fbpx

SAVEอโยธยา : ไม่ได้คัดค้านรถไฟ แต่อยากให้ใส่ใจพื้นที่ประวัติศาสตร์

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน เมกะโปรเจ็กต์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเหมือนกับจะเจอเข้ากับตอปัญหาใหญ่ จากกรณีที่เส้นทางผ่านในตัว อ. เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา นั้นอาจส่งผลให้ “เมืองมรดกโลก พระนครศรีอยุธยา” ถูกถอดถอนจากการเป็นเมืองมรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO) รวมถึงโครงการก่อสร้างทางรถไฟอาจจะทำลายโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ยังไม่มีการขุดค้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟภายในพื้นที่ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นพื้นที่ของเมืองโบราณ ที่เชื่อกันว่าคือ “เมืองอโยธยา”

เมื่อทราบว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะสร้างผ่านพื้นที่ของเมืองโบราณดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีกลุ่มบุคคลออกมาเคลื่อนไหวในนาม “Saveอโยธยา” โดยขอให้รัฐบาลและการรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาย้ายเส้นทางออกไปจากเมืองโบราณแห่งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองอโยธยา รวมถึงเมืองมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาที่อาจจะถูกถอดถอนออกไปได้จากการสร้างรถไฟความเร็วสูง

THE MODERNIST ได้สัมภาษณ์ ภานุพงศ์ ศานติวัตร นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวแทนจากกลุ่ม “Saveอโยธยา” ถึงมุมมองและเหตุผลของการเรียกร้องให้เบี่ยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงออกจากพื้นที่เมืองอโยธยา รวมถึงการตอบข้อโต้แย้งในโลก Social Media ในประเด็นของกรณีเมืองมรดกโลก พระนครศรีอยุธยา กับโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่าทำไมต่างประเทศถึงสร้างได้ แต่กับอยุธยาถึงได้มีปัญหา เป็นต้น ซึ่งกลุ่ม Saveอโยธยา ก็ได้ตอบข้อโต้แย้งกับเหตุผลและความสำคัญที่ต้องอนุรักษ์เมืองอโยธยาไว้ดังนี้

‘อยุธยา’ และพื้นที่มรดกโลกของต่างประเทศ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ‘คนละข้อ’

ผมขอเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนว่า ประเด็นที่กลุ่ม Saveอโยธยา ออกมาเคลื่อนไหวหลักๆ คือ พื้นที่ที่โครงการรถไฟความเร็วสูงกำลังจะสร้าง ซึ่งก็คือพื้นที่ของเมืองอโยธยา โดยประเด็นเมืองอโยธยามันก็จะมีข้อถกเถียงทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ กับพื้นที่เมืองมรดกโลกที่อยู่ภายในเกาะเมืองตามเอกสารที่พวกเขาคิดว่ามันเป็นพื้นที่มรดกโลก แต่ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่ของเมืองมรดกโลกจะประกอบไปด้วย Core Zone และ Buffer Zone โดยในประเทศไทยมันกำลังพัฒนาข้อกำหนดใหม่ที่ขยายขอบเขตของ Core Zone ในมรดกโลกให้ครอบคลุมพื้นที่ ดังนั้น การสร้างทางรถไฟความเร็วสูงมันจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ Core Zone ของเมืองมรดกโลกด้วย

การที่โบราณสถานหรืออะไรก็ตามจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมันจะถูกแบ่งเป็นเชิงพื้นที่ที่เป็นสถาปัตยกรรม และถูกแบ่งอีกหลายประเภท โดยประเด็นของอยุธยากับการเปรียบเทียบมรดกโลกของประเทศอื่นๆ นั้น คืออยุธยาเป็นมรดกโลกที่เป็นเมืองทั้งเมือง แหล่งโบราณสถานที่อยู่ในที่นี้คือ historical city เมืองประวัติศาสตร์

แต่ในขณะที่บางแห่งเป็นแค่ปราสาทปราสาทเดียวหรือพื้นที่พื้นที่เดียว อย่างเช่น ปราสาทฮิเมจิ ของญี่ปุ่น มันเป็นแค่พื้นที่ปราสาทพื้นที่เดียว ไม่ใช่เมืองทั้งเมือง เพราะเมืองทั้งเมืองมันได้พัฒนาไปแล้ว มันไม่ได้เก็บความทรงจำหรือคุณค่าอันโดดเด่นของมรดกโลกไว้ได้ มันก็เลยมีแค่พื้นที่ของตัวปราสาท ดังนั้นพอมันมีแค่พื้นที่ของส่วนปราสาท พอไปยื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลกมันก็จะมีข้อให้เลือกว่าเป็นความสำคัญด้านไหน ซึ่งของอยุธยาเป็นความสำคัญที่มีความโดดเด่นในเรื่องของเมือง การจัดการน้ำ และยังคงสภาพความเป็นโบราณสถานไว้ได้ ซึ่งตรงนี้มันแสดงให้เห็นว่า มันไม่ใช่แค่ปราสาทปราสาทเดียวหรือวัดวัดเดียวในอยุธยา แต่มันคือเมืองทั้งเมืองที่เขาให้ความสำคัญ

