fbpx

ย้อนรอยวีรกรรมสุดแสบของ กกต. ทำงานใหญ่ทั้งที 4 ปีไม่ดีขึ้นเลย 

เป็นกระแสกระหน่ำโซเชียล เหมือนพายุฝนฟ้าคะนองถล่มคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เรียกได้ว่าใช้สีทนได้ยังไง ก็พังแน่นอน ถึงกับมีแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม เป็นกระแสติดอันดับบนโลกออนไลน์ยาวๆ รวมถึงแฮชแท็ก  #กกต.ต้องติดคุก ถ้า กกต.เบิกตาส่องเนตรไปในโลกออนไลน์ ย่อมมีหนาวๆ ร้อนๆ อาจเป็นไข้ช่วงปลายฝนต้นหนาวอย่างแน่นอน เพราะประชาชนเขาสงสัยกันว่า งบเกือบ 6 พันล้าน ดูงานต่างประเทศ แถมนานๆ ที 4 ปีจะทำงานใหญ่สักหน ทำไมคุณภาพสุดจะทนจนแทบจะหมดคำบรรยาย 

คนเขารอมา 4 ปีอยากเลือกตั้ง เรียกได้ว่าเหมือนฟ้าคอยฝน แต่พี่ท่านเล่นมั่วซั่ว เหมือนโยนหินถามทาง หาอะไรบางอย่างอยู่ นับตั้งแต่การประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันนี้ ความพีคก็ยังไหลมาไม่หยุด The Modernist เลยอยากจะขอย้อนพาไปชมวีรกรรม กกต. ว่าในช่วงฤดูกาลเลือกตั้งครั้งนี้ มีวีรกรรมสุดแสบอะไรบ้าง อ่านแล้วก็อาจจะเผลออุทานว่า “หล่อนมีพิรุธอีกแล้วนะ” 

พิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน 7 ล้านใบ 

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งปีนี้อยู่ที่ 52,287,045 คน แต่ กกต. จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งออกมาถึง 57 ล้านใบ และยังพิมพ์เพิ่มสำรองอีก 5 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 2.6 ล้านใบ นั่นเท่ากับว่ามีบัตรเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 7.3 ล้านใบ แหม่ ช่างใจกว้างใจใหญ่ พิมพ์มาให้ไว้สำรอง สงสัยกลัวบัตรเลือกตั้งเสียหายจากเปียกฝน เป็นคนที่มองการณ์ไกลสุดๆ แต่ๆ อย่านะ ถ้าใช้ไม่ถึงต้องทำลายโชว์ด้วย เดี๋ยวจะกลายเป็นบัตรผีซีดีเถื่อน เกลื่อนบ้านเมือง ขี้เกียจต้องมาโละ จนหลายคนคิดโละ กกต. ทิ้งง่ายกว่าเยอะ พี่น้องเอ้ยยยย 

นับรวมชาวต่างด้าวในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำไมฟะ??? 

ได้มีการประกาศการคัดเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 31 ม.ค. โดยมีการนับรวมจำนวนชาวต่างด้าวในแต่ละพื้นที่มาคำนวณเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง จนสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า “การนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วย จะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่” ด้าน กกต. ออกมาแย้งว่าก็เขาทำงานเสียภาษีให้บ้านเรา เลยเหมาเข่งนับซะเลย แต่ๆ อย่าลืมนะ เอามารวมเขาก็เลือกตั้งไม่ได้  จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญต้องออกมาตีความแก้เขิน ว่าคำว่า “ราษฎร” ต้องไม่นับรวมชาวต่างด้าว เพราะฉะนั้นพี่ กกต. ต้องถอยไปคำนวณใหม่ ไม่งั้นละก็ดราม่าจะสะเทือนจาก กกต. ถึงดวงดาวอย่างแน่นอน เรียกได้ว่าเพี้ยนสุดๆ แต่ยังดีที่ไม่ไปให้สุด เรียบร้อยโรงเรียน กกต. 

