fbpx

“Sad Bar” : ชีวิตขมกว่าเหล้า ก็มาสุขและเศร้าที่บาร์นี้ 

ตู้บาร์เคลื่อนที่ขนาดกะทัดรัด ตกแต่งด้วยของประดับอย่างเรียบง่าย แต่กลับสร้างแรงดึงดูดทางสายตาจากชื่อบาร์ที่น่าสนใจ ‘Sad Bar’ คำสองพยางค์ที่ดูเผิน ๆ อาจจะสื่อถึงความเศร้าตรงตัว แต่จริง ๆ แล้วมีความหมายโดยนัยที่น่าสนใจ และยังนิยามถึงสิ่งที่ ‘ไนล์’ ชายหนุ่มผู้ก่อตั้งป๊อปอัพบาร์แห่งนี้ ต้องการที่จะให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นประเด็นที่ถูกพูดคุยกันในเชิงบวกมากขึ้น โดยให้ Sad Bar เป็นเสมือนพื้นที่ให้ผู้คนได้มาฮีลใจในวันที่หัวใจแบกรับความทุกข์ไม่ไหว 

โมงยามมหัศจรรย์ กับสารตั้งต้นของ Sad Bar

ในช่วงบ่ายคล้อยของวันหนึ่ง The Modernist มีโอกาสพูดคุยกับ ไนล์ ที่ Factory Art Centre ถึงการทำป็อปอัพบาร์ หรือ บาร์เคลื่อนที่ สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยทำกิจกรรมระบายสีร่วมกับเด็ก ๆ จากโรงเรียนสอนศิลปะแห่งนี้ โดยเขาได้ขนตู้บาร์พร้อมเครื่องดื่มและของจิปาถะออกจากท้ายรถ เพื่อตั้งบาร์เช่นเดียวกับเวลาที่ ไนล์ ต้องออกไปเปิดร้านตามสถานที่จัดงานกิจกรรมต่าง ๆ แต่ครั้งนี้เป็นการตั้งบาร์เป็นกาลเฉพาะเพื่อให้การพูดคุยมีกลิ่นอายของบรรยากาศ Sad Bar ให้มากที่สุด 

“สารตั้งต้นของ Sad Bar เกิดจาก 2 สารด้วยกัน คือสารเคมีในสมอง กับสารแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด” ไนล์ เล่าให้ฟังถึงที่มาด้วยใบหน้าแต้มรอยยิ้ม เขาขยายความต่อว่าสารเคมีในสมองที่กล่าวถึงนี้ คือประสบการณ์ความเจ็บปวดจากปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในห้วงยามที่ตนยังเป็นวัยรุ่นจนก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งวันนี้อาการต่างเข้ารูปเข้ารอย จนสามารถเรียกได้ว่าดีขึ้นมาก ๆ ประกอบกับเริ่มสัมผัสได้ถึงคนรอบตัวที่ต่างเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น อีกสารหนึ่งคือ สารแอลกอฮอล์ในตัว โดยเฉพาะค็อกเทลกับวิสกี้ ซึ่งเป็นเมนูเครื่องดื่มที่เขาโปรดปรานมากที่สุด แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ประทับรอยอยู่ในใจของไนล์คือ โมงยามมหัศจรรย์ของบาร์ จากเสียงและกลิ่นของบาร์ที่เขาสัมผัสได้ทุกครั้งเมื่อได้เข้าไปเยือน

