fbpx

“สมุทรปราการ” ดงแห่ง “เสาไฟฟ้า” และ “การทุจริตคอรัปชั่น”

สมุทรปราการ เป็นหนึ่งในจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร ที่มีความใกล้ชิดและความเจริญในด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการมีแรงงานจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ กันอย่างมากมาย

ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ของจังหวัดจะแสดงออกมาในลักษณะดังกล่าว แต่กลับปรากฏข่าวการทุจริตอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น เสาไฟกินรีขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ , เสาไฟเครื่องบินของ อบต. หนองปรือ , เสาไฟโซล่าเซลล์ อบต. บางโฉลง เป็นต้น หรือจะเป็นคดีที่เคยเกิดขึ้นและกำลังเดินการอยู่ เช่น คดีโกงสนามกีฬา สมุทรปราการ , คดีเงินอุดหนุนวัด 100 ล้าน ฯลฯ จนเรียกได้ว่า เวลามีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตมักจะเกิดขึ้นที่ จ. สมุทรปราการ อยู่บ่อยครั้ง

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เกิดความสงสัยที่ว่า การทุจริตใน จ. สมุทรปราการนั้น เหตุใดมันถึงเกิดขึ้นได้ง่ายและเกิดขึ้นบ่อย เว็บไซต์ the 101 world เว็บไซต์ที่รวมบทความวิชาการ สารคดี ฯลฯ ได้ทำการศึกษากรณีดังกล่าวผ่านข่าวการทุจริตที่เกิดขึ้นกับ อบต. ราชาเทวะอ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

บทความนี้ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องโครงการเสาไฟกินรีว่าเหตุใดจึงรอดพ้นจากการตรวจสอบได้ ซึ่งพบว่ามีการตรวจสอบโครงการดังกล่าวนี้มาตั้งปี 2556 แล้ว แต่การตรวจสอบไม่ได้ตรวจสอบในเรื่องของงบประมาณและความคุ้มค่า อบต. ราชาเทวะจึงสามารถดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปได้

ด้วยโครงสร้างตรวจสอบที่ซับซ้อนทำให้มีการแทรกแซงจากราชการส่วนท้องถิ่นโดยอาศัยความสัมพันธ์ซับซ้อนที่งบประมาณท้องถิ่นจะต้องได้รับความยินยอมจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากนี้อำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นข้อสุดท้าย “ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากร ให้ตามความจำเป็นและสมควร” ก็ได้เปิดช่องให้สามารถดึงทรัพยากรเพื่อใช้ในงานอื่น นอกจากนี้ ที่มาของอำนาจราชการส่วนท้องถิ่นยังยึดโยงกับประชาชนน้อย เช่นผู้ว่าฯ ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่การโยกย้าย ในขณะที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ถึงจะผ่านการเลือกตั้งมาแต่ก็ไม่มีวาระ เมื่อเป็นแล้วก็อาจหมดแรงจูงใจในการทำเพื่อประชาชนได้ง่าย ๆ

เฉกเช่นเดียวกับงานวิจัยเรื่อง “เครือข่ายกลุ่มอิทธิพลกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา : กรณีศึกษาการทุจริตคอร์รัปชันจากโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู” ที่มีข้อสรุปที่เหมือนกันนั่นคือ “เรื่องเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล” อันบ่งชี้ถึงอำนาจแห่งการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ซึ่งลักษณะของการรวมตัวกันนั้นย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจ ทั้งที่เป็นพลังภายในกลุ่มเองและเป็นพลังอิทธิพลต่อภายนอกด้วย

และเมื่อมีการรวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มอิทธิพล ก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจทุกรูปแบบและทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของกลุ่มตน ซึ่งก็คือการแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าการกระทำนั้นจะผิดกฎหมายหรือละเมิดจริยธรรมของสังคมก็ตาม ซึ่งสื่อความหมายได้ชัดเจนว่า พฤติกรรมของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลมักร่วมมือกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ ด้วยการคดโกง ฉ้อโกง เรียกหรือรับสินบน ฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พฤติกรรมการใช้อำนาจของเครือข่ายกล่มอิทธิพล มักกระทำการใด ๆ ที่ผิดกฎหมายหรืออยู่กฎหมายเสมอ

