fbpx

เปิดภูมิหลัง คณะรัฐมนตรี ‘เศรษฐา’ 1 รวมคนเดือนตุลา-เจ้าพ่อ-ผู้รับเหมา

ภายหลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว ก็ได้มีการจัดคณะรัฐมนตรีตามที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงของการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยพรรคเพื่อไทยจะได้โควตารัฐมนตรีทั้งหมด 18 คน พรรคภูมิใจไทยได้ 8 คน พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติได้พรรคละ 4 คน พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคประชาชาติได้พรรคละ 1 คน 

The Modernist ชวนพาผู้อ่านทุกท่าน ย้อนดูภูมิหลังคณะรัฐมนตรีของนายเศรษฐาในรัฐบาลเพื่อไทยครั้งนี้ รัฐมนตรีบางท่านอาจคุ้นหน้าคุ้นตาผู้อ่านมาบ้าง บางท่านเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อน เพียงแต่แค่เปลี่ยนตำแหน่งจากรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งไปอีกกระทรวงหนึ่งเท่านั้น บางคนก็เป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่ในรัฐบาลนี้ บางคนก็อยู่ในแวดวงการเมืองมานาน ฯลฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีใครบ้าง ขอเชิญผู้อ่านได้อ่านไปพร้อม ๆ กันเลย 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 

ภูมิธรรม เวชยชัย 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรรคเพื่อไทย อดีตศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักศึกษาที่เป็นแกนนำในการจัดตั้ง “พรรคจุฬาประชาชน” พรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยที่มีความคิดก้าวหน้าในช่วงประชาธิปไตยไทยเบ่งบาน (2516 – 2519) พร้อมกับหลบหนีเข้าป่าในช่วงของการกวาดล้างนักศึกษา-กลุ่มบุคคลที่มีความคิดก้าวหน้าในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 

นายภูมิธรรม ได้ตัดสินใจออกจากป่าก่อนคำสั่งที่ 66/23 ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พร้อมกับทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมเป็นเวลา 10 ปี จนกระทั่งตัดสินใจจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลังจากนั้นเขาก็ได้พบกับนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต่อมานายทักษิณก็ได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย โดยมีนายภูมิธรรมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรค  

นายภูมิธรรมเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อปี 2548 ต่อมาในปี 2550 พรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค ทำให้เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จนปี 2555 เขาก็กลับเข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไป ปี  2562 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 4  แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวน ส.ส. มากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 

นายภูมิธรรมได้ให้สัมภาษณ์เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 ว่า “เพราะเราปรารถนาที่สุดว่า การจัดตั้งรัฐบาล ถ้าหากว่าสามารถทำได้ในพรรคและสภาผู้แทนราษฎร มันสามารถแก้วิกฤตได้ และนั่นเป็นหนึ่งทางเลือก แต่การคุยกันเราได้พูดชัดเจนว่า ถ้าเป็นไปได้อย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่ไปอย่างนี้ มันมีทางเลือกอีกหลายๆ ทาง ซึ่งเป็นทางเลือกที่พรรคเพื่อไทยต้องจ่ายต้นทุนมาก” 

นายภูมิธรรมได้กล่าวอีกว่า ณ วันนี้พรรคเพื่อไทยตัดสินใจทำทุกอย่างโดยรับผิดชอบและรู้ว่าต้องจ่ายต้นทุนสูง ถ้าได้ผลอย่างที่หวัง ก็คุ้มค่า ส่วนการตัดสินใจของพรรคจะผิดหรือถูกก็อยู่ในดุลยพินิจของประชาชน ถ้าผลจะเป็นอย่างไร เพื่อไทยก็น้อมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น 

สมศักดิ์ เทพสุทิน 

รองนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ทายาทนักธุรกิจเจ้าของบริษัทสุโขทัยยานยนต์ และ หจก.สุโขทัยเอ็นจีเนียริง เข้าสู่เวทีระดับชาติครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 26 ปี โดยเป็น ส.ส. สุโขทัย พรรคกิจสังคม จนกระทั่งตนเองได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ปี 2535 

นายสมศักดิ์ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งหมด 14 ครั้ง แบ่งเป็นสมัยสังกัดพรรคกิจสังคม เป็นรมช. สาธารณสุข 2 ครั้ง, รมช. คมนาคม 4 ครั้ง และ รมช. อุตสาหกรรม พรรคไทยรักไทย รมว. อุตสาหกรรม, รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รมว. เกษตรและสหกรณ์, รมว. ท่องเที่ยวและกีฬา, รมว. แรงงาน และรองนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ 