“เมื่อผมผลักประตูเข้าไปในบาร์หนึ่ง ผมมักจะเห็นความรื่นรมย์ของผู้คน บ้างก็เป็นคุณลุงคนหนึ่งถือเบียร์อยู่ในมือ สายตาจับจ้องอยู่ที่ทีวีเอาใจช่วยเกมการแข่งขันคริกเก็ต เมื่อมองไปอีกมุมหนึ่งก็เห็นคุณลุงอีกท่านใส่แว่นตา เล่นครอสเวิร์ดเกมส์ พร้อมกับแก้วเบียร์อยู่ข้างหน้า ซึ่งส่วนตัว ผมมองว่าเป็นเกมที่น่าเบื่อ แต่ว่าเขามีความสุขกับสิ่ง ๆ นั้น ขณะเดียวกันในบาร์มักจะมีเสียงต่าง ๆ อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเสียงฝีเท้าของผู้คน เสียงพูดคุยหลากหลายภาษา เสียงคนทะเลาะกัน เสียงคนร้องไห้ เสียงกระดาษหนังสือพิมพ์ที่กระทบกันจากการเปิดไปมา เสียงการเขย่าเครื่องดื่มจากบาร์เทนเดอร์ ที่มักจะถามเราเสมอว่า ‘สบายดีไหม’ ‘อยากดื่มอะไรบ้าง’ บทสนทนาธรรมดาที่สร้างความพิเศษให้เสมอ” 

“แต่สิ่งที่เป็นเสน่ห์สำหรับผมที่สุดเลยก็คือ กลิ่นของบาร์ เวลาที่ผมเปิดประตูบาร์เข้าไป กลิ่นต่าง ๆ ที่ประเดประดังเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นจากเฟอร์นิเจอร์ ทั้งงานไม้ เครื่องหนัง กลิ่นน้ำหอมของคนบางคน แต่สุดท้ายแล้วผมมองว่ากลิ่นเฉพาะตัวของบาร์คือกลิ่นบุญ กลิ่นบาป กลิ่นความจริง ณ เวลาปัจจุบัน ที่กำลังโอบอุ้มเราทุกคนที่อยู่ในจุดนั้น” 

สถานที่ซึ่งถูกเสียงและกลิ่นห่อหุ้มทุกคนไว้นั้นไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้คน นี่เป็นสิ่งที่ไนล์รู้สึกทุกครั้งเมื่อย่างเท้าเข้าไป เขาเล่าต่อว่า บาร์ไม่เลือกต้อนรับเฉพาะใครบางคน ไม่จำเป็นคนเป็นคนที่มีความสุขเท่านั้นที่จะก้าวเข้าไปได้ ในหนึ่งบาร์หนึ่งคืน มักจะมีหลายหลากมวลมวลอารมณ์ลอยละล่องอยู่ หลากไปด้วยความสุขที่เปล่งออกมาผ่านเสียงหัวเราะ หลายความทุกข์ที่กลั่นออกมาเป็นหยดน้ำตา 

“เวลาผมมีความสุขหรือความทุกข์อะไรก็ตาม ผมจะนัดเพื่อนคนสองคนไปเจอที่บาร์เพื่อคุยกัน จริง ๆ ก็มีอยู่ไม่กี่เรื่องหรอกครับ เช่น งาน เงิน ครอบครัว ความรัก ความสัมพันธ์ แต่ผมค้นพบว่าช่วงประมาณ 4 – 5 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่แทรกเข้ามาระหว่างบทสนทนาระหว่างผมกับเพื่อน หรือแม้แต่คนข้าง ๆ ก็คือ เรื่องสุขภาพจิต 

‘เฮ้ย มีอาการแบบนี้เป็นซึมเศร้าหรือเปล่า’ ‘ว่างไหม วันนี้แพนิคขึ้นว่ะ ไปเจอที่บาร์หน่อยได้ไหม อยากหาอะไรกิน’ บทสนทนาแบบนี้ไม่ใช่แค่ผมโทรหาเพื่อน เพื่อนก็โทรหาผมเหมือนกัน เขาหัวเราะ ผมก็หัวเราะด้วย ขณะที่เขาร้องไห้ ผมก็ร้อง เสร็จแล้วเราก็จับมือกัน” 

“เวลาที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ บาร์เป็นเหมือนสนามกลาง ที่ไม่ใช่สนามหญ้าของเขา ไม่ใช่สนามหญ้าของผม แต่มันคือพื้นที่กลางที่เรารู้สึกว่าเราจะเป็นใครก็ได้ ณ คืนนั้น เพื่อทำให้เราสบายใจแล้วก็ปลอดภัยมากขึ้น”  