ดังนั้นแล้ว เราจะเอาอยุธยาไปเปรียบเทียบกับกรณีของปราสาทฮิเมจิหรือวัดโทจิไม่ได้ เพราะว่าโบราณสถานเหล่านี้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกคนละอันกัน ปราสาทเหล่านั้นได้ยูเนสโกคนละข้อกับอยุธยา อยุธยาได้ข้อ 3 คือโบราณสถานที่เป็นเมือง อันนั้นเป็นแค่ปราสาท คุณค่ามันคนละแบบ เมืองทั้งเมืองมันต้องมีทัศนียภาพ ซึ่งเรื่องทัศนียภาพมันไม่ใช่แค่เรื่องของความสำคัญเล็กๆ แต่มันคือเส้นขอบฟ้าของเมืองที่มันทำให้เห็นภูมิวัฒนธรรมของเมือง ถ้าเรารักษาภูมิวัฒนธรรมของเมืองไว้ได้ เราก็สามารถรักษามรดกโลกของเมืองไว้ได้ อย่างพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ที่ไม่สามารถรักษาภูมิวัฒนธรรมของเมืองไว้ได้ เพราะว่ามีสิ่งปลูกสร้างที่ผิดยุคสมัยเข้ามาในทัศนียภาพของเมือง

นอกจากนี้ กรณีของประเทศญี่ปุ่นนั้น รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นสร้างก่อนที่ตัวปราสาทจะได้รับมรดกโลก มันสะท้อนให้เห็นว่า ยูเนสโกประเมินมาแล้ว ซึ่งการประเมินมรดกโลกก็ต้องประเมินหลายๆ อย่าง เขาก็ต้องประเมินแล้ว เหมือนที่ไทยยื่นเมืองโบราณศรีเทพ 30 ปี เขาก็ต้องประเมินแล้วว่า ปราสาทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนั้นจะต้องปลอดภัยมากพอ ซึ่งในขณะที่การประเมินมรดกโลกของญี่ปุ่นนั้น ก็มีรถไฟความเร็วสูงอยู่แล้ว ดังนั้นใครจะมาบอกว่า ทำไมญี่ปุ่นสร้างได้ เพราะเขาสร้างก่อนได้มรดกโลก

จุดที่สำคัญคือ มันเป็นแค่ปราสาท มันไม่ใช่เมือง มันเป็นแค่พื้นที่พื้นที่เดียว เล็กๆ แต่เมืองมันคือภาพรวม มันต้องมีองค์ประกอบ

‘อโยธยา’ – ‘อยุธยา’ สิ่งสำคัญที่มากกว่า ‘เมืองโบราณ’ และ ‘มรดกโลก’

กลุ่ม Saveอโยธยา พูดถึงเมืองอโยธยาเป็นหลัก ดังนั้นระยะ 1 – 2 กม. มันเกิดขึ้นจากอะไร ทุกวันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าเอามาจาก EIA หรือเปล่า เวลาเราประเมินผลกระทบนั้นมันต้องห่างจากระยะก่อสร้างกี่เมตร ระยะกี่เมตรมีผลกระทบเท่าไหร่ มันอยู่ในตารางตัวเลขของเอกสาร EIA ดังนั้น ถ้าพูดถึงว่าโบราณสถานที่จะได้รับผลกระทบในระยะ 1 – 2 กม. อาจจะไม่ถูกต้อง แต่เรามีหลักฐานเชิงวิชาการว่าพื้นที่พิพาทคือเมืองอีกเมืองหนึ่งเลยที่มีอายุเก่าแก่กว่าอยุธยา และมีโบราณสถานอยู่หลายแห่ง แต่เรายังขาดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของพื้นที่เมืองอโยธยาว่ามันสำคัญยังไง

