fbpx

เปิดประวัติ “เขตวัฒนา-คลองเตย” พื้นที่หลากหลายสังคม สู่วันขื่นขมจากผู้มีอิทธิพลและผลประโยชน์

        คงไม่เกินจริงนัก หากจะบอกว่ากรุงเทพมหานครเป็น “เมืองแห่งความเจริญแบบกระจุก” เพราะไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง ความทันสมัย สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงห้างสรรพสินค้า ล้วนมีการลงทุนงบประมาณขยายตัวริเริ่มกับเมืองแห่งนี้มากกว่าที่ไหนๆ ของประเทศไทย แต่กระนั้น ความเจริญที่กระจุกตัวก็หาได้เจริญทั่วถึงและให้ความปลอดภัย รวมถึงรักษาวิถีชีวิตของชุมชนไว้ไม่ แต่กลับปล่อยให้กลุ่มทุนขยายตัวอย่างไร้การควบคุม พัฒนาบ้านเมืองด้วยอำนาจเงินโดยขาดความเข้าใจพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน 

         พื้นที่วัฒนา-คลองเตย (อ้างอิงพื้นที่จากการแบ่งเขตเลือกตั้งปี 2566) เป็นพื้นที่ที่มีความเจริญ ดุจดั่งไข่มุกแห่งย่านสุขุมวิท เพราะประกอบไปด้วยการขนส่งที่มีจุดเชื่อมการเดินทางไม่ว่าจะเป็น BTS, MRT, Airport Rail Link ถนนหนทาง ตลอดจนท่าเรือ และเต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า ผับบาร์ สถานที่จัดการประชุมสัมมนา โรงแรมหรู โรงเรียน มหาวิทยาลัย และคอนโดที่อยู่อาศัยที่แสนจะแพงลิบลิ่ว ยากที่มนุษย์เงินเดือนจะเอื้อมถึง หรือเอื้อมถึงแต่ต้องแลกมาด้วยการผ่อนคอนโดตลอดชีวิต และยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือคลองเตย ท่าเรือขนส่งสินค้าเข้าออกประเทศ สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศวันละหลายล้านบาท

         แต่ใครจะไปคาดคิดว่าในพื้นที่ที่เหมือนสวรรค์บนดินกลับเต็มไปด้วยปัญหาที่ซุกใต้พรม เป็นพื้นที่แห่งผลประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่กำลังจะกลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศ โดยไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ

         The Modernist พาไปเหลียวมองพัฒนาการของพื้นที่วัฒนา-คลองเตย กับการเติบของเมืองที่มีปัญหาเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ พร้อมกับการเติบโตของเมืองที่โตแค่เปลือกนอกแต่ไร้ชีวิตและลมหายใจของผู้คน โดยจะพาไปหาทางออกจากจุดเริ่มต้นที่ดีอย่าง Traffy Fondue และการไปให้สุดของอำนาจประชาชน 

วัฒนา-คลองเตย 101 

         เขตวัฒนาเปรียบเสมือนอำเภอที่รวมตำบลหรือหรือแขวงอยู่ในเขต ประกอบด้วยแขวงคลองตันเหนือ คลองเตยเหนือ และพระโขนงเหนือ ในอดีตในพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ลุ่มกว้างขวางตามลักษณะพื้นที่ของภาคกลางที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก

        หนังสือเขตคลองมองเมืองอธิบายว่า พื้นที่คลองเตยเดิมเป็นเมืองสำคัญ ชื่อเมืองพระประแดง ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอธิบายไว้ว่าเมืองพระประแดงนี้คงเก่าแก่จนถึงราวสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะพื้นที่โดยรอบ เช่น แถบแจงร้อน ราษฎร์บูรณะ ได้พบวัดวาอารามที่มีพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาตอนต้นประดิษฐานอยู่มากมาย ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในแง่ของการอยู่อาศัยของผู้คนที่มีมาก่อนการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี เมื่อมีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี ก็ยังมีชุมชนชาวมอญมาตั้งบ้านเรือน ณ บริเวณนี้ จนกระทั่งเมื่อมีโครงการสร้างท่าเรือคลองเตย ทำให้เกิดการรื้อชุมชนดั้งเดิมออกไป 

        หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นได้จนถึงปัจจุบันคือวัดธาตุทอง ที่ตั้งอยู่บริเวณ BTS เอกมัย เนื่องจากเดิมในพื้นที่คลองเตยได้มีการรื้อวัดเก่าแก่ เช่น วัดหน้าพระธาตุ และวัดทอง และยกมาสร้างขึ้นใหม่ชื่อวัดธาตุทองนั่นเอง และภายหลังการสร้างท่าเรือคลองเตย ประกอบกับเศรษฐกิจที่เน้นขยายตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้มีการเข้ามาของแรงงานจำนวนมาก ทั้งในภาคการก่อสร้าง และในภาคขนส่ง เมื่อการก่อสร้างท่าเรือแล้วเสร็จ ประชากรเหล่านั้นจึงลงหลักปักฐานกันอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ท่าเรือ (ตามแนวสองฟากฝั่งทางรถไฟสายแม่น้ำ) และมีการถ่ายเทเพิ่มเติม เปลี่ยนมือกรรมสิทธิ์กันมากยิ่งขึ้น ด้วยความต้องการที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ ระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจช่วง พ.ศ. 2510 – 2530 นำไปสู่การเกิดชุมชน (แออัด) ขนาดใหญ่ขึ้นและขยายตัวออกไปอย่างไม่มีทิศทาง

