fbpx

‘รวมพลคนเขิน’ ใครออกตัวแรงจนฉุดไม่อยู่ช่วงก่อนเลือกตั้งบ้าง

ในวงการการทำนายทายผลคะแนนต่าง ๆ เราเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย ก่อนที่ผลคะแนนสุดท้ายจะปรากฏออกมา ต่างฝ่ายต่างเกทับความมั่นใจกันอย่างเต็มที่ หรือไม่ก็มองข้ามช็อตไปหลังผลคะแนนออกมาแล้วซะไกลโขจนกู่ไม่กลับก็มี

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะผู้สมัคร หรือ voter ของแต่ละพรรคก็เกทับทั้งความมั่นใจที่พอเหมาะ หรือไม่ก็ถาโถมความมั่นใจจนลืมคิดเลยว่าหลังการเลือกตั้งจบหากไม่เป็นดั่งหวังจะเป็นเช่นไร

วันนี้เราเลยขอแซวกันเล็กน้อย ว่าผู้สมัครแต่ละพรรคในครั้งนี้มีใครบ้างที่ก่อนเลือกตั้งแบกความมั่นใจไว้เต็มกระเป๋า แต่กลับเศร้าเพราะผลคะแนนโหวตไม่เป็นไปอย่างที่มั่นใจไว้แต่แรก

วัน อยู่บำรุง

ผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 28 เขตจอมทอง (เฉพาะแขวงบางขุนเทียน), เขตบางบอน (ยกเว้นแขวงบางบอนใต้ และแขวงคลองบางบอน), เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม) พรรคเพื่อไทย

เริ่มจากเจ้าของพื้นที่บางบอนเดิมอย่าง ‘วัน อยู่บำรุง’ ที่คนในพื้นที่คงจะรู้จักเขาเป็นอย่างดี จากสรรพคุณแมนๆ คุยกันอย่าง ‘ใจถึง พึ่งได้’ หรือในมุม Gen Z ที่จะรู้จักเขาได้ก็คงต้องเป็นการที่มีตลกชอบเอาคาแรกเตอร์ของเขามาล้อเลียนอยู่บ่อย ๆ

ที่ผ่านมาเขาทำงานให้กับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารโดย คสช. ผ่านการรับบทบาทสำคัญหลากหลายตำแหน่ง ทั้งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ใน พ.ศ. 2551, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ใน พ.ศ. 2554 หรือเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ใน พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2556 ก่อนจะวางมือทางการเมืองภายหลังการรัฐประหารสำเร็จ

และตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมาเขาก็ได้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ใจถึง…พึ่งได้’ ที่รวมตัวคนที่ศรัทธา และเชื่อมั่นในการทำงานของเขาเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อทำประโยชน์ให้สังคมผ่านการลงพื้นที่ดูแลปัญหาสังคม จนทำให้ภาพลักษณ์ในโลกออนไลน์ชัดเจนขึ้น และทำให้การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 เขาได้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต ในเขตเลือกตั้งที่ 26 เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม) เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคเพื่อไทย โดยได้คะแนน 30,538 คะแนน

นั่นจึงทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เราเห็นความมั่นใจเต็มร้อยมากมายผ่านช่องทางโซเชียลของเขา ว่าปีนี้พี่วัน มาวินแน่นอน

แต่สุดท้าย พี่วันกลับโดนเตะตัดขาด้วย ‘รักชนก ศรีนอก’ ส.ส. สาวเลือดใหม่ไฟแรงจากพรรคก้าวไกล ที่มีกระแสตอบรับดีจากความตั้งใจลงพื้นที่หาเสียงด้วยจักรยานคู่ใจ และกระแสของตัวพรรคเองที่สร้างมาตรฐานการทำงานฝ่ายค้านไว้ได้เป็นอย่างดีในสภาที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้จึงทำให้รักชนก ผู้ถูกวันปรามาสไว้เล็ก ๆ ว่าได้เพียงแค่กระแสเท่านั้น กลายเป็นผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขต ในพื้นที่เดิมของวัน ไปด้วยคะแนน 47,592 คะแนน ห่างจากวัน ที่ได้คะแนนเสียงไป 26,479 คะแนนด้วยกัน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

