fbpx

จากดินแดนแห่งพันธสัญญาสู่สมรภูมิเลือด ย้อนรอยเหตุขัดแย้ง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์”

การสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาส (ปาเลสไตน์) และอิสราเอล ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วโลก จนนานาชาติต่างจับตาไปยังดินแดนแห่งนี้ ที่กำลังเกิดสงครามอันดุเดือด และคร่าชีวิตผู้คนบริสุทธิ์จำนวนมาก ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในแง่ของการท่องเที่ยว การส่งออก และทรัพยากรธรรมชาติอย่างก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ที่ปฏิเสธไม่ได้และได้สร้างความกังวลให้กับคนไทย ณ ขณะนี้คือเรื่องของแรงงานคนไทยที่เดินทางไปทำงาน ณ ประเทศอิสราเอล บางคนไม่รู้ชะตาชีวิต ถูกจับเป็นเชลยและเสียชีวิต

สงครามไม่เคยก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อมนุษยชาติ นอกจากความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินตลอดมา จริงอยู่ที่ว่าความรุนแรงไม่ควรเกิดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสิ้น และการจะรับมือกับวิกฤตเช่นนี้ ควรพิจารณาไตร่ตรองข้อมูลอย่างถี่ถ้วน ก่อนจะลงมือประณามฝ่ายใด ด้วยเหตุนี้ The Modernist จึงอยากจะพาทุกคนย้อนไปยังรากเหง้าของปัญหาการเมือง ที่เป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งกินเวลายาวนานกว่าที่หลายคนคิด

ตำนานกษัตริย์โซโลมอนผู้ยิ่งใหญ่

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นเรื่องความขัดแย้ง ควรทำความเข้าใจเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ของอิสราเอลก่อน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ชาวยิวหรือชาวอิสราเอลก็มีความเป็นมาที่คลุมเครือเกี่ยวกับชาติของตนเอง และในตำนานต่างๆ ก็มักจะสอดแทรกอภินิหาร เพื่อสร้างความรู้สึกยิ่งใหญ่ให้กับชาติของตนเอง

ตำนานของชาวยิว เล่าถึงการกำเนิดอาณาจักรของชาวยิวอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อครั้งที่โมเสสพาชาวยิวอพยพหนีข้ามทะเลจากอียิปต์มาสร้างอาณาจักรของตนเอง และมีกษัตริย์ขึ้นปกครองหลายพระองค์ โดยยุคทองของอาณาจักรยิวอยู่ในสมัยของกษัตริย์โซโลมอน หากเราเชื่อตามพระคัมภีร์ไบเบิล  ก็ต้องถือว่าโซโลมอนมีตัวตนจริง เขาเป็นลูกของกษัตริย์ดาวิด (ผู้สังหารยักษ์โกไลแอธ) ยุคของโซโลมอนเป็นยุคที่รุ่งเรืองมากทั้งในแง่การทหาร รวมถึงยุทธศาสตร์การค้า ที่ทำให้อาณาจักรของยิวมีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด

แต่หลังจากสิ้นกษัตริย์โซโลมอนนั้น อาณาจักรยิวได้เกิดความแตกแยก ด้วยเหตุมาจากคำสาปของพระเจ้า เพราะชาวยิวยุคหลังล้วนไม่ศรัทธาต่อพระเจ้าองค์เดียว แต่กลับไปนับถือพหุเทวนิยม รวมถึงการนับถือรูปปั้น ทำให้อาณาจักรฮีบรูของชาวยิวแตกแยกเสื่อมสลายลง และต่อมาต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็น เปอร์เซีย หรือ อัลคาเดีย

ใต้อิทธิพลกรีกสู่ร่มจักรวรรดิอิสลามและสงครามครูเสด

ในสมัยต่อมาภายหลังอาณาจักรกรีกที่นำโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กรีธาทัพบุกเข้าเอเชียและมีชัยชนะเหนือเปอร์เซียในปีก่อน ค.ศ.333 ทำให้พวกกรีกเข้ามามีอำนาจในภูมิภาคนี้ หลังจากนั้น เมื่อกรีกหมดอำนาจลง อาณาจักรโรมันจนถึงอาณาจักรไบแซนไทน์เข้ามามีอำนาจแทนในบริเวณอิสราเอล และด้วยวัฒนธรรมประเพณีและการนับถือเทพเจ้าที่แตกต่างออกไปจากผู้ปกครอง ชาวยิวกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของอาณาจักร

เมื่อเข้าสู่ยุคกลาง ธงพระจันทร์เสี้ยวก็เริ่มปรากฏในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง ศาสนาอิสลามเริ่มขยายตัวขึ้น หลังจากนบีมูฮัมมัดประกาศก่อตั้งศาสนาในภูมิภาคอาหรับ ใต้ร่มธงของของราชวงศ์อุไมยะห์ เผยแพร่อิทธิพลและศาสนาเข้ายึดครองอาณาจักรต่างๆ ด้วยดาบและม้า กลืนกินฟากตะวันตกถึงสเปน ส่วนภาคตะวันออกจรดราชวงศ์ถังของจีน 