“ผมถนัดเป็นฝ่ายรัฐบาล” นี่คือคำพูดที่มาจากปากของเขา เมื่อมองย้อนกลับไปในชีวิตทางการเมืองของเขาก็พบว่า ในช่วงชีวิตที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้ง 14 ครั้งของเขานั้น เขาเคยโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในคดียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และเป็นอดีต ส.ส. พรรคมัชฌิมาธิปไตยที่ย้ายเข้าไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนเนวินเพื่อตั้งพรรคภูมิใจไทย สำหรับสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 

ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยเป็นฝ่ายค้าน และด้วยคำพูดของเขา “ถนัดเป็นฝ่ายรัฐบาล” ทำให้เขาต้องดิ้นรนหาทางเข้าร่วมกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ได้ จนกระทั่งการยุบสภาในปี 2556 นายสมศักดิ์ก็ได้พากลุ่มมัชฌิมากลับพรรคเพื่อไทย พร้อมกับลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ทว่าการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวถูกตัดสินว่าเป็นโมฆะ 

ในการเลือกตั้งปี 2562 นายสมศักดิ์ได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เราจะต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้” นี่คือประโยคที่นายสมศักดิ์พูดไว้ไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้ง จนกระทั่งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมจัดตั้งรัฐบาล ส่วนนายสมศักดิ์ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

จนกระทั่งปี 2566 นายสมศักดิ์ตัดสินใจย้ายไปพรรคเพื่อไทย เขาให้เหตุผลว่า “เพราะวันนี้ดิน ฟ้า อากาศเปลี่ยน เราก็ต้องดำเนินการให้เข้ากับสภาพอากาศ” พร้อมทั้งเป็นหนึ่งในแกนนำหาเสียงให้กับพรรคเพื่อไทย จ. สุโขทัย บ้านเกิดของเขา พรรคเพื่อไทยแลนสไลด์ครบทั้ง 4 เขต 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พรรคเพื่อไทย อาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์อุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา เข้าสู่เวทีการเมืองครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ปี 2541 โควตาพรรคกิจสังคม โดยได้รับการสนับสนุนจากนายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ในขณะนั้น  

จนมาถึงการเลือกตั้งปี 2544 นายสุริยะ ได้ย้ายเข้าร่วมสังกัด พรรคไทยรักไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น โดยนายสุริยะเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 12 ต่อมาในปี 2545 ได้รับความไว้วางใจจนได้ตำแหน่งในพรรคไทยรักไทย ในฐานะเลขาธิการพรรค แทนที่ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ 

ในการเลือกตั้งปี 2562 เขาได้เข้าร่วมกับพรรคประชารัฐพร้อมกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งกลุ่มการเมืองของเขามีชื่อเรียกว่า “กลุ่ม 3 มิตร” และกลุ่มดังกล่าวนี้ก็ได้สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 

จนกระทั่งปี 2566 นายสุริยะก็ย้ายกลับพรรคเพื่อไทยพร้อมกับนายสมศักดิ์ และยังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงเกรด AAA ไปครอง 

นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคเพื่อไทย สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีการศึกษา 2529 และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปี 2542 

ก่อนเข้าสู่วงการการเมือง นพ.ชลน่าน เคยเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ในระหว่างปี 2538 – 2543 ต่อมาได้เข้ามาทำงานการเมือง เป็น ส.ส. น่าน สังกัดพรรคไทยรักไทย 

ในปี 2547 นพ. ชลน่าน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปี 2548 เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) นอกจากนั้น ยังได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในระยะหนึ่งอีกด้วย  

นพ.ชลน่านเคยได้รับฉายาจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาว่า “ดาวสภา” เพราะ นพ.ชลน่าน ได้อภิปรายโดยมุ่งเอาข้อมูลมากกว่าการใช้วาทศิลป์ กระทั่งต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2555 