การก่อร่างของบาร์ กับชื่อที่เป็นมากกว่าความเศร้า  

ประสบการณ์ที่เคยเผชิญหน้ากับความทุกข์ ที่ตามมาด้วยโรคซึมเศร้า โรคแพนิค และโรควิตกกังวล ทำให้ไนล์เข้าใจความรู้สึกของคนที่ตกอยู่ในช่วงเวลาฟ้าหม่นเป็นอย่างดี ประกอบกับความสุนทรีย์ของ รูป รส กลิ่น เสียง ที่เป็นเอกลักษณ์ของบาร์ที่เขาตกหลุมรัก เขาจึงลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่นัยหนึ่งก็เป็นการท้าทายตัวเองเช่นกัน คือ การทำบาร์เคลื่อนที่ ที่นำพาความหวังไปยังผู้คน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ออกสตาร์ททำ Sad Bar จนถึงวันนี้ ไนล์ ยังคงทำงานประจำเป็นหลัก ควบคู่ไปกับเปิดป็อปอัพบาร์ จนกระทั่งสุดท้าย กลายเป็นว่างานประจำและงานเสริมกลับประสานสอดรับและส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างน่าอัศจรรรย์ 

“พอคนเราตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ท้ายที่สุดเราจะหาเวลาให้กับมันได้ ไม่ได้หมายความว่าผมละทิ้งงานประจำนะครับ เพราะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องจัดการทุกเดือน ขณะเดียวกันผมก็มีความเชื่อว่า เรื่องสุขภาพจิตในประเทศไทย ควรเป็นเรื่องที่พูดคุยได้ในเชิงบวก ผมอยากให้ Sad Bar เป็นอย่างนั้น เสียงในหัวผมบอกว่าต้องจัดการเรื่องนี้ขึ้นมาให้ได้ พอมีความตั้งใจอย่างแรงกล้า สุดท้ายแล้วสิ่งที่ผมตั้งใจก็เกิดขึ้นจริง แต่สิ่งที่มหัศจรรย์กว่านั้น กลายเป็นว่าทั้งงานประจำและการทำบาร์นี้กลับส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการบริหารจัดการเวลา และพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ผมได้จากการทำบาร์ก็นำมาต่อยอดกับงานประจำ ขณะเดียวกันงานประจำก็ส่งเสริมการทำ Sad Bar ด้วยเหมือนกัน”

ช่วงแรกที่ Sad Bar เปิดตัวขึ้นมาเมื่อปี 2565 ไนล์นำรายได้จากการขายเครื่องดื่ม

ทั้งหมด 100% บริจาคให้กับโรงพยาบาลทางจิตเวชในจังหวัดต่าง ๆ แต่พอผ่านไปสักระยะก็เริ่มไม่มีทุนเพียงพอที่จะช่วยเหลือได้เต็มที่ จึงกลับมาขบคิดหาทางออกเพื่อให้บาร์สามารถเดินหน้าไปได้พร้อม ๆ กับช่วยเหลือสังคม จนตระหนักว่า บาร์จำเป็นที่จะต้องมีรายได้เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือผู้คนได้ต่อไปได้ในระยะยาว ปัจจุบัน Sad Bar จึงเป็นบาร์กึ่งการกุศล ซึ่งไนล์จะนำรายได้ 10 – 15 % บริจาคให้กับมูลนิธิจิตเวช รวมถึงเยาวชนที่ต้องการทุนการศึกษาต่อในสาขาวิชาจิตวิทยา  

แม้จะมีชื่อที่ฟังดูราวกับเป็นบาร์แห่งความเศร้า เป็นศาลาพักใจ แต่จริง ๆ แล้ว Sad Bar เป็นชื่อที่ไนล์ตั้งใจที่จะซ่อนนัยอยู่ในนั้น เป็นการเปล่งเสียงบอกว่า แม้จุดเริ่มต้นจะเริ่มจากความโศกาแต่ปลายทางนั้นคือความสุขและความหวัง 