สับเขตเลือกตั้งอลวน 

เมื่อได้ยอด ส.ส. พึงจะมีของแต่ละจังหวัดแล้ว กกต. ได้ออกประกาศ เรื่องจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มีนาคม เที่ยวนี้มาแปลก ไม่อิงกับเขตเลือกตั้งเก่า ไม่ยึดตามหลักเขตปกครอง แถมไม่อำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม แบ่งเขตอ้อมโลก อ้อมเขา ฝ่าดงพงไพรไปเลือกตั้ง เน้นยำรวมกัน แบ่งจนคนเลือกตั้งในพื้นที่และประชาชนงงงวย แต่ท้ายที่สุดข้อถกเถียงยุติลงเมื่อ 7 เมษายน หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าประกาศ กกต. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อ้าว แต่ประชาชนชอบหรือเปล่านะ ไม่รู้ๆๆๆๆ 

มีแต่บัตรโหล ไร้ชื่อผู้สมัครและโลโก้พรรค 

การเลือกตั้งรอบนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้สมัคร ส.ส. แม้อยู่พรรคเดียวกัน แต่ต่างคนก็ต่างหมายเลข หรือหมายเลขตัวเองอาจไม่เหมือนกับหมายเลขพรรค หรือเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย ขึ้นอยู่กับผลการจับสลากหมายเลขในวันสมัครรับเลือกตั้ง  เมื่อกติกาเปลี่ยนแปลงไปใช้ “บัตร 2 ใบ ต่างเบอร์” ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงคาดหวังว่าบัตรเลือกตั้งจะเป็น “ตัวช่วย” ลดความสับสนให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต กลับมีเพียงเบอร์ผู้สมัคร ไม่มีโลโก้พรรค และชื่อพรรค หรือที่เรียกว่า “บัตรโหล” โดยอ้างเรื่องการประหยัดงบประมาณ “เป็นการป้องกันบัตรเสียอันเกิดจากความสับสน” (จริงๆ นะ) เพราะรูปแบบแตกต่างจากบัตรแบบบัญชีรายชื่อ ที่มีหมายเลขผู้สมัคร สัญลักษณ์ เครื่องหมายพรรค และชื่อพรรค แหม่ เวลาประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร พี่ๆ เขาก็เอาเรื่องความประหยัด ความพอเพียงมากรอกหูเราตลอดเวลา และควรตั้งคำถามไปจริงๆ ว่าไม่สับสนจริงเหรอ เพราะสุดท้ายประชาชนต้องจดต้องจำชื่อพรรค โลโก้พรรค ผู้สมัครเพื่อเข้าคูหาไปกาคนที่เขารักพรรคที่เขาชอบกันเอง แบบนี้ก็มีด้วยนะจ๊ะ ประเทศไทย 

เว็บ ล่มแล้ว ล่มอีก ล่มต่อ แถมไม่ขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าให้อีก 

ในวันสุดท้ายของการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขตเลือกตั้ง (9 เม.ย.) มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนได้ทัน เนื่องจากเว็บไซต์สำหรับการลงทะเบียนเกิดเหตุขัดข้องตั้งแต่เวลาราว 21.00 น. ทั้งดาวน์โหลดหน้าเว็บช้า เปิดใช้งานไม่ได้ ก่อนกลับมาใช้งานได้ในเวลาอีก 10 นาทีก่อนเที่ยง ทั้งนี้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางส่วนได้วิจารณ์ระบบและการทำงานของ กกต. ส่วน กกต. ก็ชี้แจงสาเหตุที่เว็บล่มว่า เป็นเพราะมีประชาชนเข้าไปลงทะเบียนจำนวนมาก ขณะที่ศักยภาพของระบบสามารถรองรับคนลงทะเบียนได้ 4,000 คนต่อวินาที (ต่อมา เอกสารชี้แจงของ กกต. ระบุถึงศักยภาพไว้ที่ 5,000 คนต่อวินาที) กกต. ท่านก็ออกมาตบเท้าขอโทษประชาชน แต่ก็ไม่ขยายเวลาให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านะจ๊ะ อ้าว แล้วสิทธิของฉันตลอด 4 ปีล่ะหายไปไหน เสียภาษีให้แท้ๆ แค่สิทธิของเรา เขายังไม่รักษาให้เลย กลัวอะไรกับแค่การเลือกตั้ง พร่ำบอกประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่ทำไมเจ้าของอำนาจที่ก็คือประชาชนเข้าถึงอำนาจยากซะเหลือเกิน เซ็งๆๆๆๆ 