นอกจากนี้ จักรวรรดิอิสลามเองยังสามารถขยายอาณาเขตยึดครองดินแดนที่เป็นเขตอิทธิพลของอาณาจักรไบแซนไทน์เข้าไปด้วย เพราะขณะนั้นจักรวรรดิไบแซนไทน์กำลังเสื่อมอำนาจลง ทำให้มีชาวอาหรับและผู้นับถือศาสนาอิสลามมาตั้งรกรากมากขึ้นในบริเวณที่ตั้งของประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน ภายหลังเมื่อถูกกองทัพอิสลามกรีธาทัพเข้ายึดครองแผ่นดิน ชาวยิวก็กลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ภายใต้ผู้ปกครองของราชวงศ์อิสลามตั้งแต่อุไมยะห์เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่พิพาททั้งในแง่ศาสนา ไม่เพียงแค่ยิว แต่ยังเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์อีกด้วย เพราะศาสนาคริสต์เชื่อว่ามีเรื่องราวของพระเยซูมากมาย ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันตรึงกางเขน ที่เชื่อว่าบริเวณที่ถูกตรึงกางเขนคือโบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างคริสต์ศาสนากับอิสลามจนกลายเป็นสงครามครูเสด

ยุคใต้เงามองโกลถึงสมัยจักรวรรดิออตโตมัน

ต่อมา กองทัพม้าจากโลกตะวันออก คือมองโกลราชวงศ์หยวน บุกเข้ามายังดินแดนแห่งนี้ และตั้งดินแดนอิลข่านขึ้นปกครองดินแดนแถบตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1256 ต่อมายุครุ่งเรืองของจักรวรรดิออตโตมัน (เติร์ก) สมัยสุลต่านสุไลมาน ค.ศ.1520 -1566 ก็ได้บุกเข้ายึดพื้นที่นี้อีกครั้ง และผู้ปกครองบริเวณนี้ส่วนใหญ่ก็หันมานับถือศาสนาอิสลาม ทำให้พื้นที่นี้ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมันเป็นต้นมา มีการขยายตัวของศาสนาอิสลามทั่วภูมิภาค จนอดีตของยิวในดินแดนพันธสัญญาค่อยๆ ถูกลบเลือนไป กลายเป็นชนกลุ่มน้อย ขณะที่ชาวอาหรับเข้าแทนที่ โดยที่ชาวออตโตมันผู้ปกครองตั้งชื่อดินแดนแห่งนี้ว่าปาเลสไตน์ ทำให้ชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ได้ชื่อว่าอาหรับปาเลสไตน์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สงครามโลกครั้งที่ 1 ฮิตเลอร์ และการก่อตั้งประเทศอิสราเอลโดยมีอังกฤษหนุนหลัง

แต่เมื่ออิทธิพลของออตโตมันเสื่อมลง เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี ค.ศ.1914 ออตโตมันอยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งนำโดยปรัสเซีย และออสเตรีย-ฮังการี ทำสงครามกับฝ่ายภาคี ซึ่งมีประเทศแกนนำคืออังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา โดยอังกฤษได้บุกเข้าทำสงครามกับออตโตมันบริเวณตะวันออกกลาง และได้ทำสัญญากับชาวยิวว่า หากให้ความช่วยเหลือในการสู้รบกับชาวออตโตมัน อังกฤษจะช่วยเหลือชาวยิวในการก่อตั้งประเทศและประกาศอิสรภาพจากออตโตมัน ในที่สุดอังกฤษซึ่งอยู่ฝ่ายภาคีได้รับชัยชนะ และจักรวรรดิออตโตมันที่อยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลางล่มสลายลง ทำให้ดินแดนปาเลสไตน์ที่เคยเป็นของจักรวรรดิออตโตมัน ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ อังกฤษจึงทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาวยิว โดยอนุญาตให้ชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ได้

ภายหลังสงครามโลกครั้ง 1 จบลงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มต้นในปี ค.ศ.1939 ขณะที่ฮิตเลอร์ขึ้นปกครองเยอรมนี และในการเผยแพร่อิทธิพลไปทั่วยุโรปของระบอบนาซีนั้น  หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญคือการกำจัดชาวยิว ทำให้ยิวต้องอพยพหนีการสังหารหมู่ของฮิตเลอร์เข้าสู่ดินแดนปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้น