นอกจากนี้ป้ายที่จั่วตัวอักษรว่า ‘Unhappy Hour’ เป็นดั่งสารอีกชิ้นที่ไนล์ต้องการจะชี้ให้เห็นอีกมุมว่า ยิ่งเราขวนขวายหรือตามหาความสุขมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสพบเจอมันน้อยมากเท่านั้น ในทางกลับกลับหากเรายอมรับและเฝ้ามองความทุกข์ ความเจ็บปวดของเราด้วยสายตาที่เข้าใจ เราก็ยิ่งมีโอกาสที่จะมีความสุขมากขึ้น อีกทั้งการพยายามที่จะกดอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบทั้งหลายเอาไว้กับตัว เช่น ความทุกข์ ความโกรธ หรือความว้าเหว่ วันหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเด้งกลับ และปะทุแรงขึ้นกว่าเดิม ไนล์มองว่าอารมณ์ความรู้สึกทุกอย่างล้วนเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป จึงไม่แปลกที่จะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่เพียงอย่าให้ความรู้สึกเชิงลบครอบงำเราจนเกินไป สิ่งที่เราน่าจะรับมือกับมันได้ นั่นก็คือการพยายามหาวิธีเปลี่ยนความสัมพันธ์ของตัวเรากับความรู้สึกดังกล่าวว่าเราจะเป็นเพื่อนกับมันได้อย่างไร

ดื่มด่ำทุกความรู้สึก และผูกมิตรกับมัน

การสานสัมพันธ์ระหว่างกายเนื้อกับอารมณ์ความรู้สึก เป็นเอกลักษณ์ของเมนูเครื่องดื่มที่ไนล์ตั้งใจรังสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘Gin Panic’ หรือ ใช้ชื่อภาษาไทยแบบตรงตัวว่า ‘จิน ตกใจ’ ซึ่งล้อมาจากชื่อเครื่องดื่ม Gin Tonic อีกที โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก ตอนที่ไนล์เข้ารับการรักษาโรคแพนิค  

เมนูซิกเนเจอร์ต่อมา ‘Hard Feelings’ ตัวนี้ตั้งชื่อไทยแบบเก๋ ๆ ว่า ‘เจ็บแต่เก็บอาการ’ เป็นความหมายที่ต้องการเล่นกับความรู้สึกของใครหลาย ๆ คน เพราะทุกคนต่างต้องเคยเจ็บอยู่แล้ว และทุกคนล้วนต้องเคยเก็บความเจ็บเอาไว้ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง โดยชื่อเมนูนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อเพลง Hard Feelings จากศิลปินเจ้าของรางวัลแกรมมี Lorde ซึ่งเป็นศิลปินคนโปรดของไนล์ ส่วนผสมส่วนใหญ่ก็จะเป็น วอดก้า โทนิค และน้ำยาอุทัย

อีกเมนูของร้านได้แก่ The Bright Side โดยชื่อภาษาไทย ซึ่งไนล์ขอเรียกตรงตัวแบบติดอารมณ์ขันเอาไว้ว่า ‘เดอะ ด้าน สว่าง’ เป็นเมนูที่บ่งบอกถึงความหวังและแสงสว่างในชีวิต เครื่องดื่มเป็นส่วนผสมระหว่าง เตกีลา น้ำเกรปฟรุต และเกลือเป็นหลัก สาเหตุที่เลือกใช้ เตกีลา เนื่องจากต้องการให้คาแรกเตอร์ของเครื่องดื่มเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ตามถิ่นกำเนิดของเหล้าชนิดนี้ที่มาจากเม็กซิกัน เพราะเวลาเรานึกถึงผู้คนเม็กซิกัน เรามักจะนึกถึงงานรื่นเริง เมนูนี้จึงต้องการให้ทุกคนลองเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต และเริงระบำไปกับมันซึ่งอาจจะทำให้พบทางออกของชีวิตก็เป็นได้