หมึกปรินต์ยี่ห้ออะไร พิมพ์โลโก้ซีดเป็น “พรรคๆ”” 

พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ประธาน กกต. ตรวจสอบและแก้ไขสำเนาเอกสารประกาศรายชื่อพรรคการเมืองที่ยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หลังพบว่า โลโก้ของพรรคที่ติดไว้บนบอร์ดรายชื่อพรรคการเมืองหน้าหน่วยเลือกตั้งในเขตบางคอแหลม กทม. หลายหน่วย มีสีซีดจางจนมองแทบไม่เห็น ต่างจากโลโก้ของพรรคอื่น ๆ ที่มีความคมชัดตามปกติ ด้าน กกต. ชี้แจงว่า “สาเหตุที่โลโก้จาง เพราะพื้นฐานสีโลโก้อาจเป็นค่าสีอ่อน โทนแตกต่างกัน ทำให้ปรินต์ขาว-ดำออกมาจาง ๆ ซึ่งเป็นทุกพรรค หากโลโก้มีพื้นฐานค่าสีอ่อน อีกทั้งหากติดแล้วโดนแดด โดนลม หรือโดนฝนก็อาจทำให้ภาพซีดจางได้” ผู้กำกับการเลือกตั้ง กทม. ชี้แจง และขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น ย้ำว่าจะแก้ไขให้เท่าเทียม เที่ยงธรรม และเสมอภาค แหม่ สีส้มออกจะแจ่มชัด เสียดาย ไม่รู้ปรินต์ร้านไหน หรือใช้เครื่องปรินต์ยี่ห้ออะไร จะได้มีเพื่อนบอกเพื่อน บอกต่อๆ กันไป ให้เลิกใช้ไอ้เครื่องปรินต์ยี่ห้อนี้ ร้านนี้เสียที อุ้ย ลืมไป จางแค่พรรคส้ม เพราะฉะนั้นสีอื่นใช้ได้หมด ไม่รู้จะกลัวอะไร หรือกลัวเขาเข้าไปเปลี่ยน กกต. หาคนทำหน้าที่มีประสิทธิภาพมาทำงานแทน 

ชื่อพรรคผิด-หาย งงไปหมด 

ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภาพผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 11 สลับกันระหว่างเอกภาพ หงสกุล พรรคเพื่อไทย กับว่าที่ ร.ต. เทวิน พิมพ์พันธุ์ พรรคอนาคตไทย และอีกกรณีคือ สถานทูตฯ ได้ส่งอีเมลแจ้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า กกต. ได้ปรับประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.นนทบุรี เขต 4 ให้เป็นปัจจุบัน ตามเอกสารที่แนบมา อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายดังกล่าวได้รับอีเมลหลังจากใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้ว แปลว่า “อาจกาผิด ไม่ตรงกับคนที่ต้องการ” 

หรือที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทเป ชื่อพรรคต้นสังกัดของ ณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี ผู้สมัคร ส.ส.หนองบัวลำภู เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย พิมพ์ผิดเป็น ไทยสร้างชาติ 

ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา พรรคต้นสังกัดของผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 9 ซึ่งมีภาพ หมายเลข และชื่ออยู่ด้านบน แต่ชื่อพรรคดันถูกจัดหน้ามาไว้เหนือภาพผู้สมัคร ส.ส. ที่อยู่ด้านล่าง เช่นกรณีของศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ที่มีชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่เหนือภาพของเขา ขณะที่ผู้สมัครด้านบนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเสรีรวมไทย ไม่ได้อยู่ช่องเดียวกับผู้สมัคร 