หัวหน้าพรรค และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 1 พรรคไทยภักดี

ต้องยอมรับว่าเส้นทางใหม่ภายใต้แนวคิดของ ‘หมอวรงค์’ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แม้ที่ผ่านมาเขาจะเคยได้รับโอกาสมากมายจากหลายพรรคการเมือง ทั้งพรรคไทยรักไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ที่แจ้งเกิดความเป็น ‘ดาวสภา’ ให้กับตัวเขา จากการอภิปรายเรื่องคดีจำนำข้าว ในยุครัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทำให้วรงค์เป็นที่ยอมรับในหมู่ฝ่ายค้านด้วยกัน

แต่นับจากนั้นมา เส้นทางการเมืองของวรงค์ก็ไม่ได้ราบเรียบนัก เพราะหลังจากการยื่นหนังสือลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เขาก็กลายเป็นนักการเมืองพรรคเล็ก จากทั้งการสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือการก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี จนกลายมาเป็นพรรคไทยภักดี ที่มุ่งเน้นนโยบายเรื่องสถาบันเป็นหลัก ก็เป็นพรรคเล็กที่มีแนวความคิดที่ค่อนข้างเฉพาะทาง และเป็นการยากที่จะต่อสู้กับพรรคใหญ่ ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันได้

แต้มต่อเดียวที่เขามีคือการเป็นผู้สะท้อนอีกแนวคิดที่ชัดเจน ในสถานการณ์เรื่องสถาบันกษัตริย์ที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในบ้านเมืองช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นประเด็นหลักในการพูดคุยของสังคมไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการการเมือง ที่ประเด็นของมาตรา 112 ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่แต่ละพรรคต่างมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน

และแน่นอนว่าพรรคการเมืองของวรงค์คือหนึ่งในมุมสะท้อนที่สุดโต่งจากฝ่ายขวา

จึงทำให้ในการเลือกตั้งครั้งนี้เขาได้รับการเชิญให้ขึ้นหลากหลายเวทีดีเบตด้วยกัน เพื่อแสดงวิสัยทัศน์อีกมุมให้ประชาชนได้รับรู้ และในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ให้วรงค์ได้แขวะพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามบนเวทีเดียวกันได้อย่างเต็มที่ ดังที่เราเห็นจากหลายเวทีที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ออกตัวแรงไม่แพ้ใคร

และด้วยความเป็นพรรคเล็ก มีนโยบายเฉพาะทาง รวมถึงต้องแข่งขันกับพรรคการเมืองในขั้วเดียวกันอีกหลากหลายพรรค และแข่งขันกับพรรคการเมืองอีกขั้วที่มีคะแนนนิยมมากกว่า เมื่อวัดจากผลสำรวจหลาย ๆ ผลสำรวจก่อนการเลือกตั้ง ทำให้ผลสุดท้ายพรรคไทยภักดีของวรงค์ ไม่ได้ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลยแม้แต่คนเดียว

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

กรรมการบริหาร และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 3 พรรคพลังประชารัฐ

ชัยวุฒิก็ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้พื้นที่สื่อในช่วงหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้แทบทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นจอทีวี หรือจอออนไลน์ก็ตาม

แม้ว่าก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตากับเขามากเท่าไหร่ แต่เขาก็ใช้ชีวิตในฐานะนักการเมืองมากว่า 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่การเป็น ส.ส. จังหวัดสิงห์บุรี ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทยใน พ.ศ. 2547 ก่อนที่เขาจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และพรรคที่เขาสังกัดจะถูกยุบใน พ.ศ. 2551 เนื่องด้วยกรณีทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ พ.ศ. 2550

จนกระทั่งเขามีโอกาสกลับเข้าสู่วงการการเมืองอีกครั้ง เพื่อปลุกปั้นพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหินจากสังคมพรรคหนึ่งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 โดยชัยวุฒิได้เป็นทั้งกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ตั้งแต่ครั้งแรก