เริงระบำไปกับชีวิต และเรื่องเล่าเคล้าความสุข

แน่นอนว่าเมื่อเป็นบาร์เคลื่อนที่ จึงทำให้ไนล์ได้มีโอกาสพบเจอผู้คนที่หลากหลาย ส่วนใหญ่นำมาซึ่งความประทับใจ ที่ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับผู้คนที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมที่บาร์ แต่หลาย ๆ ครั้งยังสะท้อนกลับมายังไนล์เอง  

จริง ๆ ทุกครั้งที่ไปออกบาร์ มีเหตุการณ์ประทับใจผมทุกครั้งเลยครับ คือต้องบอกว่าหากผมไม่ได้ทำ SadBar คงยากมาก ๆ ที่จะรับรู้ได้ว่าผู้คนเขาพร้อมช่วยเหลือเราเสมอ ถ้าเรามีจุดประสงค์ที่ดี” ไนล์เล่าพร้อมกับรอยยิ้มที่เปื้อนบนใบหน้า 

เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่พานพบระหว่างออกร้านให้ฟังต่อว่า ครั้งหนึ่งเคยไปออกร้านที่งานกิจกรรมแลกเสื้อผ้า เมื่อเสร็จงานมีสุภาพสตรีชาวต่างชาติท่านหนึ่งเดินมาหาระหว่างที่กำลังจะยกตู้บาร์ใส่ในรถกลับบ้าน ทันใดนั้นสุภาพสตรีคนดังกล่าวได้จับมือและพูดขึ้นมาว่า ให้วางตู้บาร์ลง จังหวะนั้นไนล์บอกว่า ตนหยุดนิ่งไปชั่วขณะเนื่องจากนึกว่าตนทำอะไรผิด แต่ผู้หญิงท่านนี้ได้พูดขอบคุณสิ่งที่ไนล์กำลังทำและขอให้ทำสิ่งนี้ต่อไป จากนั้นก็จับมือไนล์ขึ้นมาจูบทีหนึ่ง กลายเป็นโมงยามเล็ก ๆ ที่ทำให้หัวใจพองโต

อีกเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กับเหตุการณ์แรก คือในระหว่างที่เปิดร้าน มีสุภาพสตรีชาวต่างชาติตรงดิ่งเข้ามา แต่คราวนี้ไม่ได้เดินมาธรรมดา แต่เต้นเข้ามาเลย จึงเกิดความกังวลใจเล็ก ๆ ว่า หากเข้ามาดื่มทางร้านจะเอาไม่อยู่แน่นอน ปรากฏว่าคดีพลิก พอมาถึงหน้าบาร์จึงรู้ว่าคอนเซ็ปต์ของ Sad Bar เป็นบาร์ที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต จึงได้มีโอกาสพูดคุยกัน จนทราบว่าผู้หญิงท่านนี้รักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ จากนั้นจึงขอเป็นอาสาสมัครสอนเต้นโดยไม่คิดเงิน ไนล์จึงตกปากรับคำทันที ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะจัดอย่างไร แต่เขาเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงกับสุขภาพจิตได้หมด ขอแค่มีความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต จากนั้นไนล์ก็ให้สตรีผู้รักการเต้นคนนี้เป็นคนนำโปรเจ็กต์การเต้นที่บาร์ ซึ่งทุกครั้งเวลามีใครสนใจมาร่วมเป็นอาสาสมัคร ไนล์ จะให้คน ๆ นั้นเป็นคนนำ โดยตนจะเป็นคนที่อธิบายถึงภาพรวมจุดประสงค์ของบาร์ให้เข้าใจ 