หรือจะเป็นที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 1 ทั้งจากพรรคเพื่อไทย, ไทยสร้างไทย และชาติพัฒนากล้า ไม่มีชื่อพรรคต้นสังกัดในช่องเดียวกับผู้สมัคร เนื่องจากชื่อพรรคถูกจัดหน้าแล้วดันไปไว้ในเอกสารหน้าถัดไป โดยชื่อพรรคทั้ง 3 ไปปรากฏเหนือภาพผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยศรีวไลย์ 

เรียกได้ว่าผิดหลายจุด ผิดหลายประเทศ ไม่รู้ไปดูงานต่างประเทศยังไง ให้ผิดแล้ว ผิดอยู่ ไม่รู้จะผิดไปต่อยังเลือกตั้งจริงอีกหรือเปล่า  

เลือกตั้งล่วงหน้าผิดยับผิดรัว 

ในวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า ชาวประชาต่างไปใช่สิทธิกันอย่างล้นหลาม 4 ปี หนึ่งหน หวังจะได้ใช้สิทธิอย่างเต็มที่ แต่ก็เกิดเหตุการณ์มากมายที่ทำให้เหล่ตามองว่า กกต. ไว้ใจได้จริงหรือ ไม่ว่าจะเป็นการที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาฉะ กกต. ให้ดูการเลือกตั้งที่มันผิดปกติ โดยมีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นจำนวนมากจนผิดปกติใน 3จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ ศีรษะเกษ ยโสธร โดยที่ประชาชนเดินทางมาเลือกตั้งไกลจากเขตของตัวเอง และที่สำคัญยังมีรถขนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าอีกด้วย 

หรือจะเป็นการพิมพ์ชื่อจังหวัดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิด เช่น จังหวัดพะเยา ที่พิมพ์เป็นพระเยา พเยาว์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่พิมพ์เป็นอุตรดิษฐ์ และจังหวัดมหาสารคาม ที่พิมพ์เป็นสารคาม โดย กกต. ออกมาบอกว่า เป็นการผิดพลาดเล็กน้อย แหม่ แต่ในแบบเรียนไทย หลักสูตรการศึกษาไทยเนี่ย เวลานักเรียนเขียนผิดนี่ครูบ่นยับเลยนะ แถมเวลาใครสะกดชื่อเราผิดนี่เราโกรธสุดๆ หรือแย้งสุดๆ แล้วนี่ชื่อจังหวัดที่เปรียบเสมือนนามกุลของคนทั้งจังหวัดผิด จะไม่ให้โกรธเลยหรือ และที่สำคัญเป็นหน่วยงานราชการ นี่คือความผิดพลาดในการพิมพ์เอกสารทางราชการที่ทำให้ประชาชนสับสน ทีประชาชนพิมพ์เอกสารพลาด ลืมเอกสารมาติดต่อราชการ โดนไล่ให้ไปทำให้ถูก แล้วแบบนี้จะไล่ กกต. ให้ไปทำให้ถูกซะทีดีไหม หรือนี่เราอยู่คนละประเทศ เรียนคนละหลักสูตร คนละมาตรฐานกันจริงๆ 

แต่จะว่าไป งบประมาณมหาศาลขนาดนี้ เจียดเงินจ้างคนพิสูจน์อักษรสักคน ขนหน้าแข้งไม่น่าจะร่วงหรอกมั้ง  

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่เขตเลือกตั้งล่วงหน้าก็ไม่มีใบแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ไม่มีใบแนะนำตัวผู้สมัครพรรคก้าวไกล แบบนี้เรียกบริสุทธิ์ ยุติธรรมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว กกต. 

ลืมเขียนรหัสเขตเลือกตั้ง แล้วจะส่งถึงไหมนะ เล่นเอาประชาชนสับสนกันเลยทีเดียว นี่ฉันไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วนะ กะจะให้ส่งไปนับคะแนนให้ถึงจังหวัดถึงเขตตัวเองเพื่อจะได้เป็นคะแนนสนับสนุนคนที่รักพรรคที่ชอบ แหม่ แต่ กกต. เนี่ยดันทำสับสนไม่ยอมเขียนเลขรหัสเขตเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น ที่เขตเลือกตั้งล่วงหน้าห้วยขวาง ชุดที่ 24 (ราชบุรี ระยอง ร้อยเอ็ด) หย่อนบัตรกันเป็นจำนวนมากแล้ว จนประชาชนสังเกตเห็น อ้าวเห้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา ไม่ยอมเขียนเลขรหัสเขตเลือกตั้งให้ซะงั้น แบบนี้ใบที่หย่อนไปก่อนหน้านี้จะทำยังไงล่ะ 

