fbpx

ย้อนรอยการเมือง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เดินยังไงไม่ให้เซ ไม่โดนเท ได้เป็นรัฐบาล 

การเมือง ณ ขณะนี้ ห้ามกะพริบตา ช่วงเลือกตั้งใกล้เข้ามาย้ายพรรค ข้ามขั้วกันย่างคึกคัก สายตาคนการเมืองทุกสาย มองไปที่กลุ่ม “สามมิตร” เพราะใครต่อใครก็รู้ว่าเชี่ยวการเมือง  จนเป็นที่กล่าวขานกันมาอย่างยาวนาน 

ล่าสุด “สมศักดิ์ เทพสุทิน” และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เตรียมกลับบ้านเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) โบกมือลา “ลุงป้อม” แห่งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อย่างสบาย แต่ไม่รู้แอบทิ้ง ส.ส.ไว้ให้หรือเปล่า ด้าน “อนุชา นาคาศัย” โบกมือลา ลุงป้อม เช่นกัน โดยที่โดดไปอยู่กับ “ลุงตู่” แห่งพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นที่เรียบร้อย  

หลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ ยังไง แตกกันหรือเปล่า แต่ความจริงแล้วเขาเรียก “ยุทธศาสตร์กระจายแบงค์” เป็นวิธีการที่ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นรัฐบาล กลุ่มของตนเองมักจะมีอำนาจต่อรอง อยู่เสมอๆ 

ที่น่าจับตาเป็นพิเศษ ณ ขณะนี้ คือ “สมศักดิ์” ผู้รอบรู้ ดิน ฟ้า อากาศ การเมืองไทย ถึงกับเคยประกาศกร้าวในทำองว่าเป็น ส.ส.มานั้นไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน หรือมั่นใจว่าตนไปอยู่พรรคไหนย่อมได้เป็นรัฐบาล และล่าสุดเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ายังไงๆ ต้องคืนรังเก่า อย่างพรรค พท.แน่นอน 

เรามาย้อนดูเส้นทางการเมืองของ “สมศักดิ์” บ้างดีกว่า ว่าเดินอย่างไรไม่ให้สะดุด ทำให้เป็น “นักการเมืองคงกระพัน” ของการเมืองไทย 

เส้นทางการเมืองของ “สมศักดิ์” เริ่มต้นเป็น ส.ส.สมัยแรก พ.ศ.2526 ในนามของพรรคกิจสังคม โดยมีผู้เป็นบิดาอย่าง โกเหนา ประเสริฐ เทพสุทิน เจ้าของธุรกิจบริษัทสุโขทัยยานยนต์ และ หจก.สุโขทัยเอ็นจีเนียริง ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในละแวก อ.ศรีสำโรง และ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย คอยผลักดัน 

ต่อมาได้ท่องยุทธจักร และได้รับการถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาจาก “มนตรี พงษ์พานิชย์” อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม จนกระโดดไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2535 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร 

และในปีเดียวกันได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย 

และต่อมาเส้นทางการเมืองเริ่มขยับเป็นรัฐมนตรีว่าการ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2540 

ในปีเดียวกัน สมัยรัฐบาล ชวน 2 ยังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 

ในปี พ.ศ.2544 สมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ได้ย้ายซบ “พรรคไทยรักไทย” ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

ในปีถัดมา พ.ศ.2545 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้งในสมัยรัฐบาล ทักษิณ 

ในปี พ.ศ.2546 ขยับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล ทักษิณ เช่นเดียวกัน 

ในปี พ.ศ.2547 ขยับไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล ทักษิณ 

ในปี พ.ศ.2548 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการอีกครั้ง ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

ในปีเดียวกันนี้เอง ขยับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้ง 2 ตำแหน่งเป็นการดำรงตำแหน่งในยุครัฐบาล ทักษิณ เช่นเดียวกัน 

และในช่วงรัฐบาลทักษิณ นี้เองได้เกิดกลุ่ม “วังน้ำยม” ขึ้นมาในพรรคไทยรักไทย กลุ่มวังน้ำยมอยู่ในความดูแลของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และ สมศักดิ์ เทพสุทิน ในขณะนั้น อยู่ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มี อนุชา นาคาศัย คอยเป็นแม่บ้านคอยดูแลกลุ่ม ส.ส.ภายในกลุ่มให้ และคาดว่ามี ส.ส.อยู่ในกลุ่มถึง 80 คน 