และเหตุการณ์สุดท้าย เป็นเหตุการณ์ที่ไนล์กล่าวว่า นึกถึงทีไรก็รู้สึกฮีลใจทุกที และทำให้ไนล์รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ Sad Bar ต้องทำต่อไป โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงการจัดงาน Bangkok Design Week เมื่อปี 2565 ขณะตั้งบาร์อยู่ในงาน จู่ ๆ ก็มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งมายืนพิงอยู่ข้าง ๆ บาร์ ผ่านไปสักพักเริ่มเอะใจว่าทำไมไม่ไปไหนสักที ทันใดนั้นเด็กคนนั้นก็กล่าวขึ้นมาว่า ต้องการช่วยทำอะไรก็ได้ที่บาร์ แต่ตนทำอะไรไม่เป็นเลย จึงขอยืนตักน้ำแข็ง ไนล์มองว่ายืนตักน้ำแข็งเฉย ๆ น่าจะเบื่อ เมื่อพูดคุยกันมากขึ้นจึงรู้ว่าเด็กคนนี้กำลังจะยื่นพอร์ตเข้าศึกษาต่อในสาขาจิตวิทยาพอดี ตนจึงอธิบายคอนเซ็ปต์ของบาร์ให้ฟัง เหมือนบรีฟสั้น ๆ จากนั้นจึงปล่อยให้น้องเป็นฝ่ายพูดคุยกับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามา โดยไนล์เป็นคนอัดวิดีโอเอาไว้ระหว่างที่น้องกำลังผู้คุยกับคนที่เข้ามาที่บาร์ หลังจากนั้นไม่นานได้มีโอกาสเจอน้องคนนี้อีกครั้งในงานอื่นที่ตนไปออกร้าน จึงทราบว่าตอนนี้น้องได้มีโอกาสเข้าเรียนในสาขาที่มุ่งหวังได้อย่างสมใจ 

ทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องดี ๆ ที่เริ่มจากต้องการฮีลใจคน แต่ไป ๆ มา ๆ กลับเป็นต่างฝ่ายต่างฮีลใจซึ่งกันและกัน กลายเป็นโมงยามที่น่าจดจำประทับไว้ใจที่นึกถึงเมื่อไหร่ก็ใจฟูทุกครั้ง

‘ฮีลใจ’ ตัวเองในวันฟ้าไม่เป็นใจ

เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าเคล้าความสุข จากประสบการณ์ช่วงทำบาร์แล้ว เราก็อดใจไม่ไหวที่จะถามไถ่ถึงการฮีลใจตัวเองของไนล์ ซึ่งไนล์แนะนำ 3 วิธี ที่ได้มาจากประสบการณ์ส่วนตัว เป็นทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับใครก็ตามที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพใจ หรือกำลังประสบกับภาวะแล้งความหวัง

1.การพูดคุย

“การพูดช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ลองหาใครสักคนที่สบายใจจะคุยด้วย หากไม่มีคนพูดด้วย ให้ลองพูดกับตัวเอง บางคนอาจจะมองว่าแปลก แต่ตอนที่ผมไม่มีใคร ผมพูดกับตัวเองในกระจก พูดเพื่อบอกว่าต้องอยู่ต่อไปให้ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราพูดออกมา ความหนาแน่นของความทุกข์ ความอัดอั้นตันใจต่าง ๆ นานาจะลดลงทันที ถึงแม้อาจจะไม่ได้สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาลงได้ ความหนักหนาที่คุกรุ่นอยู่ข้างใน หากเทียบน้ำหนักให้เต็ม 100 เมื่อพูดออกไป อาจจะเหลือ 90 80 จากนั้นก็จะค่อย ๆ เบาขึ้นเรื่อย ๆ” 

2.การกอด

“หลายคนรู้ว่าการกอดช่วยฮีลใจได้ แต่ถ้าไม่มีใครให้กอด ให้ลองกอดสัตว์เลี้ยงดู แต่ถ้าไม่มีอีก ให้ทำคล้าย ๆ ข้อแรก คือ กอดตัวเอง ด้วยท่ากอดที่เรียกว่า Butterfly Hug  หรือ ‘อ้อมกอดผีเสื้อ’ คือกอดบริเวณหน้าอกตัวเอง ไขว้แขนทั้งสองข้างแนบกับหน้าอก จากนั้นค่อย ๆ ลูบ แล้วตบเบาที่หน้าอกเบาๆ พร้อมบอกตัวเองว่า ‘เฮ้ย ไม่เป็นไร  เราอยู่ตรงนี้ เราไม่ตาย มันมีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้’ สิ่งนี้ทำให้เกิดพลังใจได้