หลังจากการเลือกตั้งในปี 2566 นพ.ชลน่าน มีประเด็นกับ น.ต. ศิธา ทิวารี แกนนำพรรคไทยสร้างไทย กรณีวันแถลงข่าวลงนาม MOU (22 พฤษภาคม 2566)  ที่ น.ต. ศิธา ตั้งคำถามให้ 8 พรรคร่วมเซ็นแอดวานซ์ เอ็มโอยูได้หรือไม่ โดย นพ.ชลน่าน ฟาดกลับไป ว่าเสียมารยาท เพราะไม่ได้เป็นสื่อ แต่กลับมาถามคาดคั้น จนเกิดประโยค “ถ้าชกได้ ผมชกไปแล้ว” 

นอกจากนี้ กรณีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้ร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลจนเกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์จากสังคมเป็นอย่างมาก โดย นพ. ชลน่านก็ได้มาแถลงการณ์ให้สื่อมวลทราบถึงเหตุผลต่างๆ ที่ต้องจับมือกับอดีตขั้วรัฐบาลเดิม และก็ได้มีสื่อมวลชนถามถึงประโยคหรือคำพูดที่เคยกล่าวไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่ง นพ.ชลน่าน ก็ได้ตอบไปว่า “ทั้งหมดคือเทคนิคการหาเสียง” สร้างความไม่พอใจให้กับสังคมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้สังคมยังได้มีการขุด digital footprint ของ นพ. ชลน่านที่กล่าวไว้ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิม เขาจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค 

และวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นพ. ชลน่าน ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง ส.ส. อยู่และเตรียมรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

สุทิน คลังแสง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พรรคเพื่อไทย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (มหาวิทยาลัยมหาสารคามในปัจจุบัน) ระดับปริญญาโท สาขาไทยคดีศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ Doctor of Philosophy Magadh University ประเทศอินเดีย นอกจากนั้นยังผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย จากสถาบันพระปกเกล้า 

นายสุทิน เข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี 2544 และ 2548 ต่อมาจึงได้มาสมัครในระบบเขตเลือกตั้งที่จังหวัดมหาสารคาม ในนามพรรคพลังประชาชน ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย ตามลำดับ ในปี 2551 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน 

ในปี 2562 นายสุทิน ได้รับเลือกเป็น ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ประธานวิปฝ่ายค้าน) โดยเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการทำหน้าที่อภิปรายในสภา ในการตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายครั้ง เช่น การอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี การกล่าวอภิปรายในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 การอภิปรายระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา การอภิปรายพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับ  

ในปี 2563 นายสุทิน คลังแสง ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป 2566 นายสุทินได้รับเลือกตั้งเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พรรคเพื่อไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 

นายประเสริฐเป็น ส.ส. นครราชสีมา มาตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และยาเสพติด ในสภาผู้แทนราษฎร, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นต้น 

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พรรคเพื่อไทย เธอเป็นลูกสาวคนโตของ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล (กำนันป้อ) ส.ส.บ้านใหญ่ พรรคเพื่อไทย จ. นครราชสีมา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และเป็นหนึ่งในนักการเมืองหญิงที่ทำหน้าที่ดูแลการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยสุดาวรรณ ยังเคยมีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด มาแล้ว 

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พรรคเพื่อไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยโคสต์ไลน์ สหรัฐอเมริกา 

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

อนุทิน ชาญวีรกูล

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ผู้ก่อตั้งบริษัท “ชิโน-ไทย” บริษัทรับเหมาก่อสร้างลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Hoftra สหรัฐอเมริกา 

นายอนุทิน เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองตั้งแต่ปี 2547 โดยเขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลทักษิณ 2 จนกระทั่งปี 2549 มีการรัฐประหาร นายอนุทินในฐานะกรรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จึงเป็น 1 ใน 111 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เมื่อครบกำหนด 5 ปี อนุทินมาเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต่อจากนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดาของเขาตั้งแต่ ตุลาคม 2555 โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายเนวิน ชิดชอบ เป็นเลขาธิการพรรค 

หลังเลือกตั้งปี 2562 แม้พรรคภูมิใจไทยจะเป็นพรรคขนาดกลาง ด้วยคะแนนที่นั่ง ส.ส. 51 คน แต่อำนาจต่อรองสูง สามารถเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับเลือกกระทรวงเกรดเอไปครอบครองหลายกระทรวง โดยอนุทินเองได้นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ท่ามกลางความท้าทายที่อนุทินต้องเผชิญโดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ที่นายอนุทินได้พูดออกไปว่า “โควิดกระจอก” จนทำให้ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา 

พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย น้องชายของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง รับราชการตำรวจ ตั้งแต่ปี 2527 ที่สำนักงานเลขานุการ กรมตำรวจ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่น่าสังเกตว่าจังหวะชีวิตในการรับราชการตำรวจ พอการเมืองเปลี่ยนขั้ว ก็โดนสกัดไปด้วยเช่นกัน 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้กลายเป็นประเด็นต่อสังคมจากกรณีคดีบอส วรยุทธ อยู่วิทยา โดยอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง บอส วรยุทธ ในข้อหาเมาแล้วขับ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงการสั่งคดีของตำรวจและอัยการ ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเป็นผู้ลงนามแทน ผบ.ตร. ในการไม่เห็นแย้ง จนทำให้คดียุติลงทันที  

โดยเรื่องนี้ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งตั้งกรรมการสอบการสั่งคดีดังกล่าว มีนายตำรวจเกี่ยวข้องร่วม 16 นาย รวมถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ด้วย สุดท้ายผลการพิจารณาออกมาว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูนเพียงคนเดียว ที่รอดพ้นข้อครหา  

โดยคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูนไม่มีความบกพร่องในการสั่งคดีโดยไม่แย้งความเห็นอัยการ ​เนื่องจากการพิจารณาจะต้องพิจารณาตามข้อมูลและหลักฐานภายในสำนวนตามที่อัยการส่งมาเท่านั้น ไม่สามารถนำหลักฐานใหม่มาพิจารณาได้ และการพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญตามกฎหมายแต่ละชั้น ก่อนประมวลเรื่องมาถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน​ ก็ไม่มีการเสนอความเห็นแย้งแต่อย่างใด พล.ต.อ.เพิ่มพูน จึงมีความเห็นทางคดีพ้องตามอัยการ 

เมื่อปรากฎชื่อของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ตามโผ ครม.ว่าจะเข้ามา นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นอกจากจะเป็นโจทย์ยากที่มีความท้าทายในการทำงานรออยู่  เสียงสะท้อนจากครูทั่วประเทศ  ที่มีไปถึง “ว่าที่” เจ้ากระทรวงคนใหม่ ว่าอยากให้เข้าใจปัญหาในระบบการศึกษาของไทยที่สะสมมานาน และให้เข้ามาเร่งผลักดันด้านการศึกษาให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดงานเอกสาร แล้วคืนครูสู่ห้องเรียนให้ได้ แก้หลักสูตรที่ล้าหลัง ฯลฯ 

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พรรคภูมิใจไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ให้บริการด้านพลังงาน โดยเฉพาะธุรกิจปั๊มน้ำมัน 

พิพัฒน์ เริ่มต้นงานการเมืองโดยการชักชวนของนายวัฒนา อัศวเหม เมื่อครั้งก่อตั้งพรรคมหาชน เมื่อปี 2541 เพื่อสร้างฐานการเมืองในพื้นที่ภาคใต้และเป็นกรรมการบริหารพรรค ในปี 2562 หลังการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยได้เข้าร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากนี้เขายังเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2564 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และเป็นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค 

ศุภมาส อิศรภักดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พรรคภูมิใจไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าสู่วงการการเมืองครั้งแรกในการเป็น ส.ส. ของพรรคไทยรักไทย เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ต่อมาในปี 2557 ได้ลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 9 และในปี 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ศุภมาส อิศรภักดี เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย ในตำแหน่งโฆษกพรรค 

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พรรคพลังประชารัฐ น้องชายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

เริ่มรับราชการตำรวจ ในตำแหน่ง รอง สว. กองบังคับการการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, รอง สว. กองทะเบียน แล้วย้ายมาดูงานกำลังพลที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.), สว. ธุรการ กองกำกับการกำลังพล กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการสอบสวนกลาง, ผกก.5 และ ผกก. 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง, ผู้บังคับการกองพลาธิการ กรมตำรวจ, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ  

พล.ต.อ. พัชรวาท ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 35  ระหว่างวันที่ 8 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 โดยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 3 คนได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองไทยในปี 2548 – 2553 

นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น อาทิ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี 2549 ,กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และในปี 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 และจบนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 ร.อ.ธรรมมนัส เปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง เดิมชื่อว่า มนัส ก่อนเปลี่ยนเป็น ยุทธภูมิ แล้วเปลี่ยนกลับเป็น มนัส, พชร และธรรมนัส เคยเปลี่ยนนามสกุลจาก โบกพรหม เป็น พรหมเผ่า ชื่อเล่นตั้งแต่เกิดชื่อ นัท แต่สื่อมักเรียกว่า “ผู้กองตุ๋ย” จากกรณีคดีฆาตกรรม ดร.พูลสวัสดิ์ จิราภรณ์ โดยก่อน ร.อ. ธรรมนัสและลูกน้องจะรุมซ้อม ดร.หนุ่มจนเสียชีวิต ยังได้ทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้เสียชีวิตอีกด้วย 

นอกจากนี้ ร.อ. ธรรมนัสยังถูกดำเนินคดีที่ประเทศออสเตรเลียในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด หลังจากนั้น ร.อ.ธรรมนัส ผันตัวมาทำธุรกิจด้านรักษาความปลอดภัย ในนาม บริษัท ธรรมนัส การ์ด (ปัจจุบันขายกิจการแล้ว) ร่วมกับ พล.อ.ไตรรงค์ อินทร์ทัต และชนะการประมูลบริหารตลาดคลองเตย ในนามบริษัท ลิเกิ้ล โปรเฟสชั่นแนล จำกัด 

ในปี 2542 นั้นเองได้เริ่มเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยอยู่เบื้องหลังการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครของพรรคไทยรักไทย และในปี 2562 ร.อ.ธรรมนัส ถูกชักชวนจากผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐให้มาร่วมงาน ตำแหน่ง ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ และลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดพะเยา จนได้รับความไว้วางใจให้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ร.อ.ธรรมนัส ได้กลายเป็นที่สนใจในสังคมอีกครั้งจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2563 โดยเขาได้ตอบข้อกล่าวหาที่ศาลออสเตรเลียเคยตัดสินเมื่อปี 2537 ว่ามีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด ก่อนเขาจะชี้แจงว่า ตนเองไม่ได้รับสารภาพ แต่เป็นการเจรจราก่อนพิจารณาคดี จนวลี “มันคือแป้ง” อันโด่งดังในปี 2563 และในปี 2564 ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายน 2564 โฟกัสของศึกซักฟอกหาใช่เกมในห้องประชุม แต่กลับเป็นเกมนอกห้องประชุมที่ร้อนแรง จากการเปิดเกมรุกของ ร.อ. ธรรมนัส ท่ามกลางกระแสข่าวรวมเสียงโหวตล้มเก้าอี้นายกฯ ก่อนที่จะลุกลามถึงพี่ใหญ่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องออกหน้าเคลียร์ปัญหา กระทั่งผลลัพธ์คือ พล.อ. ประยุทธ์ ได้อยู่ต่อ 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พรรครวมไทยสร้างชาติ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา จบการศึกษาระดับปริญญาโท กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LLM) และปริญญาโทอีกใบ ด้านกฎหมายเปรียบเทียบ (MCL) ที่มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา 

นายพีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อนเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 3 กรุงเทพมหานคร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นฝ่ายค้าน ในปี 2550 นายพีระพันธุ์ ถูกรับเลือกให้ทำหน้าที่เป็น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเงา และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จริงๆ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551 

ขณะที่ผลงานอันโดดเด่น คือ การสอบสวนการทุจริต “ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท” ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท ส่วนจุดพลิกผันทางการเมือง เกิดขึ้นเมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์ ทำการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายอภิสิทธิ์ ภายหลังแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ได้ ส.ส.เพียง 52 ที่นั่ง โดยมีแคนดิเดตร่วมท้าชิงคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายกรณ์ จาติกวณิช นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  

แต่คนที่ได้รับการคัดเลือกคือ นายจุรินทร์ ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2562 นายพีระพันธุ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะมีชื่อถูกแต่งตั้งให้ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 และย้ายสังกัดเข้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งสร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก 

จากนั้นในเดือนเมษายน 2565 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่ในเดือนสิงหาคม 2565 จะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีเป้าหมายคือ จะรวบรวมคนทำงานทั้ง ส.ส. รุ่นใหม่ รุ่นเก่ามารับใช้ประชาชน  