        ส่วนพระโขนง เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับพื้นที่คลองเตย เพราะเคยเป็นที่ตั้งเมืองพระประแดงเช่นกัน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังเป็นพื้นที่ที่มีการขุดคลองอย่างกว้างขวาง โดยเกณฑ์ชาวมุสลิมจากมลายูและปัตตานีมาขุดคลอง ทำให้มีชุมชนชาวมุสลิมอาศัยอยู่บริเวณนี้มาจนถึงปัจจุบัน 

คลองพระโขนงเองในอดีตเปรียบเสมือนคลองที่เชื่อมไปสู่คลองอื่นๆ เช่น คลองหนองบอน ที่เชื่อมไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรือจะเป็นคลองประเวศน์บุรีรมย์เชื่อมคลองพระโขนงและคลองด่านออกสู่แม่น้ำบางประกง ทำให้พื้นที่พระโขนงเป็นพื้นที่ที่คึกคักในแง่ของการค้า ตลาดน้ำ กลายเป็นย่านที่ชุมชนหนาแน่น และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคกลาง และค่อยๆ หมดความสำคัญลงภายหลังจากที่ถนนกลายเป็นระบบคมนาคมหลักมากกว่าทางน้ำ ความเป็นเมืองกลืนทำลายวิถีชุมชนท้องไร่ท้องนา เปลี่ยนเป็นหมู่ตึกที่ขาดการพัฒนาร่วมกับชุมชนอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

         นี่จึงเป็นตัวอย่างของเขตใหญ่ๆ ในพื้นที่วัฒนา-คลองเตย ที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชนที่มีตั้งแต่ก่อนกรุงเทพมหานคร และสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วยคนไทย คนมอญ และคนมุสลิม พื้นที่เกษตรกรรม ที่ชวนให้นึกถึงอดีตของสังคมที่อยู่ด้วยกันก่อนที่จะทุนนิยมไร้หัวใจย่างกรายเข้ามา

        นอกจากนี้ เรื่องราวของพื้นที่วัฒนา-คลองเตย ยังสะท้อนให้เห็นถึง 2 ชนชั้น ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนและอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่นี้ ได้แก่ ชนชั้นแรงงานที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และอาศัยอยู่รวมกันจนกลายเป็นชุมชนแออัด กับชนชั้นผู้มีอันจะกิน เพราะพื้นที่นี้เป็นที่อยู่อาศัยของ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ผู้มีวิสัยทัศน์ไกล และสร้างปรากฏการณ์ให้วงการธนาคารเมืองไทย, ครอบครัวศิลาอ่อน-ไรวา เจ้าของอาณาจักรอาหาร S&P เครือข่ายร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย หรือจะเป็นบ้านนักการเมืองอย่างบ้านของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น 

เมืองโต ปัญหาขยาย

         อย่างไรก็ตาม ทำเลทองแห่งนี้กลับเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย เนื่องมาจากการพัฒนาแต่เปลือกนอก และขาดความเข้าใจวิถีชุมชน เช่น

        คดีแอซตัน อโศก คอนโดหรูสูง 50 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณแยกอโศกมนตรี โครงการรวมมากกว่า 6.4 พันล้านบาท รวม 783 ยูนิต มีราคาเสนอขาย เริ่มต้น 210,000 บาท/ตร.ม. หรือ เกือบ 7 ล้านบาทต่อยูนิต 

        เหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับใน พ.ศ.2552 ที่ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องมีความผิด 3 ข้อคือ 1. มีการปล่อยให้ลงนามคำสั่งก่อสร้างสถานบันเทิงซานติก้า ใน พ.ศ. 2546  2. การก่อสร้างผิดแบบ และ 3. ปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง การอนุญาตการใช้อาคารสถานที่ จนนำไปสู่การปลด ผอ. เขตวัฒนา จนถึงอดีต ผอ. ที่ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่เขตปทุมวันอีกด้วย

        กรณีฟุตบาทที่เละเทะขาดการซ่อมและไม่ได้รับการดูแลจนชาวเน็ตถ่ายภาพและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย

        ปัญหากลุ่มทุนจีนในคราบนอมินี ที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและเอาเปรียบชาวบ้านในพื้นที่ เห็นได้จากข้อมูลจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ช่วง 6 เดือนแรกของ พ.ศ.2566 มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติรวม 7,338 หน่วย มูลค่า 35,211 ล้านบาท โดยมีการโอนให้ชาวจีนมากที่สุด 3,448 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 16,992 ล้านบาท คิดเป็น 48.3% ขณะที่คนไทยไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นคนไร้บ้าน หรือต้องเช่าที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ทุนจีนได้คุกคามเอาเปรียบคนไทย   เช่น ปิดทางเข้าออกของชาวบ้านและบุกรุกลำรางสาธารณะ แต่เจ้าหน้าที่กลับเพิกเฉย และยังหาวิธีการไม่ให้ชาวบ้านร้องเรียนซ้ำ บริเวณซอยปรีดี 26 ถ.สุขุมวิท71 แขวงตลองตันเหนือ เขตวัฒนา

กรณีเหล่านี้สะท้อนถึง 3 ปัญหาที่ควรจะพูดถึงคือ 

  1. ปัญหาการจัดการผังเมืองที่ล้มเหลว เห็นได้จากกรณีซื้อที่ดินขาดทางเข้าออกจนต้องทำสัญญากับ รฟท. ก่อให้เกิดปัญหาทั้งๆ ที่สร้างคอนโดหรูกว่า 50 ชั้น บ่งบอกถึงการบังคับใช้กฎหมายการเมืองที่ย่อหย่อนจนไม่สามารถควบคุมการสร้างอาคารจนโครงการนี้สร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อย
  2. ปัญหาทุนใหญ่กว่าประชาชน เป็นปัญหาในระดับโครงสร้างที่ค่อยๆ ทำลายวิถีชุมชน ด้วยอำนาจเงิน ทั้งการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ การใช้เงินซื้อพื้นที่ ปิดพื้นที่ชาวบ้านให้กลายเป็นพื้นที่ตาบอดจนต้องยอมขายให้กับตนในราคาถูก การใช้เงินข่มขู่คุกคาม ตลอดจนจ้างทนายเรียกร้องปิดปากชาวบ้านในพื้นที่ดั้งเดิม ทำให้ชาวบ้านไร้หนทางในการต่อสู้กับกลุ่มทุนเหล่านี้เพราะขาดทั้งกำลังทรัพย์และที่พึ่งจากภาครัฐ
  3. ปัญหาของราชการที่ดำเนินการโดยมีขั้นตอนที่วุ่นวาย ช้า และไม่ทันการต่อการแก้ปัญหาให้กับประชาชน และมีเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้องกับการเซ็นอนุมัติโครงการหรือแกล้งไม่เห็นปัญหา อย่างกรณีไฟไหม้ซานติก้าผับ จนเกิดปัญหาค่อยมีการแก้ไขเฉพาะหน้า แต่ก็ไม่ได้รับการจัดระเบียบแบบแผนหรือแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้เป็นระเบียบแบบแผนที่ดีต่อไปในอนาคต  

ทางออกของปัญหา 

         สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เราขอยกโครงการที่น่าสนใจอย่าง Traffy Foudue เป็นแอปพลิเคชันร้องเรียนปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดยที่ประชาชนสามารถร้องเรียนและถ่ายรูปบอกปัญหาผ่านการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ แต่กระนั้นก็ควรต่อยอดไปอีก ในการเร่งรัดเจ้าหน้าที่ทั้งขั้นตอนรับเรื่องและแก้ปัญหาโดยเร็ว รวมทั้งควรจะมีการประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ควรมีการตักเตือนและบทลงโทษที่จริงจัง

        นอกจากนี้ หากไม่สามารถกำกับดูแลเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนในพื้นที่โดยตรงได้ ก็ควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยในการเลือกตั้งผอ. เขตของตนเอง แทนการแต่งตั้งจากภาครัฐที่ไม่เข้าใจปัญหาและไม่คิดจะแก้ปัญหาเพราะตนไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น หรือคิดว่าไม่ใช่พื้นที่บ้านของตนเอง

         การเลือกตั้ง ผอ.เขต หรือการเลือกตั้งระดับแขวง เช่นเดียวกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ที่มีความเข้าใจในพื้นที่ จะทำให้มีการเชื่อมโยงประชาธิปไตยเข้ากับประชาชนในระดับย่อยที่สุด ลดการพึ่งพิงจากภาครัฐให้มากที่สุด ทำให้ชุมชนสามารถขับเคลื่อนตนเอง พัฒนาตนเอง และพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้อย่างเข้าใจและเข้มแข็งมากขึ้นพ ร้อมที่จะต่อสู้กับกลุ่มทุนภายนอก จากพลังของชุมชนได้มากขึ้นอีกด้วย

        เพราะหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจังแล้ว กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองที่พัฒนาแต่ไร้หัวใจและชีวิตของผู้คน ลมหายใจของชุมชนก็จะหายไป จนการระลึกถึงอดีตที่หอมหวานจะเป็นเพียงความฝันสำหรับเมืองนี้เท่านั้น

แหล่งอ้างอิง : matichon / silpa-mag / terrabkk / workpointtoday / thaipbs / pantip / mgronline / thairath

หนังสือ เขต ตลอง มอง เมือง .บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช .สำนักพิมพ์มติชน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า