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในปี ค.ศ.1945 ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ก็เริ่มมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) ขึ้น หนึ่งในการดำเนินการของสหประชาชาติ คือการระงับข้อพิพาทต่างๆ ด้วยสันติวิธี ในกรณีของยิวและอาหรับที่ต่อสู้ชิงพื้นที่ปาเลสไตน์ ใน ค.ศ. 1947 สหประชาชาติมีมติให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือรัฐของชาวยิวโดยเฉพาะ และอีกส่วนคือรัฐของชาวอาหรับ โดยมีกรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของทั้ง 2 ชนชาติ เป็นเมืองเป็นกลาง ไม่ตกอยู่ในความครอบครองของทั้งยิวและอาหรับ และก่อตั้งประเทศอิสราเอล ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 

ยุคสันนิบาตอาหรับ ความขัดแย้ง สงคราม ถึงฮามาส

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายๆ ชาติในอาหรับที่ได้รับเอกราช รวมกลุ่มกันจัดตั้งสันนิบาตอาหรับ แต่ใช่ว่าปัญหาระหว่างชาวยิว (อิสราเอล) และอาหรับจะจบลงอย่างง่ายดาย เพราะปาเลสไตน์ก็ไม่พอใจการแบ่งดินแดนของตนที่อยู่อาศัยมานานให้กับอิสราเอล ขณะที่อิสราเอลก็รุกรานดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ยึดเป็นพื้นที่ทำการเกษตรกรรม แหล่งทรัพยากร พื้นที่สำคัญและที่อยู่อาศัยเดิมของชาวปาเลสไตน์ มาเป็นของตนเอง จึงมีขบวนการของชาวปาเลสไตน์ที่ลุกขึ้นจับอาวุธขึ้นสู้กับอิสราเอล เช่น 

กลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ที่เคร่งศาสนาอิสลามที่ปกครองฉนวนกาซา โดยพวกเขาสาบานว่าจะทำลายล้างอิสราเอล และได้ทำสงครามกับอิสราเอลหลายครั้งนับตั้งแต่เข้ายึดครองฉนวนกาซาในปี 2007 

กลุ่มฟะตะห์ ที่นำโดยยัสเซอร์ อาราฟัต เป็นพรรคการเมืองและอดีตกลุ่มกำลังกึ่งทหาร ที่ทำการสู้รบกับอิสราเอลมาอย่างยาวนาน 

กลุ่มอิสลามอื่นๆ ที่สนับสนุนอาหรับปาเลสไตน์ เช่น ฮิซบุลลอฮ์ ที่เคลื่อนไหวตามชายแดนอิสราเอล หรือในบางครั้งก็เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับที่ นำโดย ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน ซีเรีย และอียิปต์ 

ในยุคนี้ ดินแดนแห่งนี้ต้องเผชิญกับความขัดแย้งและสงครามอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสงครามอาหรับ, สงคราม 6 วัน, สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งที่ผ่านมาจบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอล แต่ก็เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าดินแดนแห่งนี้ไร้ความสงบอยู่ตลอดเวลา

สำหรับกรณีล่าสุดอย่างการที่กลุ่มฮามาสโจมตีดินแดนอิสราเอล มีข้อมูลเปิดเผยว่า หนึ่งในสาเหตุของการก่อสงครามของฮามาสรอบนี้ คือปัญหาชีวิตแร้นแค้นในฉนวนกาซา ที่ชาวปาเลสไตน์ต้องทนทุกข์กับการไม่มีไฟฟ้าใช้ตลอดวัน เครื่องอุปโภคบริโภคก็ขาดแคลน ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ อิสราเอลยังเป็นผู้ควบคุมน่านฟ้าเหนือเขตกาซา รวมถึงตลอดแนวชายฝั่งทะเลของกาซาด้วย โดยจำกัดผู้คนและสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกตามแนวพรมแดน ในขณะที่ก่อนหน้านี้อิสราเอลพยายามสานสัมพันธ์กับประเทศอาหรับโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวกลาง แต่ใช่ว่าจะเกิดสันติภาพขึ้นทันที เพราะภายหลังเกิดสงครามนี้ขึ้น ชาติอาหรับอาจจะต้องทบทวนความสัมพันธ์ใหม่ นี่จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดในภูมิภาคนี้ รวมถึงสันติภาพของโลกด้วย

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน การวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ จึงควรทำบนพื้นฐานของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะหากผู้วิจารณ์เป็นผู้นำประเทศ การออกความเห็นใดๆ หรือการออกโรงประณามผู้ก่อความรุนแรงโดยขาดความเข้าใจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาและสร้างความบาดหมางในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เพราะเรื่องการต่างประเทศไม่มีคำว่าเล็กน้อย

แหล่งอ้างอิง : themomentum / workpointtoday / bbc 1 2 / pptvhd36

  • ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ .รศ.นันทนา เตชะวณิชย์ .สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
  • อิสลามในการเมืองโลก .ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง .สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า