรวจสุขภาพใจตัวเองไปพร้อมกันที่นี่เลย MENTAL HEALTH CHECK-IN 

ที่มา : prachachat / ooca / thaihealth / checkin.dmh

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า