และทำให้เขาไต่เต้าเข้าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงที่สร้างคำครหาให้กับสังคมมากมาย ในห้วงเวลาที่สังคมเต็มไปด้วยอาชญากรรมออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ปลอม ลิงก์ปลอม การพนันออนไลน์ ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน 55 ล้านรายชื่อหลุดจากแอปฯ ของรัฐ หรือแม้แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ลวงเงินที่มีทั้งคนที่โดนหลอก หรือกลายเป็นเรื่องตลกร้ายในสังคมไทยช่วงระยะเวลาหนึ่งเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น การที่พรรคพลังประชารัฐส่งเขามาเป็นตัวตึงฝีปากกล้าในหลากหลายเวทีดีเบตที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้สังคมมองพรรคพลังประชารัฐแย่ลงไปอีก ไม่ว่าจะการเลือกใช้คำตอบในการโต้เถียงที่ไม่น่าฟัง ฟาดงวงฟาดงาตัวแทนพรรคขั้วตรงข้ามบนเวทีเดียวกัน รวมถึงทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมฟังถึงกับโห่ให้เขาในหลาย ๆ เวที เกี่ยวกับตรรกะที่เขาใช้ในการดีเบต

นั่นทำให้ผลสุดท้ายพรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อรวมกันเพียง 41 ที่นั่งเท่านั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และที่น่าเจ็บใจไปกว่านั้นคือ การที่เขายอมเดินสายเข้าร่วมเวทีดีเบตหลากหลายเวทีนั้น ก็ไม่อาจทำให้เขาที่เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 3 ได้เข้าไปทำงานในสภา ณ ขณะนี้ เพราะพรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อไปเพียง 2 อันดับแรกเท่านั้นเอง

ธนกร วังบุญคงชนะ

รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 10 พรรครวมไทยสร้างชาติ

‘ธนกร’ คือหนึ่งในคนการเมืองที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับรัฐบาลประยุทธ์มากที่สุด ในขณะเดียวกันช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อก็ยิ่งมีพื้นที่ให้เขาได้แสดงความคิดเห็นมากที่สุดคนหนึ่งเหมือนกัน

หากกลับไปไล่ดูหน้าที่การงานของเขาที่ผ่านมา พบว่าเขาเคยได้รับตำแหน่งทางการเมืองหลายตำแหน่งในหลายกระทรวงด้วยกัน แต่ผลงานในช่วงหลัง ๆ ที่ทำให้เขามีทั้งชื่อ และมีทั้งเสียงมากขึ้น ก็คงจะหนีไม่พ้นตำแหน่งโฆษก ที่เขาได้ทำทั้งรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ในรัฐบาลที่ผ่านมา

จนถึงห้วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง ธนกรก็กลายเป็นทั้งปากเสียงให้กับรัฐบาลเดิมที่กำลังรักษาการ และเป็นปากเสียงให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค และผู้เข้าร่วมดีเบตในหลายเวที ซึ่งคงมีจุดต่างเดียวในการเป็นปากเสียงในฐานะหนึ่งผู้เล่นในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ นั่นคือการเหน็บแนมพรรคขั้วตรงข้ามที่ชัดเจน และบ่อยครั้งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

เหมือนที่เราจะเห็นได้จากการขึ้นเวทีปราศรัยของตัวเอง หรือการให้สัมภาษณ์สื่อ ที่เกือบทุกครั้งจะต้องเหน็บฝ่ายตรงข้ามกับพรรคตัวเองบ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เขาย้ำเสมอว่า เชื่อมั่นในพลังเงียบของประชาชนที่ยังรัก และศรัทธาการเมืองของพวกเขาอยู่ ว่าต้องออกมาแสดงพลังคนรักชาติอย่างถล่มทลายเป็นที่แน่แท้