แม้ว่าจะมีกลไกลในการตรวจสอบท้องถิ่นอย่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตาม แต่ สตง. ระดับจังหวัด 1 แห่ง ต้องตรวจสอบการใช้จ่ายและบัญชีขององค์กรจำนวนมาก ทั้งราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น อย่างสมุทรปราการเองก็มีหน่วยงานท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล และอบต.) รวมกัน 49 แห่ง มีงบประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว

การหวังให้หน่วยงานมานั่งตรวจสอบเงินทุกเม็ดจึงแทบเป็นไปไม่ได้ คงนับเป็นโชคดีที่มีคนแชร์รูปผลงานการติดเสาไฟกินรีแล้วเกิดไวรัลขึ้น เพราะรูปภาพรูปเดียวนั้นทำให้โครงการเสาไฟกินรีถูกระงับลง นอกจากนี้ สตง. สมุทรปราการยังตรวจสอบสัญญาจัดซื้อจัดจ้างอย่างแข็งขันจนมีผลสรุปว่า “น่าเชื่อว่าจะมีการทุจริต” ซึ่งก็จะต้องส่งเรื่องเป็นขั้น ๆ ไปสู่ สตง. ระดับภาค และสตง. ใหญ่ เมื่อเสร็จจากตรงนั้นแล้วจึงจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ อบต. ราชาเทวะ ยังมีการจัดงบประมาณแบบประหลาดๆ อีกหลายโครงการ เช่น โครงการจัดสร้างแหล่งท่องเที่ยว Land Mark ของโลก: สุวรรณภูมิแดนสวรรค์ , การจัดซื้อถังขยะประจำหมู่บ้านและที่สาธารณะขนาดไม่น้อยกว่า 240 ลิตรพร้อมล้อยาง จำนวน 2,000 ใบที่สามารถลดมูลค่าลงได้มากกว่านี้เพราะเป็นการซื้อครั้งละมาก ๆ , การฝึกอบรมซึ่งมีมูลค่าสูงมาก ทั้งการอบรมพนักงาน เด็กเยาวชน พ่อค้าแม่ขาย ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการเหล่านี้มักจะมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก แต่มักจะเป็นงบกระชับความสัมพันธ์เครือข่ายการเมือง-ราชการท้องถิ่น-ประธานชุมชน โดยในปี 2565 มีงบที่เกี่ยวข้อง 11.7 ล้านบาท ฯลฯ

อธิบายมาถึงขนาดนี้แล้ว หลายคนคงจะสงสัยว่า แล้วจะมีกระบวนการตรวจสอบอย่างไรบ้างที่จะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ถึงแม้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นจะมาการตรวจสอบจากภายในหน่วยงานและภาคนอกหน่วยงานเช่น ราชการส่วนภูมิภาค คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรอิสระต่าง ๆ  สตง. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

แต่นั่นก็ยังไม่รวดเร็วพอสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว

กลับกัน ในภาคประชาชนเองก็ยังไม่ได้ตระหนักรู้ในการปกครองแบบประชาธิปไตยมากเท่าไหร่นัก จากงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการตรวจสอบองค์กรส่วนท้องถิ่น : ถอดบทเรียนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์และเทศบามเมืองบัวขาว” ชี้ให้เห็นว่า ภาคประชาชนโดยส่วนใหญ่มีลักษณะที่ประกอบไปด้วย 3 ไม่ คือ ไม่รู้ ไม่กล้า ไม่สนใจ

ดังนั้น การตรวจสอบองค์กรส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้นมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือภาคประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการอาจจะต้องมีการขยับขยายองค์กรให้โตขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ต้องให้ความรู้กับภาคประชาชนในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงหน้าที่การตรวจสอบที่ต้องทำเพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการคลานอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า