ดังนั้นเราเคลื่อนไหวเรียกร้องให้อนุรักษ์เมืองทั้งเมืองไว้ ไม่ใช่วัดใดวัดหนึ่ง แต่มันคือเมืองที่อยู่ก่อนอยุธยาและทำให้อยุธยาเป็นอยุธยา ดังนั้นถ้าให้พูดถึงโบราณสถานที่อยู่ใกล้กับโครงการ 100 – 200 เมตรหรือ 1 – 20 เมตร ผมก็พูดได้ ซึ่งมีวัดหลวงพ่อคอหัก มีวัดปราสาท ออกไปอีกหน่อยมีวัดสมณโกศ วัดกุฎีดาว อันที่ใกล้กว่าหรืออยู่ในแนวทางรถไฟก็มีวัดประดู่ทรงธรรม ทางตอนใต้มีวัดกล้วย วัดพิชัยสงคราม ฯลฯ 

ถ้าเราพูดแบบนี้คนก็จะไปที่ประเด็นว่า นี่ไงมันไม่ใช่โบราณสถาน มันเป็นแค่วัดใหม่ ฯลฯ มันจะกระจายไปได้เรื่อย ๆ โดยที่เราคุมไม่ได้ แต่เราต้องการจะเน้นว่า นี่คือเมือง ที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้มันคือเมืองทั้งเมืองที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องมากกว่า 417 ปี แล้วทำไมเราถึงต้องพูดแค่โบราณสถานล่ะ ในเมื่อเราต้องรักษาเมืองทั้งเมืองไว้ เพราะเมืองมันมีคน มองเห็นในบริบทของประวัติศาสตร์ได้ สามารถจำลองภาพได้สมัยนั้นมันเป็นอย่างไร พื้นที่ฝั่งอโยธยาถูกใช้ในฐานะไหนบ้าง? ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเข้ามาในพื้นที่นี้ครั้งแรกใช่หรือเปล่า? ฯลฯ เรามีเรื่องอีกหลายเรื่องที่ต้องหาคำตอบในพื้นที่ตรงนี้ ที่ผ่านมามันโดนละเลยไป แต่ตอนนี้มันกำลังจะถูกทำลายด้วยโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้ ดังนั้นโครงการขนาดใหญ่จึงต้องควรสร้างในพื้นที่ที่เหมาะสม

ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวโบราณสถานแห่งใดแห่งหนึ่งมากกว่าประวัติศาสตร์และความทรงจำกับคนที่อยู่พื้นที่ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่เรารู้อยู่แล้วว่า วัดอโยธยามีความสำคัญอย่างไร เป็นหนึ่งใน 5 ของพระปรางค์ มีวัดสมณโกศ วัดอโยธยามีประวัติอยู่ในพงศาวดารเหนือ อันนี้มีประวัติศาสตร์เล่าเรื่องได้ทั้งหมด แต่มันไม่ได้แปลว่าวัดที่ไม่มีอะไรเลย อย่างวัดวิหารขาวไม่มีประวัติ แต่เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการขุดแต่ง หรือวัดปราสาท เป็นวัดที่ได้รับการบูรณะแล้ว แต่มีโบสถ์อยู่หลังเดียว คุณค่าทางประวัติศาสตร์อาจจะน้อยกว่าวัดขนาดใหญ่ที่มีประวัติ แต่ว่ามันก็เป็นโบราณสถาน และใต้ชั้นดินของพื้นที่ตรงนี้ก็อาจจะมีหลักฐานทางโบราณคดีอีกมากมายที่เรายังไม่ได้ขุดค้น เรายังไม่ได้ทำการศึกษามันอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเราพูดถึงประเด็นเมืองทั้งเมืองแล้ว เมืองก็คือเมืองทั้งเมืองนั่นแหละ ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นมันเป็นการทำลายประวัติศาสตร์และความทรงจำของเมืองเมืองหนึ่ง ก็คืออยุธยา

เมืองอยุธยามันเป็นเกาะ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เกาะ ที่มันเป็นเกาะเพราะว่าพระเจ้าอู่ทองสั่งให้ขุดคูขื่อหน้า โดยคูขื่อหน้ามันก็คือคูเมืองของเมืองอโยธยา ซึ่งทางตอนเหนือของเกาะก็จะมีคลองสระบัวซึ่งคลองสระบัวก็จะมีแนวชุมชนหรือโบราณสถานที่ใหญ่มาก ทางฝั่งตะวันออกก็มีเมืองอโยธยา เลยไปอีกตรงแถวเจดีย์วัดสามปลื้มก็ยังมีโบราณสถานอีกไม่ต่ำว่า 100 ที่ ส่วนฝั่งใต้มีเมืองปทาคูจาม ฝั่งตะวันตกมีไชยวัฒนาราม วัดกระซ้าย 