เจ้าหน้าที่เขียนเขตเลือกตั้งผิดกลายเป็นบัตรเสีย เอากับเขาสิครับท่านผู้ชม ประชาชนเตรียมตัวเตรียมใจ ศึกษาวิธีการเลือกตั้งล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี ตื่นแต่เช้าหวังมาเลือกตั้ง ด้วยความสดชื่น แต่ เมื่อลงคะแนนเสร็จ เจ้าหน้าที่เขียนรหัสเขตให้ผิดซะอย่างนั้น ยังให้เป็นบัตรเสีย แถมไม่ให้เลือกตั้งใหม่ซะด้วย อ้าวสิทธิหายไป ทำไง ไม่ได้ทำผิดแต่เจ้าหน้าที่ผิด สิทธิถูกพรากไปทั้งๆ ที่ทำถูกต้องมาโดยตลอด มาตกม้าตายเพราะเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง เห็นได้ชัดในหลายพื้นที่ เช่นใน จ.เชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 1 หรือแอบกระซิบว่า หากใส่รหัสเขตเลือกตั้งผิดแล้ว หย่อนไปแล้วไม่แน่นะครับ บัตรของท่านอาจส่งไปถึงเขต แต่ไม่ใช่เขตของท่าน และเบอร์ที่ท่านกาอาจจะคลาดเคลื่อนไป เพราะอาจทำให้กลายเป็น คะแนนของผู้สมัคร ส.ส.อีกคนหนึ่งที่อยู่คนละเขต แต่เป็นเบอร์ที่ท่านกา และเขาคนนั้นอาจอยู่คนละพรรคอีกด้วย 

พิมพ์บัตรเกินสำแดงฤทธิ์ พบได้ในเขตเลือกตั้งล่วงหน้าเขต 14 กทม.รามคำแหง เตรียมบัตรมา 700 ใบ คนใช้สิทธิมี 629 คน ลงคะแนนบัตรบัญชีรายชื่อ 629 ใบ แต่ บัตรแบบเขต 630 ใบ อ้าวโผล่มาจากไหนใบนึง งงไหมละครับพี่น้องเอ้ยยยย 

แถมให้เผื่อสนใจ 

กกต. ประกาศ ห้ามเปิดเผยว่าเลือกพรรคไหน ห้ามถ่ายแสดงบัตรเลือกตั้งโชว์ว่าเลือกพรรคไหน และผลโพลล์ก่อนวันเลือกตั้งจริง แต่มีการโพสต์ในเพจ TOP NEWS THAILAND ว่า “เรียบร้อยแล้วสำหรับ 22 ของลุง และเขต 3 บ้านแพ้ว ผู้สมัคร ส.ส.” พร้อมกับถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งมาลงในโพสต์ดังกล่าว 

หรือมีการโพสต์ผลโพลล์ออกมาว่า “ลองพิจารณาความจริงนะคะ ไม่ใช่ดูแต่ในโซเชียล  เพ้อฝัน” โดยโพสต์รูปที่มีการคาดการณ์ ส.ส. ในทำนองที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มาเป็นอันดับ 1 โดยได้ที่นั่ง ส.ส.ถึง 200 คน 

สุดท้ายคือเรื่องของการโฆษณาพรรค รทสช. โดยการยิงเลซอร์ขึ้นฉายโฆษณาบนสะพานพระราม 8 เป๋นสถานที่ราชการ ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่เหล่าเอเจนซีโฆษณาตั้งคำถามว่า เหตุใดที่ผ่านมาจึงไม่สามารถยิงเลเซอร์โฆษณาทั่วไปบนสะพานได้ แต่พรรคการเมืองกลับทำได้ มาตรฐานคืออะไร 