3.ตัวตนเราไม่ได้เป็นไปตามความคิดของเราเสมอไป 

“คุณไม่ใช่ความคิดของคุณเสมอไป ต่างประเทศมีทฤษฎีหนึ่งที่เรียกว่า ‘You are not your thoughts’ กล่าวคือ สมมุติมีใครเดินมาบอกเราว่าเราเป็นสามเหลี่ยม แล้วเราดันย้ำกับตัวเองซ้ำ ๆ ว่า เราเป็นสามเหลี่ยม คำถามต่อมาคือ สรุปแล้วเราเป็นสามเหลี่ยมหรือไม่ แน่นอนว่าคำตอบคือ เราไม่ได้เป็นสามเหลี่ยม เช่นเดียวกันหากมีคนมากล่าวหาเราว่าโง่ที่ไม่สามารถออกจากภาวะซึมเศร้าได้ คำถามคือเราเป็นแบบนั้นหรือเปล่า คำตอบก็เช่นเดียวกัน เราไม่ได้เป็นแบบนั้น”

นอกจากนี้ ไนล์ยังบอกอีกว่าเมื่อเราเจอเวลาที่ยากลำบาก เหมือนกับเดินฝ่าเข้าไปในพายุ ณ เวลานั้น เราจะเจ็บปวดแบบสุด ๆ จนหาทางออกไม่ได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าตัวเราไม่ใช่พายุลูกนั้น นี่เป็นเพียงสิ่งที่อยู่รายล้อมรอบตัวเราเท่านั้น 

ถ้าเราเชื่อในตัวเองหรือเชื่อในเวลามากพอ พายุลูกนั้นก็จะผ่านไป พอเราหันกลับไปดู เราจะสงสัยว่าเราผ่านไปได้อย่างไร สิ่งสำคัญก็คือ เมื่อมีพายุลูกหน้าเข้ามาอีก เราก็จะรู้แล้วว่าต้องรับมืออย่างไร และรู้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าสุดท้ายปัญหาต่าง ๆ ก็จะผ่านไปเหมือนทุกครั้ง แล้วจะมีความหวังและเข้าใจว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจและพูดคุยกันในเชิงบวกได้

จะฮีลใจ ทำไมต้องมา Sad Bar

ก่อนการพูดคุยจะเดินทางมาถึงจุดจบ คำถามสุดท้ายถูกยิงออกไป ไนล์ รับลูกแทบจะทันทีเมื่อถูกถามว่าทำไมต้องมาฮีลใจที่ Sad Bar 

“เพราะผมต้องการทุกคน” 

เขาขยายความต่อด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจว่า ที่อยากให้ทุกคนมาไม่ใช่เพียงแค่มารับรู้ว่า Sad Bar มีความตั้งใจอย่างไร แต่อยากให้ทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความหวังในการพาชีวิตเดินต่อไปข้างหน้า

“ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานการณ์ไหนของชีวิต คุณจะมีความสุข คุณกำลังจะประสบความสำเร็จ หรือคุณจะเพิ่งตกงาน หรือคุณเพิ่งเจอใครสักคนแปะป้ายมาว่าเป็นซึมเศร้ามา บาร์พร้อมโอบอุ้มคุณทุกคน ไม่มีใครตัดสินคุณอยู่แล้ว จะมาเขียนกระดานก็ได้ เรามีพื้นที่ที่ให้คุณเขียนอะไรก็ได้ หรือถ้าไม่อยากเขียน แค่มายืนอ่านก็ได้ มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่พูดคุยในเชิงบวกกันมากขึ้น เพื่อส่งต่อพลังแห่งความหวังซึ่งกันและกันต่อไป”  

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า