ดังนั้นพื้นที่รอบๆ เมืองอโยธยามีโบราณสถานที่ใหญ่มากทั้งสิ้น อยู่ในระบบทั้งสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่รายล้อม มันสะท้อนว่ามีชุมชนที่ขยายตัวออกไป ดังนั้น พื้นที่ที่มีประเด็นข้อพิพาทมันก็มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องนั่นแหละ ไม่ว่าคนอยู่แต่ในเกาะเมืองในสมัยอยุธยา มันก็เหมือนกับฝั่งกรุงเทพกับกรุงธนฯ นั่นแหละ ผู้คนสัญจรไปมามันก็ใช้งานตลอดตั้งแต่ก่อนอยุธยาจนถึงสมัยอยุธยา ตรงอโยธยามันก็กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เชิงศาสนาไป มีการสร้างวัด มีการบูรณะวัดจนถึงอยุธยาตอนปลาย

ในเว็บไซต์ยูเนสโกเอง วัดที่ไม่ได้อยู่ในเกาะเมืองก็ถูกเอามาขึ้นว่าเป็นยูเนสโก อย่างเช่น วัดไชยวัฒนารามที่อยู่นอกเกาะเมือง วัดหน้าพระเมรุราชิการามก็อยู่นอกเกาะเมือง วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพุทไธสวรรย์ ก็อยู่นอกเกาะเมืองทั้งสิ้น และยังอยู่นอกเขตที่เอกสารตีกรอบไว้ แต่ว่าวัดพวกนี้ก็อยู่ในเว็บไซต์ยูเนสโก ดังนั้น ยูเนสโกก็ถือว่าเป็นการยอมรับไปโดยปริยายอยู่แล้วว่าพื้นที่ที่กล่าวมาเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งที่ทำให้อยุธยาเป็นมรดกโลก เพราะว่าถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ไปเหลือแค่เกาะตรงกลางมันก็ไม่ใช่อยุธยาทั้งเมือง มันก็จะเป็นแค่วัดตรงกลางไซต์เดียว

ถ้าจะให้เปรียบเทียบมรดกโลกอยุธยาสามารถเปรียบเทียบระหว่างไข่แดงกับไข่ขาว คือพื้นที่เมืองอโยธยา ปทาคูจาม คลองสระบัว คือพื้นที่ไข่ขาวที่ทำให้ไข่แดงซึ่งนั่นก็คือพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่เกาะเมืองนั้นมีคุณค่า มีความหมาย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวก็คือพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาตลอดหลายร้อยปี และพื้นที่ไข่ขาวยังช่วยสนับสนุนให้พื้นที่ไข่แดงสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัด ฯลฯ ได้ ดังนั้นพื้นไข่ขาวคือพื้นที่ของคนธรรมดาอยู่ตรงนี้ ที่ประกอบไปด้วยชนชั้นสูง ขุนนาง คนธรรมดา พื้นที่รอบๆ คือพื้นที่ของประชาชน

ไม่ได้ ‘คัดค้าน’ ห้ามสร้าง ‘ทางรถไฟความเร็วสูง’ แต่ต้องสร้างในพื้นที่ ‘ที่เหมาะสม’

ผมก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่สนใจประเด็นเชิงวัฒนธรรมแล้วออกมาเคลื่อนไหวเชิงวัฒนธรรมกับคนที่สนใจร่วมกัน เป็นคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสียงไปยังรัฐบาลและการรถไฟว่ามันมีประเด็นนี้อยู่ มันมีความสำคัญตรงนี้อยู่ แต่คุ้มไม่คุ้มมันไม่ได้อยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันเป็นผลประโยชน์ของคนส่วนรวม

เราแค่ต้องเอาการพัฒนาไปพร้อมกับการอนุรักษ์ได้ ต้องทำอันนี้ให้ได้ ประเทศไทยชอบลืมสิ่งนี้ ดูตัวอย่างป้อมมหากาฬนะครับ อีกอย่างไม่เคยเสนอให้เลิกสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง แต่เสนอให้สร้างในพื้นที่ที่ไม่โดนเมือง ซึ่งผมก็ยังงงอยู่ทุกวันนี้ว่า ผมไปรณรงค์ให้เลิกสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ยังไง แต่ผมก็เข้าใจว่า การสื่อสารค่อนข้างสำคัญ พอมันสับสนปุ๊บ มันจะสับสนไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราจึงต้องพูดซ้ำๆ ว่า เราไม่ได้เรียกร้องให้เลิกสร้าง แต่อยากให้สร้างในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกและเมืองอโยธยา

เรื่อง : ณัฐชนน จงห่วงกลาง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า