กลายเป็นคำถามที่เราต้องส่งไปถึง กกต. ว่าสิ่งที่เห็น ควรหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ กกต. จะทำอย่างไร ดำเนินคดีอย่างไร จะปล่อยเกียร์ว่าง แกล้งมองไม่เห็นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงต้องตามกระแสโซเชียลด้วยการถามว่า กกต. มีไว้ทำไม 

ไม่แสดงผลคะแนนเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ 

ในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ จะไม่มีการรายงานผลการนับคะแนนแบบเรียลไทม์อีกต่อไป หลังระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ โดยยกเลิกแอปพลิเคชันรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการออก ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วสาธารณชนจะทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อใด และผ่านช่องทางไหน ด้าน กกต. ให้เหตุผลในการยกเลิกการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดจากการกรอกคะแนน เพราะคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง มีความเหนื่อยล้าจากการทำงาน 15-18 ชม.” และการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ “มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในการกรอกคะแนนได้” และให้คำสัญญาว่า “จะทราบผลคะแนนว่าผู้สมัครผู้ใด หรือพรรคการเมืองใดได้คะแนนจำนวนเท่าใด ในคืนวันเลือกตั้งทันที” อ้าว แล้วไหนบอกว่าจะทำให้เกิดการสับสนน้อยจากการพิมพ์บัตรโหล ย้อนแย้งสุดๆ ในเรื่องนี้ เลือกตั้งใหญ่ทั้งที ทำงานใหญ่สักที 4 ปีไม่ดีขึ้นเลย  

ส่องงบ กกต.เล่นๆ 

สุดท้ายมาดูงบ กกต. เล่นๆ กันดีกว่าครับ ว่าเขาวางงบไว้อย่างไรบ้าง จากที่คณะรัฐมนตรีเคาะตัวเลขให้ กกต. เพื่อใช้สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ไว้เกือบ 6 พันล้าน 

1. งบจัดการการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 2,812,120,300 บาท แบ่งเป็นงบตามสถานการณ์ และงบช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 (ไม่รู้ว่าซื้อหน้ากาก หรือซื้อวัคซีนหรือเปล่า แซวๆๆๆ) งบส่วนนี้ต้องให้คะแนนหลังเลือกตั้งถึงจะเป็นธรรม แต่ถ้ามองจากการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าให้ 3 เต็ม 10 อยากรู้เพราะอะไรย้อนกลับไปอ่าน 

2. งบตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง 355,465,500 บาท จังหวะนี้ต้องรีบใช้เลย เพราะตัวเองทำผิดกฎหมายเองรัวๆ แถมมีกลิ่นแจกเงิน ขนคนไปใช้สิทธิ ตรงนี้รอชม ถ้ายังไม่เห็นผลงานจังหวะนี้ 0 เต็ม 10 

3. งบติดตามการเลือกตั้ง ให้คำปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ 55,855,000 บาท ขนาดมีงบนี้ยังเลือกตั้งล่วงหน้ามั่วซั่ว เจ้าหน้าที่เขตไม่เข้าใจการทำงาน แก้ปัญหาโดยตัดสิทธิประชาชน เอาไป 1 เต็ม 10 ที่ให้หนึ่งเพราะเชื่อว่ายังมีเจ้าหน้าที่บางคนบางเขต ทำงานเต็มที่เพื่อไม่ให้สิทธิของประชาชนสูญเปล่า 

4. งบเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 368,986,900 บาท อาจเรียกง่ายๆ ว่างบอบรม ผลงานปรากฏเหมือนยังไม่อบรมทำความเข้าใจ เอาไป 1 เต็ม 10 เช่นกัน เพราะให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่อบรมอย่างตั้งใจ ทำงาน และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้สิทธิเต็มที่ 

5. งบสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งและตรวจสอบค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง 473,991,640 บาท งบนี้เชียร์ให้มีเพราะสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้ง แต่พอมีคำว่าตรวจสอบผ่านสายตา ดูจากผลงานทำตัวเกียร์ว่างกับพรรคผู้มีอำนาจ เอาไป 5 เต็ม 10 

