fbpx

Sexual Consent: เส้นบางๆ ระหว่าง “ความยินยอมพร้อมใจ” กับ “การคุกคามทางเพศ”

ประเด็นฮอตฮิตติดเทรนด์ X ในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “สส.ปูอัดไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์” แห่งพรรคก้าวไกล หลังมีผู้เสียหาย 3 คน เข้าร้องเรียนกับพรรคว่าถูก สส. คนดังกล่าว “คุกคามทางเพศ” จนพรรคก้าวไกลมีมติโหวตให้ขับออกจากพรรค แต่เสียงในที่ประชุมไม่ถึง 3 ใน 4 ไม่สามารถขับออกได้ จึงให้ตัดสิทธิ์และคาดโทษไว้ ทว่าดราม่ายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเพื่อน สส. ในพรรคต่างออกมาแสดงความไม่พอใจต่อผลการลงมติที่เกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องให้ สส.ปูอัด ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่ชาวเน็ตก็นั่งรถทัวร์ไปจอดที่พรรคก้าวไกลกันอย่างล้นหลาม 

ประเด็นร้อนของพรรคส้มทำให้คำว่า “Consent” ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอีกครั้งในโลกโซเชียล แต่ยังคงมีความไม่เข้าใจและคลาดเคลื่อนอยู่มาก The Modernist ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่อง Consent หรือ ความยินยอมพร้อมใจ ประเด็นละเอียดอ่อนที่มีรากเหง้าจาก “ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่” ที่ทุกคนต้องช่วยกันถอนรากถอนโคน

Consent คืออะไร

Consent หรือ Sexual Consent คือ ความยินยอมพร้อมใจและความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์อย่างมั่นใจและปราศจากความกดดัน อาจพูดได้ว่าความยินยอมพร้อมใจคือ “สิ่งเดียว” ที่จะต้องอยู่ในสถานการณ์ทางเพศทุกครั้ง ทุกรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายเสมอ แต่เมื่อใดที่ไปถึงจุดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดไม่มั่นใจ อีกฝ่ายต้องหยุดทันที เพราะหากไม่หยุด มันจะนำไปสู่การคุกคาม ล่วงละเมิด หรือข่มขืนทันที 

แน่นอนว่าการให้คำนิยามเรื่องความยินยอมพร้อมใจ ออกมาเป็นข้อความหรือคำพูด อาจทำได้ง่ายกว่าการปฏิบัติ เพราะเมื่อตกอยู่ในวินาทีแห่ง “ความต้องการ” หรือกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม คงไม่มีใครอยากเอ่ยปากสื่อสารสอบถามความยินยอมพร้อมใจกันตอนนั้น แต่ความยินยอมพร้อมใจเปลี่ยนแปลงได้ แม้อยู่ในระหว่างกิจกรรมเข้าจังหวะก็ตาม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องคอยตรวจสอบกันอยู่เสมอว่ายังโอเคไหมกับกิจกรรมทางเพศที่กำลังเกิดขึ้น ถ้าโอเค ก็สนุกไปด้วยกันจนเสร็จ แต่ถ้าไม่ ก็ต้องรู้จักหยุดและเคารพความไม่ยินยอมนั้น ก่อนที่มันจะนำไปสู่การคุกคามทางเพศที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

 “ยินยอม” VS “คุกคามทางเพศ”

มีเส้นบางๆ ที่แบ่ง “ความยินยอมพร้อมใจ” ออกจาก “การคุกคามทางเพศ” นั่นคือเส้น “ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจ (capacity)” หนังสือเรื่อง CONSENT เพศศึกษากติกาใหม่ อธิบายว่า การตอบตกลงไม่ใช่การตอบตกลงจริงๆ หากผู้พูดไม่สามารถให้ความยินยอมได้อย่างแท้จริง ซึ่งการที่ใครคนหนึ่งจะสามารถให้ความยินยอมที่แท้จริงได้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ปัจจัย ได้แก่ อายุ ความสามารถ แอลกอฮอล์/สารเสพติด และอำนาจ