ภายหลังจากการเลือกตั้ง 2566 นายพีระพันธุ์ก็ได้ตัดสินใจออกลาออกจากการเป็น ส.ส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยให้เหตุผลว่า “ผมต้องการอยู่ทำงานกับท่านนายกฯ เพราะรักและศรัทธาท่าน และยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการให้เรียบร้อย ก็เท่านั้นครับ ไม่มีแผนซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไรตามที่วิเคราะห์วิจารณ์กันไปใหญ่โต” ก่นอที่นายพีระพันธุ์จะมีชื่อในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดังกล่าวข้างต้น 

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พรรครวมไทยสร้างชาติ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จบการศึกษาปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา เข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. นครศรีธรรมราช แทน นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น ส.ส. อีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมัยที่ 3  

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2566 น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง เป็น ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ 

วราวุธ ศิลปอาชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นบุตรของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยและอดีตนายกรัฐมนตรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน และระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน 

นายวราวุธ เข้าสู่การเมืองครั้งแรกในการเป็น ส.ส. สุพรรณบุรี ในปี 2544 สังกัดพรรคชาติไทย และได้รับเลือกจนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคชาติไทยและนายวราวุธถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี หลังจากนั้นเขาก็เข้าร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนา โดยได้รับเลือกเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรค และในการเลือกตั้ง 2562 พรรคชาติไทยพัฒนาได้เข้าร่วมกับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายวราวุธได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทวี สอดส่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ จบการศึกษานักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 37 และเรียนต่อปริญญาโทสาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านชีวิตการงาน รับราชการตำรวจเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2527 มีผลงานที่สุด คดีแก๊งล็อคหวยของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2544 ที่สามารถนำเครือข่ายผู้กระทำผิดเครือกลม บางกรวย เข้ามาจำคุกได้  

ต่อมาใน 2547 พ.ต.อ.ทวี ถูกโอนมาเป็นข้าราชการพลเรือน รั้งตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยดูแลคดีสำคัญต่าง ๆ หลายคดีด้วยกัน เช่น คดีเช่าตึกทีพีไอทาวเวอร์, คดีปั่นหุ้นปิคนิค, คดีทุจริตขายสินทรัพย์ขององค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน และคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตของกลุ่ม พ.ต.ท.ทักษิณ 

ปัจจุบัน พ.ต.อ.ทวี เป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ หลังจากที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคคนก่อนได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 

พวงเพ็ชร ชุนละเอียด

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเคมีและชีววิทยา จาก North Texas State University สหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จาก Southeastern Oklahoma State University สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต 

นางพวงเพ็ชร เริ่มเข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2539 แจ้งเกิดในตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดเลย และเริ่มเป็น ส.ส. จังหวัดเลย ในนามพรรคชาติพัฒนา ในปี 2538 ก่อนจะลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ในปี 2548 ได้เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีและเลขานุการรัฐมนตรีหลายกระทรวง โดยต่อมาถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีจากการเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและกลับมาทำงานการเมืองอีกครั้งในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

ในปี 2556 และในปี 2561 ดร.พวงเพ็ชร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักษาชาติ แต่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค จึงไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จึงกลับมาทำงานกับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 ดร.พวงเพ็ชร จึงเป็นคนทำงานเบื้องหลังทางการเมืองที่สำคัญคนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยจนปัจจุบัน 

‘รัฐมนตรีช่วยว่าการ’ ที่มีประวัติน่าสนใจ

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พรรคเพื่อไทย เป็นบุตรชายของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี (สมัยนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ (MBA) จากวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา 

นายจุลพันธ์เข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรกโดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรก ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ในนามพรรคไทยรักไทย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ โดยสามารถเอาชนะยงยุทธ สุวภาพ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น ส.ส. คนเดียวของประชาธิปัตย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาเป็นครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 30 ปี 

นายจุลพันธ์ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่หัวใจประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ โดยในวันที่ 29 เมษายน 2554 เขาได้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ที่บริเวณสนามโรงเรียนบ้านวังจ๊อม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ต่อมาในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 เขาได้รับตำแหน่ง “รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย”  มีบทบาทสำคัญในการอภิปรายผลงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาโดยตลอด โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจเป็นพิเศษ 

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ขณะที่พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้พรรคคู่แข่งในหลายพื้นที่ จุลพันธ์ยังสามารถคว้าชัยชนะอย่างเหนียวแน่น ได้เข้าเป็น ส.ส.ในสภาเป็นสมัยที่ 5 โดยเขาเป็นหนึ่งในสอง ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