หลังรัฐประหาร 2549 กลุ่มวังน้ำยมได้ตีจากออกจากพรรคไทยรักไทย โดยตั้งชื่อกลุ่มว่า “มัชฌิมา”  

นายสมศักดิ์ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองในปี พ.ศ.2550 จำนวน 5 ปี ในคดียุบพรรคการเมือง 

แต่กระนั้นภาย ส.ส.ภายในกลุ่มที่เหลือได้เข้าไปสังกัดพรรคประชาราช โดยที่ นางอนงวรรณ ภรรยาของ สมศักดิ์ เป็นเลขาธิการพรรค 

เมื่อประชัย เลี่ยวไพรัตน์ มีความบาดหมางกับเสนาะ เทียนทอง กลุ่มของประชัยและสมศักดิ์จึงได้ไปรวมตัวกันใหม่ ในชื่อ “พรรคมัชฌิมาธิปไตย“ โดยที่นางอนงค์วรรณเป็นเลขาธิการพรรคด้วย 

ต่อมาในปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำพิพากษายุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ ส.ส. ในกลุ่มของนายสมศักดิ์ จึงได้ย้ายมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ในนามพรรคภูมิใจไทย และนายสมศักดิ์ ก็ยังนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในฐานะแกนนำกลุ่ม ส.ส. ซึ่งสื่อมวลชนให้ชื่อกลุ่มแกนนำนี้ว่า “8ส.+ส.พิเศษ” อันประกอบด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน ,สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ,สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ,สุวิทย์ คุณกิตติ ,สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ,สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ,สนธยา คุณปลื้ม ,สรอรรถ กลิ่นประทุม และ ส.พิเศษ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 

ในปี พ.ศ.2557 สมศักดิ์ได้กลับมาหน้าเวทีการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่อยู่หลังม่านมานาน ในนาม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในสมัยรัฐบาล “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” 

และก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ.2562  ในปี พ.ศ.2561 สมศักดิ์ ไม่ทำการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ทำการเคลื่อนไหวพบปะเพื่อน ส.ส.พรรคไทยรักไทย-เพื่อไทย และได้ประกาศร่วมงานกับ พรรค พปชร. พร้อมกับเปลี่ยนชื่อกลุ่มการเมืองจากกลุ่ม วังน้ำยม หรือ มัชฌิมา เป็น “กลุ่มสามมิตร” โดยจับมือกับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการ พรรคไทยรักไทย ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มสามมิตรทำการทาบทามบรรดาอดีต ส.ส. ส.ว. และนักการเมืองท้องถิ่นให้เข้าร่วมงานกับ พรรค พปชร.จนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

และก่อนการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2566 มี สมศักดิ์ เตรียมกลับพรรค พท. 

มองอีกแง่หนึ่งถ้า สมศักดิ์ คาดการณ์ถูกในการย้ายพรรคครั้งนี้ เท่ากับว่าเขาเป็นนักการเมืองที่ช่ำชอง มองการเมืองออก เรียกได้ว่ามีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างไม่น่าสงสัย 

และดูจากการได้เป็นรัฐมนตรีหลายสมัย ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ในวงการการเมืองพูดกันว่าเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมากที่สุด ยาวนานที่สุด และที่สำคัญเคยนั่งหลายกระทรวง การที่ สมศักดิ์ เริ่มขยับทางการเมือง เตรียมย้ายพรรคครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณได้หรือไม่ ว่าพรรคไหนกำลังเป็นกระแส และมาแรงทะลุโค้ง 

หรือครั้งนี้ สมศักดิ์ อาจคาดการณ์ผิด แต่ที่แน่ๆ มีเสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น ว่าตัว สมศักดิ์ แอบไปทำโพลวัดกระแส ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องจับตาแบบห้ามกะพริบ เพราะเราอาจได้เห็นฝืไม้ลายมือของนักการเมืองการเมืองหลายคน ว่าจะวาดลวดลายที่แพรวพราวอย่างไร แค่ “สมศักดิ์” ขยับ ก็น่าสนใจแล้ว 

เพื่อนๆ ล่ะครับอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร ช่วยแสดงความคิดเห็นหน่อยว่าการเมืองจะออกไปแนวไหน จะน่าสนุกแค่ไหน และมองการเล่นการเมืองของ “สมศักดิ์” อย่างไร เพราะ The Modernist เชื่อว่าความคิดเห็นของทุกคนล้วนมีผลต่อสังคม และที่แน่ๆ น่าจะมันและน่าอ่านไม่น้อยไปกว่ากัน 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า