แต่ผลคะแนนออกมาไม่เป็นอย่างที่เขาเคยเชื่อ พรรคทหารจำแลงทั้งสองพรรคล้วนได้คะแนนเสียงที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งพรรคเก่าลุงตู่อย่างพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคใหม่ลุงตู่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งที่น่าเสียดายสำหรับเขา คือความเชื่อที่ว่าการดึงตัวลุงตู่มาเป็นตัวยืนของพรรคจะทำให้คะแนนเสียงเดิมกลับมาทั้งหมด แต่ผลคะแนนก็ชี้ชัดแล้วว่า เมื่อเทียบค่าคะแนนเป็นจำนวน ส.ส. ในสภา พรรครวมไทยสร้างชาติก็ดูได้จำนวนน้อยกว่าพรรคเก่าอย่างพรรคพลังประชารัฐอยู่ดี

หรือเขาควรเปลี่ยนความเชื่อที่เคยเชื่อใหม่ หรือแม้กระทั่งลองเชื่ออะไรที่เขาไม่เคยเชื่อมาก่อนก็น่าจะดีเหมือนกัน

ลักขณา ปันวิชัย

voter ของพรรคเพื่อไทย ในนาม ‘นางแบก’

เราไม่รู้ว่าเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พี่แขก ‘คำ ผกา’ ทำงานหนักเท่ากับครั้งนี้หรือเปล่า

เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้พี่แขกทุ่มสุดตัว อวยพรรคเพื่อไทยสุดลิ่มทิ่มประตู ขยับแต่ละครั้งเลือดสีแดงมันพุ่งพล่านทั่วอินเทอร์เน็ตไปหมด

อาจเพราะเนื้อแท้ของคำ ผกา มีความเป็น ‘นักเขียน’ อยู่เสมอ แม้เธอจะเคยเป็นทั้งครู นักข่าว คอลัมนิสต์ หรือล่าม แต่ชีวิตของเธอตั้งแต่เด็กจนโตล้วนมีแนวคิดปัจเจกอันร่วมสมัยผสมผสานอยู่ในตัวเธออยู่เสมอ ทำให้เธอกล้าแสดงความคิดเห็น และนำเสนอวิธีคิดของเธอให้ผู้คนได้รับรู้ผ่านทั้งการพูด การเขียน การจัดรายการ ซึ่งล้วนแต่มีฝีปากจัดจ้านในทุกแพลตฟอร์ม และยิ่งยุคอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูอย่างนี้ ก็ยิ่งทำให้ความคิดเห็นของเธอ ที่ไม่ว่าจะประเด็นเล็กหรือประเด็นใหญ่ ต่างถูกให้ความสำคัญในสังคมเท่า ๆ กัน

เช่นเดียวกับในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ที่เป็นทั้งการแข่งขันกันระหว่างแต่ละพรรค เชียร์กันเฉพาะพรรคตัวเอง หรือแข่งขันกันในพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ซึ่งต้องยอมรับว่าร้อนแรงไม่แพ้การแข่งขันในสนามเลือกตั้งทั้งสนาม เหมือนเรากำลังจับตามองเฉพาะมวยคู่เอก นั่นทำให้ทุกการแขวะกันไปมา ต่างฝ่ายต่างแสดงความมั่นใจในฐานเสียงของตัวเองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูไม่แพ้กัน เพียงแต่คำ ผกา คือหนึ่งใน voter ผู้ทรงอิทธิพล และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับพรรคเพื่อไทยมากที่สุด

จนเมื่อผลการเลือกตั้งมาถึง การแข่งขันที่คู่คี่สูสีของ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ก็แสดงผลประจักษ์ว่าต่างพรรคต่างมีกระแสมากไม่แพ้กัน แต่หากนับเป็นค่าคะแนนของผู้กากบาทให้พรรคก้าวไกล พบว่ามีคะแนนมากกว่าพรรคเพื่อไทยราว 3,300,000 คะแนนด้วยกัน และหากเทียบเป็นจำนวนที่นั่งในสภาก็ต่างกันเพียง 10 ที่นั่ง เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าทั้งสองพรรคที่ห้ำหั่นกันก่อนเลือกตั้ง ก็ได้รับชัยชนะในอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกันในขณะนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก : wikipedia 1 2 3 4 5 / bbc 1 2 / pptvhd36

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า