ชาดา ไทยเศรษฐ์ 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พรรคภูมิใจไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายชาดา เป็นนักการเมืองท้องถิ่น เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี จนปี 2543 เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคถิ่นไทย และปี 2550 ได้รับเลือกเป็น ส.ส. จังหวัดอุทัยธานี สังกัดพรรคชาติไทย  และปี 2554 สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา 

ระหว่างนั้น นายชาดาเคยดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการงบประมาณ ในปี 2561 ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี เขต 2 แต่วีรกรรมที่หลายคนยังจดจำกันได้ ก็คือ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เกิดเหตุชุลมุน ที่นายชาดา เดินเข้าไปต่อว่า และตบหน้า นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ท่ามกลางความตกตะลึงของ ส.ส. 

และอย่างที่รู้กันดีว่านายชาดา มีฉายาเจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง จึงมีชีวิตที่ผาดโผนกว่านักการเมืองธรรมดา เคยถูกจับกุมในข้อหาจ้างวานฆ่า สมเกียรติ จันทร์หิรัญ เลขานุการของประแสง มงคลศิริ ส.ส.พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2546 แต่สุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้องปี 2548 และวันที่ 23 มีนาคม 2560 ตำรวจ และ ทหารเข้าค้นบ้านและแจ้งข้อหาพกอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง  

นอกจากจะเข้าไปพัวพันกับคดีต่างๆ แล้ว นายชาดา เคยถูกลอบยิงเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ที่ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แต่กระสุนถูกนายฟารุต ลูกชาย เสียชีวิตบนรถของนายชาดา เพราะในตอนนั้นตัวนายชาดานั่งอยู่บนรถของเพื่อน 

นายชาดาได้กลายเป็นที่สนใจต่อสังคมอีกครั้ง ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 โดยนายชาดาได้กล่าวว่า “ท่านบอกตัวเองเป็นฝั่งประชาธิปไตย อีกฝ่ายจะเป็นฝั่งอะไร ไม่ใช่ฝั่งประชาธิปไตยหรือ เป็นฝั่งโจรหรือ แต่ถ้าเป็นโจรก็ยอม เพราะเป็นโจรที่รักชาติ ปกป้องสถาบันด้วยหัวใจ ถ้าไม่ได้เมตตาจากสถาบัน พวกท่านคงไม่ได้เลือกตั้ง” 

สันติ พร้อมพัฒน์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคพลังประชารัฐ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

นายสันติประกอบธุรกิจ เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท นวพัฒนาธานี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภท พัฒนาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร และชิ้นส่วนรถยนต์ ต่อมาได้เข้ามาทำงานการเมืองตั้งแต่ ปี 2537 โดยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) และเป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ 

นายสันติเป็น “หัวหน้ามุ้งเพชรบูรณ์” ย้ายจากบ้านหลังเก่าคือพรรคเพื่อไทย มาอยู่ในบ้านพลังใหม่พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง 2562 คอนเนคชั่นการเมืองจึงแน่นปึกกับทุกขั้ว เคยอยู่ในกลุ่ม 4 ช. ก๊วนเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  

แต่หลังจากเกิดปฏิบัติการโค่นนายกรัฐมนตรี ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ สิงหาคม – กันยายน 2564 สันติขอแยกวง ขยับกายไปยืนเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เมื่อกลุ่ม 4 ช. แตกเป็นเสี่ยง พร้อมกับความพ่ายแพ้ของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูกปลดออกจากเก้าอี้รัฐมนตรี ท้ายที่สุด ร.อ.ธรรมนัส พลิกเกมเหนือเมฆ ขน 21 ส.ส. ออกจากพรรคพลังประชารัฐ 

อนุชา นาคาศัย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าสู่วงการการเมืองครั้งแรกโดยการเป็น ส.ส. ชัยนาท ของพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544 ก่อนที่จะย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2563 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชาได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและส.ส. ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบันสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ 

ผู้เขียน : นาย ณัฐชนน จงห่วงกลาง 

อ้างอิง : themomentum 1 / thematter / thansettakij 1 2 3 / thepeople / thestandard / thairath 1 2 3 4 5 / pptvhd36 1 2 3 4 5 6 / waymagazine / nationtv / chartthaipattana / kapook / thereporters / matichon / prachachat 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า