ก่อนปฏิบัติการทางเพศทุกครั้งจึงจำเป็นต้องพิจารณาอายุของอีกฝ่ายเสมอ เพราะในแง่ของกฎหมายแล้ว เด็กไม่สามารถให้ความยินยอมการกระทำทางเพศกับผู้ใหญ่ได้ เช่นเดียวกับปัจจัยเรื่องความสามารถทางสติปัญญาของอีกฝ่าย ที่หากไม่ตรวจสอบให้แน่ชัด ก็อาจจะส่งผลกระทบที่รุนแรงในภายหลังกับตัวเองได้ 

หลายครั้งที่เวลามีกรณีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่มักถามว่า “เมาหรือเปล่า” แต่ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเมาหรือไม่ ก็ไม่สมควรถูกคุกคาม เพราะอาการเมาไม่เท่ากับการยินยอมพร้อมใจที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายล่วงละเมิด หาก Consent คือหลักการที่คุณยึดถือก่อนปฏิบัติการทางเพศ ก็จงจดจำเอาไว้ว่า การเมาหมดสติหรือไม่รู้สึกตัวเพราะแอลกอฮอล์ไม่สามารถให้ความยินยอมต่อการกระทำทางเพศได้ แม้คนๆ นั้นจะเคยยินยอมก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าครั้งนี้เขาจะยินยอม

นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องอายุ ความสามารถ และแอกอฮอล์แล้ว ปัจจัยเรื่อง “อำนาจ” ก็เป็นสิ่งสำคัญของเรื่องการให้ความยินยอม เพราะมันมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดพลวัตของอำนาจที่ “ไม่เท่ากัน” ของสองฝ่าย ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน หรือการเงิน โดยอีกฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่าอาจรู้สึก “กดดัน” ให้ต้องยินยอม ซึ่งปฏิบัติการทางเพศที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความยินยอมที่แท้จริง แต่เป็นการบีบบังคับขืนใจของคนที่มีอำนาจเหนือกว่า

“ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่” ที่ฝังรากลึก

ประเด็นการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นทุกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดความเข้าใจเรื่อง Consent อยู่มาก ขณะเดียวกันก็สะท้อน “ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่” ด้วยความเชื่อของสังคมที่ว่าผู้ชายต้องเป็น “คนรุก” จะมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องเป็นคนเริ่ม สังคมพร่ำสอนให้ผู้ชายเชื่อว่าตัวเองต้องเป็นผู้นำในการปฏิบัติการทางเพศ แต่กลับไม่สอนให้รู้จักสังเกตและต้องรอผู้หญิงเสมอ เช่นเดียวกันกับผู้หญิงที่อยู่ใต้แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่เช่นเดียวกัน ผู้หญิงถูกสอนว่าไม่สามารถแสดงออกความต้องการทางเพศของตัวเองได้อย่างเปิดเผยชัดเจน แต่ผู้หญิงต้องอ่อนโยนและประนีประนอม ซึ่งนั่นเป็นการเปิดช่องให้การบอกปฏิเสธเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น แนวคิดชายเป็นใหญ่ยังแผ่อิทธิพลสู่พื้นที่ทางกฎหมายอีกด้วย โดยประเทศไทยเคยมีคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกรณีการคุกคามทางเพศว่าด้วย “การอิดออดตามวิสัยหญิง” หรือผู้หญิงมีความอับอายว่าถ้าไปมีเพศสัมพันธ์กับใครจะกลายเป็นผู้หญิงไม่ดี จึงต้องทำท่าทางปัดป้องเป็นพิธีแล้วค่อยยินยอม ซึ่งส่งผลต่อการตีความกฎหมายที่ระบุว่า หากผู้หญิงไม่ยินยอม ก็ต้องปฏิเสธชัดเจน ต้องต่อสู้ดิ้นรน แต่ถ้าพูดว่าไม่ แล้วไม่ได้ขัดขืน กฎหมายก็จะไม่มองว่าเป็นการคุกคามทางเพศ แม้จะมีเรื่องของอำนาจหรือปัจจัยอื่นๆ ที่กดดันให้ผู้หญิงต้องยินยอมกับปฏิบัติการทางเพศที่เกิดขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้ การสร้างภาพ “รักโรแมนติก” ในสื่อก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประเด็นเรื่องความยินยอมพร้อมใจไม่ถูกพูดถึงอย่างชัดเจน เพราะการสร้างสถานการณ์ของตัวละครที่กำลังจะมีอะไรกัน โดยให้ “บรรยากาศพาไป” แต่ไร้ซึ่งการพูดคุยและสอบถามถึงความต้องการของอีกฝ่าย ก็ทำให้คนในสังคมเกิดภาพจำผิดๆ ต่อความสัมพันธ์แบบคนรักได้เหมือนกัน 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การสื่อสาร”