6. รณรงค์มีส่วนร่วมประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง 509,221,250 บาท เรียกง่ายๆ ว่างบโฆษณาเชิญชวน เอาจริงอย่างแผ่ว ไม่เห็นรับรู้จาก กกต. เท่าที่ควร รู้จากสื่อหลัก สื่อออนไลน์ เสียมากกว่า เอาไป 1 เต็ม 10 เพราะอาจจะมีงบส่งเสริมให้กับสื่ออื่นๆ ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งให้ประชาชนเข้าถึง แต่ กกต. ทำเองเลิกทำไปเลยนะจ๊ะ 

7.งบควบคุม สอดส่อง สืบสวน ดำเนินคดี ในชั้นศาล 28,585,000 บาท ตั้งหน้าตั้งตารอชมงบนี้ ขออย่างเดียวต้องไม่เลือกข้างดำเนคดี สอดส่องอย่างยุติธรรม ไม่ค้านต่อสายตาประชาชน ตอนนี้ยังไม่เห็นเอาไป 0 เต็ม 10 ก่อน 

8. งบติดตามผล ประเมินผลจัดการการเลือกตั้ง 3,774,000 บาท แหม่ งบนี้ก็รอชม ถ้าประเมินแล้วว่าจัดการเลือกตั้งดีก็เอาไป 0 เต็ม 10 เพราะไม่ส่องกระจกดูตัวเอง และผลงานที่ผ่านมา หากประเมินแล้วมีความผิดพลาดพร้อมแก้ปัญหา คะแนนที่ให้อาจดีขึ้น 

9. งบสนับสนุนการจัดการการเลือกตั้ง 43,140,360 บาท ไม่รู้สนับสนุนการเลือกตั้งยังไง ประชาชนได้อะไร เอาไข่ต้มพอเพียงไปกิน  0 เต็ม 10 

10. งบสังเกตการณ์เลือกตั้งของ กกต. หน่วยงานคล้าย กกต.ของต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศภายในประเทศไทย 3,840,000 บาท รู้สึกทำไมซ้ำซ้อนไปหมด ไม่มีจุดประสงค์ชัดเจน ในเรื่องของการสนับสนุนให้ต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์เท่านั้น เอาไป 3 เต็ม 10 ให้ในเรื่องของการเป็นพลเมืองโลก ไม่ได้มองว่าอยู่คนเดียวในโลก และให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและการมีมาตรฐานจากต่างประเทศ 

11. รับรายงาน และติดตามการเลือกตั้ง 2,451,200 บาท งบชื่อซ้ำซ้อนอีกแล้ว ติดตามเต็มไปหมด ไม่ชัดเจนว่าอันไหนคือติดตามตรวจสอบจริงๆ เอาไป 0 เต็ม 10  

งบที่ใช้จ่ายทั้งหมดในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ 4,657,431,150 บาท หักลบจากงบประมาณที่ ครม. เคาะให้ กกต. ทั้งหมด 5,945,161,000 บาท เหลือ 1,287,729,850 แน่นอนว่างบที่เหลือทั้งหมดต้องคืนให้รัฐบาลเพื่อใช้ประโยชน์จากภาษีประชาชนให้คุ้มค่าที่สุดต่อไป 

สุดท้ายขอส่งเสียงไปถึง กกต. ตลอด 4 ปีที่แทบไม่เคยทำงานใหญ่สักครั้ง พอทำงานแค่ครั้งเดียวทำไมทำให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไม่ได้ การไปดูงานต่างประเทศกลายเป็นสูญเปล่าหรือไม่ ถ้าทำงานไม่ได้ควรไปเลี้ยงหลานที่บ้านเสียดีกว่า อย่ามัวแต่เสียเวลา เพราะปลายทางอาจเป็นคุก หรือการทำงานให้สับสนวุ่นวาย อาจกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพราะที่แน่ๆ กกต. ชุดนี้จัดการเลือกตั้งที่อาจกลายเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุด ซ้ำรอยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2500 หรืออาจสร้างประวัติศาสตร์เลือกตั้งสกปรกครั้งใหม่ให้เป็นที่จดจำอีกสมัยหนึ่งก็ได้ 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า