แม้เรื่องอย่างว่าจะเป็นความต้องการของร่างกายเป็นส่วนใหญ่ แต่การขอความยินยอมพร้อมใจเป็น “การสื่อสารด้วยปาก” ที่เชื่อเถอะว่าถึงแม้คุณจะเป็นคนอ่านภาษากายของคนอื่นได้เก่งกาจแค่ไหน ก็ไม่แม่นยำเท่ากับกับการเอ่ยปากสอบถามหรือขอความยินยอมก่อนจะไปต่อ รวมไปถึงการสื่อสารความต้องการของกันและกัน และการเปิดอกพูดคุยกันอย่างเปิดเผยว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรในปฏิบัติการทางเพศของคนสองคน (หรือมากกว่านั้น)

ถ้าทุกอย่างใช่ หัวใจของสองคนต้องการแบบนั้น ก็จับมือกันขึ้นสวรรค์ชั้นเจ็ดได้เลย แต่ถ้าอีกฝ่ายบอกไม่ ก็ต้องรับฟังและเคารพคำตอบของอีกฝ่ายเสมอ โดยไม่ต้องรู้สึกโกรธหรือขุ่นเคือง แน่นอนว่าคำปฏิเสธมันเจ็บปวด เหมือนกับถูกทิ้งเอาไว้กลางทาง และอาจจะทำให้ผู้ถูกปฏิเสธรู้สึกเสียหน้า ผิดหวัง หรือไม่พอใจ แต่การบีบบังคับใช้กำลังให้อีกฝ่ายยินยอม (หรือไม่ยินยอม) มีอะไรกับตัวเอง หรือฉวยโอกาสตอนที่อีกฝ่ายไม่มีสติ ก็อาจจะทำให้คุณกลายเป็น “คนเลว” ในสายตาคนอื่นไปอีกนานแสนนาน ดังนั้น อยากจะแลกความ “เลี่ยนงุ่น” ชั่วคราวกับชื่อเสียงที่ตัวเองสั่งสมมาตลอดชีวิตหรือไม่ ก็ลองชั่งน้ำหนักดูแล้วกัน

และสุดท้าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเพศถูกยึดโยงอยู่กับระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่มาอย่างยาวนาน กลายเป็นแนวคิดที่ฝังรากลึกอยู่ในสามัญสำนึกของคนในสังคม การถอนรากถอนโคนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การตระหนักรู้และช่วยกันเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้สังคมนี้กลายเป็นสังคมที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศมากขึ้น และไม่เป็นสังคมที่ให้อำนาจกับคนเพศหนึ่งเหนือคนอีกเพศหนึ่งอีกต่อไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีใครภายใต้ระบบแนวคิดนี้ที่จะไม่กลายเป็นเหยื่อของมันหรอก… แน่นอนว่าต้องใช้เวลา แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำไม่ได้ จริงไหม?

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า